ความเป็นมาของการทำบุญอุทิศส่วนกุศล

วันที่ 05 ธค. พ.ศ.2567

ความเป็นมาของการทำบุญอุทิศส่วนกุศล
โดยหลวงพ่อธัมมชโย

 

                 จุดประสงค์ของชีวิต คือ เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง มิใช่เพื่อมาทำอย่างอื่น ใครทำความดีก็มีความสุขเป็นผลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่วนผู้ที่ทำบาปอกุศลไว้ ย่อมได้รับผลกรรม เสวยวิบากกรรมทุกข์ทรมาน บุญกุศลที่ทำไว้ไม่ได้หนีหายไปไหน จะติดตามตัวเราไปเหมือนเงาตามตัว บาปกรรมที่ทำไว้เปรียบเสมือนล้อเกวียนที่หมุนตามบดขยี้รอยเท้าโค ไม่มีผู้ใดหลีกพ้นบาปกรรมที่ทำไว้ได้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ละชั่วและทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ อีกทั้งทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ  ให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ จะได้พบที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือ พระรัตนตรัยนั่นเอง

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ติโรกุฑฑสูตร ความว่า
"อทาสิ เม อกาสิ เม
ญาติมิตตา สุขา จ เม
เปตานํ ทกฺขิณํ ทชฺชา
ปุพฺเพ กตมนุสฺสรํ

 

                     บุคคลเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วกระทำแก่ตนในกาลก่อนว่า ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำกิจแก่เรา เป็นญาติ เป็นมิตร และเป็นสหายของเรา จึงให้ทักษิณาแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วทั้งหลาย”

 

                    ทักษิณาทาน หมายถึง การทำบุญด้วยวัตถุสิ่งของแด่ภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็น
สิ่งที่ผู้วายชนม์ต้องการมากที่สุด เพราะบุญนั้นจะตามส่งผลให้หมู่ญาติผู้ล่วงลับ แม้ตกไปในอบาย หากมีบุญมาก ก็สามารถส่งผลให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในอบายได้ หรือหากบังเกิดในสุคติภูมิอยู่แล้ว ย่อมมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ญาติเหล่านั้นย่อมได้เป็นเจ้าของสมบัติใหญ่ที่เราอุทิศไปให้

 

                    การทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลผู้ละโลกไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ญาติของเราเคยประมาทพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศลใดไว้บ้าง ดวงบุญในตัวที่จะส่งผลให้พวกญาติได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีมากน้อยเพียงไรเช่นกัน ฉะนั้น เพื่อความมั่นใจในการเดินทางไปสู่สัมปรายภพของหมู่ญาติ หรือเมื่อนึกถึงคุณความดีของท่านเหล่านั้น เราจึงควรหาโอกาสทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่หมู่ญาติของเรา

5-12-67-1b.png

                     มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ มีพระโอรส ๓ พระองค์ซึ่งเป็นพี่น้องกัน มีความศรัทธาเลื่อมใสอยากทำบุญใหญ่ด้วยการถวายสังฆทานตลอดทั้ง ๓ เดือน แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปุสสะ พร้อมด้วยพระอรหันตสาวก

 

                      พระโอรสทั้งสามทรงมอบหมายให้นายเสมียนเป็นผู้ดูแลการเบิกจ่ายเงินในการสร้างมหาทานบารมี แล้วทั้ง ๓ พระองค์ ก็พากันนุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีล ๘ พร้อมด้วยบุรุษ ๒,๕๐๐ คน เพื่อให้การถวายทานครั้งนี้บริสุทธิ์ทั้งทายกและปฏิคาหก จากนั้นร่วมกันอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ด้วยความเคารพ

 

                      ในครั้งนั้น นายเสมียนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสทำหน้าที่เป็นผู้จัดแจงมหาทานด้วยความเคารพ เขาชักชวนหมู่ญาติในชนบท พร้อมด้วยชาวบ้าน ๑๑,๐๐๐ คน มาช่วยกันทำอาหาร แต่เนื่องจากหมู่ญาติและชาวบ้านบางกลุ่มไม่ได้มาด้วยศรัทธา ดังนั้นบางคนทำอาหารไปก็แอบกินของพระไปด้วย หรือเก็บตุนอาหารที่ดีกลับไปกินที่บ้านบ้าง ส่วนผู้ที่มีศรัทธาต่างก็ตั้งใจถวายทานด้วยความเคารพเลื่อมใส

 

                      เมื่อละโลก พระโอรสทั้งสาม นายเสมียนและหมู่ญาติผู้ถวายทานด้วยความเคารพ ได้ไปเกิดในสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอยู่เป็นเวลายาวนาน ส่วนผู้ที่ไม่เคารพในทาน ขโมยของที่จะถวายพระ ได้ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรก เสวยความทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนานเช่นกัน

 

                     ครั้นมาในภัทรกัปนี้ เริ่มตั้งแต่ในสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้า หมู่ญาติของนายเสมียนได้พ้นจากสัตว์นรก มาเกิดเป็นเปรตผู้หิวโหย เปรตญาติของนายเสมียนอยากพ้นจากอัตภาพนั้น จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระกกุสันธพุทธเจ้า ทูลถามว่า “เมื่อไรจึงจะพ้นจากอัตภาพเปรตนี้เสียที” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ท่านยังไม่พ้นในยุคนี้หรอก แต่ในอนาคตเมื่อแผ่นดินนี้หนาขึ้น ๑ โยชน์ จักมีพระโกนาคมนพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ให้พวกท่านไปถามพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด” พวกเปรตฟังแล้วก็ปีติดีใจ รอคอยด้วยความหวังระคนกับความทุกข์ทรมาน ตั้งหน้าตั้งตารอคอยไปอีก ๑ พุทธันดร

 

                   เมื่อแผ่นดินหนาขึ้น ๑ โยชน์ พระโกนาคมนพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกเปรตก็พากันเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต่างได้รับคำตอบว่า “ให้รอไปก่อน เมื่อใดแผ่นดินนี้หนาขึ้น ๑ โยชน์ ให้ไปถามพระกัสสปพุทธเจ้า” พวกเปรตต้องอดทนรอไปอีก ๑ พุทธันดร  ครั้นมาในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า พวกเปรตได้รับพยากรณ์ว่า “ให้รออีก ๑ พุทธันดร ญาติของท่านซึ่งเคยทำบุญร่วมกันมาในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ จะจุติจากสวรรค์มาเป็นพระราชาพระนามว่า  “พิมพิสาร” เมื่อพระราชาทำบุญแล้ว จะอุทิศส่วนกุศลแก่พวกท่าน พวกเปรตได้ยินพุทธพยากรณ์เช่นนั้นก็ดีใจ เสมือนจะได้พ้นจากความทุกข์ทรมานในวันรุ่งขึ้น

 

                    ครั้น ๑ พุทธันดรผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้นในโลก พระโอรสทั้งสามพร้อมด้วยบุรุษ ๒,๕๐๐ คน ได้จุติจากเทวโลกมาเกิดในสกุลพราหมณ์ในแคว้นมคธ และได้พากันออกบวชเป็นฤาษีได้เป็นชฏิล ๓ พี่น้อง ฝ่ายนายเสมียนได้มาเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ทรงมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๑๑,๐๐๐ คน ทรงมีกุศลศรัทธาแรงกล้า และได้ถวายวิหารเวฬุวัน แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

5-12-67-2b.png

                     พวกเปรตพากันมายืนล้อมด้วยหวังว่า พระราชาจะอุทิศส่วนบุญให้ แต่พระราชาก็ไม่ได้อุทิศส่วนบุญ เมื่อพวกเปรตไม่ได้รับบุญ รู้สึกสิ้นหวัง ตกกลางคืนจึงพากันส่งเสียงร้องคร่ำครวญ น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง พระราชาตกพระทัยในเสียงที่โหยหวน น่าขนพองสยองเกล้าเช่นนั้น รุ่งเช้าพระองค์รีบเสด็จไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อรู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว พระองค์ทรงถวายทานพร้อมกับอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตผู้เคยเป็นญาติทั้งหลายเหล่านั้น

 

                     ทันทีที่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศล สระโบกขรณีอันดารดาษด้วยดอกบัวได้บังเกิดขึ้นแก่พวกเปรต เปรตเหล่านั้นพากันอาบและดื่มน้ำในสระโบกขรณี เพื่อระงับความหิวกระหาย และกลับกลายเป็นผู้มีกายงดงามดั่งทองคำ นอกจากนั้นของขบเคี้ยว ของบริโภค และเสื้อผ้าอาภรณ์ที่พระองค์ทรงอุทิศให้ ก็กลายเป็นทิพยสมบัติ บังเกิดขึ้นมากมาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลให้พระราชาเห็นเปรตด้วยตาเนื้อ อีกทั้งเห็นทิพยวิมานและทิพยสมบัติมากมายของหมู่ญาติ ทำให้พระองค์ทรงปลื้มปีติมาก

5-12-67-3b.png

                      พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนว่า ในเปตวิสัยไม่มีกสิกรรม ไม่มีการทำมาค้าขาย การซื้อการขายด้วยเงินตราก็ไม่มี หมู่สัตว์ ผู้ทำกาละ (ตาย) ไปเกิดในเปตวิสัยแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่ทายกให้แล้วอุทิศให้จากมนุษยโลก เหมือนน้ำฝนตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่หมู่ญาติมิตรให้แล้วจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้น

 

                    ฉะนั้น เมื่อเราหวนระลึกถึงอุปการคุณของผู้มีพระคุณหรือ บรรพบุรุษผู้เคยทำความดีแก่เรา เราก็ควรทำทักษิณาทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน เพราะสิ่งที่หมู่ญาติผู้ล่วงลับต้องการมากที่สุด  ก็คือบุญเท่านั้น และเป็นที่พึ่งทั้งในโลกนี้โลกหน้า ส่วนการร้องไห้เศร้าโศก พิไรรำพัน อาลัยอาวรณ์ ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดแก่ผู้ล่วงลับ ญาติเหล่านั้นจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เท่านั้น ด้วยการทำทานก็ดี การรักษาศีลหรือเจริญภาวนาก็ดี แล้วแผ่ส่วนกุศลไปให้ จึงจะเป็นเสบียงสำคัญในการเดินทางในวัฏสงสารได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เมื่อรู้จักหลักวิชชาเช่นนี้แล้ว ให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.049448180198669 Mins