การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์

วันที่ 12 ธค. พ.ศ.2567

12-12-67-b.png

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์
(บุพเปตพลี) ในวันสำคัญต่าง ๆ
(วันพระ, วันครบรอบวันเสียชีวิต ๗ วัน, ๕๐ วัน, ๑๐๐ วัน)


                  การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ (บุพเปตพลี) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวพุทธกระทำสืบทอดกันมา โดยยึดตามคำสอนของท่านผู้รู้ที่สมบูรณ์คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ละโลกไปแล้ว ดังมีสาระสำคัญต่อไปนี้


๑. พึงทำบุญอุทิศให้

 

                  การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทีเดียว1 เป็นสิ่งที่คนทุกชาติทุกศาสนาควรจะศึกษาไว้ให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในภูมิอื่น (เว้นแต่มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานซึ่งสามารถหากินได้เอง) ย่อมไม่มีการทำมาหากิน ผู้ล่วงลับไปแล้วจะมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร  ก็ขึ้นอยู่กับกรรมดีและกรรมชั่วที่กระทำไว้ตอนเป็นมนุษย์ และอาศัยการทำบุญอุทิศให้ของผู้ที่

ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์เท่านั้น2  อนึ่ง การทำบุญอุทิศแก่ผู้ล่วงลับนั้น ต้องทำกับผู้รับที่มีศีลมีธรรมเท่านั้น เช่น พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย บุญนั้นจึงจะถึงแก่ผู้ล่วงลับอย่างแน่นอนตามภูมิตามกำเนิดที่สามารถรับผลบุญที่อุทิศให้3 แต่ถ้าทำกับผู้รับที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม บุญก็จะไม่ถึงแก่ผู้ตาย4

 

                  ส่วนกิจอื่น ๆ เช่น การร้องไห้คร่ำครวญ การแสดงอาการเศร้าโศก การสวดอ้อนวอนฝากกับเทพเจ้า การเล่นมหรสพ ฯลฯ ซึ่งบางท้องถิ่นยังนิยมทำกันจนเป็นประเพณี เช่น มีการจ้างนักร้อง  ซึ่งมีอาชีพร้องไห้หน้าศพมาร้องเพลงเศร้า เช่น มอญครวญ  มอญร้องไห้ ฯลฯ ถือเป็นการไม่สมควรเลย

 

                    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าไม่สมควรทำเลย เพราะไม่มีประโยชน์อะไรทั้งแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ตาย มีแต่จะสิ้นเปลือง และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี นอกจากไม่ได้บุญกุศลอะไรแล้ว ซ้ำร้ายยังทำให้จิตใจเศร้าหมองด้วยบาปอกุศลทั้งฝ่ายคนเป็นและคนตายอีกด้วย5 เพราะทำไปด้วยความเห็นผิด เข้าใจผิด

 

 ๒. วิธีอุทิศบุญให้ถึงแก่ผู้ละโลก

 

                    นอกจากนี้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถายังแสดงว่า ทักษิณา คือ ผลบุญที่ญาติสาโลหิตอุทิศให้จะสำเร็จผลเป็นสมบัติ มีอาหาร ที่พัก
เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แก่ผู้ล่วงลับในขณะนั้นได้ ก็ด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ6 คือ

๒.๑. ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล เช่น พระภิกษุ สามเณรผู้มีศีลบริสุทธิ์
๒.๒. ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย
๒.๓. ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย

 

                   ในองค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น องค์ที่ ๑ และ ๒ ขาดไม่ได้ ส่วนองค์ที่ ๓ ขาดได้ เพราะแม้เปรตจะไม่อนุโมทนาบุญด้วยตนเอง  บุญที่ญาติอุทิศให้ก็ยังคงไปถึงได้บ้าง หากมีผู้สงสัยว่า เปรตจำพวกไหนบ้างที่สามารถได้รับผลบุญที่หมู่ญาติอุทิศให้ พระอรรถกถาจารย์ตอบว่า

 

                    “ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแล เป็นฐานะดังนี้ ทักษิณาที่สำเร็จผล ในฐานะนั้น อันแตกต่างกันโดยประเภทแห่งเปรต ได้แก่ ขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวีเปรต และนิชฌามตัณหิกเปรต  เป็นต้น8 สรุปคือ เปรตทุกจำพวกสามารถได้รับผลบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ได้

 

๓. วันและสถานที่ที่ควรทำบุญให้ผู้ละโลกเป็นพิเศษ

 

                   วันหรือโอกาสที่ควรทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นพิเศษที่คนสมัยโบราณผู้มีปัญญานิยมทำกันนั้น เป็นไปตามภูมิ ภูมิธรรมที่ได้ศึกษาค้นคว้ากันมาด้วยความพากเพียรทางจิตอันประกอบไปด้วยเหตุผลที่ตนเห็นมาเอง มิใช่เป็นเพียงความเชื่อ  แต่ปัจจุบันเหตุผลดังกล่าวหายสาบสูญไป จึงเหลือเพียงความเชื่อตามปัญญาของคนสมัยโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีนิยมที่ดีงามที่น่ากระทำสืบ ๆ กันไป เพื่อเป็นแบบแผนการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่อนุชนรุ่นหลัง

 

                   วันสำคัญดังกล่าวได้แก่ วันพระ วันครบรอบวันตาย ๗ วัน  ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ซึ่งมีเหตุผลดังต่อไปนี้

๓.๑. วันพระ เฉพาะวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ

                   เป็นวันที่ยมโลกหยุดทัณฑ์ทรมานให้สัตว์นรก ๑ วันโลกมนุษย์ สัตว์นรกมีทุกขเวทนาเบาบางลง จึงมีโอกาสระลึกถึงบุญกุศลที่ตนทำและอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ได้เต็มที่ ส่วนญาติที่เกิดเป็นเทวดาก็จะนิยมมาฟังธรรมในวันพระ และตรวจดูการทำบุญกุศลและอนุโมทนาบุญกับผู้ที่ทำความดีในโลกนี้9

 

                   ดังนั้น ญาติหรือมิตรสหายที่อยู่ในโลกนี้ จึงควรสละเวลามาทำบุญในวันพระให้แก่ผู้มีอุปการคุณของตน เพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงามแก่อนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะบุตรธิดาของตน เพราะเมื่อถึงคราวที่ตนละโลกไปแล้ว บุตรธิดาก็จะได้ทำบุญอุทิศให้บ้าง  หากเราไม่ทำเป็นแบบอย่างไว้ เมื่อเราล่วงลับไปแล้วก็จะไม่มีใครอุทิศส่วนบุญให้และไม่มีบุญให้ได้รับความสุขในภพหน้าด้วย

 

๓.๒. วันครบรอบวันตาย ๗ วัน

                   ในกรณีที่ผู้ตายใจไม่ใสไม่หมอง ขณะตายบุญไม่ทำ กรรม (บาป) ไม่สร้าง ผู้ตายจะวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ ๗ วัน ใน ๗ วันนี้บุญบาปที่ทำไว้จะยังไม่ส่งผลในทันที พอครบ ๗ วันแล้ว เจ้าหน้าที่จะมารับตัวไปยมโลกเพื่อรอพิพากษา

 

                    หากช่วงนี้ผู้ตายระลึกถึงบุญกุศลที่ตนเคยทำได้ หรือหากญาติมิตรทำบุญอุทิศให้อย่างถูกวิธี และผู้ตายอนุโมทนาบุญ ผลบุญนั้นก็จะพาไปเกิดในที่ดี ๆ โดยไม่ต้องไปยมโลก อุสสทนรก หรือมหานรก

 

๓.๓. วันครบรอบวันตาย ๕๐ วัน

                   ในกรณีที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ยมโลกพาไปยมโลกแล้ว ช่วงระหว่างเวลา ๕๐ วัน  หลังตาย คือช่วงเวลาที่ผู้ตายถูกลากตัวจากโลกมนุษย์ไปยังยมโลก  ไปรอคอยลำดับคิวการพิพากษา  เริ่มตั้งแต่รอขานชื่อเพื่อเข้าพบพญายมราช (พญายมราชเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นผู้พิพากษาในยมโลก มีหน้าที่พิจารณาบุญบาปและลงทัณฑ์ทรมานสัตว์นรก สมัยเป็นมนุษย์มีกรรมเกี่ยวพันกับด้านกฎหมาย ชอบตัดสินคดีความด้วยความซื่อสัตย์ และทำบุญปนบาป บุญไม่มาก  บาปไม่หนัก จึงต้องสลับช่วงเวลามาทำหน้าที่ในยมโลกบ้าง เสวยสุขในวิมานชั้นจาตุมหาราชิกาบ้าง)

 

๓.๔. วันครบรอบวันตาย ๑๐๐ วัน

                     ช่วงเวลาระหว่าง ๕๑  ถึง ๑๐๐ วัน คือช่วงกำลังถูกพิพากษา10  พญายมราชจะซักถามความประพฤติสมัยยังเป็นมนุษย์ เมื่อได้รับคำพิพากษาแล้วจะส่งไปเกิดเป็นอะไรต่ออะไร เช่น ไปเกิดในยมโลก ในอุสสทนรก  ในมหานรก ไปเป็นมนุษย์ เทวดา เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน  ตามกรรมที่ปรากฏเป็นภาพหน้าบัลลังก์ของพญายมราช ช่วงนี้ถ้าญาติอุทิศบุญให้ก็ยังรับบุญได้ เพราะยังไม่ได้รับคำพิพากษา

 

                      นี้เป็นเพียงหลักการส่วนใหญ่ มิใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นญาติมิตรผู้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์จึงควรศึกษาวิธีอุทิศส่วนกุศลให้ถูกวิธี และรีบทำบุญทุกบุญอย่างเต็มกำลังและอุทิศส่วนกุศลให้ในวันดังกล่าว

 

๔.ข้อที่ควรคำนึงของผู้ใกล้จะละโลก

             

                      จากข้อความข้างต้นนี้ มีสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่ว่า ถ้าสมัยที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาเลย หรือศึกษาแต่ผิวเผินเพราะความไม่ใส่ใจ ไม่ทุ่มเทในการประกอบบุญกุศลในโลกนี้ เมื่อละโลกไปแล้ว ถึงแม้มีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ว่าตนอนุโมทนาบุญไม่เป็น ย่อมไม่ได้รับส่วนบุญเท่าที่ควร นี้ถือเป็นข้อผิดพลาดของตน (ผู้ตาย) ข้อที่ ๑ กล่าวคือ ถึงญาติทำบุญให้ก็ได้บุญไม่มาก แต่ถ้าญาติไม่ทำบุญให้ก็อด

 

                       หรือลูกหลานทะเลาะกันเรื่องแบ่งสมบัติ ซึ่งเราได้เห็น  ได้ยินกันอยู่ทั่วไป พ่อแม่จวนตาย ลูกหลานแย่งสมบัติกัน บางทีฆ่ากันตายก่อนพ่อแม่ก็มี ตนเองก็ต้องมาทุกข์ใจก่อนตาย เพราะสมบัติของตนเป็นเหตุ เมื่อตายไปไม่มีใครอุทิศส่วนกุศลให้เลย  เพราะตนมิได้คบหากับบัณฑิตทางธรรม และไม่เคยทำแบบอย่างเช่นนี้ไว้ให้ลูกหลานดูเลย นี้เป็นข้อผิดพลาดของผู้ตายข้อที่ ๒

 

                      ข้อสุดท้าย บุตรธิดาทำบุญอุทิศให้ แต่ทำไม่ถูกวิธี ไม่ถูกเนื้อนาบุญ11 เช่น ทำบุญกับผู้ทุศีล มีความเห็นผิด ไม่เชื่อกรรม ผลของกรรม นรก-สวรรค์ เป็นต้น

 

                     ทั้งนี้ก็เพราะสมัยที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาเลย ไม่เข้าหาพระภิกษุสามเณรผู้รู้ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งสามารถชี้แจงโลกนี้โลกหน้าได้กระจ่างชัด แต่กลับไปคบหานักบวชอื่นหรือพระภิกษุและพุทธศาสนิกชนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า จึงไม่มีความรู้เรื่องวิธีอุทิศส่วนกุศล บุตรธิดา  จึงได้แบบอย่างที่ไม่ถูกต้องตามตนเอง เมื่อถึงคราวบุตรธิดาต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย จึงทำไม่ถูกวิธีเช่นกัน นี้ก็เป็นข้อผิดพลาด ข้อที่ ๓ ของผู้ตาย

 

 

เชิงอรรถอ้างอิง
1องฺ.ปญฺจก.อาทิยสูตร ๓๖/๙๔/ขุ.สุต.อ.มงคลสูตร ๔๗๑๖๖
2ขุ.ขุ. ติโรกุฑฑสูตร ๓๙/๒๗๖
3องฺ.ทสก. ชาณุสโสณีสูตร ๑๑ (๓๘/๔๓๕-๔๔๐)
4ขุ.เปตวัตถุ อ.จูฬเสฏฐีเปรต ๔๙/๒๒๓
5ขุ.ขุ. ติโรกุฑฑสูตร ๓๙/๒๗๖
6ขุ.ขุ.อ. ติโรกุฑฑสูตร ๓๙/๒๙๑
7ขุ.เปต.อ. นันทกเปตวัตถุที่ ๓ (๔๙/๕๑๖)
8ขุ.ขุ.อ. ติโรกุฑฑสูตร ๓๙/๒๙๙
9อํ.ติก.อ.ปฐมราชสูตร ๓๔/๑๖๒-๑๖๓
10ม.อุ. เทวทูตสูตร ๒๓/๑๙๐
11ขุ.เป. จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ ๔๙/๒๒๒

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026836101214091 Mins