ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุวางก็ดี ให้วางก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ฟูก ก็ดี เก้าอี้ก็ดี อันเป็นของสงฆ์ไว้ในที่แจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดี ซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุเอาเตียงตั่ง ฟูกเก้าอี้ของสงฆ์ไปตั้งในที่แจ้งแล้วเมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเองก็ดีไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บก็ดีไม่มอบหมายแก่ผู้อื่นก็ดีต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
เสนาสนะ เช่น เตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ที่เป็นของสงฆ์ถือว่าเป็นของใช้ส่วนกลาง ไม่มีเจ้าของโดยตรงสามารถใช้ร่วมกันได้แต่ต้องดูแลรักษา เก็บงำให้ปลอดภัยจากฝน จากลม หรือจากอันตรายอย่างอื่น
เมื่อนำเสนาสนะเหล่านั้นไปใช้ในที่แจ้งหรือที่กลางแจ้งแล้วต้องเก็บงำไว้ที่เดิม หากไม่เก็บ ไม่ให้คนอื่นเก็บ หรือไม่มอบหมายให้ใครดูแลแทนของนั้นย่อมเสียหาย เพราะภิกษุไม่เก็บเสนาสนะเช่นนั้นหลังจากนำออกไปใช้กลางแจ้งแล้ว ด้วยความเผอเรอ ด้วยความมักง่าย หรือด้วยความเคยชินทำให้ของเหล่านั้นเสียหาย จีงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทไว้
ในกรณีที่ตนใช้อยู่ก่อน ต่อมามีผู้อื่นมาใช้ต่อ ถือว่าเป็นธุระของเขาหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องรีบไปโดยด่วน โดยไม่เก็บหรือไม่บอกให้ผู้อื่นเก็บ ไม่เป็นอาบัติ
การนำเสนาสนะเหล่านั้นออกไปผึ่งแดด ไม่นับเข้าในสิกขาบทนี้
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อสร้างนิสัยในการเก็บรักษาของสงฆ์แก่ภิกษุมิให้มีความมักง่ายสะเพร่า เผอเรอขาดความเอาใจใส่ในสิ่งที่ต้องทำ หรือใช้ของสงฆ์แบบเคยตัวทิ้งขว้างจนชิน และเพื่อให้รู้จักรักษารู้จักถนอมของอันเป็นของสงฆ์
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุเก็บเองแล้วไป
(๒) ภิกษุให้คนอื่นเก็บแล้วไป
(๓) ภิกษุบอกมอบหมายแล้วไป
(๔) ภิกษุเอาออกผึ่งแดดไว้แล้วไปด้วยตั้งใจว่าจะกลับมาเก็บ
(๕) เสนาสนะมีเหตุบางอย่างมารบกวน
(๖) ภิกษุมีอันตราย
(๗) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรืออาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุมากรูปในวัดเชตวัน