พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

วันที่ 04 พย. พ.ศ.2565

ID2549_651104.jpg

ข้อคิดจากชาดก

พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

 

สถานที่ตรัสชาดก พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี 

 

สาเหตุที่ตรัสชาดก  พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

        ในสมัยพุทธกาล ณ เชตวันมหาวิหาร มีพระภิกษุรูปหนึ่งสามารถทำผ้าเก่าให้ดูเหมือนผ้าใหม่ได้อย่างสวยงามประณีต ความสามารถในการตัด-เย็บ-และย้อมจีวรของภิกษุรูปนี้เป็นที่ยอมรับกันในหมู่สงฆ์ จนได้รับฉายานามว่า พระจีวรวัฑฒกะ ท่านได้ใช้ความสามารถนี้หลอกเอาผ้าเนื้อดีจากภิกษุบวชใหม่ ที่มาขอให้ท่านช่วยตัดจีวรให้ พฤติกรรมของพระจีวรวัฑฒกะรูปนี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วเชตวันมหาวิหาร

        ณ วัดอีกแห่งหนึ่งในชนบท มีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในการตัดเย็บจีวรอีกรูปหนึ่ง มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับพระจีวรวัฑฒกะแห่งเชตวันฯ เมื่อพระจีวรวัฑฒกะแห่งชนบททราบดังนั้น คิดอยากลองฝีมือ จึงนุ่งห่มจีวรเก่าที่แสร้งทำให้ดูให้สวยงามมีราคาแพง แล้วออกเดินทางไปเชตวันมหาวิหารทันที

        เมื่อพระจีวรวัฑฒกะแห่งเชตวันฯ เห็นจีวรนั้นก็เกิดความอยากได้ ใช้อุบายขอแลกจีวรนั้นกับผ้าเก่าของตน แต่บังเอิญจีวรเก่าหมด จึงต้องนำเอาผ้าใหม่เนื้อดีมาแลก เมื่อได้มาก็นำมาห่มด้วยความชื่นชม แต่เมื่อนำไปซักก็รู้ว่าถูกหลอก

        พระภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวถึงเรื่องนี้ในธรรมสภา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสสติญาณแล้วพระพุทธองค์ทรงนำ พกชาดก มาตรัสเล่า ดังนี้

 

เนื้อหาชาดก  พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

        ในอดีตกาล ณ หนองน้ำกลางป่าแห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของปลาเป็นจำนวนมาก คราวหนึ่งในฤดูแล้ง น้ำในหนองได้งวดลงมากกว่าทุกปี มีนกยางตัวหนึ่งบินผ่านหนองน้ำนั้น เห็นปลาก็เกิดความอยากจะกินปลาเหล่านั้น จึงร่อนลงไปริมหนอง แล้วแกล้งทำอุบายยืนจับเจ่าตีหน้าเศร้าอยู่

        ปลาทั้งหลายสงสัยในอาการของนกยางจึงถาม นกยางตอบเรียบๆ ว่าตนสงสารพวกปลาที่กำลังจะตายเพราะอีกไม่นานน้ำก็แห้งขอด เมื่อนกยางเห็นพวกปลาตกใจ จึงแกล้งทำทีมีเมตตาบอกพวกปลาว่าไม่ไกลจากหนองน้ำนี้มีสระบัวใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง แม้น้ำจะลดลงแต่ก็ไม่มีวันแห้งขอดเหมือนที่นี่ และตนก็อยากจะช่วยชีวิตพวกปลา

        ปลาทั้งหลายต่างดีใจที่จะรอดตาย แต่ยังคิดระแวงว่านกยางจะหลอกจับกิน จึงหันหน้าปรึกษากัน นกยางจึงเสนอให้พวกปลาส่งตัวแทนเพื่อไปดูสระน้ำ ฝูงปลาคัดเลือกปลาหมอตัวใหญ่เป็นตัวแทนไปพิสูจน์คำพูดของนกยาง ฝ่ายนกยางเมื่อคาบปลาหมอไปถึงสระนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้ปลาหมอสำรวจดูจนทั่วสระ แล้วจึงคาบปลานั้นกลับมายังหนองน้ำเดิม

        ครั้นเมื่อกลับมา ปลาหมอจึงบอกว่าสระที่นกยางพูดนั้นมีอยู่จริงๆ ปลาทั้งหลายต่างขอร้องให้นกยางช่วยคาบตนไปปล่อยยังสระใหญ่นั้น

        นกยางนึกกระหยิ่มใจยิ่งนักที่ฝูงปลาหลงกลตามแผนของตน ว่าแล้วนกยางก็คาบเอาปลาหมอตัวเดิมไปก่อน แต่แทนที่จะปล่อยลงในสระใหญ่ มันกลับบินร่อนลงที่ต้นกุ่มริมสระ เอาปลาสอดเข้าระหว่างกิ่งไม้ แล้วใช้จงอยปากจิกกินเนื้อปลาจนหมด ทิ้งก้างปลาไว้โคนต้นกุ่มนั้นเอง ครั้นแล้ว นกยางก็บินกลับไปคาบปลาตัวใหม่จากหนองน้ำมากินที่โคนต้นกุ่มอีกทีละตัวๆ จนกระทั่งปลาหมดหนองน้ำ เหลือเพียงปูอยู่ตัวเดียว นกยางจึงใช้อุบายเดิมจะหลอกกินปู ปูนั้นไม่ไว้ใจนกยาง แต่เพราะน้ำในหนองลดลงทุกที จึงยอมไปกับนกยางด้วย โดยเอาก้ามปูหนีบไว้ที่คอนกยางเพื่อกันตกลงมากระแทกพื้น

        ครั้นบินมาถึงสระใหญ่ นกยางก็ไปทางต้นกุ่ม ปูรู้ว่าถูกหลอกจึงใช้ก้ามหนีคอนกยางบังคับให้พาไปยังสระน้ำ นกยางกลัวตายจึงรีบเปลี่ยนเส้นทาง เมื่อร่อนลงจวนถึงพื้น ปูยึดขาลงแตะโคลนริมสระได้ ก็บีบก้ามจนสุดแรงหนีบคอนกยางขาดทันที จากนั้นจึงเดินลงน้ำไป

        รุกขเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นกุ่ม เห็นเหตุการณ์เหล่านี้โดยตลอด จึงกล่าวสุภาษิตขึ้นว่า

        “บุคคลใดใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น ย่อมไม่ได้รับความสุขเป็นนิจ เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น ย่อมประสบผลบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอฉะนั้น”

 

ประชุมชาดก  พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

นกยาง ได้มาเป็นพระจีวรวัฑฒกะแห่งเชตวันมหาวิหาร

ปู ได้มาเป็นพระจีวรวัฑฒกะแห่งชนบท

รุกขเทวดา ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก  พกชาดก ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

๑. คนเราควรพึ่งตนเองให้มากที่สุด อย่าคิดพึ่งผู้อื่น งานใดที่พอฝึกได้พอทำได้ ก็ควรฝึกควรทำเอง

๒. ผู้ที่มากด้วยเล่ห์กล ชอบหลอกลวงคนอื่น สักวันหนึ่งจะถูกเขาซ้อนกลให้บ้าง

๓. บุคคลใดคิดชั่ว ทำชั่ว ย่อมได้รบผลชั่วตอบสนองอย่างแน่นอน

 

ข้อคิดจากชาดก  พกชาดก  ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

 

ข้อคิดจากชาดก

พกชาดก

ชาดกว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.045803332328796 Mins