วัตถุประสงค์ของบ้านกัลยาณมิตร
ตามธรรมดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ย่อมมีการจัดการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยลูกหลานในบ้านของตนกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ทว่าการเกิดวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในประเทศไทย ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ย่อมฟ้องว่า การอบรมบ่มนิสัยลูกหลานของพ่อแม่ทั้งหลายยังไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมของมิตรเทียม จึงก่อให้เกิดปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ก็เพราะพ่อแม่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและเคร่งครัดพอ
ถึงแม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ที่น่าเศร้าใจคือการกระทำกรรมกิเลสทุกข้อที่พระพุทธศาสนาสอนให้ละ เลิกเกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกประเภทที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็นทางนำไปสู่ความฉิบหาย ยิ่งกว่านั้นยังมีการยุให้รัฐออกกฎหมายเพื่อทำให้อบายมุขที่ผิดกฎหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียอีกด้วย ดูเหมือน ว่านับวันก็จะมีคนมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธไทยทุกคนจะต้องตื่นขึ้นมาปรับปรุงตนให้เป็นคนดี และร่วมกันสร้างเครือข่ายคนดีตามกลวิธีในเรื่องทิศ 6 และการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความรับผิดชอบและ เป็นอริยวินัยของทิศเบื้องหน้า ก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการเปิดบ้านกัลยาณมิตร
พ่อแม่ที่เปิดบ้านกัลยาณมิตร จะต้องตั้งวัตถุประสงค์ของบ้านกัลยาณมิตรไว้ให้ชัดเจน 4 ประการคือ
1. เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ทั้ง 4 ประการ คือ
1) มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง
2) มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมสังคม
3) มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
4) มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของมิตรแท้ 16 ประการ จัดได้เป็น 4 หมวด คือ
1) เป็นมิตรมีอุปการะ คือ ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้ เมื่อมีกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ก็ช่วยโภคทรัพย์ให้ 2 เท่าของทรัพย์ที่ต้องการในกิจนั้น
2) เป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน ไม่ละทิ้งในยามอันตราย แม้ชีวิตก็อาจจะสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนได้
3) เป็นมิตรแนะนำประโยชน์ คือ ห้ามมิให้ทำความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง บอกทางสวรรค์ให้
4) เป็นมิตรมีความรักใคร่ คือ ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน พอใจความเจริญของเพื่อน ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน
3.เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร 7 ประการ)
1) น่ารัก หมายถึง เป็นที่สบายใจเมื่อเข้าใกล้
2) น่าเคารพ หมายถึง เป็นผู้ที่อุดมไปด้วยคุณธรรม ความดี
3) น่าเทิดทูน หมายถึง เป็นผู้ที่เมื่อได้พบแล้ว เกิดความรู้สึกชื่นชม ยกย่อง น่าประทับใจในคุณธรรมความดี
4) ฉลาดพร่ำสอนให้ได้ผล หมายถึง มีความสามารถพูดโน้มน้าวให้หมู่ญาติหรือคน รอบข้าง ทำตามในสิ่งที่ดีงาม
5) อดทนต่อถ้อยคำ หมายถึง พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ซักถามอยู่เสมอ
6) สามารถแถลงเรื่องที่ลึกล้ำ หมายถึง สามารถนำเรื่องที่ยากมาอธิบายให้เห็นภาพพจน์เข้าใจได้ง่าย
7) ไม่ชักนำไปในทางเสื่อม หมายถึง ประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม
4. เชื้อเชิญและยินดีให้เพื่อนบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เป็นการสร้างเครือข่ายคนดีที่โลกต้องการ