สวดแจงคืออะไร สวดมาติกาคืออะไร
พิธีสวดมาติกา
การสวดมาติกา คือ การสวดบทมาติกาของอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์หรือที่เรียกว่า "สัตตัปปกรณาภิธรรม" ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยมจัดให้สงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพย่างหนึ่ง เรียกโดยโวหารทางราชการในงานหลวงว่า "สดัปปกรณ์" แต่ราษฎรสามัญทั่วไปเรียกว่า "สวดมาติกา" โดยจัดเป็นพิธีต่อ จากสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากสวดพระพุทธมนต์เย็น ก็จัดพิธีต่อจากสวดมาติกาต่อจากพิธีเทศน์และจัดให้มีต่อจากพิธีเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้นบ้างจัดให้มีก่อนฌาปนกิจศพบ้าง นับเป็นพิธีทำบุญแทรกในระหว่างงานทำบุญศพ ระยะใดระยะหนึ่งได้ทั้งนั้น ตามแต่ศรัทธาของเจ้าภาพจะพึงเห็นเหมาะและจัดให้มีในระยะไหน ระเบียบการจัดพิธีสวดมาติกานี้ ทั้งฝ่ายเจ้าภาพ และฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ ไม่พิสดารอะไร มีนิยมทำกันอยู่ดังนี้ต่อไปนี้
ระเบียบพิธี
1. ฝ่ายเจ้าภาพ เมื่อประสงค์จะให้พิธีสวดมนต์สวดมาติกาในงานบุญหน้าศพระยะใด ต้องการจำนวนพระสงฆ์เท่าไร พึงเผดียงสงฆ์ต่อเจ้าอาวาสในวัดที่ตนประสงค์ตามจำนวน โดยแจ้งกำหนดเวลาให้พระสงฆ์ทราบจำนวนพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวดมาติกานี้นิยมเท่าจำนวนอายุของผู้มรณะก็มี หรือในวัดที่พระสงฆ์ไม่มากนัก ก็นิยมเท่าจำนวนพระสงฆ์หมดทั้งวัด หรือน้อยกว่าที่กล่าวนี้จะกี่รูปได้
2. เตรียมจัดที่สำหรับพระสงฆ์มาติกา ถ้ามีพิธีสวดมาติกา ต่อท้ายสวดพระพุทธมนต์ ใช้อาสนะที่จัดไว้สำหรับสวดพระพุทธมนต์ในงานนั้นเอง ไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีก แต่ถ้าอาสนะไม่พอกับจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ ก็ให้พระสงฆ์ขึ้นประกอบพิธีเป็นชุดๆ จัดชุดหนึ่งๆ พอเต็มอาสนะสงฆ์ ให้นั่งแถวเดียวหรือสองแถวสามแถวก็แล้วแต่ที่พอเพียงไร จบชุดหนึ่งแล้วชุดต่อไปนี้นั่งทำนองเดียวกัน จนครบจำนวนที่นิมนต์
3. ฝ่ายภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบพิธี เมื่อรับนิมนต์แล้วพึงเตรียมไปยังบริเวณพิธีตามกำหนด มีพัดไปด้วยทุกรูปเพื่อใช้ในพิธี ( แต่ในบางแห่งอาจไม่มีพัดครบทุกรูป ก็ให้หัวหน้าเพียงรูปเดียว) ได้เวลาขึ้นนั่งบนอาสนะพร้อมกันทั้งหมดหรือพร้อมกันเป็นชุดๆ ตามควรแก่อาสนะ ถ้างานหลวงใช้พัดยศ ต้องนั่งเรียง
ตามศักดิ์พระที่เราถือ เมื่อพร้อมแล้วเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าศพเป็นสัญญาณ (ถ้าไม่มีพิธีรับศีล เพรารับมาก่อนแล้ว ) พึงตั้งพัดพร้อมกันทุกรูป แล้วหัวหน้าสงฆ์นำสวดมาติกาดังนี้
ก) นำสวด นโม...
ข) นำสวดบท กุสุมา ธมฺมา...
ค) นำสวด ปญฺจกฺขนฺธา... (เฉพาะงานหลวงหรืองานใหญ่เป็นพิเศษ)
ฆ) นำสวดมนต์บท เหตุปจฺจโย...
เมื่อจบแล้ววางพัด เพื่อให้ภาพทอดผ้าบังสุกุล
4. ผูกสายโยง เมื่อสงฆ์สวดบท เหตุปจฺจโย... ก่อนจบเจ้าภาพพึงลากผ้าภูษาโยงหรือสายโยงจากศพตรงหน้าพระ พอพระสวดจบก็ทอดผ้าภูษาโยงหรือสายโยงนั้นเท่าจำนวนพระสงฆ์บนอาสนะ
5. ชักบังสุกุล พอเจ้าภาพทอดผ้าเสร็จ พระสงฆ์ทั้งนั้นพึงตั้งพัดชักบังสุกุลตามแบบที่กล่าวแล้วในหนังสือศาสนาพิธีเล่ม ๑ เสร็จแล้วเปลี่ยนมือจับพัดตามแบบสวดอนุโมทนาแล้วพึงอนุโมทนาด้วยบท
ก) ยถา...
ข) สพฺพีติโย...
ค) ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวาย อดิเรก
ฆ) อทาสิ เม...
ง) ภวตุ สพฺพมงฺคล...
จ) ในงานหลวงหน้าที่นั่ง พระราชาคณะถวายพระพรลา
เจ้าภาพกรวดน้ำขณะพระสงฆ์ว่า ยถา.. พอพระสงฆ์ว่า สพฺพติโย... พึงพนมมือรับพร สำหรับงานราษฎรทั่วไป พิธีสงฆ์เว้นใช้ข้อ ค. และข้อ จ. นอกจากนั้นพึงใช้ตามลำดับ
6. ถ้าพระสงฆ์ขึ้นสวดมาติกชุดแรกไม่หมด ยังมีจำนวนต้องขึ้นเป็นชุดที่ ๒ และที่ ๓ เป็นต้นไปอีกต่อไป ในระหว่างพระสงฆ์ชุดแรกอนุโมทนา เจ้าภาพพึงเก็บภูษาโยงหรือสายโยงเข้าที่ก่อน เพื่อให้พระสงฆ์ลงจากอาสนะและชุดใหม่ขึ้นอาสนะโดยสะดวกไม่ต้องลำบากด้วยการระวังจะข้ามภูษาโยงหรือสายโยงนั้น พระสงฆ์ชุดใหม่ขึ้นอาสนะเรียบร้อยแล้วก็ลากภูษาโยงหรือสายโยงออกลาดใหม่ และทอดผ้าทันที พระสงฆ์ชุดหลัง ๆ จะกี่ชุดก็ตามไม่ต้องสวดบทมาติกาอีก พึงชักผ้าผ้าสุกุลตามพิธีเท่านั้นแล้วออก ไม่ต้องสวดอนุโมทนาด้วย ทำดังนี้เป็นชุด ๆ จนถ้วนจำนวนพระสงฆ์ก็เป็นอันเสร็จพิธี.
พิธีสวดแจง
ในงานฌาปนกิจศพ มีนิยมของพุทธบริษัทอย่างหนึ่ง คือ จัดให้มีเทศน์สังคีติกถา หรือที่เรียกกันว่าสามัญว่า "เทศน์แจง" จะเทศน์ธรรมาสน์เดียว หรือเทศน์ ๓ ธรรมาสน์ โดยปุจฉาวิสัชนา ก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ และในการมีเทศน์สังคีติกถานี้ นิยมให้มีพระสงฆ์สวดแจงเป็นทำนองการกสงฆ์ในปฐมสังคายนาด้วย จำนวนพระสงฆ์สวดแจงนี้ ถ้าเต็มที่ก็นับรวมทั้งพระเทศน์ด้วยเต็ม ๕๐๐ รูป เท่าการกสงฆ์ในครั้งปฐมสังคายนา แต่ผู้มีกำลังน้อย หรือในที่ที่หาพระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูปได้ยาก อาจลดส่วนพระสวดลงมาเหลือเพียง ๕๐ รูป หรือ ๒๕ รูป ก็มีน้อยกว่าหรือมากกว่ากำหนดดังกล่าวก็มี ถือกันว่าเป็นบุญพิธีพิเศษ ซึ่งอุปถัมภ์ให้พระสงฆ์ได้ทำสังคายนาครั้งหนึ่งแม้เป็นการสังคายนาพระธรรมวินัยจำลองมาจากปฐมสังคายนา ก็นับเป็นบุญพิเศษอยู่ ยากที่จะสามารถทำได้ทั่วถึง อีกประการหนึ่ง ก็เป็นอุปบายประชุมสงฆ์ เพื่อให้งานปลงศพนั้น ๆ คึกคักขึ้นเป็นพิเศษ นั้นเอง ที่เรียกว่า "เทศน์แจง" หรือ "สวดแจง" ในกรณีนี้ คงหมายถึงการแสดงธรรมแจกแจงวัตถุปละหัวข้อในพระไตรปิฎกออกให้
ที่ประชุมได้ทราบ และสวดหัวข้อที่ตกลงแจกแจงละเอียดนั้นๆ เพื่อเป็นหลักท่องบ่นทรงจำกันต่อไป สำหรับพิธีเทศน์แจงคงปฏิบัติตามเรื่องในสังคีติกถา และระเบียบพิธีพระธรรมเทศนาซึ่งจะกล่าวข้าหน้าทุกประการ ส่วนพิธี สวดแจงนั้น มีระเบียบที่พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
ระเบียบพิธี
1. ปกติการเทศน์แจงและสวดแจงจัดให้มีในงานฌาปนกิจก่อนหน้าเวลาฌาปณกิจในวัด หรือฌาปนสถาน ซึ่งที่นั้นมีศาลาหรือโรงทึมกว้างใหญ่พอสมควรแล้วฝ่ายเจ้าภาพร่วมกับทางวัดหรือผู้จัดการฌาปนสถานนั้น ๆ พึงจัดธรรมาสน์เทศน์และอาสนะสงฆ์ ตามจำนวนที่นิมนต์มาสวดให้เพียงพอก่อน
2. ฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับนิมนต์ไปสวดแจง พึงไปถึงสถานที่พิธีก่อนกำหนดแล้วนั่งประจำที่ให้เรียบร้อย
3. พอพระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์เริ่มตั้งแต่ นโม เทศน์ต่อไปทุกรูปพึงประณมมือฟังเทศน์ด้วยความเคารพ เมื่อผู้เทศน์เผดียงให้สวด พึงสวดบทโดยลำดับ ดังนี้
ก) สวดบทนมัสการ นโม
ข) สวดบาลีพระวินัยปิฎก ยนฺเตน ภควตา...
ค) สวดบาลีพระสุตตันตปิฎก เอวมฺเม สุเต...
ฆ) สวดบาลีพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ กุสสลา ธมฺมา...
ก่อนสวดพึงกำหนดให้รู้ว่าผู้เทศน์เผดียงให้สวดเป็นตอน ๆ เฉพาะพระวินัยก่อน หรือ เผดียงให้สวดทั้งหมด ถ้าให้สวดเป็นตอน ๆ พึงสวดตอนพระวินัยเริ่มต้นด้วย นโม และบาลีพระวินัยปิฎกตาม ข้อ ข. แล้วหยุดถึงตอนท่านเผดียงให้สวดพระสูตร จึงสวดเฉพาะตอนบาลีพระสุตตันตปิฎก ข้อ ค. เท่านั้น ครั้นท่านเผดียงให้สวดพระอภิธรรมในวาระต่อไป ก็สวดเฉพาะตอนบาลีพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์
ข้อ ฆ. สองตอนหลังไม่ต้องตั้ง นโม อีก จบแต่ละตอนแล้วคงประณมมือฟังเทศน์ต่อไปจนจบ ไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรลุกออกก่อนเทศน์จบ
4. เมื่อเทศน์จบแล้ว พระผู้เทศน์ซึ่งมีหน้าที่ ยถา อย่าพึ่ง ยถา รอให้พระสงฆ์ที่สวดแจงบังสุกุลก่อน (ในพิธีสวดแจงไม่ต้องมาติกาซ้ำอีกเพราะการสวดแจงเป็น การสวดบทมาติการ่วมไปด้วยแล้ว) เมื่อบังสุกุลจบหากมีไทยธรรมอื่นอีกนอกจากผ้าทอด ให้ถวายในระยะนี้ เสร็จแล้ว พระผู้เทศก์พึงตั้งพัด ยถา... อนุโมทนาบนธรรมาสน์นั้น พระสงฆ์ทุกรูปพึงรับ สพฺพีติโย...อทาสิ เม... และ ภวตุ สพฺพมงคล... พร้อมกัน พระผู้เทศก์รับไทยธรรมจากเจ้าภาพภายหลัง เป็นอันเสร็จพิธี