กายสองภาค

วันที่ 11 มิย. พ.ศ.2567

110667b01.jpg
กายสองภาค
๖ กรกฎาคม ๒๕๔๐
พระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ไป ให้ทุกท่านตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ นั่งขัดสมาส เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย คล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาซักครึ่งลูก เหมือนปรือ ๆ ตาอย่างนั้น กล้ามเนื้อเปลือกตาจะได้ไม่ไปเม้ม จนกระทั่งติดแน่น จะทำให้มึนศีรษะ เพราะฉะนั้นหลับตาพอสบาย ๆ นะจ๊ะ สำคัญนะ ที่แนะตรงเนี้ยะ สำคัญนะจ๊ะ ถ้าตรงนี้ไม่เข้าใจหรือฟังผ่านไปเฉย ๆ นั่งนานทีเดียวนะจ๊ะ กว่าใจจะรวมน่ะ เพราะว่ามันไม่ผ่อนคลาย เพราะหลักของการเข้าถึงสมาธิ ที่จริงมันก็ไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ยากตรงที่มันไม่เข้าใจนะ ทำผิดวิธี ง่ายตรงที่มันถูกวิธีนะ ถ้าทำถูกวิธีแล้วง่าย 

 


                เพราะฉะนั้น หลับตาเบา ๆ นะจ๊ะ ครึ่งลูกนะ ปรือ ๆ ตาเบา ๆ เหมือนเผยอนิด ๆ ปรือ ๆ นิด ๆ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากจะได้ผ่อนคลายลองทำดูนะลูกนะ ลองทำดู สำหรับท่านที่มาใหม่นะ หรือที่มาเก่าแล้วน่ะ นั่งไม่ได้ผล เพราะไปเม้มตาแน่น ก็ผ่อนคลายซะนะจ๊ะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี อย่าไปนั่งขึงขังเอาจริงเอาจัง จนกล้ามเนื้อของร่างกายเราเกร็ง เครียดอย่างนั้นไม่ได้ผลนะจ๊ะ ต้องผ่อนคลาย ทั้งระบบประสาท กล้ามเนื้อ จิตใจทั้งหมดเลย ต้องผ่อนคลาย สบาย ๆ คราวนี้ก็ทําใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น เราจะได้ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันอย่างแท้จริง สมบูรณ์ ดังนั้นต้องทำใจให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ไม่ให้ใจเกาะเกี่ยวในเรื่องใด ๆ เลยนะจ๊ะ

 


                ถ้าเป็นนักเรียนที่กังวลเรื่องการศึกษาเล่าเรียน ก็ปล่อยวางชั่วคราว ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็เรื่องธุรกิจการงานก็วางกันชั่วคราวถ้าเป็นครอบครัว กวางเรื่องครอบครัวชั่วคราว หรือเรื่องอะไรทั้งหมด ที่คั่งค้างอยู่ในใจเนี่ยะ ปล่อยวางให้หมดทำประหนึ่งว่าเราเนี่ยอยู่คนเดียวในโลก ลองคิดดูนะจ๊ะ ทำเหมือนกับตัวเรานี่อยู่คนเดียวในโลก ในโลกนี้ว่าง ๆ เป็นที่กว้าง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีสิ่งใด ๆ เลย ไม่มีกิจกรรมอะไรมาก่อน ให้นึกอย่างนั้นนะ ใจจะได้ปลอดโปร่ง ว่างเปล่าจากเครื่องรกรุงรังของใจ เมื่อใจปลอดโปร่งอย่างนี้ ไม่มีอะไรมาข้องอยู่ในใจ ใจก็จะใสจะแช่มชื่นอยู่ตลอดเวลา 

 


                เพราะใจเราเกลี้ยง เกลี้ยงตรงนี้แหละ เป็นจุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมภายในธรรมะเนี่ยมีอยู่แล้วภายในนะจ๊ะ มีอยู่ภายในกลางกายของเราน่ะ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า กายในกายจิตในจิต เวทนาในเวทนา ธรรมในธรรม กาย เวทนา จิต ธรรมน่ะ มีอยู่ข้างในน่ะ คือตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ ตามเห็นเวทนาในเวทนาเข้าไปเรื่อย ๆ ตามเห็นจิตในจิต ตามเห็นธรรมในธรรม คำว่าตามเห็นเนี่ยะหมายความว่าก็ต้องเห็นเหมือนอย่างเราลืมตาเนื้อ มองเห็นคนสัตว์สิ่งของอย่างนั้นแหละ เห็นได้อย่างนั้นเลย เค้าถึงเรียกว่าตามเห็น เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม 

 


                เห็นกายในกายเป็นอย่างไร เห็นกายในกาย ก็หมายถึงว่าในกายหยาบที่เรานั่งเข้าที่อยู่นี้น่ะ ผู้รู้ ผู้เห็นน่ะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเข้าไปเห็น ว่ามีอีกกายหลาย ๆ กายที่ซ้อนกันอยู่ภายในกายหยาบของเรา ที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนนี่แหละ ซ้อนกันอยู่ ท่านไปเห็น มีกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมโคตร ซ้อนกันอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายธรรมพระโสดาซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระสกิทาคาซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระอนาคาซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระสกิทาคา กายธรรมพระอรหัตซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระอนาคา ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้แหละ 

 


                ท่านเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ เลย ตามเห็นเข้าไป กายในกายเวทนาในเวทนานะ คือการเสวยอารมณ์ต่าง ๆ เวทนาเนี่ยเราเข้าใจเพียงว่าเป็นความรู้สึก แต่แหล่งที่มาของความรู้สึกนั่นน่ะเราไม่รู้นะ พระพุทธเจ้าท่านเห็นน่ะมันมีแหล่งกำเนิด แหล่งกำเนิดของความรู้สึกมีลักษณะอย่างไรนี่ท่านเห็นนะ ความรู้สึกที่อยู่ในกายมนุษย์ละเอียดเป็นอย่างไร ในกายทิพย์พรหมเป็นอย่างไร ในกลางกายอรูปพรหมเป็นอย่างไร ในกลางกายธรรมในกายธรรมเป็นอย่างไร กายธรรมพระโสดา สกิทาคา อนาคาอรหัต แตกต่างกันอย่างไร เห็นนะ เห็นแหล่งกำเนิดของเวทนา 

 


                คำว่าเห็นแสดงว่า สิ่งนั้นมันมีอยู่ มันมีอยู่อย่างนี้ เป็นรูปธรรมเลย แต่เมื่อสัมผัสไม่ได้ มันก็เป็นนามธรรม แต่นี่เห็น เห็นเวทนาในเวทนาและก็เห็นจิตในจิต จิตในกลางกายมนุษย์หยาบละเอียดเป็นอย่างไร ทิพย์พรหมอรูปพรหม กายธรรมเป็นอย่างไร เห็นไปหมดเลย ธรรมในธรรมเหมือนกัน ธรรม คำว่าธรรม ความบริสุทธิ์ ถูกต้องดีงาม อย่างนี้เป็นต้น มีลักษณะเป็นอย่างไรน่ะ ธรรมที่ทำให้เกิดเป็นกาย กายมนุษย์ละเอียด ทรงรักษากายมนุษย์ละเอียดเอาไว้ ถ้าไม่มีธรรมดวงนี้ก็ดับไปนะ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหมกระทั่งกายธรรมก็เห็นธรรมอย่างนั้นแหละ เห็นธรรม 

 


                เห็นก็หมายถึงว่า มันเห็น มันมีวัตถุ เหมือนตาเราเห็นดอกไม้ เห็นภูเขา เห็นคน เห็นเพชรเห็นพลอยอย่างนั้นนะจ๊ะ ตามเห็นทีนี้สิ่งที่ท่านเข้าไปเห็น ก็แสดงว่ามันมีมาอยู่เดิม เมื่อยังไม่เห็น ก็แปลว่ายังเข้าไม่ถึง และก็ยังไม่เป็นเมื่อไม่เป็น ไม่เห็น ไม่ถึง มนุษย์ก็มีความทุกข์ เพราะเข้าใจว่ากายหยาบมีกายเดียว ตายแล้วสูญมั่ง ชีวิตสิ้นสุดที่เชิงตะกอน เพราะฉะนั้นพอคิดอย่างนี้ ความเชื่อเรื่องภพนี้ภพหน้าก็ไม่มี ความเชื่อกฏแห่งกรรมก็ไม่มี ความเชื่อเรื่องความดีความชั่วอะไรต่าง ๆ ก็ไม่มี ไม่มีก็จะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาของกิเลสในตัว 

 


                ผลก็คือความทุกข์ทรมานตั้งแต่เริ่มคิดจะทำ ลงมือทำ กระทั่งมีผลของการกระทำ ทั้งมีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว ก็มีความทุกข์ทรมาน เพราะเห็นกันได้แค่นั้น สิ่งนี้มีอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คน คำว่ามนุษย์ทุกคนก็หมายความว่าทุกชาติ ชาติจีน ชาติไทย ลาว เขมร ญวน ฝรั่ง อะไรอย่างนั้นเป็นต้น ก็คือทุก ๆ คน ทุก ๆ ชาติ ไม่ว่าจะมีความเชื่อศาสนา เชื่อถืออะไรมาก่อนก็แล้วแต่ นั่นเป็นเรื่องของความเชื่อ ที่เชื่อกันต่อ ๆ กันมา แต่ความจริงมันก็เป็นอย่างนี้แหละ คือมีกายในกาย มีเวทนาในเวทนา มีจิตในจิต มีธรรมในธรรม มีอยู่แล้วแต่เราไม่รู้ว่ามันมี

 


                 เมื่อเราไม่รู้ว่ามันมี ก็ทำในสิ่งที่เรารู้ว่ามันมีอยู่แค่ไหน ก็ทำกันไปแค่นั้นพระพุทธเจ้าท่านเห็นอย่างนี้แหละ เห็นว่ามันมี แล้วท่านก็สอนว่า กายนี่แบ่งเป็นสองภาคนะ ภาคหนึ่งเป็นภาคที่เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา คือภาคที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร หมายความว่ามันไม่ใช่ของแท้อาศัยได้เป็นแค่เครื่องอาศัยแค่ชั่วคราว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปน่ะ อย่าเพิ่งไปยึดว่ามันเป็นจริงเป็นจัง เพราะว่ามันไม่ใช่ของแท้ ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นของแท้ ท่านว่าเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง อัตตา คือธรรมกาย เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ก็หมายความว่าคงที่ เที่ยงแท้ แน่นอน เป็นอนันตกาล เป็นอมตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวของตัวอย่างแท้จริง เป็นอิสระ เสวยสุขได้เต็มที่ ไม่มีอะไรมาบังคับบัญชาให้เป็นทุกข์เลย ปรารถนาอะไรก็ได้อย่างนั้นแหละ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา นี่ท่านแบ่งเป็นสองภาคอย่างนี้นะ คือภาคที่เป็นภาคของโลกียะกับภาคของโลกุตตระ ภาคของโลกียะนั้นเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ภาษาธรรมะเค้าเรียกว่าไตรลักษณ์ คือมีลักษณะ ๓ อย่าง อย่างนี้ 

 


                ส่วนภาคที่เป็นของจริงแท้นั้นน่ะ ที่เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา คือภาคของธรรมกาย มีกายประกอบไปด้วยธรรมล้วน ๆ จึงเรียกว่าธรรมกาย มีความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง กิเลสบังคับบัญชาให้โลภ ให้โกรธ ให้หลงไม่ได้เลย ให้ทุกข์ทรมานก็ไม่ได้ สุกใสสว่างอย่างเดียว และกายที่สำคัญที่สุดก็คือกายธรรมอรหัต ไปถึงตรงนั้น กิเลสอาสวะสิ้นหมด เมื่อเป็นกายนั้นล่อนไปหมดเลย เปลือกนอกเป็นกายมนุษย์หยาบ แต่ข้างในเป็นกายธรรมอรหัต ล่อนใสแจ่มทีเดียว ทรงอภิญญา มีความรอบรู้พิเศษเกิดขึ้น เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอันนั้น 

 


                เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านเข้าไปถึงด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาแสดง มาสั่งสอน แจกจ่ายเป็นหมวดหมู่แห่งธรรม มีวัตถุประสงค์ก็ให้ได้ศึกษา ได้ลงมือปฏิบัติและได้เข้าถึง เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้เข้าถึง แล้วก็เป็นเช่นเดียวกับพระองค์คือหลุดร่อนจากกิเลสอาสวะ เข้าถึงความสุขบริสุทธิ์ เข้าถึงความเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ตัวตนที่แท้จริงของเรา นั่นคือวัตถุประสงค์ เป็นพุทธประสงค์นะจ๊ะ การจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้นะ สรุปออกมาเป็นคำสอนว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ พระบรมศาสดากล่าวไว้กับพระองคุลีมาล ที่จริงท่านกล่าวเอาไว้กับทุกองค์นั่นแหละ แต่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแค่ตอนเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ จากการถูกล้างผลาญ เผาผลาญ สลายกันไป ก็เหลืออยู่นิดเดียว 

 


                ผู้ที่เป็นพยานคำนี้ ว่าหยุดเนี่ยก็คือหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านเป็นพยานหยุดเป็นตัวสำเร็จ ก็หมายความว่า ต้องหยุดทำความชั่ว ตั้งใจทำความดีให้ใจหยุดอยู่กับความดี กระทั่งหยุดนิ่ง เฉย ๆ มีความดีเต็มเปี่ยมทีเดียว นั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ ขยายความต่อไปอีก ในแง่ของการปฏิบัติก็คือหยุดก็หมายถึงไม่ต้องทำอะไรเลย ใจที่แวบไปแวบมาน่ะ คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ในกิจกรรมทั้งปวง หยุดนิ่งเฉยอยู่ภายในตัวของเรา นิ่ง ๆ ที่เคยคิดก็ไม่ต้องคิด ปลอดความคิด หยุดไม่ต้องคิด ที่เคยพูดก็ไม่ต้องพูด หยุดพูดที่เคยทำกิจกรรมก็ไม่ต้องทำน่ะ นิ่งเฉย ๆ อย่างนี้เรียกว่าหยุด

 


                หยุดเป็นตัวสำเร็จ สำเร็จอย่างไร นี่เป็นเรื่องแปลกทีเดียว พอใจหยุดนิ่ง ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำกิจกรรมอะไรน่ะ นิ่ง เฉย ๆ แปลกทีเดียวนะจ๊ะ พอหยุดถูกส่วนเข้า เคลื่อนที่ ที่เค้าเรียกว่า คมนะ ไตรสรณคมน์น่ะคือเคลื่อนเข้าไปหาไตรสรณะ หาพระรัตนตรัยที่อยู่ภายใน พอใจหยุดก็เคลื่อน แปลกนะ ส่วนมากเราเห็นว่าถ้าหยุดแล้วอยู่เฉย ๆ แล้วไม่เขยื้อน หยุดที่เราเข้าใจความหมายนั้นหมายถึงว่าไม่เขยื้อนเคลื่อนที่ แต่หยุดภายใน พอหยุดแล้วมันเขยื้อนเคลื่อนที่ มันหยุดแล้วไป ไอ้นั่นหยุดแล้วอยู่ อยู่เฉย ๆ หยุดไม่เขยื้อน

 


                แต่นี่หยุดแล้วเคลื่อนที่ เคลื่อนเข้าไปข้างในทีเดียว เราจะมีความรู้สึกว่าใจขยาย ใจกว้างออกไป ขยาย รู้สึกที่ร่างกายว่าตัวของเราขยายออกไปทีเดียว ใจขยายตัวขยาย ขยายทั้งกายและใจ ขยายไปพร้อม ๆ กัน ขยายจากตัวโต ปัจจุบันนี้เนี่ย จนกระทั่งใหญ่กว่าตัว จนกระทั่งขยายเต็มห้อง ถ้านั่งในสภาธรรมกายสากล ก็ขยายเต็มสภาธรรมกายสากล พอหยุดต่อไปก็ขยายเต็มวัดพระธรรมกาย พอหยุดเฉย ๆ อีก ก็ขยายต่อไปอีก เคลื่อนเข้าไปก็ขยาย เคลื่อนเข้าไปข้างในขยายไปทั้งหมดเลย รอบทิศ กระทั่งครอบประเทศ ความรู้สึกโตใหญ่ทีเดียว 

 


                หยุดต่อไปขยายอีกแล้ว ครอบโลกสุดขอบฟ้า กระทั่งไม่มีขอบเขต คือเราจะรู้สึกว่าร่างกายเราหายไปหมด เป็นบรรยากาศไปเลย กลืนกันไปเลย ตัวเราหาย เหลือแต่ใจที่นั่งอยู่อย่างเดียว นิ่งเฉย อาการที่กายขยายนี่เค้าเรียกว่าเบิกบาน มาพร้อมกับความรู้สึกสดชื่นอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ ที่เกลี้ยง ที่เป็นอิสระ ที่เรายอมรับว่านี่คือความสุข รู้สึกมันสบายสบายน่ะ เมื่อมันขยายไปอย่างไม่มีขอบเขต เหลือใจที่นิ่งอยู่อย่างนั้น พอนิ่งอยู่อย่างนี้ถ้าใครไม่เอ๊ะอะนะ ว่าเอ๊ะ ว่าตัวหายไปไหน ถ้าไม่เอ๊ะ ใจก็ยิ่งนิ่งลงไปอีก แล้วก็ขยายต่อไปอีก แต่ถ้าเอ๊ะ ตัวหายไปไหน

 


                มันก็หดลงมา รู้สึกตัวเหมือนเดิม นี่แปลกตรงนี้ เพราะฉะนั้นถึงตรงนี้อย่าเอ๊ะนะ ให้นิ่งเฉย ๆ หยุดนิ่ง เฉย ๆ สบาย ๆ ต่อไปนะจ๊ะ หยุดนิ่ง เฉย ๆ สบาย สบายต่อไป โดยไม่กังวลว่าเอ้ใจเรามันอยู่ที่ไหนนะ อยู่ตรงฐานที่ ๗ รึเปล่าก็ไม่ทราบ ไม่ต้องไปกังวลมัน นิ่งอย่างนั้นแหละ ถ้าเอ๊ะก็หาย ความรู้สึกก็กลับมาเหมือนเดิมแต่ถ้าห้ามเอ๊ะไม่ได้ ควรจะทำอย่างไรต่อไป ก็อย่าเอ๊ะที่สองก็แล้วกันนะจ๊ะ ถ้าอดเอ๊ะ ไม่ได้ ว่าเอ๊ะ ทำไมตัวมันหายไป นี่เราจะเอาใจไว้ตรงไหน ถ้าห้ามไม่ได้ ก็ช่างมัน อย่าเอ๊ะครั้งที่ ๒ 

 


                แต่ถ้าเอ๊ะครั้งที่ ๒ ก็อย่าเอ๊ะครั้งที่ ๓ นะจ๊ะอย่างนี้นะ ทำอย่างนี้เรื่อยไปเลย ทีนี้พอทำอย่างนี้อะไรเกิดขึ้น มันก็นิ่งลงไป นิ่งลงไป นิ่งจนกระทั่งความนิ่งมันแน่นไปหมดเลย หมายความว่าไม่มีความคิดอื่นใดเข้ามาแทรกเลย ใจนี่เกลี้ยง สะอาดบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จนกระทั่งยอมรับว่าบริสุทธิ์ ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน มีความรู้สึกว่าเราเอ้อ ว่าเอ้อเราเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความคิดดี ๆ บริสุทธิ์ทีเดียวนะ นิ่ง พอบริสุทธิ์หนักเข้า แสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ก็บังเกิดขึ้น ทีละน้อย เหมือนฟ้าสาง ๆ ตอนตีห้าในฤดูร้อน สาง ๆ ถึงตอนนี้ก็หยุดเฉย ๆ อย่าไปตื่นเต้นกับแสงแรกที่เราเจอ

 


                แต่ถ้าตื่นเต้น ก็อย่าตื่นเต้นห้ามไม่ได้ในครั้งที่ ๑ ก็อย่าตื่นเต้นในครั้งที่ ๒ เพราะถ้าตื่นเต้น แสงหายอีกแล้ว กลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะฉะนั้นพอถึง พอเรานิ่งหยุดเฉย ๆ ต่อไป ความบริสุทธิ์ก็เพิ่มพูนมากกว่านี้ไปอีก ความสว่างก็จะมา เหมือนอาทิตย์หกโมงเช้า เจ็ดโมง แปดโมงเรื่อยมาเลย มันเป็นแสงสว่างที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว ที่เราสามารถมองเห็นได้โดยไม่แสบตาหรือเคืองตา แถมมาพร้อมกับความสุขสดชื่นเบิกบาน และความเกลี้ยงเกลาผ่องแผ้วของใจเรา ใจก็จะเป็นประภัสสร ตอนนี้หล่ะสว่างใส กระทั่งถึงดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สว่างจ้า ใสบริสุทธิ์ สุขที่สุดเลย ใสบริสุทธิ์ และในกลางความสว่างที่เจิดจ้านั้นน่ะ ถ้าใจหยุดต่อไปอีก เดี๋ยวจะเห็นเลยนะจ๊ะ

 


                แหล่งกำเนิดของความสว่าง เป็นจุดเล็ก ๆ เท่ากับปลายเข็ม หรือขนาดดวงดาวในอากาศ ขนาดดวงดาวในอากาศสุกปลั่งทีเดียว ทั้งสุกทั้งใส ทั้งสว่างกว่า คือเห็นได้ชัดเจนกว่าแสงสว่างรอบตัว ที่สว่างประดุจดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันน่ะ ตอนนี้สุขมากทีเดียวนะจ๊ะ สุขอย่างอย่างเดียว มันไม่มีคำใดที่จะใช้แทนคำว่าสุข ก็ให้ใช้คำว่าสุขอย่างเดียว พูดไม่ออกบอกไม่ถูกทีเดียว เพราะว่าไม่มีถ้อยคำที่จะอธิบายคำนี้นะจ๊ะ เป็นความสุขที่สงบนิ่งเยือกเย็นใส ร่างกายก็จะมีชีวิตชีวา สดชื่นไปทุกจุดเลย จุดสว่างนั่นแหละคือต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

 


                ตรงนี้แหละเราจะเข้าถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม พอได้ดวงใสเป็นดวงกลมรอบตัวเป็นเบื้องต้น เป็นปฐม คือต้นทางเค้าเรียกว่าปฐมมรรคนะ เป็นต้นทางแล้ว ต่อไปก็จะถูกทาง ถูกทางสายกลางเมื่อถูกทางเดี๋ยวก็จะถึงที่หมายนะจ๊ะ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ธรรมในธรรมเข้าไปเรื่อยเลย สุขสดชื่นเลยเนียพอเราหยุดอยู่อย่างเดิม ทำนิ่ง ๆ เฉย ๆ อย่างเดียว จำนะ หยุดเฉย ๆ อย่างเดียวน่ะ เดี๋ยวขยาย ดวงนั้นขยายไปเลย ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ กว้างออกไป ๆ ๆ จนเต็มอิ่ม พอเต็มอิ่มสุดของความขยายก็มีอีกดวงผุดขึ้นมาเลย ผุดขึ้นมานี่แหละ ซ้อน ๆ ๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้นคำว่าหยุดเป็นตัวสำเร็จ ก็หมายเอาอย่างนี้นะจ๊ะ คือหยุดอย่างนี้แหละเป็นตัวสำเร็จ

 


                พอทำตรงนี้ได้เดี๋ยวเราจะศึกษา ความรู้ในทางพระพุทธศาสนาได้ เราจะศึกษาเรื่องอะไรได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ควรศึกษาพระพุทธเจ้าท่านกำหนดเอาไว้ มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท หกประการนี่แหละ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท เราก็จะศึกษาธรรมอันนี้เข้าไป ทีนี้ธรรมอันนี้เนี่ย ความรู้อันนี้เนี่ย จะศึกษาเนี่ย มันจะต้องเห็นได้ชัดเจน เห็นได้รอบทิศ ทุกทิศทุกทางที่เดียว การเห็นนี้ต้องเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกาย

 


                การที่เห็นวิเศษแจ่มแจ้งชัดเจน เห็นได้รอบทิศ เห็นแล้วเข้าใจหมด ทั่วถึง รู้พร้อมน่ะ ภาษาธรรมะเค้าใช้คำว่า วิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้ง สว่าง เห็นแล้วก็ทั้งรู้ทั้งเห็น เห็นได้รอบตัว รู้ได้รอบตัว เข้าใจแจ่มแจ้ง หายสงสัยทีเดียว อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา เพราะฉะนั้นวิปัสสนาเนี่ยเป็นคำคู่กับพระธรรมกาย ถ้าเข้าถึงธรรมกายแล้วจึงจะใช้คำนี้ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงธรรมกายเค้าเรียกว่า เค้าเรียกวิปัสสนึก คือนึกตาม ทบทวนตามคำสอน ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตำรับตำราหรือครูบาอาจารย์ เราสอนแล้วเราก็มาพิจารณา มาใคร่ครวญกัน ตามที่เราได้ยินได้ฟังโดยใช้จินตมยปัญญา เกิดความคิด แล้วก็เกิดความรู้สึก เรามักจะเหมาว่าอันนี้คือวิปัสสนา

 


                แต่ความจริงยังไม่ใช่นะจ๊ะ ยังเป็นวิปัสสนึก คือนึกคิดพิจารณาเอา ทบทวนเอาตามสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังได้ศึกษา แต่วิปัสสนาความหมายที่แท้จริงหมายความต้องเห็น เพราะปัสสนามันแปลว่าการเห็น และก็ต้องเห็นอย่างวิเศษ แจ่มแจ้ง เห็นได้ทั่วถึงทุกทิศทุกทางทีเดียวทีนี้จะมีดวงตาไหนล่ะ ที่จะทำเห็นได้แจ่มแจ้งและก็ทุกทิศทาง ได้รอบตัว มีดวงตาเดียวเท่านั้นที่เห็นได้รอบตัว คือธรรมจักขุ ธรรมจักขุอันนี้ต้องคู่กับธรรมกาย มีธรรมกายจึงมีธรรมจักขุ มันต้องคู่กัน ถ้าไม่มีธรรมกายก็ไม่มีธรรมจักขุ เมื่อไม่มีธรรมจักขุก็ไม่มีการเห็นอันวิเศษ คือไม่มีการเจริญวิปัสสนา ไม่เห็นเลย

 


                เพราะเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่ใช่เห็นง่าย อายตนะ ๑๒ อย่างเนี้ยะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเนี่ย เห็นไม่ใช่ง่าย ส่วนมากจะเห็นหยาบ ๆ ที่เราเห็นกันโดยส่องกระจกนั่น ลูกนัยน์ตาเป็นยังไง หูเป็นยังไง จมูกลิ้นกายเป็นยังไง ถึงใจเนี่ยไม่เห็นแล้ว แต่ข้างในนี่ท่านเห็นทีเดียว เห็นขบวนการเห็นที่มันเกิดขึ้นในการรับรู้อะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ต้องเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกายอย่างเดียว จึงจะเป็นวิปัสสนา 

 


                ขอให้ท่านที่เคยศึกษามาแล้วทำความเข้าใจใหม่นะจ๊ะ แล้วก็ลงมือปฏิบัติเลย ว่าสิ่งที่ได้กล่าวมานี้เป็นอย่างนี้หรือไม่ ให้หายสงสัยด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น หยุดเป็นตัวสำเร็จก็หมายความเอาอย่างนี้นะจ๊ะ หยุดนิ่งถูกส่วนแล้วก็จะมีอาการอย่างนั้นแหละ ถ้าเราหยุดนิ่ง เฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ ในทุกประสบการณ์ ใจก็จะแล่นเข้าไปเรื่อย เคลื่อนเข้าไปสู่ข้างใน ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป ๆ โดยไม่ติดอะไรเลย ไม่คิดอะไรเลยทั้งสิ้น ใจมุ่งไปหาสิ่งที่ปราณีตกว่าอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดสุดท้าย พอถึงจุดสุดท้ายแล้วก็ไม่ต้องแสวงหาต่อ ก็อยู่ตรงนั้น คือกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ ก็อยู่ตรงนั้นเลย 

 


                ดังนั้นคำว่าติดสุขเป็นเรื่องที่คุยโม้กันอย่างนั้น เค้ายังไม่มีประสบการณ์ภายในจึงพูดอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติได้เข้าถึงแล้วไม่พูดอย่างนั้นเลย เพราะไม่มีการติดอะไรทั้งสิ้นจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง พอถึงแล้วก็ไม่ต้องแสวงหาต่อก็อยู่กับสิ่งนั้น เป็นสิ่งนั้นไปตลอดอนันตกาลเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้นะจ๊ะ ต่อจากนี้ไปก็ให้เริ่มลงมือ ทดลองฝึกใจให้หยุดให้นิ่งให้ได้นะจ๊ะ จะได้พิสูจน์ว่าหยุดเป็นตัวสำเร็จเป็นอย่างไร และจะได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา ซึ่งเราไม่เคยทราบมาก่อนว่ามี ว่ามีจริง แล้วเราจะได้ทราบว่าสิ่งที่มีจริงนั้นดีจริงอย่างไรนะจ๊ะ

 


                ก็ให้เอาใจเนี่ยะหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้องของเรา ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูกนะจ๊ะ ฐานที่ ๒ ที่หัวตา ฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๕ ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในระดับเดียวกับสะดือในกลางท้อง ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ให้นึกสมมติหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเอานิ้วชี้นิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจที่แวบไปแวบมานะ ให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ

 


                 หยุดให้นิ่ง ๆ ทำนิ่ง ๆ อย่างเดียวในกลางกายน่ะ ฐานที่ ๗ ถ้าหากว่านึกแค่นี้ไม่พอ ก็ให้หาที่ยึดที่เกาะของใจตรงฐานที่ ๗ ให้มีเครื่องหมายว่าตรงนี้ฐานที่ ๗ โดยกำหนดเครื่องหมายว่าเป็นฐานที่ ๗ นี้นะ กำหนดเครื่องหมายเป็นเพชรลูกเป็นเพชรซักเม็ดนึงที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเครื่องหมายขึ้นมานะจ๊ะ ว่ามีเพชรซักเม็ดนึงอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงฐานที่ ๗ เราจะได้มีที่หมาย แล้วก็ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ของเครื่องหมายนั้นนะ ใจน่ะหยุดอยู่ที่ตรงนั้น ตรงกลางความใสบริสุทธิ์ของเครื่องหมาย หยุดนิ่งอย่างเดียว ไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น

 


                หยุดนิ่งเฉย ตรึกนึกถึงความใส คือนึกถึงความใสไปเรื่อย ๆ ความใสที่อยู่ตรงฐานที่ ๗ น่ะ จำง่าย ๆ ก็อยู่ในกลางท้องน่ะ นึกให้ใสละเอียดทีเดียวนะ มีกลเม็ดในการนึก ให้นึกเบาๆ นึกเบา ๆ อย่างสบาย ๆ คล้ายเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่อย่าไปเค้นภาพ นึกเบาๆ คือนึกว่ามีเพชรอยู่ในกลางท้องเรา นึกเหมือนมี แล้วก็คล้ายกับไม่มีอย่างนั้นน่ะ คือนึกเหมือนทำเป็นความรู้สึกว่ามีเครื่องหมายเป็นเพชร แต่ทำคล้ายกับเราไม่ได้นึก นึกเหมือนไม่ได้นึกน่ะ นึกเบา ๆ สบาย แต่อย่าไปเค้นภาพ ถ้าเห็นภาพแล้วปวดหัว นึกนิ่งเฉย กับเครื่องหมายที่ใสสะอาดนั้นนะจ๊ะ แล้วก็อย่าไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าห้ามใจไม่ให้คิดเรื่องอื่นไม่ได้ ก็ให้ภาวนา สัมมาอะระหัง กำกับไปด้วยนะจ๊ะ โดยให้เสียงภาวนาสัมมาอะระหัง ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของเครื่องหมายที่ใสสะอาด เหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมวนะจ๊ะ 

 


                เราภาวนาเรื่อยไปเลยน่ะ ให้เสียงดังมาจากตรงนั้นนะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ดังจากกลางท้องนะจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ นึกถึงดวงใสควบคู่กันไปด้วย อย่าให้หลุดนะ สัมมาอะระหัง ๆ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่กลางดวงใสอย่างสบาย ๆ อย่างสบายนะ ไม่ใช่อย่างลำบาก ลำบากเราก็รู้ว่ามันลำบาก คือมันตึง นั่นแสดงว่าเรากำลังไปเค้นภาพ แต่ถ้าสบายเราจะไม่มีความรู้สึกมึนหัว ปวดหัวเลย แล้วเราจะมีความสุขสนุกกับการนึกคิดถึงเครื่องหมายที่ใสนั้น เพราะว่าคำภาวนาจะมีความสุขและสนุกทีเดียว ท่านที่มาใหม่ทำไปนะจ๊ะ 

 


                สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ดังจากกลางท้อง กลางเครื่องหมาย เบาที่สุด ให้เบาเหมือนขนนกลอยปลิวไปในอากาศ แล้วตกอยู่บนผิวน้ำโดยไม่จมเลยน่ะ สัมมาอะระหัง ๆ สบาย ๆ น่ะ นั่งยิ้ม ๆ ให้ใจเบิกบาน ให้ใจแช่มชื่น เดี๋ยวเราจะเข้าถึงสิ่งที่วิเศษที่สุด ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราปิดประตูอบายภูมิได้ ไปสวรรค์อย่างเดียว นรกไม่ไป สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ท่องอย่างนี้นะ ภาวนาไปเรื่อย ๆ เลยนะจ๊ะ กี่ครั้งก็แล้วแต่ใจเราปรารถนา ถ้าหากสิบครั้ง แล้วใจนิ่งอยากอยู่เฉย ๆ เราก็ภาวนาสิบครั้ง ถ้าร้อยครั้งแล้วอยากนิ่ง เราก็ไม่ต้องภาวนาต่อไปอีก ถ้าพันครั้งนิ่ง แล้วไม่อยากภาวนาต่อ เราก็หยุดภาวนา

 


                หมื่นครั้ง แสนครั้ง เช่นเดียวกันนะจ๊ะ ทำอย่างนี้ ให้ได้นะลูกนะ ทุก ๆ คน เลย เอ้าต่างคนต่างทำกันไปให้ใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเดิมอย่างนั้นนะ เวลาประกอบทาน ศีล ภาวนาใดนะ อย่าลืมเอาใจตั้งเอาไว้ หยุดเอาไว้ในกลางกายทุกครั้งไปเลย แล้วเราจะได้บุญใหญ่อย่างที่เราคาดไม่ถึงทีเดียว คราวนี้เราก็เอาใจหยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง นิ่งลงไปตรงกลางนะ นิ่งเฉย ใครเข้ายังไม่ถึงดวงธรรมภายในก็นิ่งไว้อย่างที่ได้แนะนำเบื้องต้น ที่เข้าถึงดวงธรรมภายใน ก็เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงธรรมภายใน ที่เข้าถึงกายภายใน

 


                จะเป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหมหรือกายอรูปพรหมก็ตาม ก็เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายภายในใครเข้าถึงกายธรรม ก็เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายธรรม แล้วก็หยุดในหยุด ๆ หยุดนิ่งเฉยหยุดให้ดีนะจ๊ะ หยุดให้นิ่ง หยุดถ้าถูกส่วนเดี๋ยวขยาย อย่างที่ได้กล่าวแล้วนั่นแหละ ขยายออกไปหมดเลย แล้วเรากับสิ่งนั้นจะเป็นอันเดียวกัน เมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิท แต่ถ้าหยุดนิ่ง ไม่สนิท มันก็เหมือนกับมองห่าง ๆ แต่ถ้าไม่หยุดก็ไม่เห็นเลยน่ะ ถ้าหยุดบ้างก็เห็นลาง ๆ หยุดได้สนิทก็เห็นชัดเจน หยุดนิ่งสนิทสมบูรณ์ มันก็ขยาย และก็เป็นอันเดียวกับสิ่งนั้น เช่นถ้าเป็นกายธรรมนะจ๊ะ 

 


                พอเราหยุดนิ่งถูกส่วนองค์พระขยายกว้าง แล้วเราเป็นพระธรรมกายไปเลย มีความสุขพรั่งพรู เป็นท่านไปเลยน่ะ ใสแจ่ม แจ่มสว่างจ้า พระพุทธเจ้าที่ท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว หมดกิเลสไปแล้ว กิเลสไม่สามารถดึงยื้อยุดให้อยู่ในภพ ๓ ได้ ก็ล่อนหมด อายตนนิพพานท่านก็ดึงดูดเข้าไปสู่อายตนนิพพาน ใสสว่างจ้า ใสแจ่มเต็มไปหมดเลย มีพระธรรมกายของพระอรหันต์ พระธรรมกายของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระธรรมกายของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เต็ม เป็นระเบียบแบบแผน สว่างไสวไม่มีอะไรกำบังเลย สว่างจ้า เต็มไปหมดเลย ที่เทียบว่ามากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรนะ อุปมานั้นเหมือนเศษเสี้ยวธุลี มันนิดเดียว

 


                เพราะท่านเข้านิพพานมามากมายก่ายกองทีเดียว นับกันไม่ถ้วนเลย เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว สว่าง โตใหญ่หนักยิ่งขึ้นไป อย่างน้อย ๒๐ วา สูง ๒๐ วา สว่างไสว จ้าเต็มไปหมดเลย เต็ม สงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติสงบนิ่ง เต็มอยู่ในอายตนนิพพาน ท่านก็หยุดในหยุดของท่านเข้าไปเรื่อยในกลางของท่านน่ะ หยุดในหยุด ๆ หยุดเข้าไปเรื่อยในกลางของกลางท่านน่ะ เสวยบรมสุข เอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียวน่ะ ไปเรื่อย รัศมีก็สว่างจ้า สุกใสพอเราถวายทานขาดใจ ปุญญาภิสันธา กระแสท่อธารแห่งบุญก็บังเกิดขึ้น จากกายของแต่ละพระองค์มาจรดศูนย์กลางกายของเรา จรดเลย เป็นดวงบุญสว่าง ติดทุกกาย ใสทีเดียว

 


                แต่ไม่เท่ากัน บางคนได้มาก บางคนได้น้อย ขึ้นอยู่กับใครหยุดมากหยุดน้อย ตั้งใจมากตั้งใจน้อย บริสุทธิ์มาก บริสุทธิ์น้อยน่ะ มาจรดที่ศูนย์กลางกาย เป็นดวงบุญ และดวงบุญนี้ก็เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตทั้งมวล คือมีทั้งความสุขมีทั้งความสำเร็จ มีทั้ง รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภยศสรรเสริญสุข มรรคผลนิพพาน วิชชาธรรมกายความปรารถนาต่าง ๆ เต็มเลย อยู่ในกลางดวงบุญนั้นน่ะ แล้วถ้าหากเราอธิษฐาน เมื่อกระแสธารแห่งบุญเกิดขึ้นเวลาเราอธิษฐานนะจ๊ะ

 


                อธิษฐานอย่างไรภาพมันเกิดอยู่ในกลางดวงบุญนั้นไปเลย ติดเลยอยู่ในกลาง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามปกติ ที่มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มรรคผลนิพพาน ได้อยู่แล้ว อันนี้ได้อยู่แล้ว แต่พิเศษคือสิ่งที่เราตั้งใจน่ะ พอนึกอย่างไรภาพนั้นก็เป็นอัตโนมัตินี่แปลกทีเดียวนะ อยู่ในกลางดวงบุญนะ พรึบไปเลยความปรารถนาก็เกิด อยากเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ทรัพย์นั้นเด่นขึ้นมาเลย มีสายสมบัติเชื่อมเกิดขึ้น อยากให้ทุกข์โศกโรคภัยหายไปนะ บุญนั้นก็มาจรดขจัดอุปสรรคที่อยู่ทุกกาย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วเรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อเนี่ย

 


                แต่ถึงเวลามันดลบันดาลให้เกิดขึ้น คำว่าดลบันดาลหมายถึงมันไม่เห็น แต่มันมีกระแสพัดผันให้เป็นอย่างนั้น เมื่อต้องการให้ทุกข์โศกโรคภัยหายน่ะ พอเรานึกอยู่ในกลางดวงบุญ ก็เป็นอัตโนมัติในกลางดวงบุญ เป็นภาพขึ้นมาให้กายใส ใจใส บุญนั้นก็ไปเชื่อมหัวต่อทุกกาย เชื่อมติด และก็เก็บสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์โศกโรคภัย จะเห็นธรรมดำติดอยู่ในนั้น เค้าก็แวบเดียว สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปเลย แว๊บ ๆ ๆ ๆ เข้าไปเรื่อย นี่สนุกอย่างนี้ วิชชาธรรมกาย ทำให้เป็นสิน่า จะเจอของจริง ของจริงไม่ได้เอาของเก๊มาพูด มีจริง หยุดจริงเห็นจริง ทำได้จริง

 


              ถ้าใครหยุดก็เห็น เห็นก็รู้รู้ก็ทำได้ นี่สว่างไสวเต็มไปหมดถ้ามนุษย์ทุกคนในโลก ได้ทำอย่างนี้ ได้หยุดกันอย่างนี้ ได้เห็นพระธรรมกาย รู้เรื่องราวต่าง ๆ เดี๋ยวจะสนุกกันใหญ่ โลกจะเกิดสันติสุข เพราะจะคิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน สิ่งที่หลั่งออกมาจากใจจะมีแต่ความปรารถนาดี และความปรารถนาดีนั้นจะมีอานุภาพให้ความสำเร็จเกิดขึ้น เราจะคิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน และก็จะทำเหมือน ๆ กันทีเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่มีจริง และดีจริง เหลือแต่คนจริง ทำจริงๆ ก็จะเจอของจริง และก็ได้ของจริง เมื่อได้ของจริงแล้วสิ่งที่ปรารถนาก็เป็นจริง จริงทั้งหมดนั่นแหละ

 


                เมื่อบุญบังเกิดขึ้นในกลางกายเราแล้ว เราก็น้อมอธิษฐานจิตของเรา แบ่งบุญไปยังหมู่ญาติของเราก่อน ที่ท่านมีอุปการคุณแก่เรามาก่อน แล้วท่านละโลกไปแล้ว บางท่านก็เป็นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ ลูกหลานเหลนก็มี เกิดที่หลังแต่ตายก่อนก็มีนะ ก็คือหมู่ญาติของเราเนี่ยที่ละโลกไปแล้ว ตั้งใจให้ดีนะลูกนะ ตรงนี้สำคัญ เพราะว่าชีวิตหลังจากตายแล้วนี่มันยาวนาน สิ่งที่จะใช้ในนั้น ในภพนั้นคือบุญอย่างเดียว ที่จะไปแปรไปเป็นอะไรทั้งหมดที่เหมาะสมกับภพภูมินั้น ก็นึกบุญกุศลนี่แหละ แผ่ คือนึกในใจว่าขอให้บรรพบุรุษของเรา ถ้าจำชื่อได้ก็นึกชื่อไป พอเรานึกชื่อไปนั่นน่ะ พระธรรมกายพระนิพพานท่านเข้าใจ ท่านรู้จักหมดทุกคนในภพ ๓

 


                เพราะท่านมองมาในภพ ๓ เหมือนเอามะขามป้อมใส่ในฝ่ามือ แล้วก็มอง ชักเจนกว่านั้นอีกล้านเท่าทีเดียว เป็นล้าน ๆ เท่า รู้จักหมดทุกคน บรรพบุรุษของเราอยู่ตรงไหน ท่านรู้จักหมดเลย ขอเพียงเราได้สั่งสมบุญ เมื่อสั่งสมบุญแล้วก็ให้นึกถึงบุญ เมื่อนึกถึงบุญแล้วก็อุทิศบุญ โดยนึกถึงชื่อ หรือผู้ที่เรามีความปรารถนา โดยยังจำชื่อไม่ได้ ก็กล่าวรวม ๆ กันไปอย่างนั้นแหละ ท่านก็พรืดถึงเลย ถึงเลย จะมีผู้ที่เค้าดูแลเรื่องบุญบาปศักดิ์สิทธิ์นี่เค้าดูแลอยู่ เค้าก็จะเอาบุญไปให้ตามความปรารถนา ตามส่วนที่เราได้ทำ และตามส่วนที่แบ่งปันกันไป เป็นปัตตานุโมทนามัยนั่นน่ะ แบ่งบุญกันไปนั่นน่ะ เทวดา พรหม อรูปพรหม ก็อนุโมทนาสาธุการ สว่างไสว รัศมีสีสรรบังเกิดขึ้นเต็มกันไปหมดเลย

 


                เราก็รวมใจอธิษฐานให้ การสร้างบารมีของเราให้ได้ไปตลอดรอดฝั่ง มีมหาสมบัติบังเกิดขึ้นไว้ใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น อย่าให้อะไรมากีดขวางสายสมบัตินั้นได้เลย ให้ทะลักไหลมาเทมา ได้สร้างบารมีได้ดังใจ สร้างมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี สร้างสภาธรรมกาย สร้างธรรมกายเจดีย์ และทุกสิ่งที่เกี่ยวโยงกับวิชชาธรรมกาย ที่จะขยายไปทั่วโลกนั้น ให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ ทุกข์โศกโรคภัยอะไรต่าง ๆ ก็ให้ละลายหายสูญไปให้หมด ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ให้ทำมาค้าขึ้น ประสบความสำเร็จในชีวิตในธุรกิจการงาน และสิ่งที่พึงปรารถนา นั่งธรรมะปฏิบัติธรรมก็ให้เข้าถึงพระธรรมกายได้อย่างสะดวกสบาย อย่างง่ายอย่างดาย 

 


                เราอธิษฐานจะให้รู้เห็นอย่างที่หลวงพ่อท่านพูดเนี่ย ขอให้ได้รู้ได้เห็นถูกต้องร่องรอย ตรงไปตามความเป็นจริงทุกประการให้กาย วาจาใจ ข้าพเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่อยากเด่นอยากดัง อยากจะบริสุทธิ์ อยากได้บุญ อยากได้กุศลอย่างเดียว นึกอธิษฐานอย่างนี้ ให้ถ้อยคำของข้าพเจ้าจะไปแนะนำชักชวนใครใ นฐานะเป็นผู้นำบุญก็ขอให้ประสบความสำเร็จ ให้เป็นถ้อยคำที่มีอานุภาพ ใครได้ยินได้ฟังก็ให้มีความปีติเลื่อมใส ขนพองสยองเกล้าให้ดีอกดีใจ ร่วมบุญสร้างบุญกุศลตามที่เราได้แนะนำ ทุก ๆ คนเลยนะอธิษฐานอย่างนี้ ลูกนะอธิษฐานให้ดี ให้ใจมั่นและก็นึกถึงบุญนี้ ให้ประเทศชาติของเราเป็นปิ่นนานาประเทศ ให้เป็นไทยมหารัฐ

 


                โครงการเศรษฐกิจตกต่ำก็ให้ละลายหายสูญ ด้วยอานุภาพแห่งบุญของเรา ไม่ช้าประเทศไทยของเราจะเป็นไทยมหารัฐ เศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นภาพลวงตาก็จะละลายหายสูญไปหมด ต่อไปเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ทีเดียว จะพลิกจากดำเป็นขาว จากมืดไปสว่าง จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ทุกคนจะอยู่เย็นเป็นสุขกันโดยทั่วถึง ถ้าหากทุกคนมั่นอยู่ในบุญอยู่ในกุศล ไม่ตื่นตระหนกตกใจกับสิ่งที่เป็นภาพลวงตา ให้ทำอย่างปกติ ทำใจให้สงบ เคยทำกิจกรรมอย่างไร เราก็ทำกันไปอย่างนั้น ใช้สติและปัญญา อย่าใช้อารมณ์ที่มันหวั่นไหว ไม่ช้าบ้านเมืองก็จะเข้าสู่ในสถานะปกติ และพร้อมที่จะเป็นไทยมหารัฐต่อไปในอนาคต ให้วิชชาธรรมกายของเราเนี่ย เป็นที่พึ่งต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ ให้โลกเข้าถึงสันติสุขอันไพบูลย์ สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ให้พ้นจากบ่าวจากทาสของพญามาร ให้อธิษฐานจิตอย่างนี้ทุก ๆ คนนะจ๊ะ 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001089334487915 Mins