วิธีการฝึกจิตตามทางสายกลาง
ในการปฏิบัติสมาธิหรือการฝึกใจตามเส้นทางสายกลางนั้น การที่จะพบหนทางสายกลางได้ต้องนำเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง ซึ่งวิธีการเอาใจให้เข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีสรุปว่า คือการทำใจให้ "หยุด" เพียงอย่างเดียว ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในพระธรรมเทศนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่า
"ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลาง นั่นแหละได้ชื่อว่า มัชฌิมา พอหยุดก็หมดดี หมดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้ พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลางตรงนั้นแหละกลางใจ หยุดก็เป็นกลางทีเดียว นี้ที่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่าสมณะหยุดสมณะหยุดพระองค์ ทรงเหลียวพระพักตร์มาสมณะหยุดแล้ว ท่านก็หยุด นี้ต้องเอาใจไปหยุดตรงนี้ หยุดตรงนั้น ถูกมัชฌิมาปฏิปทาทีเดียว พอหยุดแล้ว ก็ตั้งใจอันนั้นที่หยุดนั้น อย่าให้กลับมาไม่หยุดอีกนะ ให้หยุดไปท่าเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็ถามซิว่า หยุดลงไปแล้ว ยังตามอัตตกิลมถานุโยคมีไหม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีไหม ไม่มี นั่นกามสุขัลลิกานุโยคไม่มี ลำบากยากไร้ประโยชน์ไม่มีหยุดตามปกติของเขาไม่มี ทางเขาไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีทางดังกล่าวแล้ว นี่ตรงนี้แหละที่พระองค์ทรงรับสั่งว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตเจ้ารู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น (ตรงหยุดอยู่ที่ ศูนย์กลางกาย) ตั้งต้นนี้แหละ จนกระทั่งถึงพระอรหัตตผล"
ดังนั้น หลักคำสอนที่พระมงคลเทพมุนีสอนสมาธิ จึงมีถ้อยคำสั้นๆ ว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ"
ในการฝึกใจตามทางสายกลาง ด้วยการทำหยุดให้เกิดขึ้นนั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี กล่าวว่า ต้องเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า "กลางนี่ลึกซึ้งนักไม่มีใครรู้ใครเข้าใจกันเลย ธรรมที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางน่ะ (ในทาง) ปฏิบัติ แปลว่า ถึงเฉพาะซึ่งกลาง อะไรถึง ต้องเอาใจเข้าถึงซึ่งกลางซิ เอาใจเข้าไปถึงซึ่งกลาง กลางอยู่ตรงไหน มีมนุษย์นี่ มีแห่งเดียวเท่านั้น ศูนย์กลางกายมนุษย์"
ศูนย์กลางกาย จึงมีความสำคัญในการฝึกใจตามทางสายกลาง เป็นหนทางมราจะทำให้เข้าถึงพระธรรมกาย และพระนิพพานได้ในที่สุด ดังนั้นหากไม่สามารถฝึกสมาธิเอาใจให้อยู่ที่ศูนย์กลางกาย เราก็จะไม่พบคำว่าธรรมกาย
ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุป หลักการดำเนินจิตไปตามทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง คือให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อทำได้เช่นนี้จึงได้ชื่อว่าหลักการปฏิบัติฝึกใจตามทางสายกลาง
จากหนังสือ DOU
วิชา MD102 หลักการเจริญสมาธิภาวนา
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก