สิ่งที่คุณยายพร่ำสอน ตอนที่ ๔
ต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๑ หลวงพ่อธัมมชโยตอนนั้นท่านเริ่มเปิดทีมบอกบุญ จึงให้อาตมาเข้าไปร่วมทีมด้วย ไปฝึกซ้อมบอกบุญ ฝึกได้สักพักหนึ่ง คุณยายจึงเมตตาเรียกอาตมามาปฐมนิเทศ คือจะเรียกอุบาสกคนไหนมาปฐมนิเทศอีกหรือเปล่าไม่รู้ แต่วันนั้นเรียกอาตมามาคนเดียว ท่านบอกว่า ออกไปบอกบุญน่ะ จำไว้ ๔ อย่างนะ
๑. ออกไปข้างนอกไกลหูไกลตายาย อย่าไปติดสาวที่ไหนนะ อย่าไปทำตาหวานให้ใครนะ รีบไปทำภารกิจเสร็จแล้วก็รีบกลับ อย่าได้เที่ยวไปเถลไถลที่ไหน
๒. อย่าไปกินข้าวบ้านใครนะ เราก็งงๆ เอ๊ะ อย่าไปกินข้าวบ้านใคร ยายบอกว่า อยู่กับยายกินข้าวยาย กินข้าวหลวงพ่อ เราก็เป็นหนี้บุญคุณหลวงพ่อกับยายพอแล้ว อย่าให้มันมากคนนักเลย เราไปกินข้าวบ้านโน้น บ้านนี้ ต่อไปในอนาคตเมื่อเราต้องทำงานใหญ่ๆ ขึ้นเดี๋ยวมันจะเสียความยุติธรรม เพราะความติดหนี้บุญคุณกัน อืม...ท่านมองไกลขนาดนั้นเลย
๓. ท่านบอกว่า อย่าไปค้างแรมคืนที่ไหนนะ ดึกดื่นยังไงก็ต้องกลับมาวัด ถ้าจำเป็นจะต้องไปค้างจริงๆ ล่ะก็ ให้บอกยายก่อน จะไปกี่วัน กลับมาเมื่อไหร่ก็ต้องบอกให้ยายทราบ ยายอธิบายคร่าวๆ ว่า คนที่มาอยู่กับยาย ลูกๆ หลานๆ นี้ ยายเอาทุกคนมาซ้อนอยู่ในศูนย์กลางกายของยาย เอามาแก้ไขให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นออกไปข้างนอก ไปค้างข้างนอกนานๆ เดี๋ยวไปติดกิเลสอะไรต่ออะไรเลอะๆ เทอะๆ มา
และข้อ ๔. ท่านบอก อยู่กับยาย อย่าโกหกยายนะ อย่าปิดบังยาย แม้กับหลวงพ่อด้วยเหมือนกัน อย่าโกหกหลวงพ่อหรือปิดบังหลวงพ่อ
๔ อย่างนี้ คือโอวาทที่คุณยายให้ตอนออกไปบอกบุญ ยังจำได้จนบัดนี้ (ไม่รู้ว่า อุบาลกคนอื่นเขาได้ฟ้งแบบนี้หรือเปล่า) สงสัยยายจะ เมตตาเราถึงได้เรียกไปปฐมนิเทศเดี่ยวเลย
นี่แหละคุณธรรมคุณยาย ดูคุณยายท่านเป็นห่วงอุบาสกมาก กลัวจะไม่ได้บวช กลัวจะสร้างบารมีตามไม่ทันท่าน พวกผู้ชายหนุ่มๆ กลัวไปซนที่อื่น คุณยายมักจะสอน ให้โอวาทกับอุบาสกมากเป็นพิเศษ ท่านมักจะหาโอกาสเหมาะๆ โดยเลือกเอาเวลาอาหารของอุบาสก ซึ่งจะกินข้าวหลังพระฉัน คุณยายบอกว่า เวลานี้แหละเหมาะ เพราะเขาอยู่กันพร้อมหน้า กินข้าวกันพร้อมหน้า ไปไหนไม่ได้ อย่างไรก็ต้องฟังยายอบรม ซึ่งจะได้ทั้งเข้าและเพล ความเป็นห่วงของท่านขนาดนี้
ปกติช่วงเช้า ตี ๔ ท่านก็ตื่นมานั่งสมาธิถึงตี ๕ ครึ่ง พออรุณท่านออกมาเข้าครัว ถือกานํ้ามาใบหนึ่ง ต้มนํ้า แล้วเอาไปไว้ที่กุฏิหลวงพ่อ ๗ โมงเช้าก็รับประทานข้าว ๘ โมงครึ่งนั่งธรรมะไปกระทั่งถึงเพล ทานอาหารเพลเสร็จช่วงเที่ยงกว่าๆ ท่านก็ไปดูในครัว จานชามล้างสะอาดไหม ไปดูหมด เก็บมันเรียบร้อยไหม ตอนบ่ายๆ ท่านก็ไปปลูกต้นไม้ ปลูกกล้วย มะละกอ ไม้ป่า ไม้ร่มเงา ปลูกทุกชนิดตามกล้าไม้ที่พอจะมีอยู่ในเนอสเซอรี่ (Nursery : เรือนเพาะชำต้นไม้) โดยเดินสวมงอบที่ศีรษะ มือถือชะแรง ๑ อัน กับถังพลาสติก ๑ ใบ (สำหรับไปตักน้ำรดต้นไม้) ไปปลูกต้นไม้ในพื้นที่ ๑๙๖ ไร่
ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ช่วงนั้นคุณยายเริ่มป่วย หลวงพ่อธัมมชโยให้อาตมาแยกจากทีมบอกบุญ ออกมาช่วยดูแลบริหารเรื่องครัวเต็มเวลา อาตมาก็เลยทำรถสามล้อให้คุณยายคันหนึ่งตามคำสั่งของหลวงพ่อธัมมชโย โดยท่านบอกว่า เอาเบาะสิแดงๆ นะ ขี่ไปไหนจะได้เห็นได้ชัดว่า คุณยายอยู่ตรงไหน แล้วก็ให้อารีพันธุ์เป็นคนขี่คุณยายท่านอดไม่ได้ที่จะต้องไปตรวจวัด ตรงโน้น ตรงนี้ ดูต้นไม้อะไรต่ออะไร เมื่อท่านต้องไปตรวจวัดก็นั่งสามล้อไป จะช่วยผ่อนแรงท่านได้มาก ไม่ต้องเดินไปเหมือนสมัยก่อนๆ ซึ่งท่านก็จะไม่ลืมเอาอุปกรณ์ปลูกต้นไม้ของท่านติดรถไปด้วย
ช่วงนั้น ตอนบ่าย นอกจากคุณยายจะมาทำภารกิจต่างๆ ตามปกติของท่านแล้ว ยังต้องรับแขกไปด้วย บางครั้งบ่ายๆ มีแขกมา ท่านก็ไปรับแขกก่อน อีกอย่างหนึ่ง บางครั้งหลวงพ่อธัมมชโยต้องออกไปกิจธุระข้างนอกบ้าง ติดต่องานอะไรต่ออะไรบ้าง ก็อาศัยคุณยายรับแขกเพราะตอนนั้น หลวงพ่อยังอายุไม่มาก และแขกที่มาหาคุณยายนั้น ส่วนมากเป็นลูกศิษย์เก่าๆ ของท่านสมัยอยู่วัดปากนํ้า เมื่อมาแล้วเห็นเรามีโครงการโน้นโครงการนี้เขาก็ร่วมทำบุญมา ยายก็เลยต้องรับแขกไปด้วย สร้างวัดไปด้วย
คนใหม่หรือคนเก่าท่านจะสอนทุกคนที่มาพบท่านว่า เอาบุญกับยายนะ บุญเล็กบุญน้อยอะไรก็ทำไป อย่าทิ้งบุญ เมื่อทำบุญเสร็จแล้วก็อธิษฐานไป แล้วก็สอนให้ละบาปอกุศส อย่าไปทำผิดศีลผิดธรรม ให้ทำแต่ความดี สวดมนต์ไหว้พระบ้าง ก่อนนอนทำใจให้ใส นั่งสัมมาอะระหังไป ท่านก็จะสอนอยู่ ๓ เรื่องนี้
นอกจาก สอนเองแล้ว ท่านจะแนะนำอาตมาด้วยว่า เออ...มีโอกาสให้เราช่วยกันสอนด้วย โยมเขามาวัด เขาก็อยากได้ความรู้ สอนเขานี่บางครั้งเขาก็เอาบ้างไม่เอาบ้างก็ช่างเถอะ สอนไป ให้เขาได้ธรรมะติดตัวไป ได้บ้างนิดหน่อยก็ยังดี ญาติโยมบางคนมากับญาติ บางทีเขาก็ยังไม่ได้ศรัทธา มาเพราะเกรงใจญาติๆ สอนไปเถอะ เอาไม่เอาเผื่อในอนาคตอินทรีย์ของ เขา แก่กล้าขึ้นก็คิดได้ เขาอาจจะปรับปรุงตัวเองได้บ้าง อย่าไปเบื่อกับการสอน
ท่านมักจะบอกว่า คนที่มาทำบุญกับยาย ยายจะคุมบุญให้เขา ตามวิธีที่ยายฝึกมาจากหลวงพ่อวัดปากนํ้า พระมงคลเทพมุนี เอาบุญนี่แหละไปกลั่นแก้ไปทับทวีให้เป็นสมบัติ เป็นอริยทรัพย์แก่เขาไปในภพเบื้องหน้า สมบัติอันนี้มันไม่ไปไหน ไปรอท่าอยู่ในวิมานของเขาแล้ว ส่วนเงินทองหยาบๆ ที่ เขามาทำบุญ คุณยายก็เอาเข้าวัดหมด เอาถวายเข้าในหมู่สงฆ์ ให้สงฆ์ท่านจัดการ ให้หลวงพ่อธัมมะจัดการว่าจะเอาไปใช้อะไรยายเอาแต่บุญ
คุณยายบอกว่า ในโลกนี้เห็นมีแต่บุญนั่นแหละ เป็นที่พื่ง ยายจะเอาบุญให้เป็นภูเขาเชียว จะสร้างบุญ ไม่ให้แพ้ใครเลย จะเอาบุญติดตัวไปให้เต็มที่ เพราะว่าเราตายแล้วก็ยังต้องเกิดอีกหลายภพหลายชาติ เรายังไม่หมดกิเลส ยังไม่หมดเชื้อแห่งการเกิด แต่เมื่อจะเกิดอีกที เราจะต้องมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง จะได้มีทรัพย์มากและมีทั้งอริยทรัพย์ด้วย เมื่อมีทรัพย์มากจะไม่กังวลเรื่องทำมาหากิน จะได้ไม่เผลอไผลทำความชั่ว ทำความไม่ดี จะเหลือแต่การสร้างบุญกุศลนั่งปฏิบัติธรรม ได้มีทรัพย์ไปใช้ทำบุญทำทานไม่รู้จักหมดสิ้น เอาสมบัติต่อสมบัติ เอาบุญต่อบุญไปให้มากที่สุด นี่ท่านจะสอนแบบนี้
แล้วก็ให้ทุกคนพิจารณาว่า เวลามันผ่านไปทุกวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า อย่าทำชีวิตให้เหมือนนกกา ท่านชี้ให้ดู นกกานี่เห็นไหม เวลาเช้ามันก็ออกไปหากิน เวลาเย็นมันก็กลับรังนอน มันไม่ได้บุญอะไรไปเลย ชีวิตหมดไปเปล่าไม่มีคุณค่า เราทำบุญของเราดีกว่า เพราะฉะนั้น ตื่นเช้ามาให้วางแผนซิว่า วันนี้เราจะทำความดีอะไร โดยทั้งวันเราก็ทำให้เต็มที่ ก่อนที่ตะเกียงดวงใหญ่ คือดวงอาทิตย์จะลาลับไป และก่อนนอนให้สรุปสิว่า วันนี้เราทำความดีอะไรไปบ้าง ท่านมักจะสอนด้วยคำโบราณ ให้ฟังว่า เอ้า...เร็วเถิดพ่อรีบถ่อรีบพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย เดี๋ยวสายบัวจะเน่า
ท่านบอกว่า จะทำบุญทำความดีอะไรก็รีบๆ ทำซะ คือ รีบถ่อรีบพาย ตะวันจะสาย คือ ชีวิตที่เราเกิดมามันจะแก่ไปเสียเปล่า ตลาดจะวาย คือ มันจะตาย เดี๋ยวสายบัวจะเน่า ก็คือ เดี๋ยวไอ้ที่เราตั้งใจมาเกิดจะมาสั่งสมบุญบารมี ทำพระนิพพานให้แจ้งนี้ เดี๋ยวมันจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์
จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย
พระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก