มรณภัยที่ไม่มีนิมิตหมาย

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2558

มรณภัยที่ไม่มีนิมิตหมาย 


              “ การผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เรา ” แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดท้ายยังเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะเมื่อสังขารร่วงโรย กายมนุษย์หมดสภาพก็ต้องทิ้ง เสมือนคนทิ้งเรือนหลังเก่าไปหาเรือนหลังใหม่เป็นที่อาศัยพักพิง ถ้าถามว่าตายแล้วเราจะเอาทรัพย์สมบัติอะไรในโลกนี้ไปได้บ้าง คำตอบคือ ๆไม่มี มีแต่บุญบาปที่จะติดตัวไป เพราะฉะนั้น วิธีเตรียมตัวก่อนตายที่ดีที่สุดคือ การหมั่นสร้างบุญสร้างกุศล 


หลักความจริงของชีวิต
            เคยมีคำสอนที่น่าสนใจถูกเขียนไว้ ใต้โครงกระดูกให้เราได้คิดว่า  “ แต่ก่อนเราก็เคยเป็นเหมือนท่าน อีกหน่อยท่านก็ต้องเป็นเหมือนเรา ” จริงไหมที่แต่ก่อนโครงกระดูกนี้เคยมีเนื้อหนัง เคยเป็นหนุ่มสาว เคยแข็งแรงเหมือนกันกับเรา แต่อีกไม่นานตัวเราเองก็ต้องเป็นเหมือนโครงกระดูก รู้หลักความจริงของชีวิตอย่างนี้แล้ว ใครเตรียมตัวได้เร็วยิ่งได้เปรียบ ส่วนใครประมาทย่อมเสียเปรียบ 
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ไม่ประมาทแม้เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความประมาทนับร้อยปี ”


เส้นทางของผู้ใช้ชีวิตประมาท
            บุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท คือ คนที่รู้จักสร้างบุญสร้างกุศล สร้างที่พึ่งให้ตัวเอง ถึงคราวที่มัจจุราชมาเมื่อใดก็กลายเป็นบุคคลผู้ยิ้มเยาะมัจจุราชได้อย่างไม่กลัวเกรง ส่วนบุคคลที่อยู่ด้วยความประมาทคือ คนที่มักจะกระทำอะไรตามใจ หลงผิด สร้างบาปสร้างกรรม ไม่หมั่นสร้างบุญกุศลจึงมีบุญน้อย ยิ่งอยู่นานบาปยิ่งติดตัวมาก
            ยกตัวอย่างสมมติเราเป็นเจ้าของบ้านไม้หลังเล็กๆ 1 หลัง พออาศัยไปนานเข้าสัก 30-40 ปี บ้านมันเริ่มเก่าเสามันเริ่มกร่อน เจอลมฝนแรงๆ ชักโยกเยก ถ้าเราไม่มีเงินเก็บสำรองไว้เลย เคยมีเท่าไรก็ดื่มกินใช้จนหมด แถมยังมีหนี้สินพะรุงพะรังติดตัว ถึงคราวที่บ้านพังจนเข้าอาศัยไม่ได้ต้องไปหาอาศัยที่อยู่ใหม่ เราก็ย่อมเกิดความกังวลใจเป็นธรรมดา เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติเก็บไว้เลย

 
             ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนไม่ประมาทตั้งใจทำงานเก็บหอมรอมริบ ทั้งฝากเงินกับธนาคาร ทั้งลงทุนซื้อที่ดิน มีทรัพย์สินมากมายนับร้อยนับพันล้านบาท ถึงบ้านหลังเก่าจะพังจนต้องไปหาที่อยู่ใหม่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คนมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อาศัยเรือนหลังเล็กๆ คือ “ กาย ” ดำรงอยู่ในโลก ถ้าเป็นคนที่ประมาทมัวแต่เที่ยวสนุก ใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลืองไปวันๆ สร้างแต่บาปกรรมไม่ได้สั่งสมบุญกุศลไว้ เมื่อถึงคราวเรือนหลังเก่าคร่ำคร่าร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย วันใดวันหนึ่งอาการส่อเค้าไม่ดีจนต้องหาที่อยู่ใหม่ เขาย่อมเกิดความวิตกกังวลอย่างแน่นอน


            คนเช่นนี้เมื่อมองไปข้างหน้าย่อมมืดมน เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่าที่ผ่านมาตนเองสร้างบาปเอาไว้มาก บุญในตัวมีน้อย ถ้าต้องย้ายที่อยู่มีหวังกลายเป็นคนจรจัดไร้บ้าน หนักหน่อยก็ถูกคุมขัง ตกนรกหรือเบาหน่อยก็มีบ้านใหม่เป็นกายสัตว์เดรัจฉาน คนที่ไม่ประมาทระหว่างมีชีวิตอยู่ย่อมหมั่นสร้างบุญสร้างกุศลด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เนืองนิตย์ มีบุญสะสมไว้ในตัว ถึงคราวป่วยไข้ไม่สบายจนจะต้องย้ายหาที่อยู่ใหม่เขาก็จะไม่มีความวิตกกังวล เพราะมั่นใจในกำลังบุญที่ตนเองสร้างไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายอย่าลืมว่าเรือนหลังนี้ของเราไม่ได้อยู่กับเราคู่ฟ้า วันใดวันหนึ่งไม่กี่สิบปีข้างหน้าเราก็ต้องจากเรือนนี้ไป ดังนั้น ตั้งใจเก็บหอมรอมริบสร้างบุญสร้างกุศลสะสมไว้เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยในเส้นทางวัฏสงสารของเราดีกว่า


วิธีทำบุญเพื่อบรรเทาทุกข์
            ถ้าใครได้เรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรมจะรู้ว่า วิบากกรรมแต่ละชนิดก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้แตกต่างกันไป หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะมีวิธีการทำบุญที่ส่งผลให้โรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นเบาบางจางหายไปได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง ยุคนี้มีคนป่วยโรคไตจำนวนมาก ถามว่าโรคไตเกิดขึ้นจากวิบากกรรมอะไร คำตอบคือ โรคไตมักจะมาจากกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์ เช่น คนที่ไปยืมทรัพย์คนอื่นเขามาแล้วไม่คืนบ้าง ไปขูดรีดเอาดอกเบี้ยแพงๆบ้าง บวกกับกรรมปาณาติบาต คือ ทรมานสัตว์ บางคนถึง คราวกรรมตามทันโรคไตก็ถามหา


            โรคแต่ละโรคมีที่มาของมันซึ่งมีความซับซ้อนมากไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ เหมือนกับหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง เพราะมีกรรมอื่นๆ อีกหลายรูปแบบประกอบกัน แล้วก็มีบุญอีกหลายๆบุญมาเจือปนอยู่ด้วย หากมองในแง่ของภาพรวมโดยที่เรารู้แล้วว่า โรคร้ายเกิดจากวิบากกรรมในอดีตชาติ บวกกับกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น คนที่เล่นเกมจนอดหลับอดนอน หรือมัวไปเที่ยวเตร่สรวลเสเฮฮา ดื่มเหล้าดูหนังฟังเพลง จมอยู่กับอบายมุขมันก็ป่วยเร็ว เรียกว่ากรรมปัจจุบันไปหนุนกรรมในอดีต ทางแก้คือให้ปรับวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันให้พอเหมาะพอสม และต้องหมั่นสร้างบุญเข้าช่วย เช่น ทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณร เป็นต้น


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ผู้ให้ข้าวชื่อว่าให้กำลัง ” เราถวายข้าวปลาอาหารแด่พระภิกษุสามเณร ท่านบริโภคแล้วมีกำลังไปบำเพ็ญสมณธรรม ผู้ถวายก็ได้บุญได้กำลัง ผลบุญส่งให้มีร่างกายแข็งแรง หรือจะทำบุญถวายยารักษาโรค คิลานเภสัชให้กับพระภิกษุ พยาบาลพระภิกษุผู้ป่วยไข้ก็ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ถ้าผู้ใดปรารถนาอุปัฏฐากเราตถาคต ให้อุปัฏฐากพระภิกษุไข้เถิด ”


             คราวหนึ่งมีพระภิกษุป่วยหนักนอนจมอยู่ในสิ่งปฏิกูล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบเรื่อง ทรงเสด็จไปดูแลพระภิกษุรูปนั้นด้วยพระองค์เอง ทั้งๆที่พระองค์รับสั่งเพียงคำเดียวก็จะมีคนเร่งรีบไปดูให้มากมาย แต่พระพุทธองค์ทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่าง เมื่อมีโอกาสให้พยาบาลภิกษุไข้ จะได้บุญเหมือนพยาบาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นปัจจุบันพวกเราก็ยังมีโอกาสได้บุญเหมือนดูแลบำรุงอุปัฏฐากบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการดูแลอุปัฏฐากพระภิกษุที่ป่วยไข้ไม่สบาย ส่วนใครที่อยากจะทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยนกปล่อยปลาก็ได้ หรือใครที่เป็นโรคเกี่ยวกับตาก็ให้ทำบุญถวายหลอดไฟ หรือโคมไฟแด่พระภิกษุสงฆ์ ให้ท่านได้ใช้งานในการศึกษาพระธรรมวินัยสมัยก่อนเราถวายเทียนเข้าพรรษาแต่สมัยนี้เราถวายหลอดไฟแทนได้ปรับเปลี่ยนสิ่งของที่จะถวายไปตามยุคตามสมัย โดยมุ่งไปที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก

 

แง่คิดวิธีใช้ชีวิต “ ก่อนป่วย ”
                ในกรณีที่ยังไม่ป่วยไข้แต่เรารู้แล้วว่า วันใดวันหนึ่งเราต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เรายังมีกำลังอยู่ ให้ขวนขวายทำภาระกิจการงาน อย่ามัวเกียจคร้านเร่งสร้างเนื้อสร้างตัวบำเพ็ญประโยชน์ในชาตินี้ แล้วในขณะเดียวกันก็อย่าลืมบำเพ็ญประโยชน์ชาติหน้า โดยตั้งใจสร้างบุญกุศล สั่งสมเสบียงบุญไว้ในการเดินทางข้ามวัฏฏะ ข้ามภพข้ามชาติด้วย


แง่คิดวิธีใช้ชีวิต “ ขณะป่วย ”
              สำหรับคนที่ไม่ประมาทเตรียมตัวพร้อมก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่คนที่โรคภัยไข้เจ็บมาเยือนอย่างไม่ทันได้เตรียมตัวก็จะลำบากหน่อย สิ่งที่ควรทำคือ เราควรรักษาร่างกายให้ดีที่สุดเท่าที่มีกำลังจะทำได้ อาศัยตัวช่วย เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ของรัฐที่มีให้ ที่สำคัญรักษาใจเราไว้ให้ดี คือ เอาใจตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะยากหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกเอาใจระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เป็นเนืองนิตย์แต่โรคภัยมาถึงตัวแล้วจึงต้องยอมทุ่มสู้เท่านั้น
ยกตัวอย่าง เหมือนนักเรียนที่ดูหนังสือตลอดทั้งเทอม พอใกล้สอบก็สบาย แต่คนไหนเกเรไม่ค่อยอ่านหนังสือ พอถึงคราวจะสอบอีก 2-3 วัน ก็ต้องอดหลับอดนอน ทุ่มอ่านหนังสือหนักกว่าคนอื่นถึงจะมีสิทธิ์สอบผ่าน


              เพราะฉะนั้นพวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังมีกำลังอยู่ ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจนอาการหนักหนาสาหัส ก็ไม่ควรประมาทท ช่วงเตรียมตัวรับมือกับความเจ็บป่วยนี่ล่ะสำคัญมากๆ อย่าคิดว่าเรื่องเจ็บป่วยเป็นเรื่องไกลตัว รวมทั้งต้องเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตัวเองด้วยว่า ทำอย่างไรเราถึงจะป่วยช้าๆ ป่วยน้อยๆ  ทบทวนหลักปฏิบัติโดยย่อ คือ บำรุงร่างกายด้วยอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินให้เป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีสภาพจิตที่ดี มีอารมณ์เบิกบาน ที่สำคัญต้องตั้งมั่นอยู่ในบุญหมั่นสร้างบุญสร้างกุศล รักษาอารมณ์ของเราให้ผ่องแผ้วอยู่เป็นเนืองนิตย์ เราจะเป็นคนมีร่างกายดี ที่ป่วยไข้ไม่สบายบ้างก็หายเร็ว กลายเป็นคนที่มีความสุขทั้งภพนี้ภพหน้าตลอดไป

------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " รู้ทันชีวิต " 
ธรรมะขัดเกลานิสัย สร้างสุขภาพที่ดี ให้ร่างกายพร้อมสร้างบารมีต่อไป
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.064842216173808 Mins