บวชอย่างไรจึงจะได้บุญมาก
เพื่อให้ธรรมทายาททุกท่านได้บุญมาก แต่ละท่านจึงสมควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เหมาะสม ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. สำรวมกาย วาจา และใจอยู่เสมอ ยิ่งธรรมทายาทท่านใดมีความสำรวมระวังมากและต่อเนื่อง ก็ ยิ่งได้บุญมาก กล่าวคือ
สำรวมกาย ตลอดระยะเวลาอบรม ควรปฏิบัติดังนี้
-นุ่งห่มให้เรียบร้อย
-สำรวมกิริยามารยาท ไม่คะนองมือ คะนองเท้า
-ช่วยกันรักษาความสะอาด ทั้งของตนเอง และของวัด รวมทั้งทิ้งขยะในที่ที่กำหนดให้
-ไม่สูบบุหรี่ และยาเสพติดให้โทษ
-ไม่ก่อการวิวาท ต่อยตีกัน ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
สำรวมวาจา ควรปฏิบัติ ดังนี้
ไม่พูดจาบจ้วงล่วงเกินพระรัตนตรัย
ไม่คะนองปาก อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่ง
ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในทางเสียหาย
ไม่พูดเสียงดังเกินไป อันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น
พูดแต่ถ้อยคำอันเป็นวาจาสุภาษิต อันได้แก่ พูดแต่เรื่องจริงไม่กล่าวเท็จ พูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ พูดให้ถูกกาละเทศะ พูดคำสุภาพน่าฟัง พูดด้วยจิตเมตตา
สำรวมใจ ด้วยการหมั่นตรึกระลึก ดังนี้
ตรึกระลึกถึงคุณของศีล ว่าเป็นเครื่องชำระกาย และวาจาของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ และช่วยให้การประพฤติพรหมจรรย์ของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น
ตรึกระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า ด้วยการน้อมนำใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา
๒. ให้ความร่วมมือพระพี่เลี้ยงด้วยความเต็มใจ โปรดระลึกเสมอว่าพระพี่เลี้ยงผู้ให้ความสะดวกทุกๆท่านล้วนเป็นนักสร้างบารมี ที่ตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ธรรมทายาทได้บุญมาก จึงขอให้ทุกท่านให้ความรักความเคารพ ช่วยถนอมทั้งกายและใจของพระพี่เลี้ยง ด้วยการให้ความร่วมมือตามที่ท่านแนะนำอย่างเต็มใจ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนประหยัดเวลา และก่อให้เกิดความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน
๓. ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ตามที่พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงจะอบรมให้เป็นลำดับ ๆ สืบต่อไป
อานิสงส์ของการบวช
ผู้บวช ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ดังนี้
๑. เป็นผู้รู้จักบริหารเวลา คือ รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ภาษาศาสนาเรียกว่า "กาลัญญุตา" ความเป็นผู้รู้จักกาล ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งให้เป็นสัปบุรุษ ขณะที่เป็นนิสิตนักศึกษา ภาระรับผิดชอบยังไม่มาก ความกังวลทางบ้านเรือนไม่มี หากรีบบวชก่อนย่อมบรรลุธรรมได้ง่าย
๒. แม้ช่วงเวลาจะสั้น แต่ถ้าลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะได้ลิ้มรสความสุขจากความสงบตั้งแต่เยาว์ เพราะตอนเป็นนิสิตนักศึกษากิเลสยังไม่แก่จัดเป็นเหมือนไม้อ่อนพอจะดัดได้ง่าย ครั้นบวชแล้วได้รับรสแห่งความสุขภายใน ก็จะรู้ว่าบาปบุญนั้นมีจริง เมื่อได้พบความสุขภายในที่ดีกว่า ประณีตกว่า ก็จะไม่ติดในอามิสสุข อันเป็นความสุขทางโลก
๓. มีโอกาสได้ศึกษาหลักธรรมไว้กำกับความรู้ จะได้ใช้ความรูปในทางที่ถูกที่ควร ดังพุทธพจน์บทหนึ่งว่า ความรู้ทางด้านวิชาการที่ชาวโลกเรียนหากเกิดแก่คนพาลไม่มีศีลธรรม ย่อมมีแต่จะนำความฉิบหายมาให้เขา เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดเนื่องจากไม่มีคุณธรรม
๔. ได้ฝึกวินัย และเข้าใจวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ถ้าบวชแล้ว ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจัง ต่อไปจะเป็นคนรักวินัยคนไทยเรา มีพระเป็นตัวอย่างทางวินัยให้ดู เช้าขึ้นก็เดินออกบิณฑบาต สวดมนต์หรือฟังเทศน์ท่านก็นั่งเป็นแถว เพราะฉะนั้นคนที่เคยบวชแล้ว นิสัยความมีวินัยก็จะติดตัวออกไปด้วย
๕. ได้ฝึกสมาธิ ทำจิตให้สงบ ซึ่งเป็นผลดีต่อการศึกษาต่อไป
๖. เกิดความปลื้มปีติยินดีที่ได้ทำความดีแล้วตั้งแต่ยังเยาว์ ความปีตินี้เองที่จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจอยู่เสมอ ถึงคราวจะตายก็ไม่ห่วงหน้าพะวงหลังทำความดีอย่างนั้นๆ นึกแล้วก็ชื่นใจ แต่ถ้าแก่แล้ว เหลียวหลังไปดู หาดีไม่ได้ก็จะได้ความห่อเหี่ยวใจเป็นเครื่องตอบแทน ตอนใกล้ตาย ก็จะตายแบบใจห่อเหี่ยว ตรงกันข้าม ถ้าเคยบวช เคยทำความดีมาก่อน แม้จะตายก็ตายดีตายอย่างคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่ามาแล้ว
๗. ทำให้รู้จักเป้าหมายของชีวิตที่แท้จริงของชีวิตว่า "เกิดมาทำไม" เพราะฝึกแล้วรู้ว่า การทำให้กิเลสหมดไปได้ เกิดความสุขภายในขึ้นมาตามลำดับจะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองได้อย่างถูกต้อง
๘. ทำให้มีความอดทน ไม่หวั่นไหวในอุปสรรคใด ๆ
๙. ทำให้รู้จักตนเอง นั่นคือ รู้ว่าตัวเองมีความรู้ ความสามารถและคุณธรรมแค่ไหนเพียงใด เมื่อก่อนเราก็ว่าเราเก่ง แต่พอมาบวช ได้ฝึกตน รู้เลยว่า จริง ๆ แล้วความสามารถมีแค่ไหน แต่เราได้พัฒนาปรับปรุง ตัวเองขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง อย่างภาษิตจีนที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คนเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะทำให้เราประมาณฝีมือ หรือความสามารถของตัวเองดี กลายเป็นผู้รู้จักประมาณตน ซึ่งการที่จะรู้จักตัวเองนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การรู้จักคนอื่นนั้นง่าย คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนีเป็นอย่างนี้ วิจารณ์ได้สารพัด แต่ตัวเองเป็นอย่างไร ดูทีไรก็ดีทุกที หลังจากบวชแล้วเรียนวินัยและกิจวัตร จึงรู้ว่าแต่ก่อนนึกว่าเราเองเก่งไม่เบา ที่ไหนได้ ยังต้องฝึกฝนอบรมตนอีกมาก
๑๐. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล
๑๑. ได้ชื่อว่า ชำระโทษ ทางกาย วาจา ใจ ให้สิ้นไป เพราะ
-ศีล ชำระโทษทางกายและวาจา
- สมาธิ ชำระโทษทางใจ
- ปัญญา ชำระโทษทางสันดานให้เป็นคนมีสัมมาทิฐิ
๑๒. ได้ชื่อว่าปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นการบูชาอันสูงสุด
๑๓. ทำให้มีโอกาสเอาชนะกิเลสได้ระยะหนึ่ง จึงมีเชื้อสายแห่งความเป็นผู้ชนะ คนเราเมื่อมีเชื้อสายแห่งความชนะแล้ว ต่อไปเห็นอะไรก็ไม่ท้อ เพียรจนสำเร็จได้ การปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเคร่งครัดจนสามารถเอาชนะกิเลสได้ในการบวชระยะสั้น ๆ นั้น ย่อมเกิดกำลังใจว่า เราก็มีฝีมือ ฉะนั้น การดำเนินตามรอยเบื้องยุคลบาทแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลายนั้น แม้จะยากยิ่ง แต่ก็มิใช่สิ่งที่เหลือวิสัยใจสู้ขึ้นมาเมื่อใด หนทางข้างหน้าก็ไปได้ไม่ยาก
๑๔. ทำให้แสวงหาความสุขได้มากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะพึงมีพึงได้
๑๕. ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีกำไรชีวิตแล้ว เพราะได้กระทำกรรมที่บริสุทธิ์ทั้ง กาย วาจา และใจ
๑๖. ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มถากถางทางไปพระนิพพาน ส่วนจะได้เท่าไรนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะได้เริ่มต้นหนึ่งแล้ว สอง สาม สี่ ห้า... จะตามมาเองแต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มก็ยังอยู่ที่ศูนย์ เสียเวลาเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง