อย่างไรที่เรียกว่า "ศีลขาด"
มีคนจำนวนมากที่ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ด่างพร้อยแต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การกระทำบางอย่างทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาได้ทำให้ศีลที่ตนตั้งใจรักษาไว้ เกิดด่างพร้อยหรือขาดไปบ้างหรือไม่ก็สามารถตัดสินได้ด้วยตนเอง ตามองค์ประกอบแห่งการกระทำผิดศีลของศีลแต่ละข้อ ซึ่งเราเรียกสั้นๆ ว่า องค์แห่งศีล หรือ องค์ศีล ดังนี้
องค์แห่งศีล ๕
๑. การฆ่าสัตว์ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
(๑) สัตว์นั้นมีชีวิต
(๒) รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
(๓) มีเจตนาจะฆ่าสัตว์นั้น
(๔) พยายามฆ่าสัตว์นั้น
(๕) สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น
การฆ่าที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ ไม่ว่าจะฆ่าเอง หรือใช้คนอื่นให้ฆ่าก็ตาม ยุยงให้สัตว์ต่างๆ ฆ่ากันก็ตาม เช่น จับไก่มาตีกันจนตายไปข้างหนึ่ง ที่เรียกว่า ชนไก่ จับจิ้งหรีดมากัดกันจนตายไปข้างหนึ่ง เป็นต้น เช่นนี้ศีลขาดทั้งนั้น
นอกจากการฆ่าโดยตรงดังกล่าวแล้ว การทำร้ายร่างกายหรือ ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก เรียกว่า อนุโลมการฆ่า
อนุโลมการฆ่า มีลักษณะดังนี้
การทำร้ายร่างกาย เช่น ทำให้บาดเจ็บ ทำให้เจ็บปวดทำให้เสียโฉม ทำให้ทุพพลภาพ
การทรมาน คือ การทำให้คนหรือสัตว์ได้รับความลำบาก เช่น
(๑) ใช้งานเกินกำลัง
(๒) กักขัง เช่นขังนก ขังปลา ไว้ในที่แคบ
(๓) ลงโทษโดยวิธีทรมาน เช่น เฆี่ยนตี ผูกรัด
(๔) ยั่วยุ เช่น ยั่วให้สุนัขกัดกัน
การฆ่าโดยตรงศีลขาด ส่วนอนุโลมการฆ่า ศีลไม่ขาดแต่ด่างพร้อย หรือบางทีก็เรียกว่า ศีลทะลุ
๒. การลักทรัพย์ มีองค์ ๕ คือ
(๑) ทรัพย์(หรือสิ่งของ) นั้นมีเจ้าของหวงแหน
(๒) รู้ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
(๓) มีเจตนาคิดจะลักทรัพย์นั้น
(๔) พยายามลักทรัพย์นั้น
(๕) ได้ทรัพย์นั้นมาด้วยความพยายามนั้น
การลักทรัพย์แยกออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ
(๑) โจรกรรม มี ๑๔ อย่าง ได้แก่ ลักขโมย ฉกชิง ขู่ กรรโชก ปล้น ตู่ ฉ้อโกง หลอก (กุเรื่องให้เจ้าทรัพย์หลงเชื่อ) ลวง (ใช้เครื่องมือผิดมาตรฐานตบตาเขา) ปลอม ตระบัด (ยืมของแล้วไม่คืน) เบียดบัง สับเปลี่ยน ซ่อน ยักยอก
(๒) อนุโลมโจรกรรม มี ๓ อย่าง ได้แก่ สมคบ ปอกลอก รับสินบน
(๓) ฉายาโจรกรรม มี ๒ อย่าง ได้แก่ ผลาญ หยิบ ฉวย (ถือวิสาสะเอาของเขามา)
๓. การประพฤติผิดในกาม มีองค์ ๔ คือ
(๑) หญิงหรือชายเป็นคนที่ต้องห้าม
(๒) มีเจตนาจะเสพเมถุน
(๓) ประกอบกิจในการเสพเมถุนธรรม
(๔) การยังอวัยวะเพศให้จรดกัน
หญิงที่ต้องห้าม มี ๓ จำพวก คือ
(๑) หญิงมีสามี
(๒) หญิงที่อยู่ในความปกครองของบิดามารดา หรือญาติ
(๓) หญิงที่ประเพณีหวงห้าม เช่น หญิงที่กฎหมายหวงห้าม หญิงนักบวช
ชายที่ต้องห้าม มี ๒ จำพวก คือ
(๑) ชายที่ไม่ใช่สามีของตน
(๒) ชายที่จารีตหวงห้าม เช่น นักบวช
๔. การพูดมุสา มีองค์ ๔ คือ
(๑) พูดเรื่องที่ไม่เป็นความจริง
(๒) มีเจตนาจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
(๓) พยายามพูดให้ผิดจากความจริง
(๔) คนฟังเข้าใจความหมายในคำพูดนั้น
การพูดมุสา มี ๗ อย่าง คือ การพูดปด การสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ พูดมายา พูดมีเลศนัย พูดเสริมความ พูดอำความ (เรื่องจริงมีมาก แต่กลับพูดให้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย)
การพูดอนุโลมมุสา มี๒ อย่าง คือ
อนุโลมมุสา คือ เรื่องไม่จริง แต่พูดโดยมีเจตนาจะให้คนอื่นเชื่อถือ
ปฏิสสวะ คือ รับคำแล้วไม่ทำตามที่รับไว้
ยถาสัญญา คือ การพูดตามโวหารที่ตัวเองจำได้ถือว่าไม่ผิดศีล มี ๔ อย่าง คือ
(๑) พูดโวหาร ได้แก่ การพูดหรือเขียนตามธรรมเนียม เช่น ขอแสดงความเคารพอย่างสูง ซึ่งใจจริงเราอาจไม่นึกเคารพเลยก็ได้อย่างนี้ไม่ถือว่าผิดศีล
(๒) การเล่านิยายหรือนิทานให้ผู้อื่นฟัง หรือแต่งเรื่องขึ้นเพื่อใช้เป็นบทละคร หรือภาพยนตร์
(๓) การพูดด้วยสำคัญผิด
(๔) การพูดพลั้ง
๕. การดื่มน้ำเมา มีองค์ ๕ คือ
(๑) น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
(๒) รู้ว่าน้ำนั้นเป็นน้ำเมา
(๓) มีเจตนาดื่ม
(๔) พยายามดื่ม
(๕) นํ้าเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป
จะเห็นได้ว่า ถ้าการกระทำมีองค์ประกอบครบองค์แห่งศีลในแต่ละข้อแล้ว ย่อมถือว่า ศีลของเราขาดแล้ว นับว่าเป็น บาป ที่เราก่อขึ้น แต่ถ้ายังไม่ครบองค์บาปก็ลดลงตามส่วน ตัวอย่าง เช่น องค์แห่งศีลข้อที่ ๑ “การฆ่าสัตว์มีองค์ ๕” ถ้าเรามีองค์ประกอบเพียงองค์ที่ ๑ ถึง ๓ คือมีจิตคิดจะฆ่าก็เริ่มมีบาปแล้ว ถ้าได้ลงมือฆ่า แต่ยังไม่มีการตาย บาปก็น้อยกว่าการฆ่าที่มีการตายเกิดขึ้น และถ้าผู้ฆ่าแสดงความปรีดาปราโมทย์ต่อการตายนั้น บาปย่อมเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
โรคที่เกิดแก่ผู้ขาดศีล
ทางการแพทย์ แบ่งโรคที่เกิดแก่สังขารออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. โรคจากความเสื่อมของสังขาร คือ โรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกคนจะต้องประสบ ได้แก่ โรคชรา เมื่อชราแล้วก็จะทำให้หูตึง ตาฟาง ฟันหัก ผมหงอก จะลุกก็ปวดจะนั่งก็เมื่อย ฯลฯ
๒. โรคจากการแส่หาด้วยความประมาท คือ
ขาดศีลข้อ ๕ (ดื่มนํ้าเมา) ทำให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง บาดเจ็บอันเกิดจาการทะเลาะวิวาท ฯลฯ
ขาดศีลข้อ ๔ (พูดมุสา) ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ ในที่สุด แม้ตนเองจะพูดเรื่องจริงก็ยังสงสัยว่า เรื่องที่ตนพูดนั่นเป็นความจริงหรือโกหกในที่สุด ก็เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ หรือถึงกับเป็นโรคหลงก็มี
ขาดศีลข้อ ๓ (ประพฤติผิดในกาม) ทำให้เกิดกามโรค โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์)
ขาดศีลข้อ ๒ (ลักทรัพย์) ทำให้เกิดโรคจิต เช่น โรคหวาดผวา
ขาดศีลข้อ ๑ (ฆ่าสัตว์) ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลาย ฆ่าคนมามากในที่สุดตัวเองก็ถูกฆ่าบ้างดังพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ทรมานย่อมได้รับการทรมานตอบ"
ถ้าเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เปรียบเสมือนว่า เรามีภูมิคุ้มกันโรคสารพัดโรคไว้แล้ว
๔.ผู้ที่ละเมิดศีลข้อที่ ๔ (พูดมุสา) ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๔ สถาน คือ
(๑) ย่อมเกิดในนรก
(๒) ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
(๓) ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย (เกิดเป็นเปรต)
(๔) ย่อมเป็นผู้มีวาจาไม่เป็นที่เชี่อถือ มีกลิ่นปากเหม็นจัด
(๕) โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์จะถูกกล่าวตู่อยู่เสมอความดีความชอบใดๆ ที่ทำไว้ก็ถูกปล้นเป็นของผู้อื่น
๕.ผู้ที่ละเมิดศีลขัอที่ ๕ (ดื่มนํ้าเมา) ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน คือ
(๑) ย่อมเกิดในนรก
(๒) ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
(๓) ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย (เกิดเป็นเปรต)
(๔) ย่อมเป็นผู้มีสติไม่สมประกอบ เป็นคนโง่เขลา ปัญญาอ่อน
(๕) โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นบ้า