บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่นเราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่าการเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา
ชีวิตนักบวชเนื่องด้วยผู้อื่น คำว่า “เนื่อง” หมายถึง เกี่ยวพันกัน ไม่ได้หมายถึงเกี่ยวพันกันโดยความเป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นพวกพ้อง แต่เกี่ยวพันกันโดยการเข้าไปอาศัยดำรงชีพด้วยการขออย่างประเสริฐ สมกับชื่อว่า “ภิกษุ” คือ การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ที่ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใสเขาถวายให้ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
๑. ทำตนให้เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย ลักษณะของคนเลี้ยงง่ายคือ เวลาได้ปัจจัยสี่ที่ไม่ประณีต ก็ไม่แสดงความไม่พอใจออกมาทางสีหน้าและท่าทาง ไม่ดูถูกและไม่ตำหนิปัจจัยสี่ที่เขาหามาได้ด้วยความยากลำบากทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่สละปัจจัยสี่ที่ไม่ประณีตนั้นให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณรต่อหน้าญาติโยมผู้ถวาย เพราะมีเจตนาจะประชด และไม่เที่ยวแสวงหาใหม่โดยการขอก็ตาม โดยการซื้อด้วยเงินก็ตาม แต่ถ้าได้ปัจจัยสี่ที่ประณีตมาแล้วก็ไม่เยินยอจนเกินงามเพราะอยากให้เขาถวายปัจจัยสี่ที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
กล่าวโดยสรุป คือ ภิกษุผู้ทำตนให้เลี้ยงง่ายควรพึงพอใจในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ไม่ควรติเตียนเพราะรังเกียจในของนั้น หรือกล่าวชื่นชมเพราะอยากได้ของดีๆ ยิ่งขึ้นไปอีก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า ภิกษุที่อาศัยอาหารจากบุคคลอื่นเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะได้อาหารที่ประณีตมาก ปานกลางหรืออาหารเหลือก็ตาม ก็ไม่ควรชื่นชมหรือติเตียนอาหารนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายสรรเสริญภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ว่าเป็นมุนี๑๐
ส่วนลักษณะของคนเลี้ยงยาก คือ มักไม่ไปฉันหรือไม่นำอาหารที่ทางวัดจัดไว้ให้มาฉันเพราะไม่ถูกปาก จึงสั่งซื้อจากภายนอกให้มาส่งในตอนเช้าบ้าง เพลบ้าง ตอนบ่ายหรือตอนเย็นก็สั่งปานะที่ถูกใจมาตั้งวงฉันกัน ทำให้เกิดความไม่สำรวมเพราะคลุกคลีด้วยหมู่มากเกินควร ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้อื่นเพราะขยะจากวัสดุที่ใส่อาหารในปัจจุบันก็ย่อยสลายยาก ซึ่งตนเองก็ไม่คัดแยกขยะจึงทิ้งปนกันทั้งขยะเปียกและขยะแห้ง
หรือหากว่าไปกิจนิมนต์มา บ้านไหนทำอาหารไม่ประณีตถวายปัจจัยน้อยก็กลับมาบ่นนินทากัน ถึงขนาดพูดว่าคราวหน้าจะไม่ไปแล้วเจ้านี้ ถ้าที่ไหนจัดอาหารประณีต ถวายปัจจัยมากก็รีบจองกัน แย่งกันลงชื่อ พูดจายกยอประจบประแจงจนเกินความจริงไป ดูแล้วน่าสมเพช เพราะทายกเขาสละปัจจัยเหมือนบ้วนเขฬะ (น้ำลาย) ออกจากปาก พระภิกษุเองหากไปด้วยความอยาก ถูกกิเลสครอบงำตั้งแต่ออกจากวัดไป จะเอาบุญที่ไหนไปให้ทายกผู้ถวายเพราะตนเองมีใจสูงส่งไม่เท่าเขา ทำตนเหมือนขอทาน กินได้แม้ก้อนเขฬะที่เขาบ้วนทิ้ง จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาว่า เรามีพฤติกรรมอย่างนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ให้รีบแก้ไขจะได้ไม่เป็นหนี้เขา
ส่วนจีวรที่ทางวัดจัดให้ก็ไม่ถูกใจ เที่ยวแสวงหาซื้อกันใหม่ทั้งสีสันก็เริ่มหลากหลาย เนื้อผ้าก็แตกต่างกัน ชุดหนึ่งมีสามสี เช่น สงสีเหลืองซีด อังสะสีหม่น ๆ จีวรสีแดงเข้ม ดูแล้วไม่น่าเคารพเลื่อมใส
เรื่องเสนาสนะและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่การนั่งการนอน ก็เริ่มเที่ยวหาซื้อกันมากจนเกินความจำเป็น นอกจากเป็นภาระแก่ตนแล้ว ยังก่อความรำคาญให้กับคนรอบข้างอีก พอเริ่มเบื่อก็นำไปไว้ให้พ้นตน ทิ้งไปทั่ว ทำให้เป็นภาระของผู้อื่นที่ต้องมาเก็บกวาดต่อไป ซึ่งถือว่าหนักหนาทีเดียว เพราะขาดปัญญาพิจารณาตั้งแต่แรกแล้ว เรียกว่า ถูกตัณหา คือความอยากครอบงำ ตั้งแต่ยังไม่ได้ฉันยังไม่ได้ใช้
หากภิกษุรูปใดทำตนให้เลี้ยงยากอย่างนี้ก็จะเป็นที่เบื่อหน่ายของทายก ถ้าเขาเกิดความไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพราะเหตุดังกล่าว ก็เท่ากับว่าพระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ทำลายศาสนาให้เสื่อมลงทีเดียว
๒. มีความมักน้อย ความมักน้อย มาจากคําบาลีว่า อปฺป แปลว่า น้อย อิจฺฉา แปลว่า ความปรารถนา ชอบ พอใจ อยาก ซึ่งเป็นตัวตัณหาหรือโลภกิเลสนั่นเอง รวมเป็น อปฺปิจฺฉา แปลว่า ความปรารถนาน้อย คือ มีความอยากให้น้อยลง แม้ยังมีความอยากอยู่แต่อยากให้น้อยลงเรื่อย ๆ กรณีนี้หมายถึง พระปุถุชนซึ่งยังละความอยากไม่ได้ เพราะยังต้องกินต้องใช้ในการดำรงชีวิต เครื่องมือที่จะใช้ฝึกลดความอยากในตนเองได้ที่ดีที่สุดคือ การฝึกประมาณในการใช้สอยปัจจัยสี่ หากหมั่นพิจารณาให้มากแล้วจะทำให้เกิดบุญกุศลทั้งกับตนเองและผู้ถวายด้วย ส่วนความมักน้อยในพระอรหันต์จะแปลว่า ไม่มีความอยาก หมดตัณหาโดยสิ้นเชิง
จุดประสงค์ที่พระพุทธองค์ให้พระภิกษุมีความมักน้อยก็เพื่อให้ตัดกระแสตัณหา คือ ความโลภ เพราะอยากได้ปัจจัยสี่ ซึ่งทำจิตให้กระเพื่อม กิเลสฟูขึ้น เป็นอันตรายต่อสมาธิ เพราะพระภิกษุไม่ได้ทำมาหากินแบบชาวโลก แต่ต้องอาศัยผู้อื่นดำรงชีพ จึงต้องรู้ประมาณในการรับปัจจัยสี่ตามกำลังของตนและของทายกผู้ถวาย
แม้ชาวโลกที่ดีบางคนมีรายได้จากที่ตนเป็นผู้หามาเองยังรู้จักประหยัด จึงดำรงชีพได้อย่างสะดวกสบาย เป็นผู้มีปัญญาตามคติทางโลก แต่ภิกษุมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น หากทำตนเป็นคนมักมากไม่รู้ประมาณ ย่อมเป็นที่รังเกียจของชาวโลก ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ปัจจัยสี่ที่เลิศกว่าเขาแล้วจะไปสอนผู้อื่นเขาได้อย่างไร ข้อนี้ จึงเป็นสิ่งที่พระภิกษุต้องตระหนักในการศึกษาและปฏิบัติให้ได้จริง จนเป็นผู้หมดตัณหาโดยสิ้นเชิงแบบพระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความมักน้อยอย่างแท้จริง
๓. สันโดษ แปลว่า ยินดีในปัจจัยสี่ตามที่ได้ ตามที่ตนเองมีอยู่ จุดประสงค์ของสันโดษก็เพื่อให้ละโทสะ ละความรู้สึกไม่พอใจในปัจจัยสี่ที่ตนได้มาแล้ว แม้ว่าของที่ได้มาจะหยาบหรือประณีตยินดีตามสมควร ไม่ให้เกิดความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ซึ่งจะทำให้จิตหดหูเป็นอันตรายต่อสมาธิ
ความสันโดษมี ๓ ประการ คือ ๑) ยถาลาภสันโดษ ๒) ยถาพลสันโดษ และ ๓) ยถาสารุปปสันโดษ ซึ่งสันโดษทั้ง ๓ ประการนี้ จะต้องมีในการใช้ปัจจัยสี่แต่ละชนิดด้วย รวมเรียกว่า สันโดษ ๑๒ ดังนี
ประการที่ ๑ ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ ในเรื่องจีวรเช่น เราได้จีวรดีหรือไม่ดีก็ตาม ก็ใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่เที่ยวแสวงหาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในจีวร ถ้าทำตรงข้ามเช่น จีวรที่วัดจัดให้ก็ไม่เอา แต่เที่ยวไปหาซื้อมาเองตามชอบใจ หรือไปบอกญาติโยมให้ช่วยตัดถวายให้ตนใหม่ ทำความวุ่นวายให้แก่ตนและผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีสันโดษตามที่ได้ จัดว่าเป็นคนบำรุงเลี้ยงได้ยาก
ในบิณฑบาตก็เช่นกัน จะได้บิณฑบาตเศร้าหมองหรือประณีตก็ตามที ได้อย่างไรก็ฉันบิณฑบาตนั้นเท่านั้น พิจารณาฉันตามสมควรแก่ร่างกาย ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ไม่เที่ยวหาซื้ออาหาร น้ำปานะตามที่ตนชอบใจมาฉัน หรือสั่งอุปัฏฐากให้จัดตามที่ชอบใจ ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในบิณฑบาต
สำหรับเรื่องเสนาสนะ ได้แก่ ที่อยู่อาศัยและเครื่องอำนวยความสะดวกในเสนาสนะนั้น เราจะได้ที่อยู่อาศัยที่พอใจหรือไม่ก็ไม่รู้สึกดีใจหรือเสียใจ ยินดีตามที่ได้เท่านั้น แม้เป็นเครื่องปูลาดถักด้วยหญ้าก็พอใจ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในเสนาสนะ
ในเรื่องเภสัช คือยารักษาโรคต่าง ๆ ก็เช่นกัน จะได้เภสัชเศร้าหมองหรือประณีตก็ให้ยินดีตามที่ได้นั้น ตามความเหมาะสมกับอาการที่ตนอาพาธ ไม่ปรารถนาเภสัชอื่นเพื่อบำรุงบำเรอจนเกินเหตุ แม้มีผู้มาถวายเพิ่มอีกแต่เกินความจำเป็นก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัย
ประการที่ ๒ ยถาผลสันโดษ ยินดีตามสมควรแก่กำลังกายหรือสุขภาพ ในเรื่องจีวร เช่น เมื่อเราเป็นคนที่มีเรี่ยวแรงน้อยถูกความป่วยไข้และความชราครอบงำ การห่มจีวรหนักจะทำให้เกิดความลำบาก เราควรเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้ชอบพอกัน ไม่ฝืนห่มจีวรหนักที่ประณีตแต่ทำให้ร่างกายของเราได้รับความลำบาก เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้จีวรเบาแล้วก็มีความพอใจในจีวรเบานั้น นี้เป็นยถาพลสันโดษในจีวร
สำหรับบิณฑบาต ถ้าได้อาหารที่ไม่ถูกกับร่างกายของเรา ซึ่งบริโภคแล้วจะไม่สบายกาย แสลงโรค เราก็ให้อาหารนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้อาหารที่แลกกับภิกษุนั้นจะประณีตหรือไม่ก็ตามก็ยังพอใจอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในบิณฑบาต
ในเสนาสนะก็เช่นกัน เมื่อได้ที่อยู่ที่ไม่ถูกกับร่างกายของตนไม่ถูกกับโรคของตน หรือที่อยู่นั้นจะก่อให้เกิดอกุศลจิตแก่เรา เมื่ออยู่แล้วจะไม่สบายกายและใจ จึงให้ที่อยู่นั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน ซึ่งเขาเต็มใจและสบายแก่เขา แม้เราเปลี่ยนไปอยู่ในเสนาสนะซึ่งเป็นของภิกษุนั้น เราก็พอใจในที่อยู่นั้น นี้เป็นยถาพลสันโดษในเสนาสนะ
ในเรื่องเภสัช หากเราต้องการน้ำมัน แต่กลับได้น้ำอ้อยซึ่งอร่อยกว่าน้ำมัน เราก็นำน้ำอ้อยที่ได้มานั้นไปแลกกับน้ำมันของภิกษุผู้ชอบพอกัน หรือแสวงหาของอื่นที่เหมาะกับอาพาธนั้น แม้เมื่อแลกมาแล้วก็พอใจในน้ำมันหรือเภสัชที่ได้มา นี้เป็นยถาพลสันโดษในคิลานปัจจัย
ประการที่ ๓ ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามความเหมาะสม เช่น เราได้จีวรราคาแพงหรือได้มาหลายผืน แต่คิดว่าดีเกินไปไม่เหมาะสมกับฐานะตนเองขณะนี้ จึงถวายแก่ภิกษุรูปอื่นที่เหมาะสมเช่น ถวายแด่พระเถระทั้งหลายผู้บวชนาน ภิกษุที่เป็นพหูสูต ภิกษุอาพาธ ภิกษุที่มีจีวรเก่า เป็นต้น แล้วรับเอาจีวรพื้นเดิมของภิกษุเหล่านั้นมาเพื่อทำเป็นสังฆาฏิครอง มีความพอใจอยู่อย่างนั้น เรียกว่าเป็นยถาสารุปปสันโดษในจีวร
ในเรื่องบิณฑบาตก็เช่นกัน ถ้าได้รับอาหารดีๆ เป็นจำนวนมาก ก็ถวายอาหารเหล่านั้นแด่พระเถระผู้บวชนาน ภิกษุที่เป็นพหูสูตภิกษุไข้ เป็นต้น คล้ายกับการถวายจีวร แม้รับอาหารส่วนที่เหลือจากภิกษุรูปอื่นหรือเที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันอาหารที่ปนกัน ก็พึงพอใจในอาหารดังกล่าว อย่างนี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาต
สำหรับเรื่องเสนาสนะ ถ้าเรามีบุญมากได้เสนาสนะที่ประณีตจำนวนมาก มีถ้ำ มณฑป อาคารที่สมควรแก่ภิกษุ จึงให้เสนาสนะเหล่านั้นแด่พระเถระผู้บวชนาน ภิกษุที่เป็นพหูสูต ภิกษุที่ยังไม่มีเสนาสนะ ภิกษุไข้ เป็นต้น แม้อยู่ในเสนาสนะแห่งใดแห่งหนึ่งก็รู้สึกพึงพอใจในเสนาสนะนั้น นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ
สิ่งที่ควรพิจารณาคือ เสนาสนะที่ดีมาก ๆ จะทำให้ภิกษุผู้อยู่อาศัยเกิดความประมาทได้ เพราะอยู่สบายเกินไป เกิดความง่วงเหงาหาวนอนจนหลับไปได้ง่าย เมื่อตื่นขึ้นทำให้ครุ่นคิดแต่เรื่องกามคุณ อยากได้เสนาสนะที่ประณีตยิ่งขึ้นไปเป็นต้น หากมีผู้มาถวายเสนาสนะอย่างนี้ก็ไม่ควรรับ ไม่ควรเข้าไปอยู่อาศัย ควรระลึกเสมอว่า แม้อยู่ในที่แจ้ง อยู่โคนไม้ ก็เป็นเสนาสนะอันสงบน่าพึงพอใจได้ อย่างนี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ
ในเรื่องเภสัช หากได้เภสัชที่ประณีต เช่น น้ำมัน น้ำอ้อย เป็นภิกษุที่เป็นพหูสูตจำนวนมาก เราให้เภสัชนั้นแด่พระเถระผู้บวชนานภิกษุผู้ขาดแคลนคิลานเภสัช ภิกษุไข้ เป็นต้น ในทำนองเดียวกันกับจีวร แล้วรับเอาเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งที่ภิกษุเหล่านั้นนำมาให้แทนก็ถือว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง
อนึ่ง ในกรณีที่ภิกษุอาพาธ แล้วอาการอาพาธนั้นจะหายได้ด้วยเภสัช คือ สมอดองด้วยน้ำมูตรเน่าและของรสอร่อยอย่างอื่นภิกษุควรมักน้อยเลือกเภสัชที่สมควร คือสมอดองน้ำมูตรเน่า เพราะเป็นยาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ควรปฏิเสธของมีรสอร่อย หากทำได้อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้สันโดษ เป็นยถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัย
พระภิกษุผู้สันโดษจึงชื่อว่าได้อริยทรัพย์ ไม่รู้จักจนทั้งทางโลกและทางธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “สนตุฏฐีปรม์ ธนํ สันโดษนั้น เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
๔. ความขัดเกลาและความกำจัด ขัดคือ ทําให้เงา เกลา คือ ทำให้เกลี้ยง ความกำจัดคือ ปราบหรือทำลายให้สิ้นซาก ซึ่งอุปมาเหมือนการตัดต้นไผ่มาใช้งาน เมื่อตัดแล้ว ต้องถากกิ่งเล็กกิ่งน้อยออก เกลาบริเวณตาและผิวที่เป็นตะปุ่มตะป่าออก แล้วนำมาขัดจนผิวเรียบเหมาะกับการนำไปใช้งาน พระภิกษุก็เช่นกันต้องมีความขัดเกลาและความกำจัด คือ หากผู้ใดยังมีความประพฤติทางกาย วาจา และใจที่ยังไม่เหมาะสมอยู่ ก็ควรฝึกหัดขัดเกลาให้เรียบร้อยยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามารถกำจัดกิเลสภายในใจให้สิ้นซากไป ถ้าทำได้ดังนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้ขัดเกลาตน มีการประพฤติธุดงควัตรเป็นต้น
๕. การไม่สะสมและปรารภความเพียร ไม่สะสม คือ การไม่เก็บกักตุนปัจจัยสี่ไว้เกินจำเป็นและเกินเวลาที่กำหนดในพระวินัยซึ่งเป็นการไม่สั่งสมกิเลส เนื่องจากพระภิกษุเป็นผู้ที่ต้องอาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้านเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้น พระภิกษุรูปใดที่กักตุนสิ่งของและปัจจัยสี่ที่ญาติโยมถวายมา ไม่ยอมสละให้ใคร เก็บไว้เต็มกุฎิจนแทบไม่มีที่เดินที่นอน จึงเรียกว่า เป็นผู้สะสมกิเลสเพราะญาติโยมที่ถวายปัจจัยสี่มาให้เขาได้สละของนั้น สละกิเลส คือความตระหนี่ออกจากใจแล้ว แต่ภิกษุกลับไปรับเอากิเลสที่เขาสละออกแล้วมาเพิ่มในตัวเอง เหมือนกลืนกินก้อนเขฬะที่เขาบ้วนทิ้งอย่างคนอนาถา ทั้งที่กิเลสเก่าสมัยเป็นคฤหัสถ์ก็ยังไม่ได้นำออก พอมาบวชกลับสั่งสมกิเลสเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างนี้ใช้ไม่ได้
ดังนั้น ควรรีบสละหรือจัดสรรสิ่งของเหล่านั้นให้เป็นสัดส่วนเพื่อนำไปบริจาคให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ต่อไป ส่วนสิ่งที่ควรสั่งสม คือ สุตะ หมายถึง การสดับฟังเรื่องที่ต้องนำมาแก้ไขตนเองให้มาก มีความเพียรในการบำเพ็ญสมณธรรม ไม่เกียจคร้านในการละอกุศลหมั่นเพิ่มพูนกุศลให้มากขึ้น ทำอย่างนี้จะเป็นการตอบแทนญาติโยมที่เราอาศัยเขาดำรงชีพ ด้วยการเพิ่มบุญกุศลให้กับเขา
๖. แสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ สมกับเป็นนักบวช โดยเว้นจากอเนสนา๑๑ คือ การหาเลี้ยงชีพที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ ๒๑ อย่าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามภิกษุทำ เช่น การเป็นหมอรักษาโรคกาย การเป็นโหรทำนายทายทัก การประจบประแจงการออกปากขอจากบุคคลผู้ไม่ใช่ญาติและไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนการแสดงเลส คือ แสดงอาการหรือพูดเป็นเชิงให้รู้ว่าต้องการอะไรเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แม้แสวงหาปัจจัยในทางที่ชอบแล้วยังต้องเป็นผู้รู้จักพอดี รู้จักประมาณในการแสวงหา การรับ และการบริโภคอีกด้วย ให้กินอยู่อย่างเสือ ไม่เก็บกักตุนไว้เพื่อตน จะก่อความกังวลและเป็นเหตุให้เกิดตัณหามูลกธรรม๑๒ อีกมากมาย เพราะชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่น ปัจจัยสี่ที่ได้มาจึงควรเกิดขึ้นจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องของเรา
๗. เคารพยำเกรงบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมได้บุญมากควรบริโภคปัจจัยสี่ด้วยการพิจารณาว่า จะทำตนอย่างไรให้ทายกผู้ถวายได้บุญมาก เช่น ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มยิ่งทายกเป็นผู้มีทรัพย์น้อยก็ให้พิจารณาว่า แม้เขามีทรัพย์น้อยยังอุตสาหะแบ่งปันสิ่งที่ตนมีมาถวายเรา ซึ่งไม่ใช่ญาติไม่ใช่พี่น้อง เมื่อเขาตั้งใจถวายมาอย่างนี้ ควรทำตนให้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ เพื่อให้เขาได้บุญมากที่สุด เมื่อพิจารณาอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะรักษาความดีของตนไว้ได้ ไม่กล้าทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง นี้ได้ชื่อว่า เคารพยำเกรงในบิณฑบาต ไม่ฉันบิณฑบาตเขาให้เสียเปล่า
๘. พิจารณาปัจจัยสี่ ทั้งขณะรับ ขณะบริโภค และหลังบริโภคแล้วกินอยู่อย่างมีปัญญา ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในเรื่องการใช้สอยปัจจัยสี่
ความแตกต่างด้านอาชีพของพระภิกษุกับคฤหัสถ์
อาชีพของพระภิกษุกับคฤหัสถ์นั้น มีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ ๒ ประการ คือ
๑) พระภิกษุนั้นดำรงชีพด้วยการขอ แต่เป็นการขออย่างประเสริฐ อย่างพระอริยะ ขณะรับก็รับโดยอาการสงบสำรวม ส่วนคฤหัสถ์ดำรงชีพด้วยการทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง ข้าราชการ ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อเงินทั้งสิ้น และเวลาที่ขอสิ่งใดจากผู้อื่น มักทำตนให้ดูด้อยกว่าผู้ให้ เพื่อให้เขาสงสารหรือเห็นใจแล้วให้ในสิ่งที่ตนต้องการ
๒) วัตถุประสงค์ในการรับปัจจัยสี่ของพระภิกษุนั้น เพื่อมุ่งหวังให้คฤหัสถ์ผู้มาถวายได้บุญกุศล มากกว่าจะมุ่งหวังในสิ่งที่เขาถวายมา คฤหัสถ์ผู้ถวายก็มุ่งหวังได้บุญจึงถวายปัจจัยสี่แด่พระภิกษุบุญจึงเกิดขึ้นทั้งสองทาง ส่วนคฤหัสถ์มักมุ่งหวังจะได้ประโยชน์จากสิ่งของเงินทองของกันและกัน โอกาสที่จะเกิดบาปแก่ทั้งสองฝ่ายจึงมีมาก
ภิกษุที่หมั่นพิจารณาบ่อยๆ ว่า ชีวิตของตนเนื่องด้วยผู้อื่นโดยการขอหรืออาศัยเขาเลี้ยงชีพ จะเป็นผู้ประพฤติเสงี่ยมเจียมตน ไม่หลงตัวเพราะเขากราบไหว้ กระทำสักการะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลทุกวันคืนทั้งแก่ตนเอง และญาติโยมผู้ถวายปัจจัยสี่มาด้วยความศรัทธา
"ภิกษุผู้ทําตนให้เลี้ยงง่าย
ควรพึงพอใจปัจจัยสี่ตามมีตามได้
ไม่ควรติเตียนเพราะรังเกียจในของนั้น
หรือกล่าวชื่นชมเพราะอยากได้
ของดี ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก"
๑๐ขุ.ธ.อ. เรื่องปัญจัคคทายกพราหมณ์ (ไทย.มมร) ๔๓/๓๖๖-๓๖๗)
๑๑อเนสนา หมายถึง การแสวงหาที่ไม่สมควร มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ เป็นมิจฉาปฏิบัติมี ๒๑ อย่าง คือ
๑. - ๕. ให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ให้ดอกไม้ ให้ผลไม้ ให้ไม้ชำระฟัน
๖. - ๙. ให้น้ำล้างหน้า ให้น้ำอาบ ให้ผงทาตัว ให้ดินถูตัว
๑๐. - ๑๑. พูดประจบ พูดจริงปนเท็จ
๑๒. - ๑๖. เลี้ยงลูกเขา รับใช้คฤหัสถ์ ทำตัวเป็นหมอ ทำตัวเป็นทูต รับส่งข่าวคฤหัสถ์
๑๗ - ๑๘ ให้ข้าวของหวังผลตอบแทน แลกเปลี่ยน (อาหาร สิ่งของ เครื่องใช้)
๑๙. - ๒๑. เป็นหมอดูพื้นที่ เป็นหมอดูฤกษ์ เป็นหมอดูลักษณะ (ขุ.ขุ.อ. เมตตสูตร (ไทย.มมร) ๓๙/๓๓๖-๓๓๗)
หรือการแสวงหาที่มีโทษอื่นใด ให้ได้มาซึ่งปัจจัย ด้วยการหลอกลวง ด้วยการพูดเลียบเคียงด้วยความเป็นหมอดู ด้วยความเป็นคนเล่นกล ด้วยการแสวงหาลาภด้วยลาภ ด้วยการให้ไม้จริง ด้วยการให้ไม้ไผ่ ด้วยการให้ดอกไม้ ด้วยการให้เครื่องอาบน้ำ ด้วยวิชาพื้นที่ด้วยติรัจฉานวิชา ด้วยวิชาทำนายอวัยวะ ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม ด้วยการเดินสาส์น ด้วยทูตกรรม ด้วยการให้บิณฑบาตตอบแก่บิณฑบาต ด้วยการเพิ่มให้แก่การให้โดยผิดธรรม โดยไม่สม่ำเสมอ ครั้นแล้วก็สำเร็จความเป็นอยู่ (ขุ.จูฬ. (ไทย.มมร) ๖๗/๗๑๓/๕๕๕-๕๕๖)
๑๒อภิ.วิ. ขุททกวัตถุวิภังค์ นวกนิทเทส (ไทย.มมร) ๗๘/๑๐๒๓/๘๓๗ ตัณหามูลกธรรม ๙ แปลว่าธรรมมีตัณหาเป็นมูลเหตุ หมายถึง สิ่ง ๙ อย่างเหล่านี้อาศัยตัณหาเป็นต้นเหตุจึงเกิดขึ้น คือ
๑. เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา
๒. เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ (การได้มา
๓. เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ
๔. เพราะอาศัยการตกลงใจจึงเกิดการรักใคร่พึงใจ
๕. เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง
๖. เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดการยึดถือ
๗. เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่
๘. เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน
๙. เพราะอาศัยการป้องกัน อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะการแก่งแย่ง การวิวาท การขึ้นถึงขึ้น การพูดคำส่อเสียด การพูดปด ย่อมเกิดขึ้น
บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่