องค์กรกัลยาณมิตร

วันที่ 08 เมย. พ.ศ.2558

องค์กรกัลยาณมิตร

องค์กรกัลยาณมิตร

แนวคิด

1.มนุษย์จะอยู่เพียงลำพังตนเองไม่ได้ แต่จะต้องอยู่กันเป็นหมู่หรือเป็นสังคม ดังนั้นสมาชิก ในชุมชนหรือในสังคมจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยการเป็นกัลยาณมิตร

2.สาเหตุของปัญหาของสังคม นอกจากจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเกิดจากตัวมนุษย์เอง ดังนั้นจึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องร่วมมือ ช่วยกันป้องกันและแก้ไข

3.การร่วมมือกันสร้างสังคมให้น่าอยู่และเกิดสันติสุขได้นั้น สามารถกระทำได้ทั้งด้วยความ ร่วมมือระหว่างตัวบุคคล และการสร้างความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ


วัตถุประสงค์

1.เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคม

2.เพื่อนำเสนอรูปแบบการทำหน้าที่กัลยาณมิตรว่าสามารถทำได้ในลักษณะขององค์กรกัลยาณมิตร

3.เพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์กันขององค์กรกัลยาณมิตรหลัก อันได้แก่ บ้าน วัด และโรงเรียน(หรือสถาบันการศึกษา)


องค์กรกัลยาณมิตร

      เนื่องจากปัจจุบัน สังคมโลกกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและ ภัยสงครามเป็นอันมาก และมีแนวโน้มจะทวีมากขึ้น สำหรับในสังคมไทยเอง ย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เฉพาะในประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีผู้คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในสังคมโลกทั่วไปก็เช่นเดียวกัน แม้หากไม่มีมาตรการป้องกันและการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาลุกลาม รุนแรงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในหลายพื้นที่จากสังคมเดิม ที่มีความเป็นอยู่แบบชนบท แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิต เช่น เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนแก่เยาวชนหลายระดับ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญา เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีคนงานเป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นคนในท้องที่และแรงงานย้ายมาจากท้องถิ่นอื่น ซึ่งการที่มีคนหลากหลายประเภท และมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้าก็ตาม ปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนเริ่มมีสภาพต่างคนต่างอยู่ มองแต่ความต้องการเฉพาะตนมากขึ้น และเกิดสภาพของการต่อสู้แข่งขันทั้งเพื่อการสร้างฐานะและความอยู่รอดในการดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงนำมาซึ่งสภาพของความห่างเหิน ต่อประเพณี วัฒนธรรมและความผูกพันใกล้ชิดระหว่างผู้คนในสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เริ่มขาดความอบอุ่น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปรากฏสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น อาชญากรรม ความก้าวร้าวรุนแรงในสังคม การเสพยาเสพติด เป็นต้น


     จากสภาพสังคมในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี วิชาการสมัยใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและสังคมดีขึ้น แต่กลับปรากฏว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดตามมา และได้มีการรวบรวมสาเหตุประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้ดังนี้

    1.แนวโน้มครอบครัวขาดความพร้อมนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวจึงเปราะบางไม่อบอุ่น เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น ขาดความเข้าใจและเอาใจใส่ในการอบรมบ่มคุณธรรมแก่เยาวชน ซึ่งก็คือสาเหตุหลักของปัญหายาเสพติด อบายมุขและการมั่วสุม เพราะสามารถหาเสพได้ง่ายในสังคมปัจจุบันทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยสิ่งที่ตนขาดจากครอบครัว

   2.วิทยาการและเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ไร้ขอบเขต มีผลให้อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ และสื่อโฆษณาต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ขาดการกลั่นกรอง ชักนำให้เยาวชนหลงใหลแฟชั่น และยึดวัตถุนิยมเป็นใหญ่แทนคุณงามความดี มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง เรียนรู้เรื่องเพศเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ศาสนาและเอกลักษณ์ความเป็นผู้รักสงบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการประคับประคองให้คน ในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาช้านาน

   3.สังคมละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเยาวชน มีผลให้เยาวชนไม่สามารถแยกแยะ ถูก ผิด ดี ชั่ว ได้ มองตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่าส่วนรวม รู้จักแต่การรับไม่มีการให้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนมีความสุข ความสำเร็จ ไม่สนใจเรื่องคุณธรรมหรือความถูกผิด

     จากปัญหาดังกล่าว ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกๆ คนในสังคม ดังนั้น  จึงเป็นสิ่งที่เกิดความตระหนักว่า ทั้งเจ้าหน้าที่ราชการ สมาคม องค์กรต่างๆ ตลอดจนพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคม จะมีบทบาทในการช่วยเหลือ  ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร


     อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจากองค์กรต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ อันเป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันทางคุณธรรมในจิตใจให้กับคนในสังคม ตลอดจนเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด และการก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น

   1.การจัดโครงการอบรมสำหรับเยาวชนในวัยเรียน โดยเน้นเรื่องการครองตนและการมีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินชีวิต จนสามารถเป็นแบบอย่างของคนอื่นได้

      2.การพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้นำในทางที่ดีของเยาวชนในแต่ละสถาบัน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนๆ ในสถาบัน

       3.การสร้างต้นแบบคนดีเพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายคนดีในแต่ละสถาบันการศึกษา โดยมีเยาวชนที่ผ่านการอบรมเป็นผู้นำในการทำกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

     4.สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อน และตัวเยาวชนเอง เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการหล่อหลอมคุณธรรม ชี้แนะและฝึกฝนให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตนเองและครอบครัว

     5.หล่อหลอมให้เยาวชนตลอดจนคนในสังคมมีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของศาสนา  และวัฒนธรรมของสังคมแต่อดีต รู้จักที่จะเลือกรับ รู้จักการถ่ายทอด รู้จักการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่คู่กับคนในสังคมสืบไป

     6.ฝึกฝนให้ประชาชนมีความพร้อมในด้านความคิด การพัฒนาตนเองและสังคม ด้วยการทำงานร่วมกับหมู่คณะ เพื่อให้รู้จักการให้ การประสานงาน การประสานสัมพันธ์ ลดปัญหาความหวาดระแวงและความเห็นแก่ตัว อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ

        ดังนั้น จะเห็นว่า สถาบันหลักที่จะมีส่วนในการทำให้สังคมมีความเป็นอยู่อย่างสงบ ร่มเย็น ประกอบด้วย  โรงเรียนŽ ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งที่สำคัญของสังคม ที่มีหน้าที่จัดการด้านการศึกษาของชุมชน ปลูกฝังและให้ทั้งความรู้และคุณธรรม  ครอบครัว หรือ บ้านŽ เป็นสถาบันแรกที่ดูแลสมาชิกในครอบครัว อบรม กล่อมเกลา ทั้ง คุณธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม  วัดŽ เป็นอีกสถาบันที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะช่วยดูแลเรื่องศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม ดังนั้น บ้าน-วัด-โรงเรียน คือองค์กรที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตร ที่จะทำหน้าที่ร่วมกันด้วยการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการครองชีวิต ให้เป็นไปตามวิถีแห่งพุทธ ซึ่งจะสามารถช่วยฟื้นฟูบำบัดสภาพและปัญหาที่เป็นอยู่ในสังคมขณะนี้


     สำหรับในประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังจะมีรูปแบบของการดำเนินการพัฒนาสังคมที่จะให้สถาบันหลักทั้ง 3 คือ บ้าน วัด และโรงเรียน เป็นสถาบันกัลยาณมิตร ที่แม้ประเทศอื่นๆ ในโลก ก็สามารถจะศึกษาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างได้ ดังเช่น จากผลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ ที่ได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อประเมินผลการเสวนาทางวิชาการเรื่อง กระบวนการ เสริมสร้าง จริยธรรม บูรณาการระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนและชุมชนŽ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดง ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ และจากการตอบแบบสอบถามที่ผู้เข้าร่วมการเสวนาส่งคืนให้สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จำนวน 27 ฉบับ สรุปสาระ สำคัญตามประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้)

ประเด็นที่ 1    กระบวนการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชนของชาติ ท่านคิดว่าจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนหรือไม่ อย่างไร

      ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เห็นด้วยว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนในการ เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชนของชาติ ดังนี้

        ความร่วมมือและความสามัคคีร่วมใจ ต้องได้รับการปลูกฝังมาจากบ้าน ชุมชน โรงเรียน และวัด โดยเน้นให้เกิดการเรียนรู้และ สามารถปฏิบัติได้จริง มีการทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน สร้างความคิด ที่เป็นแกนกลาง โดยชุมชนต้องเป็นแกนนำในการจัด กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม มีการจัดโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรมอย่างต่อเนื่อง ช่วยสอดส่องดูแลคุณธรรม จริยธรรมและสนับสนุนกิจกรรมต่อกัน ส่งเสริมให้ข้อมูลความรู้แก่ชาวบ้าน ลูกหลาน ได้รับรู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง

         ผู้ปกครองต้องให้ความรู้ ให้คำปรึกษาหรือสร้างคุณธรรม จริยธรรม ที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นภายในบ้าน นำบุตรหลานเข้าวัดและ ทำบุญให้ทานเพื่อเสริมสร้างให้เกิดคุณธรรมมากขึ้น มีความซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข บิดา มารดาควรชี้แจงให้บุตรหลานรู้จักบาป-บุญ คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ ให้ความรักความเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลความประพฤติของ บุตรหลาน เสริมสร้างความเป็นคนดีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรมในชีวิตประจำวันทั้งในบ้านและนอกบ้าน

         ควรให้บ้านมีส่วนช่วยและมีส่วนสัมพันธ์กับโรงเรียน รวมทั้งวัดควรเป็นศูนย์กลางและจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียนด้วย ทุกกลุ่มในสังคมจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในทุกๆ ด้าน เป็นที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะเป็นพลังสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า

     ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการอบรม สั่งสอน แนะนำความรู้และการประพฤติที่ดีแก่นักเรียน เนื่องจากพฤติกรรมของนักเรียนที่มีปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพจากทางบ้าน เช่น พ่อแม่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก หรือ การละเลยการสั่งสอนบุตรหลาน

 
ประเด็นที่ 2
    ท่านเห็นด้วยกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน โดยบูรณาการเนื้อหาสาระพุทธธรรมในทุกกลุ่มวิชาหรือไม่ และควรดำเนินการอย่างไร

       ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เห็นด้วยกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนโดยบูรณาการเนื้อหาสาระพุทธธรรมในทุกกลุ่ม วิชาโดยให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ดังนี้

        หลักสูตรต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้จริงมากกว่าการเรียนรู้จากทฤษฎี โดยครูต้องสอนคุณธรรม จริยธรรมสอดแทรก ในกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกกลุ่มวิชา สอนให้สอดคล้องกันระหว่างพุทธธรรมและวิชาการทั่วไป ให้ผู้เรียนรู้จักผิดชอบ ชั่ว-ดี ครูจะต้องบูรณาการเนื้อหาสาระการเรียนรู้ คุณธรรม จริยธรรม มาประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ ผู้เรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรม ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยระดมความคิดเห็นจากกลุ่มนักวิชาการ ต่างๆ เข้าร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วย

       ต้องให้นักเรียนทุกคนสอบหรือมีพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาก่อนนำมาบูรณาการด้วยกิจกรรมต่างๆ ครูต้องนำเนื้อหาข้อธรรมะมาสอดแทรกและมีการวัดผลประเมินผลผู้เรียนอย่างจริงจัง โดยครูให้คะแนนเพื่อเป็นการวัดพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน

        ควรให้พระภิกษุเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้นำหลักธรรมที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง

       วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมควรจัดสอนแบบเดิมก่อนยุคการปฏิรูปการศึกษาแต่ควรปรับปรุงเนื้อหาบ้างเล็กน้อย โรงเรียนและวัดควรช่วยกันพัฒนาเฉพาะด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม สารเสพติด และการบำบัดจิตใจ


ประเด็นที่ 3 ท่านจะมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเยาวชนได้อย่างไร

   ผู้ตอบแบบสอบถามได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชน ดังนี้

       ครูต้องอบรม สั่งสอน ชี้แนะนักเรียน และสอนด้วยการพูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นแบบอย่างที่ดี ในการปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรม สั่งสอนแนะนำทั้งด้านการดำเนินชีวิตและสังคม ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในทางที่เหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมให้เยาวชนปฏิบัติดี

      นิมนต์พระภิกษุไปสอนจริยธรรมหรือให้นักเรียนมาเรียนที่วัด เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตน ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะ โดยการจัดอบรม สอนทฤษฎีและให้ปฏิบัติจริง จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียน เช่น การเข้าค่ายพุทธบุตร เป็นต้น

      ครูและผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และช่วยอบรมเยาวชนให้เป็นคนดี


ประเด็นที่ 4    ข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในระดับชาติ

     ผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนวทางในการจัดทำนโยบายเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม แก่เยาวชนและประชาชนในระดับชาติ ดังนี้

       ผู้บริหารทุกระดับต้องมีความรู้เรื่องคุณธรรม จริยธรรม เป็นอย่างดีและสามารถนำมาใช้ใน การบริหารและการปกครองได้ควรให้เยาวชนทุกคนสอบธรรมศึกษาตรี โท เอก ตามระดับ

       ทุกสถาบันต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ให้คำแนะนำแก่เยาวชนให้เกิดความซาบซึ้งในคำสั่งสอนของสถาบันศาสนา แล้วนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ควรมีข้อบังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดให้เด็กเข้าค่ายปฏิบัติธรรมในวันหยุด หรือในวันปิดเทอม เพื่อให้เด็กห่างไกลยาเสพติด และต้องร่วมมือกันเอาใจใส่อย่างจริงจัง ดังนั้น บ้าน วัด และโรงเรียน ต้องร่วมมือกันมากกว่านี้ โดยสร้างแบบแผนปลุกจิตสำนึก ให้รักคุณธรรม จริยธรรมเป็นสิ่งนำชีวิตให้มีคุณค่า

      รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม แก่ครูและหน่วยงาน ราชการเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานอื่นนำไปปฏิบัติ

    ขอให้บรรจุหลักสูตรการสร้างคุณธรรม จริยธรรมทุกระดับชั้น    เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้านคุณธรรม  จริยธรรม พร้อมทั้งมีการวัดผลประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อหรือทำงานก็ควรจะสอบวิชานี้ด้วย

       ต้องมีหลักสูตรเกี่ยวกับพุทธธรรมเป็นหลักสูตรแกนกลาง 70 % และมีหลักสูตรท้องถิ่น เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดคล้องกับ วัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละท้องถิ่น 30 %

 
        อย่างไรก็ตาม ผลจากการตอบแบบสอบถามดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะนำเอาสถาบันหลัก คือ บ้าน วัด และโรงเรียน มาเป็นองค์กรที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในสังคมทั้งด้านความเจริญทางด้านวัตถุและความเจริญทางด้านจิตใจ ดังนั้น เนื้อหาของการศึกษาต่อไปนี้ จะกล่าวถึง บทบาทของบ้าน วัด และโรงเรียน ที่จะมีการดำเนินการ นับตั้งแต่การก่อตั้ง การดำเนินการ และจัดกิจกรรม เพื่อความเป็นองค์กรกัลยาณมิตรให้กับสมาชิก ตลอดจนผู้คนในสังคมอย่างไร ทั้งนี้ องค์กรที่เป็นโรงเรียนจะกล่าวรวมว่า หมายเอาถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญของการเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้คนในสังคมด้วย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.13467248280843 Mins