ภาวนา

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2566

25-8-66-BL.jpg

ภาวนา


           ภาวนา แปลว่า ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญขึ้น คือให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสันดานของตน
           “ภาเวตพฺพาติ - ภาวนา”
           แปลความว่า ธรรมที่บัณฑิตทั้งหลายจึงทำให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งหลัง ๆให้ติดต่อกันเป็นนิจ จนถึงเจริญขึ้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าภาวนา
           ความหมายของเนื้อความในคำแปลเป็นดังนี้ เพราะภาวนาเป็นธรรมที่อำนวยประโยชน์ให้ผู้กระทำได้รับความสุขกาย สุขใจ ทั้งในภพนี้และภพหน้า ตลอดจนกระทั่งพ้นจากวัฏฏสงสาร

           ธรรมที่เรียกว่า ภาวนา มีอยู่ ๒ อย่าง
           ๑. สมถภาวนา
           ๒ วิปัสสนาภาวนา


           สมถภาวนา
           นัยที่หนึ่ง หมายความว่า ธรรมใดทำให้กิเลส มีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น สงบลงธรรมนั้นชื่อว่าสมถะ ได้แก่สมาธิ
            นัยที่สอง หมายความว่า ธรรมใดทําให้จิตที่ไม่สงบ เนื่องจากได้รับอารมณ์หลาย ๆ อย่าง สงบลง โดยมาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ ธรรมนั้นชื่อว่า สมถะ ได้แก่สมาธิ คือ เอกัคคตาจิต (จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว)
           นัยที่สาม หมายความว่า ธรรมใดทำให้องค์ฌานชนิดหยาบ มีวิตกเป็นต้น สงบลง คือไม่ให้เกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่า สมถะ ได้แก่สมาธิ

           สมถะ หรือสมาธินี้ แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ
              ๑. ปริตตสมถะ การเจริญสมถกรรมฐานของผู้ที่ยังปฏิบัติได้ไม่ถึงอัปปนาภาวนาในขณะนั้นมีแต่จิตที่เป็นมหากุศล ส่วนองค์ฌานที่เกิดขึ้นก็มีกำลังอ่อน
           ๒. มหัคคตสมถะ การเจริญสมถกรรมฐานของผู้ที่ปฏิบัติได้จนเข้าถึงอัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่ เป็นมหัคคตฌาน มีแต่มหัคคตกุศลจิตเท่านั้นบังเกิดขึ้น และองค์ฌานที่เกิดขึ้นมีกำลังมาก สามารถเข้าไปเพ่งในสมถอารมณ์ ได้อย่างแน่วแน่ กำลังขององค์ฌานนั้นสามารถประหาณนิวรณธรรมได้ชั่วคราวทีเดียว


           วิปัสสนาภาวนา
           วิปัสสนา มาจากคำว่า วิ รวมกับคำว่า ปสฺสนา
           วิ แปลว่า พิเศษ ปสฺสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง
           วิปัสสนา จึงแปลว่า ความเห็นแจ้งพิเศษ
           “วิเสเสน ปสฺสติ - วิปสฺสนา"
           ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งเป็นพิเศษ ธรรมชาตินั้นชื่อ วิปัสสนา

           การเห็นแจ้งเป็นพิเศษนั้น มีอยู่ ๒ ประการ
           ๑. เห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นแต่เพียง รูปกับนาม เท่านั้น ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากสองสิ่งนี้
           ๒. เห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่าง ๆ ดังข้อ ๑. แต่เห็นโดยความเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ และอสุภะ

           "รูปาที่อารมุมเณสุ ปญญัตติยา จ นิจจ สุขข อตฺต สุภ สญฺญาย จ วิเสเสน นามรูปภาวเวน วา อนิจฺจาทิอากาเรน ว่า ปสฺสตีติ - วิปสฺสนา"

           ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์เป็นต้น โดยความเป็นนามรูป ที่พิเศษนอกออกไปจากบัญญัติ (โดยการละทิ้งสัททบัญญัติ อัตถบัญญัติเสียสิ้น) และย่อมเห็นแจ้งในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์เป็นต้น โดยอาการเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ (ที่พิเศษนอกออกไปจากนิจจสัญญาวิปัลลาส สุขสัญญาวิปัลลาส อัตตสัญญาวิปัลลาส สุภสัญญาวิปัลลาสเสีย) ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิปัสสนา (ได้แก่
ปัญญาเจตสิก ในจิตที่เป็นมหากุศล และมหากิริยา)

            หรือ “ปญฺจกฺขนฺเธสุ วิวิเธน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ - วิปสฺสนา”

            ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ โดยประการต่าง ๆ มี อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิปัสสนา ได้แก่ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

            วิปัสสนา มี ๓ ประการ
            ๑. สังขารปริคคัณหนกวิปัสสนา วิปัสสนาญาณที่กำหนดรู้สังขารธรรม รูป นามเพื่อจะได้มรรค
            ๒. ผลสมาบัตติวิปัสสนา วิปัสสนาญาณที่พิจารณา รูป นาม เพื่อจะเข้าผลสมาบัติ
            ๓. นิโรธสมาบัตติวิปัสสนา วิปัสสนาญาณที่มีการพิจารณามหัคคตธรรม เพื่อเข้านิโรธสมาบัติ

            สำหรับคำว่า “ภาวนา” ในตอนนี้ มุ่งหมายเอาแต่เพียงการกระทำในระดับต้น ๆ เพื่อให้เป็นมหากุศล เป็นเครื่องนำไปเกิดในกามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ และเทวดาเท่านั้น ยังไม่ใช่ถึงระดับจิตที่เป็นอัปปนา ซึ่งเป็นกุศลชั้นสูงส่งผลให้ไปบังเกิดในภูมิที่สูงกว่านี้ค่า ภาวนา จึงหมายเอาเพียง

            กุสลธมฺเม ภาเวติ อุปฺปาเทติ ย่อมทำให้กุศลที่ประเสริฐเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตอนหนึ่ง
            กุสลธมฺเม ภาเวติ วฑฺเฒติ ย่อมทำให้กุศลที่ประเสริฐเกิดทวีมากยิ่งขึ้นไปอีกตอนหนึ่ง

            ดังนั้นการ "ภาวนา" ในระดับนี้ จึงใช้ได้แม้การกระทำในขั้น การศึกษาเล่าเรียนพระธรรม พระวินัย การสอน การคิดนึกพิจาณาใคร่ครวญในข้อธรรมต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนการสอนวิชาการทางโลกที่ไม่มีโทษ รวมอยู่ด้วย กับการภาวนาในระดับสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานชนิดต้น ๆ อันเป็นการสร้างมหากุศลประเภท กามาวจรกุศล

            คำว่า กัมมัฏฐาน มาจากคำว่า กมฺม และคำว่า ฐาน รวมกัน
            กมฺม แปลว่า การกระทำ
               “กริยา - กมฺมํ การกระทำ ชื่อว่า กรรม
            ฐาน แปลว่า เป็นที่ตั้ง
               "ติฏฺฐิติ เอตฺถาติ = ฐานํ ธรรมชาติอันเป็นที่ตั้ง ชื่อว่า ฐานะ”
              "อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการเจริญสมถะ วิปัสสนา ชื่อว่ากัมมัฏฐาน”
              กัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง คือ อารมณ์กัมมัฏฐาน และอารัมมณีกภาวนากัมมัฏฐานอารมณ์กัมมัฏฐาน ได้แก่อารมณ์ของสมถะมีปถวีกสิน เป็นต้น อารมณ์ของวิปัสสนามีรูปนามที่เกิดขึ้น เป็นต้น
              อารัมมณีกภาวนากัมมัฏฐาน ได้แก่ความพยายามที่เกิดขึ้นแล้วในขณะก่อน ๆ ติดต่อกันมาตามลำดับ เปรียบได้เหมือนอย่างแรกเป็นตัวละครเล่นเอง ส่วนอย่างหลังเป็นผู้ดูละคร แต่ถือเป็นกัมมัฏฐานทั้งคู่
              กัมมัฏฐาน การเจริญภาวนา และความพยายามเจริญภาวนาในกัมมัฏฐานทั้งสองคือสมถะ และวิปัสสนานี้ เป็นเหตุให้ผู้เจริญบรรลุฌาน มรรคผล และนิพพาน

 

            สมถกรรมฐาน
            คือการทำสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอารมณ์เดียว โดยความเป็นจริงแล้ว คนเราทุกคนมีพื้นนิสัยหรือพื้นเพของจิตใจแตกต่างกัน บางคนหนักไปอย่างหนึ่งอีกคนหนักไปอีกอย่าง ต่างคนต่างไม่เหมือนกัน ตามแต่วาสนาบารมีที่สั่งสมอบรมมาทั้งในอดีตชาติ และในภพชาติปัจจุบัน เมื่อเป็นดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครูที่ยิ่งกว่าครูทั้งหลายของรา จึงทรงบัญญัติวิธีเจริญสมาธิไว้แก่เหล่าพระสาวกหลายวิธี เพื่อให้เลือกปฏิบัติตามแต่จริต พื้นนิสัยของตน ๆ โดยเหมาะสม อันเป็นเหตุให้ได้รับผลดีในการปฏิบัตินั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            จริต หรือ จริยา คือการเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ
            "จรณ์ ปวตฺตน์ - จริยา ความเกิดขึ้นเสมอ ๆ”

            จริตถ้าจะแยกพิจารณาโดยละเอียดมีอยู่ถึง ๖๓ อย่าง แต่ถ้ากล่าวโดยย่อก็ถือเอาจริตสำคัญ ๆ มีอยู่ ๖ จริตที่เห็นเด่นชัด แต่ก็มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีจริตเหล่านี้ปะปนกันอยู่ บางอย่างมากบางอย่างน้อย บางทีก็คละเคล้ากึ่งกัน ไม่ชัดเจนลงไป จริตที่สำคัญ ๆ เหล่านี้คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต ส่วนการที่จะรู้ว่าผู้ใดมีจริตชนิดใดไม่สามารถรู้ได้โดยง่าย ผู้ที่ปฏิบัติสำเร็จบรรลุปรจิตตวิชานนอภิญญาลาภี จึงจะสามารถรู้อัธยาศัยจิตใจบุคคลอื่นโดยแน่นอน ส่วนบุคคลธรรมดาโดยทั่วไปพอรู้ได้บ้าง เพียงการสังเกตจากสิ่งต่าง ๆ เช่น อิริยาบถ กิจการงาน อาหารการกิน อุปนิสัยใจคอ เหล่านี้เป็นต้น


            ผู้มีราคะจริต สามารถสังเกตได้ดังนี้
            ๑. โดยอิริยาบถ เวลาเดินไปในที่ใด เดินเป็นปกติ มีกิริยาการเดินนุ่มนวล ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า ชดช้อย การยกย่างเท้ากระทำอย่างค่อย ๆ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ขณะย่างก้าวไม่รีบร้อน รอยเท้ากระโหย่งกลาง เมื่อยืนหรือนั่งมีอาการละมุนละม่อมน่าดู เวลานอนไม่รีบร้อน ต้องจัดแจงที่นอนให้เรียบร้อยน่านอน แล้วจึงค่อยเอนตัวลง การวางอวัยวะร่างกายส่วนต่าง ๆ อยู่ในอาการน่าดู เมื่อถูกปลุกให้ลุกก็จะค่อย ๆ ลุก เหมือนไม่เต็มใจ

            ๒. โดยการกระท่ากิจการงาน จะทำอะไรก็ตาม ชอบความเรียบร้อยสะอาดหมดจด เป็นระเบียบ หากเป็นงานที่ต้องใช้มือ ก็จะค่อย ๆ ทำ แช่มช้า ไม่รีบร้อนไม่ชอบให้มีสิ่งใดรกรุงรัง เปรอะเปื้อน

            ๓. โดยโภชนะ ชอบอาหารอันละมุนละไม มีรสอร่อยสนิท หวานมัน เวลารับประทาน กระทำอาหารเป็นคำ ๆ แต่พอดี ไม่ให้คำเล็กไปโตไป รับประทานเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อนชอบลิ้มรสแปลก ๆ ได้อาหารที่ถูกปากแล้ว เพียงอย่างเดียวก็พอใจมาก

            ๔. โดยทัศนะ เมื่อได้เห็นรูปสวยงามที่น่าปลื้มใจ เสียงไพเราะ กลิ่นหอม อาหารรสดี เครื่องสัมผัสละเอียดอ่อนนุ่มสบาย แม้ไม่มากมายเป็นเพียงธรรมดา ก็เกิดความพึงพอใจ ตั้งใจมอง ตั้งใจฟัง มีลักษณะเหมือนของอย่างดี น่าพิศวงงงงวยอย่างจริง ๆ จัง ๆ คล้ายกับไม่เคยประสบมา แม้สิ่งเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ไม่นำมาคิดเป็นผิด เป็นไม่ดี คงติดใจในคุณภาพที่แม้มีเพียงนิดเดียวก็สบใจ เมื่อสิ่งดังกล่าวจะผ่านเลยไปก็ยังไม่ยอมลดละ ยังตามมอง ตามดู ตามฟัง อย่างที่เรียกว่าต้องชะเง้อดู หรือเงี่ยหูฟัง เมื่อจะต้องจากก็แสดงความอาลัย บางทีถึงกับเหลียวหลังตามอย่างเสียดาย

           ๕. โดยธรรมปวัตติ พวกราคะจริตนี้มีจิตใจไม่สูง ชอบมี
                      ๑. มายา เจ้าเล่ห์
                      ๒. สาเถยยะ โอ้อวด
                      ๓. มานะ ความถือตัว
                      ๔. ปาปิจฉตา มีความประสงค์ทางทุจริต
                      ๕. มหิจฉิตา ต้องการให้ผู้อื่นยกย่องชมเชยในคุณความดีของตนเป็นประมาณ
                      ๖. อสันตุฏฐิตา ไม่มีความพอใจในเครื่องอุปโภค บริโภค
                      ๗. สิงคะ เป็นผู้แง่งอน
                      ๘. จาปัลยะ เป็นผู้ประดิษฐ์ตกแต่งเครื่องนุ่งห่ม พิถีพิถันเรื่องความสวยงาม ชอบเครื่องประดับประดาต่าง ๆ


           ผู้มีศรัทธาจริต มีข้อสังเกต เรื่อง อิริยาบถ กิจการงาน อาหาร ทัศนะ เหมือนราคะจริต ต่างแต่เรื่องธรรมปวัตติ คือเป็นผู้ไม่มีมายาสาไถย มีจิตใจสูงตรงข้ามกับพวกราคะจริต เช่น มี
           ๑. มุตตจาคตา เป็นผู้ยินยอมเสียสละ ไม่มีความห่วงใยสิ่งทั้งปวง
           ๒. อริยาน ทสฺสนกามตา มีความต้องการพบเห็นพระอริยเจ้า
           ๓. สทฺธมุมโสตุกามตา ต้องการฟังพระสัทธรรม
           ๔. ปาโมชฺชพหุลตา มีความปรีดาปราโมทย์อย่างสูงในเมื่อได้พบเห็นพระอริยเจ้าและได้ฟังพระสัทธรรมแล้ว
           ๕. อสฐตา เป็นผู้ไม่โอ้อวด
           ๖. อมายาวิตา ไม่มีมารยา
           ๗. ปสาโท เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์เป็นอย่างดี


           ผู้มีโมหะจริต มีข้อพึงสังเกตได้ดังนี้
           ๑. โดยอริยาบถ เวลาเดิน เดินเปะปะตามเรื่องตามราว ยกเท้าขึ้นลงเหมือนคนขย่มตัว รอยเท้าจิกลงทั้งที่ปลายและที่สั้น เวลายืน นั่ง เหมือนคนเซ่อ ๆ เหม่อลอยเวลานอนไม่น่าดู เหวี่ยงมือเท้าไปเกะกะโดยไม่รู้ตัว การจัดปูที่นอนไม่เรียบร้อย ชอบนอนคว่ำหน้า เวลาถูกปลุกลุกขึ้นช้า งัวเงีย หาวเรอ ทำอาการกระบิดกระบวนไปมา ไม่อยากตื่น น่ารําคาญ

           ๒. โดยกิจการงาน ทำสิ่งใดทำอย่างหยาบ ๆ ไม่ถี่ถ้วน ที่เรียกว่า “ชัย” เอาดีไม่ได้งานคั่งค้างไม่เรียบร้อย กระจุยกระจายเกลื่อนกลาด ไม่สะอาด ทำตามแต่จะได้เหมือนไม่ตั้งใจ

           ๓. โดยโภชนะ ชอบรสอาหารไม่แน่นอน เดี๋ยวอย่างนี้ เดี๋ยวอย่างโน้น เวลาบริโภคทำอาหารคำเล็ก ๆ ไม่กลมกล่อม เม็ดข้าวตกเรี่ยราด เกลื่อนกลาดกระจายไป ปากคอเลอะบริโภคอย่างคนมีจิตใจเลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน (ในสมัยปัจจุบันตรงกับลักษณะคนปัญญาอ่อน)

           ๔. โดยทัศนะ เมื่อพบเห็นสิ่งใด จะรู้สึกเฉย ๆ ไม่พอใจหรือเกลียดชัง ซึ่งไม่ใคร่สนใจอะไร ต่อเมื่อมีคนหนุนขึ้นมา จึงพอคล้อยตามไปได้ ใครติก็พลอยกับเขาใครชมก็พลอยชมกับเขา ในทำนองดังนี้

           ๕. โดยธรรมปวัตติ มีจิตใจโง่เขลางมงาย เป็นไปดังนี้คือ
                     ถีนมิทธะ มีจิตใจง่วงเหงา หดหู่ ท้อถอย ไม่เข้มแข็ง
                     กุกกุจจะ เป็นคนขี้รำคาญ
                     วิจิกิจฉา มีความลังเลสงสัย สนเท่ห์ (ขี้สงสัย เจ้าปัญหา)
                     อาทานคาริตา มีการยึดถือมั่น เหนียวแน่น โดยปราศจากเหตุผล
                     ทุปปฏินิสสัคคิตา ยากในการจะอบรมสั่งสอนให้ปลดเปลื้องความเห็นผิดออก (ว่านอนสอนยาก)


            ผู้มีวิตกจริต มีข้อสังเกตได้ดังนี้ ว่าโดยอิริยาบถ กิจการงานโภชนะ ทัศนะเหมือนโมหะจริต ต่างกันอยู่แต่เรื่อง ธรรมปวัตติ เท่านั้น คนวิตกจริตจะมีอาการ
                    ภัสสะพะหุละตา พูดพร่ำ
                    คะณารามะตา ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
                    กุสลานุโยเค อรติ ไม่มีความยินดีในการทำบุญ บริจาคทาน รักษาศีลเจริญภาวนา
                    อะนะวะฏะฐิตะกิจจะตา ชอบพลุกพล่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไปทางโน้นทางนี้เปลี่ยนงานเรื่อยไป
                    รัตติ มายะนา กลางคืนชอบคิดโครงการสร้างวิมานในอากาศที่จะทำในวันรุ่งขึ้น
                    ทิวาปัชชะละนา พอถึงกลางวันก็ทำตามที่ตนคิดไว้ในตอนกลางคืน ไม่รู้ผิดรู้ถูกแต่ประการใด
                    หุราหุรังชาวะนา เป็นคนเจ้าความคิดไปในเรื่องร้อยแปด ไม่รู้หยุดหย่อน เป็นคนชอบวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ นานา จนบางครั้งเหมือนมีอาการของคนเป็นโรคประสาท


            ผู้มีโทสะจริต มีข้อพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้
            ๑. โดยอิริยาบถ เวลาเดินมีลักษณะจิกลงน้ำหนักที่ปลายเท้า การวางเท้า ยกเท้ารวดเร็ว ไม่เรียบร้อย ผลีผลาม รอยเท้าจิกปลาย เวลายืนหรือนั่งมีกิริยาท่าทางกระด้าง ไม่นิ่มนวล เวลานอนก็รีบร้อนมาก การจัดเตรียมที่นอน จัดอย่างไม่สนใจตามแต่จะได้การทอดกายลงนอนไม่มีระเบียบ วางอวัยวะมือเท้า เกะกะ เวลาถูกปลุกให้ตื่น ก็รีบร้อนลุกผลุนผลัน หน้าตาบูดบึ้ง เวลาตอบคำพูดห้วนๆ เหมือนคนโกรธกัน

            ๒. โดยการกระทำกิจการงาน ทำการงานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ทำสิ่งใดมีเสียงดังไม่บรรจง มีอาการโครมคราม หยิบจับสิ่งใดจับแน่นขึงขัง ทำงานรีบร้อน ไม่สม่ำเสมอ เช่นสะอาดเป็นแห่ง ๆ

            ๓. โดยโภชนะ ชอบอาหารหยาบ ๆ ลวก ๆ รสจัด เปรี้ยว เค็ม ขม ฝาด เวลาบริโภคท่าค่าอาหารโตจนคับปาก รับประทานเร็ว ไม่ใช่เป็นคนชอบลิ้มรสอาหารแปลก ๆ ได้อาหารสิ่งใดไม่ถูกใจเพียงอย่างเดียวพาลโกรธได้

            ๔. โดยทัศนะ เมื่อเวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีเพียงเล็กน้อยก็หงุดหงิดใจไม่อยากพบเห็น ยิ่งหากมีข้อบกพร่องปนอยู่บ้าง เพียงเล็กน้อยก็ขัดเคืองใจ ถึงสิ่งเหล่านั้นจะมีส่วนดีอื่น ๆ ปนอยู่มากจนเห็นชัดแจ้ง ก็ไม่สนใจความดีเหล่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้จากหรือผ่านไปไม่รู้สึกเสียดายไม่มีการแลเหลียวคิดห่วงพะวงหลงติดใจอาลัย ใคร่ให้ไปพ้น ๆ เพียงประการเดียว

            ๕. โดยธรรมปวัตติ มีจิตใจทางต่ำ คือ
                 โกธะ มักโกรธ
                 อุปนาหะ ผูกโกรธ
                 มักขะ ลบหลู่คุณ
                 ปลาสะ ตีเสมอ
                 อิสสา อิจฉาริษยาในคุณสมบัติของผู้อื่นที่ดีกว่าตนหรือเสมอตน
                 มัจฉริยะ ตระหนี่


           ผู้มีพุทธิจริต มีข้อสังเกตได้ดังนี้ โดยลักษณะ ๔ อย่างข้างต้นคือ อิริยาบถ กิจโภชนะ ทัศนะ เหล่านี้ย่อมเหมือนกับผู้มีโทสจริต ต่างกันตรงเรื่อง ธรรมปวัตติ
           ผู้มีพุทธิจริต ไม่ใคร่ปรากฏมี โกธะ อุปนาหะ มักขะ เป็นผู้มีจิตใจสูงตรงข้ามกับพวกโทสะจริต มี

           ๑. โสวจจสตา ว่านอนสอนง่ายในเรื่องที่มีประโยชน์ คำตักเตือนใดที่เป็นประโยชน์มีคุณค่าแล้ว แม้ผู้เตือนจะมิใช่บิดามารดา ครูอาจารย์ญาติมิตร ก็ยอมรับฟังและปฏิบัติตาม
           ๒. กลยาณมิตตตา เลือกคบแต่คนที่เป็นเพื่อน ไม่มีการถือชั้นวรรณะ
           ๓. โภชเนมตฺตญฺญุตา รู้จักประมาณในการรับอาหาร รู้ประมาณในการบริโภค
           ๔. สติสมฺปญฺญ่ มีสติสัมปชัญญะ
           ๕. ชาคริยานุโยโค หมั่นประกอบความเพียร มีจิตใจตื่นอยู่ในกิจที่ดีเป็นนิจ
           ๖. สเวโค มีความเบื่อหน่ายและเห็นโทษในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
           ๗. โยนิโสปธาน มีความเพียรโดยเหมาะควร คือหมั่นประกอบในทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้ได้คติภพที่ดีในชาติข้างหน้าต่อ ๆ ไป จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง เลิกเกิดอีกต่อไป

           คนพุทธิจริต เป็นคนมีปัญญา รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถึงเหตุและผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมทั้งปวง มีความฉลาดในการประกอบกุศลกรรม

           จริตต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เป็นข้อสังเกตโดยสังเขปในการนำไปพิจารณาเลือกวิธีปฏิบัติในการฝึกสมาธิ เพราะถ้าปฏิบัติถูกกับจริตแล้ว ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี

           แต่อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเหล่านี้จะถือเป็นการตายตัวแน่นอนไม่ได้ เพียงใช้สังเกตอย่างธรรมดาสามัญ เพราะคนส่วนมากมิได้มีเพียงจริตเดียว บางคนมีปนอยู่ ๒-๓-๔ จริต สับสน นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับการศึกษาดี มีความรู้เฉลียวฉลาด สามารถข่มจริตของตนมิให้ปรากฏชัดออกมา การสังเกตอย่างธรรมดา จึงรู้ได้ยาก นอกจากผู้มีอภิญญาจิตล่วงรู้ใจบุคคลอื่น

           สาเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกัน ดีบ้างเลวบ้าง แม้แต่พี่น้องท้องเดียวกัน กระทั่งเป็นคู่ฝาแฝด ก็ยังมีอัธยาศัยใจคอไม่เหมือนกันนั้น เนื่องมาจากการกระทำกุศลของแต่ละคนในชาติปางก่อน กระทำไว้ไม่เหมือนกันนั่นเอง

           คือ ในชาติปางก่อน ขณะเมื่อกำลัง บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อยู่นั้นกระแสจิตของใคร ปรารถนาการมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา อยากได้ทิพยสมบัติมนุษยสมบัติอันเป็นตัวตัณหา ทั้งมีมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี้ มีทิฏฐิถือตัวถือตน ประกอบกุศลกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้คนผู้นั้นเกิดเป็นคนราคะจริตในภพชาติต่อไป

           กระแสจิตของใครในขณะนั้นเกิดสิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่ คือ ความโกรธ ความเสียใจความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความเดือดร้อนไม่สบายใจอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแล้วกุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วย โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เหล่านี้ทำให้ผู้นั้นเกิดเป็นคนโทสะจริตในภพชาติต่อไป

           กระแสจิตของใครในขณะนั้น ทำกุศลด้วยความโง่เขลา ไม่รู้เหตุรู้ผล ทำตาม ๆ ไปตามสมัยนิยม ตามกาลเวลา บางทีก็เคลือบแคลงสงสัยวิพากษ์วิจารณ์ในทาน ศีล ภาวนาที่ตนกระทำอยู่ บางทีไม่ตั้งใจ กลับคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วย โมหะวิจิกิจฉา อุทธัจจะ เหล่านี้จะทำให้ผู้นั้นเกิดเป็นคนโมหะจริตในภพชาติต่อไป

           กระแสจิตของใครในขณะนั้นมัวแต่คิดไปในเรื่องสนุกสนาน เพลิดเพลินในเรื่องกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นอารมณ์ที่เป็นกามวิตก คิดไปในทางปองร้ายผู้อื่นเป็นพยาปาทวิตก หรือ คิดเบียดเบียนทำลายความสุขของผู้อื่น สัตว์อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นวิหิงสาวิตก กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก เช่นนี้เป็นเหตุให้ผู้นั้นเกิดเป็นคนมีวิตกจริตในภพชาติต่อไป

           กระแสจิตของใครในขณะนั้น ประกอบด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใสในกรรมและผลของกรรม คุณของพระรัตนตรัย เชื่อว่าถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องตายแล้วเกิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ ไป กุศลเกี่ยวด้วยศรัทธาเช่นนี้ ตายแล้วเกิดในชาติใหม่จะเป็นคนมีศรัทธาจริต

           ถ้ากระแสจิตในขณะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา นั้นประกอบไปด้วยปัญญา รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในเหตุในผลของกุศลกรรมที่ตนกระทำ มีความฉลาดในการทำกุศลเข้าใจดีว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทรัพย์สินเงินทอง เหล่าญาติ ผู้คนทั้งปวงมิใช่เป็นของตนโดยแท้จริง ตัวเรา ผู้อื่นล้วนเป็นเพียงรูปนาม ขันธ์ ๕ อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่ ที่เรียกเป็นคน สัตว์ เรา เขา ชาย หญิง ล้วนเป็นสมมุติโวหารของชาวโลกแต่งตั้งขึ้น ความจริงหามีอะไรเป็นแก่นสารไม่ มีบุญกุศลเท่านั้นที่จะน่าติดตัวไปได้ จึงหมั่นกระทำกุศลกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ หรือพิจารณาเห็นว่ากุศลกรรมเหล่านี้ สัปบุรุษทั้งหลายนิยมกระทำ เพราะเป็นของมีประโยชน์อย่างยิ่ง เราควรเจริญรอยตาม ความประพฤติของท่าน เพื่อทำที่พึ่งให้ตนเองทั้งในภาพนี้และภพหน้า หรือตั้งความปรารถนาขออำนาจกุศลกรรมที่กระทำแล้วส่งผลให้เกิดเป็นผู้มีปัญญา กุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาดังนี้จะเป็นเหตุให้ผู้นั้นเกิดเป็นคนมีพุทธิจริตในภพชาติต่อไป

           เมื่อทราบเหตุดังนี้ หากในชาตินี้เกิดมามีจริตอย่างหนึ่งอย่างใดไม่อาจแก้ไขได้แล้ว สมควรสร้างเหตุไว้ในชาติภพต่อไปให้ได้เกิดเป็นผู้มีจริตฝ่ายดีงามเช่น ศรัทธาจริตพุทธจริตเป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตั้งใจ รักษาใจ ไว้ให้ดี ในขณะทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าให้มีจิตใจต่ำเกิดแทรกแซงได้ในขณะนั้น

           นอกจากเรื่องแก้ไขจริตของตนแล้ว ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงภาวะต่าง ๆ ที่ไม่ปรารถนาจะพบในภพชาติต่อ ๆ ไป เช่น ถ้าไม่ต้องการเกิดใหม่เป็น

           คนโง่ ให้แก้ไขด้วยการเร่งศึกษาวิชาธรรมะทั้งปริยัติและปฏิบัติ หรือสนับสนุนอุปการะผู้กำลังศึกษา
           คนจน ให้แก้ไขด้วยการเร่งสร้างทานกุศล
           คนขี้ริ้ว ไม่สวยงาม ให้แก้ไขด้วยการทำความสะอาดปูชนียสถาน การจัดถวายทานอย่างประณีต สะอาดเรียบร้อยทุกสิ่งทุกอย่าง และจงระวังอย่าให้เกิดความโกรธ ความเสียใจในขณะประกอบกุศลกรรมนั้น
           คนขี้โรค ให้แก้ไขด้วยการงดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบากช่วยเหลือผู้ที่เป็นทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามแต่กำลังของตนจะอนุเคราะห์ได้ เช่นให้ยาเงิน ของกิน ของใช้
           คนสกุลต่ำ ให้แก้ไขด้วยการมีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ อย่าเย่อหยิ่งถือตัว

           แต่ถ้าหากในชาตินี้ได้พบกับภาวะที่พึงปรารถนาหลายประการอยู่แล้ว เช่นเป็นคนสวย รวยทรัพย์ มีสติปัญญาดี สกุลสูง ดังนี้เป็นต้น ย่อมไม่สมควรประมาท เพราะผลที่ตนได้รับอยู่นี้ ย่อมมาจากเหตุที่เคยประกอบไว้ในชาติก่อน เมื่อขณะนี้กำลังเสวยผลจากกุศลกรรมนั้นอยู่ ย่อมมีแต่วันผลบุญนั้นจะหมดไป เหมือนหาทรัพย์ได้แล้วใช้จ่ายอย่างเดียว เลิกหาเพิ่มมาอีก ทรัพย์ย่อมจะหมดไปถ่ายเดียว ผู้ฉลาด จำเป็นต้องสะสมเพิ่มพูนให้มีมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป กุศลกรรมก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ต้องหมั่นสร้างไว้ทุกประการให้ยิ่งขึ้น จึงจะนับว่าเป็นผู้ได้กำไรจากการได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในชาตินี้


           สรุป
           ผู้มีราคะจริต มีอัธยาศัยขี้โอ่ รักใคร่ของสวยงาม มีสันดานหนักไปทางกำหนดในกามคุณ ๕
           ผู้มีโทสะจริต อัธยาศัยหนักไปด้วยโทมนัส (ใจน้อย) ขัดแค้นกริ้วโกรธง่าย
           ผู้มีโมหะจริต มีอัธยาศัยมักลุ่มหลงมัวเมา สติอารมณ์ฟั่นเฟือน เป็นคนโลเลเอาแน่ไม่ได้ ไม่ยั่งยืน
           ผู้มีศรัทธาจริต มีอัธยาศัยชอบเชื่อฟังผู้อื่น เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ยินดีในการทำทาน รักษาศีลประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ
           ผู้มีพุทธจริต มีอัธยาศัยมากไปด้วยการรู้จักพิจารณาในบาปบุญคุณโทษ มีปัญญาหลักแหลมแตกฉาน
           ผู้มีวิตักกจริต มีอัธยาศัยมากไปด้วยวิตกวิจาร สันดานโว้เว้ลังเลไม่ยั่งยืน
           สมถกรรมฐานที่แสดงไว้เพื่อให้เหมาะสมกับจริตต่าง ๆ แยกออกเป็นหมวด ๆ ได้ ๗ หมวด คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และอารุปป ๔

            ผู้มีราคะจริต ควรเจริญกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑
            ผู้มีโทสะจริต ควรเจริญกรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ วรรณกสิณ ๔
            ผู้มีโมหะจริต วิตกจริต ควรเจริญกรรมฐาน คือ อานาปานสติกรรมฐาน
            ผู้มีศรัทธาจริต ควรเจริญกรรมฐานคือ อนุสสติ ๖ อย่าง มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ
            ผู้มีพุทธจริต ควรเจริญกรรมฐาน คือ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน ๔

            คนจริตอย่างไรก็ตาม หากมีปัญญามาก ควรเจริญกรรมฐาน ๑๐ อย่าง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ๔ อาโลกกสิณ ๑ และอากาสกสิณ ๑ (สำหรับอรูป ๔ ถ้าผู้นั้นไม่เคยมีบารมีอบรมตนไว้แต่ปางก่อน ควรฝึกด้วยกรรมฐานอื่นเป็นพื้นเสียก่อน แล้วจึงบำเพ็ญอรูปกรรมฐานภายหลัง)

            กสิณ ๑๐ มีกสิณที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐาน คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว อากาศ แสงสว่าง รวม ๑๐ อย่าง

            อสุภะ ๑๐ เอาศพที่น่าเกลียดมีอาการต่าง ๆ ๑๐ อย่าง มาใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน คือ
                        - ศพที่พองอืดขึ้นภายหลังจากที่ตายแล้ว ๒-๓ วัน
                        - ศพที่มีสีต่าง ๆ ปนกัน ที่เป็นเนื้อมีสีแดง ที่เป็นหนองมีสีขาว ที่เริ่มเน่ามีสีเขียว
                        - ศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลออกจากเนื้อที่ปริเปื่อย
                        - ศพที่กายขาดออกเป็นสองท่อน
                        - ศพที่ถูกสัตว์ มีแร้ง กา สุนัข กัดทิ้งยื้อแย่งโดยอาการต่าง ๆ
                        - ศพที่ถูกทิ้งเรี่ยราย มือ เท้า ศีรษะขาดอยู่กันคนละทาง
                        - ศพที่ถูกฟัน สับด้วยอาวุธเป็นริ้ว เป็นรอย
                        - ศพที่มีโลหิตไหลอาบร่างกาย
                        - ศพที่มีหนอนชอนไชอยู่ทั่วร่างกาย
                        - ศพที่มีแต่กระดูก

           อนุสสติ ๑๐ มีพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี อรหํ เป็นต้น อยู่เนือง ๆ
                  ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระธรรม มีสวากขาตตา เป็นต้น และมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน พระไตรปิฏก อรรถกถา อยู่เนือง ๆ
                  สังฆานุสสติ การระลึกถึงพระคุณทั้ง ๔ มีสุปฏิปันนตา เป็นต้นของพระอริยสงฆ์อยู่เนือง ๆ
                  สีลานุสสติ การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลที่ตนรักษาไว้โดยปราศจากโทษเนือง ๆ
                  จาคานุสสติ การระลึกถึงการบริจาคทานของตนที่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีการโอ้อวด เอาหน้าเอาตา เอาชื่อเสียง ไม่มีการหวงแหน อยู่เนือง ๆ
                  เทวตานุสสติ การระลึกถึงกุศลกรรมของตน มีศรัทธาเป็นต้นอยู่เนือง ๆ โดยเปรียบเทียบกับเทวดา พรหม ทั้งหลายว่า ผู้ที่บริสุทธิ์ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เหล่านี้ เมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดในเทวโลก พรหมโลก กุศลธรรมเหล่านี้เราก็มีอยู่
                  อุปสมานุสสติ การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่มีสภาพสันติสุข สงบจากกิเลสและทุกข์
                  มรณานุสสติ การระลึกถึงความตาย ที่ตนจะต้องพบ ให้เกิดความสลดใจอยู่เนือง ๆ
                  กายคตาสติ ระลึกถึงของ ๓๒ ส่วนในร่างกาย มีเกศา โลมา นขา ทันตา (ผม ขน เล็บ ฟัน) เป็นต้น อยู่เนือง ๆ
                  อานาปานัสสติ การมีสติระลึกถึงลมหายใจเข้าออก อยู่เนือง ๆ

            อัปปมัญญา มี ๔ ได้แก่
                  เมตตา การแผ่ความรักใคร่ ความหวังดี ต่อสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
                  กรุณา การแผ่ความสงสารต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ และที่จะได้รับความทุกข์ต่อไปข้างหน้า โดยไม่เลือกชั้น วรรณะ
                  มุทิตา การแผ่ความยินดีต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความสุขอยู่ และที่จะได้รับความสุขในเวลาข้างหน้า โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
                  อุเบกขา การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีความรักใคร่ ความสงสารความยินดี แต่ประการใด โดยไม่เลือกชั้น วรรณะ

          ทั้ง ๔ อย่างนี้ รวมเรียกว่าอัปปมัญญา เพราะไม่มีประมาณ หรือที่เรียกกันว่าพรหมวิหาร เพราะผู้ที่ปฏิบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เหมือนความเป็นอยู่ของพรหมแล้ว

           อาหาเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาอาหารว่าเป็นของน่าเกลียด จนมีความรู้สึกเป็นไปตามที่พิจารณา
           จตุธาตุววัตถาน การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ปรากฏในร่างกาย ชื่อว่า ววัตถาน
           อารุปป ๔ เป็นการเจริญกรรมฐานขั้นได้ฌาน (จะกล่าวถึงในเรื่องการบังเกิดเป็นพรหม)
           ๑. อากาสานัญจายตนฌาน เกิดขึ้นโดยใช้อากาสบัญญัติที่ปรากฏแทนที่ขึ้น ในขณะเลิกสนใจในกสิณนิมิต เป็นอารมณ์กรรมฐานแล้ว
           ๒. วิญญาณัญจายตนฌาน เกิดขึ้นโดยมีอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์
           ๓. อากิญจัญญายตนฌาน เกิดขึ้นโดยมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ (คือพรากใจออกจากวิญญาณัญจายตนฌาน) กำหนดความไม่มีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง เป็นอารมณ์
           ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เกิดขึ้นโดยมีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010971200466156 Mins