ความหมายการศึกษา

วันที่ 22 มค. พ.ศ.2565

650122_B.jpg

ความหมายการศึกษา

           ตลอดมานับพันๆ ปี ผู้ใฝ่การศึกษาแต่ละยุคได้มองเห็นตรงกันว่า แท้ที่จริงแล้วความสงบสุขของผู้คนทั้งโลกต้องเกิดจากความสงบสุขของโลกใบเล็ก คือ กายและใจของตนเองก่อน เพราะฉะนั้นถ้าทำให้แต่ละคนรู้จักตนเองและควบคุมตนเองได้ คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น โลกทั้งโลกย่อมร่มเย็นเป็นสุขได้เอง โดยไม่ต้องรอให้มีผู้วิเศษหรือเทวดาองค์ใดจุติลงมาจัดการปกครองโลกให้มนุษย์

          ถ้าเช่นนั้น อะไรคือกลไกหรืออุปกรณ์ที่จะทำให้คนทั้งโลกรู้จักปกครองตนเองให้ได้ดังกล่าว คำตอบคือ การศึกษา แล้วการศึกษาที่สมบูรณ์แท้จริงคืออะไร

          การศึกษา คือ การพัฒนาให้ผู้คนแต่ละคน ๑) สามารถควบคุมปกครองตนเองได้ ไม่ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ๒) สามารถใช้กาย วาจา ใจของตน ตลอดจนความรู้ความสามารถศิลปวิทยาทั้งหลายที่ตนมี ไปสร้างประโยชน์สุขให้แก่ตนและโลกนี้ได้เต็มที่สมกับเพศวัย ๓) สามารถฝึกฝนอบรมใจตนเองให้
ผ่องใสยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด

           การจะพัฒนาตนให้ได้เช่นนั้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้อง ๑) หมั่นมองเข้าไปในตนให้รู้จริงเรื่องร่างกาย กลไกการทำงานในร่างกาย และความเชื่อมโยงระหว่างกายกับใจ ๒) หมั่นพิจารณาแก้ไขความประพฤติของตน ทั้งด้านส่วนตนและส่วนรวม ๓) หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้ใจผ่องใสจนเกิดเป็นปัญญาจากการรู้เห็นภายในให้มาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ คือ 

          ๑. เพื่อแสวงหาความรู้ชัดความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้เกี่ยวกับตนเอง และสิ่งแวดล้อม ๕

          ๒. เพื่อแสวงหาความรู้ชัดความจริงที่ต้องรีบประพฤติปฏิบัติ

          ๓. เพื่อรีบประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมตรงตามความจริงที่ต้องรีบรู้ ที่ต้องรีบประพฤติ ให้เคย คุ้น ชิน ติดแน่นฝังใจ กลายเป็นนิสัยดีประจำตน

          ๔. เพื่อตั้งใจฝึกสติเก็บใจไว้กลางกายให้ได้เป็นนิจ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมขณะคิด-พูด-ทำ จึงเป็นผู้สามารถดับความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดตามมาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

          ๕. เพื่อเพียรอบรม สั่งสอน ฝึกฝน บุตรหลาน ลูกศิษย์ ผู้อื่น ให้รู้ชัดความจริงที่ต้องรีบรู้ และรีบประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามความจริงนั้นเป็นนิสัย

          สรุปได้ว่า การศึกษาเป็นการแสวงหา ค้นคว้าทดลอง ฝึกฝนตนเองให้รู้ชัดความจริงที่ต้องรีบรู้ แล้วรีบนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อดับทุกข์เพิ่มสุขให้แก่ตนเองและเพื่อนร่วมโลกอย่างเต็มที่ เต็มกำลังตลอดไป โดยเริ่มต้นจากการฝึกสติสัมปชัญญะให้เกิดเป็นคุณธรรมที่หนักแน่นมั่นคงก่อน เพื่อใช้ควบคุมใจให้ผ่องใส สว่างไสวตรงศูนย์กลางกายเป็นนิจ ให้ใจเกิดความรักดี รังเกียจความชั่วยิ่งชีวิต แล้วนำความรู้ความสามารถที่เกิดจากการศึกษาไปใช้ทำความดีให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนเองและสรรพสัตว์ต่อไป

 

การศึกษาขาดครูดีไม่ได้

ความหมายของคำว่า “ครู”

           ความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ มีความสำคัญต่อการศึกษามากฉันใด ครูดีก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าความจริงฉันนั้น

           ครูคืออะไร คำว่า ครู มีรากศัพท์จากคำว่า ครุ และ คารวะ ซึ่งเป็นคำเดียวกันในภาษาบาลี

                ครุ แผลงเป็น ครู 

                ครุ แปลว่า หนัก หมายถึง หนักแน่น

          ครูต้องหนักแน่นในเรื่องอะไร

           ๑. ครูต้องหนักแน่นเพื่อค้นคว้าหาความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ ให้เข้าใจถูกต้องและครบถ้วนชัดเจนทั้งเหตุทั้งผลและพร้อมอธิบายขยายความ

           ๒. ครูต้องหนักแน่นประพฤติตนให้เหมาะสมถูกต้องตรงต่อความจริง เพื่อให้เกิดเป็นความดี มีใจผ่องใส มีใจเก็บไว้กลางกายเป็นนิจ มีอารมณ์ดี อารมณ์เดียว เมื่อทำอะไรแล้วต้องไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ตามมาภายหลังทั้งต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

         ๓. ครูต้องหนักแน่น ยอมหนักแรงถ่ายทอด สั่งสอน ฝึกหัด ดัดนิสัย อบรมศิษย์ให้เข้าถึงความจริงกายภาพ จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ และประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมตรงตามความจริงตามครู

           ส่วนศัพท์คำว่า คารวะ แผลงเป็น เคารพ แปลว่า ตระหนัก ครูต้องตระหนักในเรื่องอะไร

           ๑. ตระหนักในความสำคัญของการรู้ความจริงทั้งกายภาพและจิตภาพ

           ๒. ตระหนักในความดีที่ได้รู้ ได้เห็นจากบุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งตรึงติดฝังใจ

         ๓. นำความดีที่ติดตรึงใจนั้นมาประพฤติตนให้ดี ตามที่ได้รู้ได้เห็นนั้น เพื่อจะได้ทำความดี มีสิ่งของดี ประสบแต่เหตุการณ์ดีตามนั้น และพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

           ความเคารพจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งสำหรับศิษย์ที่ต้องมีต่อครู

          ด้วยเหตุที่ครูเป็นผู้มีความหนักแน่น มีความตระหนักติดใจในความดี ครูจึงมีความน่าเคารพน่ากราบไหว้ บูชาเพราะ

๑. ครูรอบรู้ความจริงที่ต้องรีบรู้ และรู้วิธีประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมตรงกับความจริงนั้น

     ๑.๑ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง ศิษย์ และผู้อื่นตามมาภายหลัง

     ๑.๒ มีแต่ความสุขความเจริญเท่านั้นตามมา นี้เป็นความจริงที่ผู้เป็นครูต้องรีบรู้และต้องรีบประพฤติถูกต้องตรงไปตรงมา

๒. ครูประพฤติตนเหมาะสมถูกต้องตรงตามความจริงที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ เพื่อให้ตนเป็นต้นแบบความดีแก่ ชาวโลก

๓. ครูเพียรถ่ายทอด อบรม สั่งสอนศิษย์ด้วยความเมตตา กรุณา และอดทน

     ๓.๑ เพื่อให้ศิษย์รู้ชัดความจริงที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติปฏิบัติ

     ๓.๒ เพื่อให้ศิษย์ประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมถูกต้องตรงตามความจริงที่ต้องรีบรู้ รับประพฤติให้เคย คุ้น ซิน ติดแน่นฝังใจ เป็นนิสัยดีประจำตนเช่นครูดี

เหตุผลที่การศึกษาต้องมีครูดี

          กระบี่ที่ไร้ฝึก ระเบิดที่ไร้สลักนิรภัย อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของผู้ครอบครองและผู้เกี่ยวข้องได้ฉันใด ความรู้จริงในสิ่งทั้งหลายแม้มีประโยชน์มาก แต่แฝงภัยอันตรายแก่ผู้ไม่มีวินัยควบคุมกายวาจา และใจตนเองได้ฉันนั้น

          วินัยที่ใช้ควบคุมกายและวาจาไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนตนเองและผู้อื่นสำหรับบุคคลทั่วไปคือ ศีล ๕ ในวันธรรมดาและศีล ๘ ในวันอุโบสถหรือวันพระ สำหรับสามเณร คือศีล ๑๐ และพระภิกษุ คือศีล ๒๒๗ ส่วนวินัยสำหรับควบคุมจิตใจไม่ให้ไปคิดร้าย ๆ ไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางร้าย ๆ แต่ส่งเสริมให้นำไปใช้ในทางดีหรือทำความดี คือ สติสัมปชัญญะ

           ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ นับแต่โบราณกาล จึงระมัดระวังมาก นอกจากตนไม่ใช้ความรู้ความสามารถในศาสตร์นั้นๆ ไปทำความเดือดร้อนแก่ตนเองและใครๆ แล้ว ยังระมัดระวังในเรื่องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์หรือคนอื่นต่อไปด้วยว่า ต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกให้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงมากพอเพื่อกำกับการใช้
ความรู้ของท่านก่อน จึงถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ผู้นั้น โดยถือว่าเป็นการปิดนรก เปิดสวรรค์ เบิกทางแห่งความสุขความเจริญให้แก่ศิษย์นั้นด้วย

          หัวใจสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของชาติ จึงอยู่ที่การพัฒนาผู้เรียน หรือประชาชนทุกคนในชาติให้สามารถประคับประคองใจ ควบคุมใจตนเอง และใจลูกหลานตัวน้อย ๆ ของตน ไม่ให้ใจแวบหนีเที่ยวออกไปนอกกายตั้งแต่เล็กด้วยวิธีการอันเหมาะสม โดยการฝึกให้

           ๑. หมั่นมองเข้ามาในตน เพื่อความรอบรู้ความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้และรีบประพฤติให้ครบถ้วนชัดเจน ถูกต้องพอเหมาะแก่เพศและวัยนั้นๆ

           ๒. หมั่นพิจารณาการประพฤติปฏิบัติตน ว่าตนได้นำความจริงที่ต้องรีบรู้และที่ต้องรีบประพฤติที่เรียนจากโรงเรียน มาปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยดีๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขนิสัยไม่ดีเดิม ๆ และเพิ่มพูนนิสัยดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

           ๓. หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้ใจหยุดนิ่งในตัวได้ครั้งละนานๆ เพื่อเห็นและรู้ตนเองว่า ใจผ่องใสและหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายได้ดีเพียงใด จึงเป็นการหลอมละลายความรู้วิชาการด้านต่างๆ จากในห้องเรียน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อตนเองในชีวิตจริง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อย่างเหมาะสมแก่เพศและวัย

          ความรู้วิชาการ ความประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา และสติสัมปชัญญะที่มั่นคงสำหรับควบคุมใจ จึงได้รับการหล่อหลอมให้เกิดขึ้นในเยาวชนและประชาชนทุกคน เพื่อให้เป็นทั้งลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ดีของครู พ่อแม่ผู้ปกครองที่ประเสริฐของลูก และเป็นพลเมืองที่ดีสำหรับพัฒนาประเทศชาติสืบไป

******

วินัยสำหรับควบคุมจิตใจ
ไม่ให้ไปคิดร้าย ๆ
ไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางร้าย ๆ
แต่ส่งเสริมให้นำไปใช้ในทางดี
หรือทำความดี คือ สติสัมปชัญญะ

******

หน้าที่ครูดี

           ครูดีจึงต้องเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้ถูกต้องแท้จริงให้สมกับความเป็นครูผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้บูชาของศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นครูดีโดยธรรมชาติ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูดีโดยอาชีพ คือ ครูที่โรงเรียนและสถานศึกษา หรือว่าครูดีโดยขนบธรรมเนียมประเพณี คือ ครูที่วัด ซึ่งได้แก่พระภิกษุและนักบวชในศาสนาต่างต้องเข้ามาทำหน้าที่ครูดีให้ถูกต้องตรงตามความจริง ดังที่ท่านผู้รู้จริงได้สรุปและให้หลักการสำหรับถือปฏิบัติให้เชี่ยวชาญ ๓ ประการ คือ

          ๑. ละเว้นความประพฤติชั่วทั้งปวง คือ ไม่ทำความชั่วทุกชนิดทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้เต็มความรู้ความสามารถ

          ๒. ประพฤติความดีทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้เต็มความรู้ความสามารถ

          ๓. ทำใจของตนให้ผ่องใส คือ มุ่งกำจัดทำลายโรคประจำใจ ๓ ประการ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้นเด็ดขาดอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ด้วยการภาวนาเก็บใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเป็นนิจให้ได้

          การประพฤติปฏิบัติตามหลักการ ๓ ประการนี้ แม้ครูต้องผจญกับอุปสรรคมากน้อยเพียงใด แต่เพื่อประโยชน์สุขอย่างถาวร คือ การกำราบปราบปรามความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ๔ ประการ และเป็นต้นแบบแก่เหล่าศิษย์ผู้น่ารักของท่าน ท่านก็ยอมกัดฟันทน

          ความเป็นครูดี จึงมิได้อยู่ที่มีตำแหน่งวิชาการ มิใช่อยู่ที่ตำแหน่งบริหาร มิใช่อยู่ที่ความมีชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาที่ครูทำงาน มิใช่อยู่ที่เงินเดือนสูงๆ มิใช่อยู่ที่ความร่ำรวย ตลอดจนมิใช่มีความก้าวหน้าทันสมัยทางเทคโนโลยี แต่ความเป็นครูดีกลับอยู่ที่ความมีวิญญาณแห่งความเป็นครูต่อลูกศิษย์ของท่านและคนทั่วไป กล่าวคือ

          ๑. ครูดีย่อมไม่ยอมให้ลูกศิษย์ทำชั่วทุกชนิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงทั้งพร่ำสอน พร่ำทำให้ดูเป็นแบบอย่างว่า ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควร-ไม่ควร คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ เหมาะสม-ไม่เหมาะสม สะดวกสบาย-ลำบาก โง่-ฉลาด เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มีผลต่อตนเอง-ส่วนรวมอย่างไร ทั้งปัจจุบัน-อนาคต ศิษย์แต่ละวัย แต่ละชั้นเรียนมีความชั่วอะไร ที่ต้องขนาบแล้วขนาบอีก ให้ห่างไกลเว้นขาด แม้ความชั่วในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

          ๒. ครูดีย่อมแนะนำส่งเสริมให้ลูกศิษย์ตั้งอยู่ในความดี ความดีที่ลูกศิษย์แต่ละเพศวัยชั้นเรียน จะต้องรีบรู้ รีบประพฤติมีอะไรบ้าง ครูดีต้องวิเคราะห์นำมาจำแนกสั่งสอน ฝึกฝนลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วนกระบวนการของการทำความดีนั้นๆ พร้อมทั้งอธิบายขยายความให้เหตุให้ผลตามหลักความจริงกายภาพและจิตภาพ อีกทั้งให้โอกาสลูกศิษย์ซักถามได้อย่างเต็มที่ เพราะครูดีย่อมประพฤติปฏิบัติตั้งตนอยู่ในความดีเป็นนิจ กระทั่งเป็นนิสัยดีประจำตัวครูดีอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรจะต้องปิดบังให้ลูกศิษย์เคลือบแคลงสงสัย แต่พร้อมเป็นต้นแบบที่ดีให้ดูอยู่แล้วทุกเวลา

          ๓. ครูดีย่อมแนะนำส่งเสริมลูกศิษย์ให้หมั่นทำใจให้ผ่องใสเป็นนิจ การฝึกฝนให้ลูกศิษย์มีสติมั่น หมั่นเก็บใจไว้กลางกายเป็นนิจ เป็นกิจเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของครูดี ที่จะต้องทำอย่างเคร่งครัดและเร่งด่วน เพราะใจที่ประคองเก็บรักษาไว้มั่นเป็นนิจตรงกลางกายเท่านั้น จึงผ่องใสเต็มที่และมีกำลังใจสูงสุด เหมาะที่จะใช้หักห้ามใจให้ละเว้นการกระทำชั่วทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการทำชั่วทางกาย วาจา หรือใจ ในทางตรงข้ามก็มีกำลังใจสูงสุดเหมาะในการทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ใจที่ผ่องใสอยู่กลางกายเป็นนิจนี้ยังเป็นเหตุให้ใจสว่าง สามารถเห็นและรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้ชัดเจน
ถูกต้องมากที่สุด อันเป็นที่มาของการจำ การคิด การรู้ทั่วอย่างถูกต้อง คือก่อให้เกิดปัญญาแก่ผู้นั้นได้ง่าย ทั้งปัญญาระดับรู้จำ ระดับรู้ขบคิด และหากฝึกใจให้หยุดนิ่งไว้กลางกายกระทั่งชำนาญ ย่อมเกิดการรู้เห็นจากความสว่างภายในเรียกว่า ญาณทัสสนะ ในระดับใดระดับหนึ่งได้ด้วย

           ผลจากการทุ่มเทพัฒนาแก้ไขตนเองเพื่อเป็นต้นแบบทำความดีให้แก่ศิษย์ และการขนาบศิษย์แล้วขนาบอีก ชนิดไม่ยั้งมือ ไม่ยอมเลิก สิ่งที่ครูจะได้รับทันทีโดยอัตโนมัติแก่ตนเอง ก็คือ เป็นผู้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์ และมีความกรุณาตามท่านผู้รู้จริงทั้งหลายในอดีตอย่างแน่นอน

          เพราะหาครูดีมีความรู้ความสามารถในการเก็บใจไว้กลางกายได้ยาก เยาวชนของแต่ละชาติจำนวนมากจึงไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่สำคัญ ส่งผลให้ขาดสติสัมปชัญญะปล่อยใจตนเองออกนอกกายเป็นนิจ ใจของเขาเหล่านั้นจึงขุ่นมัวเป็นปกติ เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิดเป็นปกติ ใจหมดภูมิต้านทานความชั่วเป็นปกติ มีกำลัง
ในการทำความดีอ่อนล้าเป็นปกติ จึงมีปัญหาเยาวชนวัยรุ่นจมอยู่กับอบายมุขชนิดต่างๆ ทั้งติดยาเสพติดให้โทษ ยกพวกทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติทุกประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า โลกกำลังโหยหาครูดี

          วันนี้หากศิษย์คนใดมีวาสนาดี ได้พบครูดีประเภททุ่มเทชีวิตจิตใจขนาบแล้วขนาบอีกให้ลูกศิษย์เว้นชั่ว พร่ำสอน ฝึกฝน อบรม ให้ลูกศิษย์เคย คุ้น ชิ้น ต่อการทำความดี ล้ำจี้ไปให้ลูกศิษย์หมั่นเก็บใจไว้ในกายให้ใจผ่องใสเป็นนิจก่อน แล้วจึงถ่ายทอดวิชาการทั้งกายภาพและจิตภาพให้ แม้เป็นศิษย์ของท่านเพียงวันเดียวก็พึงเคารพกราบไหว้
บูชาท่านจนตลอดชีวิตเถิด เพราะเพียงได้เห็นได้ยินคำสอนของท่าน แม้ไม่มีโอกาสซักถามท่านอย่างจริงจังก็สามารถยึดถือท่านเป็นต้นแบบความประพฤติดี เพื่อปิดนรกเปิดสวรรค์ เบิกทางแห่งความสุขความเจริญให้แก่ตนได้แล้ว

           พระคุณของท่านแม้เพียงเท่านี้ เราก็ไม่อาจจะหาสิ่งใดมาตอบแทนบุญคุณท่านได้แล้ว ศิษย์ทั้งหลายจึงพึงเคารพนอบน้อมบูชาคุณท่านตลอดกาลนาน

          ครูดีท่านจึงจัดการศึกษาให้แก่ศิษย์โดยยึดสติสัมปชัญญะเป็นแกนกลาง

650122_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E1.jpg

          สติสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมกำกับใจของครูดีและศิษย์ให้อยู่ภายในกาย ใจจึงผ่องใส มีพลัง ที่จะขบคิดกระทั่งรู้ชัดความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ เมื่อต้องประพฤติปฏิบัติก็มีสัมปชัญญะรู้ตัว ทำอย่างเหมาะสมรอบคอบ ถูกต้องตรงตามความจริง ทำด้วยใจที่เบิกบาน แช่มชื่น อารมณ์ดีอารมณ์เดียว การรู้ความจริงก็ยิ่งชัดเจน แจ่มแจ้ง เพราะได้รู้ ได้ปฏิบัติ ได้เห็นด้วยตนเอง ความมั่นใจในความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้รีบประพฤติก็ยิ่งมั่นคง เห็นด้วยใจตนเองที่ผ่องใสอีกว่า สติสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมเบื้องต้นด่านแรกที่จะนำไปสู่ความจริงทางโลกและความจริงเหนือโลก

          การศึกษาที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อมีครูดีและศิษย์ดี เพราะต่างเป็นผู้รักการฝึกฝนตนเองให้มีสติสัมปชัญญะนั่นเอง อีกทั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม ๕ ที่สะอาด เป็นระเบียบ คือ

๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ                     เวลา ฤดูกาล อากาศปกติ ไม่แปรปรวน

๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์                            ไม่มีสัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยรบกวน

๓. สิ่งแวดล้อมที่เป็นคน                              คือมีครูดี มีเพื่อนนักเรียนดี

๔. สิ่งแวดล้อมที่เป็นห้องเรียน                     สะอาด เป็นระเบียบ แสงสว่างพอ อากาศถ่ายเทสะดวก อุปกรณ์การเรียนการสอนครบ

๕ สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติ  มีบทฝึกนิสัย มีลำดับการฝึกสติสัมปชัญญะ

 

บทฝึกนิสัยตนเองให้มีสติสัมปชัญญะ

ความหมายนิสัย

           นิสัย คือ ความประพฤติที่เคยชินจนติด หมายความว่า เป็นการกระทำที่ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนเคย คุ้น ชิน แล้ว ติด ฝังใจว่าจะต้องทำเช่นนั้นอีก

           เคย เป็นการได้เห็น ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้มรส ได้จับต้องสัมผัส ได้ทำ ได้ลอง เป็นครั้งแรก เรียกว่า เคย การทำอะไรครั้งแรก คือ สร้างความเคย

           ค้น เป็นการสร้างความเคยหลายๆ ครั้ง เช่น เคยตื่นนอน ๐๔.๓๐ น. แม้วันต่อๆ มาก็ตื่นเวลานี้ จึงคุ้นกับการตื่นนอน ๐๔.๓๐ น.

           ชิน เป็นความคุ้นที่ทำหลาย ๆ ครั้ง กระทั่งกลายเป็นความชิน

           ติด เป็นความชินที่ทำเป็นประจำจนติดแน่นฝังเข้าไปในใจว่าจะต้องทำเช่นนั้นอีก

           การกระทำที่ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ แม้เคย คุ้น ชิน หากยังไม่ติดฝังใจก็ยังไม่เป็นนิสัย ต่อเมื่อติดแน่นฝังใจว่าจะต้องทำเช่นนั้นอีกให้ได้ หากไม่ได้ทำอีกจะรู้สึกหงุดหงิด เช่น ผู้มีนิสัยสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็จะต้องทำทุกเช้า ไม่ต้องมีใครมาเตือน หากวันใดไม่ได้ทำจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจ เหมือนชีวิตขาดอะไรบางอย่าง แต่ละวันจึงต้องหาโอกาสทำให้ได้ นิสัยต่างๆ ของเราก็เกิดจากการประพฤติของตัวเรามาเป็นลำดับ

650122_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E2.jpg

ความหมายบทฝึกนิสัย

          บทฝึกนิสัย คือ ข้อกำหนดให้ปฏิบัติกิจนั้นเป็นประจำ จะละเว้นมิได้ เพราะถูกต้องตามคำสอนของผู้รู้จริงจนผู้ปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความเคย คุ้น ชิน ติด เป็นนิสัยประจำตน

ส่วนประกอบบทฝึกนิสัย

          บทฝึกนิสัยมีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้

          ๑. วัตถุประสงค์ เป็นการระบุว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไรเพื่อให้เกิดคุณธรรม นิสัย หรือรู้ชัดความจริงอะไร การเขียนวัตถุประสงค์จะเขียนที่ชื่อบทฝึกนิสัยก็ได้หรือเขียนแยกเป็นหัวข้อก็ได้

          ๒. ความจริงกายภาพที่ต้องรีบรู้ เป็นการสรุปสาระสำคัญความจริงกายภาพที่ต้องรีบรู้ เขียนในรูปของสูตรสมการ ข้อความสำคัญ เพื่อผู้เรียนสามารถจับสาระสำคัญได้ถูกต้อง จดจำได้ง่าย คิดใคร่ครวญความเป็นเหตุเป็นผลก็จะรู้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเรียน และจะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร

          ๓. ความจริงจิตภาพที่ต้องรีบรู้ เป็นการสรุปสาระสำคัญความจริงจิตภาพที่ต้องรีบรู้ เขียนในรูปของคำ วลี ประโยค ข้อความสำคัญที่จัดเรียงลำดับตามความลุ่มลึก เพื่อผู้เรียนสามารถสังเกตเห็น จดจำ คิด รู้ได้เข้าใจง่าย มีความเชื่อมโยงกับความจริงกายภาพที่ต้องรีบรู้ ความจริงที่ต้องรีบประพฤติอย่างไร จึงรู้ชัดเหตุผลว่าทำไมจึงต้องประพฤติปฏิบัติ

           ๔. ความจริงที่ต้องรีบประพฤติปฏิบัติ ประกอบด้วย ๔ ส่วนสำคัญ คือ

                ๔.๑ มีสติเก็บใจไว้ในกาย

                ๔.๒ มีสัมปชัญญะ สังเกต เห็น จำ คิด รู้ เกี่ยวกับตนเอง

                ๔.๓ มีสัมปชัญญะ สังเกต เห็น จำ คิด รู้ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๕

                ๔.๔ ประพฤติปฏิบัติอย่างมีสติสัมปชัญญะ

           ๕. ผลการประพฤติปฏิบัติ ระบุความจริงที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติเมื่อทำถูกต้องเป็นประจำแล้วว่าเป็นอย่างไร หากผู้เรียนยังทำไม่ได้ ต้องติดตามช่วยชี้แนะแก้ไขข้อบกพร่องค่อย ๆ ให้กำลังใจ และพัฒนาจนกว่าจะทำได้เองเป็นนิสัยติดตัวไป

 

การออกแบบบทฝึกนิสัย

           คุณครู หรือคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง หรือครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน สามารถออกแบบบทฝึกนิสัยได้หลากหลายรูปแบบตามความถนัดของผู้ออกแบบและลักษณะผู้เรียน ดังนี้

    ๑. มีหัวข้อครบตามส่วนประกอบบทฝึก ดังตัวอย่างบทฝึกนิสัยตนเองผ่านการเจริญสติเก็บใจไว้กลางกายบทฝึกนิสัยตนเองให้มีสติสัมปชัญญะผ่านการเดิน บทฝึกนิสัยตนเองให้มีสติสัมปชัญญะผ่านการทำความสะอาดโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน

           ๒. ยึดความจริงที่ต้องรีบประพฤติปฏิบัติเป็นหลัก แล้วระบุความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ เพื่อแสดงความเป็นเหตุเป็นผล ในแต่ละขั้นตอนที่ต้องประพฤติปฏิบัติ 

การใช้บทฝึกนิสัย

          บทฝึกนิสัยสามารถใช้ได้ทั้งในและนอกห้องเรียน ใช้ได้ในกิจวัตรประจำวันทั้งที่บ้าน โรงเรียน สถานที่ต่างๆ การนำไปใช้ พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู ครูพระ ควรฝึกผู้เรียนให้ประพฤติปฏิบัติภายใต้คำแนะนำ ให้กำลังใจ พูดคุย ปรึกษากันอย่างสร้างสรรค์ หากจะใช้วิธีลองผิดลองถูก ต้องให้เหตุผลว่าถูก-ผิดเพราะอะไร ควรมีครูกำกับเพื่อป้องกันศิษย์เข้าใจผิด คิดผิด พูดผิด และทำผิดๆ

การประเมินบทฝึกนิสัย

           บทฝึกนิสัยที่ดีต้องทำให้ผู้เรียน ๑) รู้ชัดความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้รีบประพฤติ ๒) ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตรงความจริงนั้นให้เป็นนิสัย พ่อแม่ ครู ครูพระ จึงควรให้ผู้เรียน คือ ลูกหลานเรา ศิษย์ได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นประจำ ภายใต้การเอาใจใส่ แนะนำ โดยมีพ่อแม่ ครู ครูพระ ประพฤติปฏิบัติเป็นนิสัยดีให้เห็นเป็นแบบอย่าง

 

 

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016146083672841 Mins