อคติ

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2557

 

                  ใครก็ตามที่มีอคติแม้เพียงข้อเดียว หรือครบทั้ง 4 ข้อ ก็เพราะสัมมาทิฏฐิยังไม่เข้าไปอยู่ในใจเขาอย่างมั่นคงเหนียวแน่น มิจฉาทิฏฐิจึงมีอิทธิพลครอบงำจิตใจของเขาอยู่โดยตลอด จึงทำให้เขามองไม่ออกว่าความทุกข์และความเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งเกิดจากความลำเอียงของเขานั้น นอกจากจะเป็นบาปติดตามเขาไปทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว เขายังชื่อว่าเป็นผู้ทำลายกฎกติกา ตลอดจนความสมานสามัคคี และ ความสงบสุขของผู้คนในสังคมอีกด้วย เพราะเหตุนี้บุคคลที่มีอคติจึงชื่อว่า เป็นผู้ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมสังคม


                  ในทางตรงข้าม ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงจนเป็นนิสัยประจำใจ ย่อมมองเห็นโทษภัย และตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงของความลำเอียงอยู่เสมอ จึงระมัดระวังตนมิให้กระทำสิ่งหนึ่งประการใดโดยไร้ความเป็นธรรมเพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ย่อมมีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมสังคมเสมอ ด้วยการเว้นขาดจากอคติ


                 นี่คือความรับผิดชอบประการที่ 2 และเป็นคุณสมบัติประการที่ 2 ของคนดีที่โลกต้องการ
ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมเป็นคนอคติจะเกิดผลอย่างไรบ้าง


                  ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ยุติธรรมของคนอคติ ก็คือความทุกข์ และความเดือดร้อนอย่างแน่นอนสำหรับคนอคตินั้น ย่อมได้รับการติฉินนินทา และความรังเกียจเดียดฉันท์จากผู้คนที่รักความเป็นธรรมโดยทั่วไป ในบางกรณีก็อาจถูกอาฆาตพยาบาทจากผู้ที่เสียประโยชน์จากความอยุติธรรมของผู้ที่มีอคติเป็นการผูกเวรกันต่อไป


                  อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมอคติก็คือกรรมชั่วอย่างหนึ่ง ผู้ที่ก่อกรรมชั่วย่อมประสบวิบากแห่งกรรมชั่วของตนอย่างแน่นอน แม้เขาจะไม่ได้ประสบวิบากกรรมในโลกนี้ ก็จะต้องประสบวิบากกรรมในโลกหน้า ดังมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ซึ่งจะขอยกมาเป็นกรณีศึกษาดังต่อไปนี้

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก

กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035528151194255 Mins