มิจฉาทิฏฐิ (มีความเห็นผิด)
เจตนาเป็นเหตุให้เห็นผิด เพราะไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง คัดค้านข้อประพฤติปฏิบัติของสัตบุรุษทั้งหมด โดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ12)
กรณีศึกษาในเรื่องของกรรมมิจฉาทิฏฐิ
กรณีศึกษาที่ 1 (วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งมีชีวิตครอบครัวในวัยเด็กลำบากมาก ซึ่งหลายครั้งจะต้องออกไปยืมเงินจากคนข้างบ้านหรือเพื่อนคุณพ่อ มาใช้จ่ายในครอบครัว พี่น้องของเธอทุกคนต้องทำงานเสริมเพื่อหารายได้ เช่น พับถุงกระดาษขาย ทอเสื่อ มัดแฝก เลี้ยงหมู จนกระทั่งจบการศึกษาด้วยกันทุกคนและมีชีวิตที่ดีขึ้น
สาเหตุที่หญิงผู้นี้มีชีวิตครอบครัวในวัยเด็กลำบากมาก เพราะกรรมในอดีตชาติเกิดในตระกูลทำมาค้าขายที่เริ่มจากไม่มีอะไรเลย แต่ขยันหมั่นเพียรและเก็บหอมรอมริบจนสามารถตั้งตัวได้ จึงไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม ทำให้ไม่เชื่อว่าทำบุญแล้วรวย แต่เชื่อว่าต้องขยันจึงจะรวย ต่อมาค้าขายขาดทุนประสบความทุกข์ จึงได้ทำตามคำแนะนำของเพื่อนกัลยาณมิตรที่มาชวนสร้างบุญ ทำให้ได้สร้างบุญมาตลอดและชีวิตก็เริ่มดีขึ้นในภายหลัง
กรณีศึกษาที่ 2 (วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งเคยเป็นร่างทรง เพราะได้รับคำแนะนำ จากหมอดูว่า ถ้าเป็นร่างทรงแล้วจะหายป่วย จึงยอมให้ลงทรง แต่เนื่องจากอาย จึงยอมลงให้เฉพาะหมู่ญาติและคนที่จำเป็น แต่เมื่อคุณแม่ของเธอป่วยเป็นอัมพาต ก็ได้ขอให้องค์เทพที่มาลงทรงช่วยรักษาคุณแม่ โดยสัญญาว่าจะลงทรงให้กับทุกคนที่มาหา จึงทำให้คุณแม่ของเธอกลับมาเดินได้ แต่ไม่ปกติเหมือนเดิม และจะเป็นๆ หายๆ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อคุณพ่อคุณแม่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่ได้มานั่งลงทรง แต่ขอใช้วิธีทำบุญ ปฏิบัติธรรมช่วยสร้างบารมีให้แทน
สาเหตุที่หญิงผู้นี้ต้องมานับถือทรงเจ้า เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเป็นคนเชื่อเรื่องทรงเจ้าเข้าผี เมื่อนับถือไปนานๆ ตนเองก็เลยกลายเป็นร่างทรง แต่ต่อมาก็เลิกนับถือทรงเจ้าเข้าผี และได้เปลี่ยนมานับถือพระรัตนตรัยแทน
กรณีศึกษาที่ 3 (วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2547) ชายคนหนึ่งเกิดที่นิวยอร์ก ในสมัยวัยรุ่นเคยเป็นทหารร่วมรบในสงครามเวียดนาม จึงทำให้ได้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนา เมื่อกลับไปอเมริกา มีผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาไม่รู้จัก โทรศัพท์มาหาและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาได้ถูกต้อง และขู่ให้ไปหา เขาจึงตัดสินใจไปที่บ้านของผู้หญิงคนนั้น เมื่อไปแล้วกับพบความแปลกๆ จนน่ากลัว จากนั้นเธอก็เข้ามาจับแขนเขาด้วยแรงที่มหาศาล เขากลัวมากจึงรีบหนีออกมา แล้วไปหลบที่บ้านของผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่โทรเข้ามาหาและบอกว่า “ พระเจ้าจะคุ้มครอง” จึงทำให้เขารอดจากการขู่บังคับของผู้หญิงคนแรก และทำให้เขาศรัทธาในพระเจ้าและเป็นจุดหักเหที่ทำให้เขามาเป็นบาทหลวง
ต่อมาเขารู้สึกผิดหวังกับการกระทำบางอย่างของกรรมการโบสถ์ จึงเริ่มหันมาศึกษาคำสอนในทางพระพุทธศาสนา และเกิดความศรัทธาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมาก ถึงขนาดนำเอาคำสอนของพระพุทธองค์ไปสอนในโบสถ์ โดยสอนให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆ แต่ก็ถูกต่อต้านจากกรรมการโบสถ์รุ่นเก่า
สาเหตุที่ชายผู้นี้ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ จนทำให้ต้องไปเป็นบาทหลวง แล้วเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา และพลัดไปเกิดในต่างประเทศ อยู่ในครอบครัวที่นับถือศาสนาอื่น เพราะกรรมในอดีตชาติที่เคยบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ได้สึกออกไปมีครอบครัว จึงทำให้บางคนในวัดพูดดูถูกดูแคลน เมื่อเขาทราบจึงโกรธและน้อยใจ ได้ปฏิญาณว่าจะไม่กลับมาวัดอีก ต่อมามีเพื่อนชักจูงไปศึกษาลัทธิอื่นที่นับถือพวกเทพ จึงไปศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง พอรู้ว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องจึงออกมาและได้พบกัลยาณมิตรชักชวนให้กลับมานับถือพระพุทธศาสนาอีก ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับเข้ามาบวชอีกครั้งตอนบั้นปลายชีวิต และสามารถบวชได้ตลอดชีวิต
กรณีศึกษาที่ 4 (วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546) ชายคนหนึ่งมีชีวิตลำบากมาก ต้องทำงานหนัก ตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือได้แค่ชั้น ป.4 ต่อมาเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อทำงานกับพี่ชาย จึงสามารถเก็บหอมรอบริบและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ จนสามารถตั้งโรงงานเป็นของตัวเองได้ สาเหตุที่ชายผู้นี้มีชีวิตที่ลำบากตั้งแต่เด็ก เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก จึงมีทิฏฐิมานะมากและไม่เชื่อว่าทำบุญแล้วจะรวย แต่เชื่อว่าคนจะรวยอยู่ที่ความขยันและความสามารถของตนเอง ภายหลังได้เจอกัลยาณมิตรอธิบายเรื่องความเป็นจริงของชีวิตที่เกิดมา ทำให้เขาเกิดศรัทธาได้มาสร้างบุญในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง
กรณีศึกษาที่ 5 (วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งนับถือความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่เธอก็ไม่ค่อยได้ไปร่วมทำพิธีทางความเชื่อนั้น แต่กลับชอบไปร่วมกิจกรรมของศาสนาที่เน้นความสุขและให้ความรักต่อมนุษย์และสรรพสัตว์ จนกระทั่งได้มาฝึกสมาธิ ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น สาเหตุที่หญิงผู้นี้ต้องไปนับถือความเชื่ออื่นและไม่ได้เกิดในพระพุทธศาสนา เพราะกรรมในอดีตชาติเคยนับถือพระพุทธศาสนา แต่ภายหลังได้เปลี่ยนไปนับถือความเชื่ออื่นเป็นเวลานาน แต่ด้วยบุญที่ทำไว้ในพระพุทธศาสนาจึงทำให้ได้กลับมาสร้างบุญในพระพุทธศาสนาอีก
-------------------------------------------------------------------
12) กถาว่าด้วยวินัย มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย,2532), หน้า 116.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต