ชาดก 500 ชาติ
อภิณหชาดก-ชาดกว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ
ในสมัยพุทธกาลได้มีชายหนุ่มคู่หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองสนิทสนมและมักจะไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด จนเป็นที่รู้กันทั่วทั้งเมืองถึงความสนิทสนมของสหายรักคู่นี้ “ ไงท่าน วันนี้เราจะไปไหนกันดีนี่ ” “ ข้าว่าจะชวนท่านขึ้นไปหาสมุนไพรด้วยกันหน่อย เอาไหมล่ะ ” “ ไปสิ ไปสิ ข้ากำลังอยากขึ้นเขาอยู่พอดี ”
“ คู่หูเพื่อนซี้คู่นี้ช่างซี้ปึกกันจริง ๆ แถมยังหล่ออีกต่างหาก ” “ นี่ตกลงเจ้าชื่นชมในความรักเพื่อนของเขา หรือชื่นชมหน้าตาเขาเนี่ย งง ” “ เบื่อจริง ๆ พวกรู้ทัน ”
ชายทั้งสองคนไม่เคยแยกห่างกัน แม้ยามกินก็ยังชวนไปกินข้าวที่บ้านของกันและกันเสมอจนเป็นที่ชินตาของทุกคน “ มา มา วันนี้กินข้าวที่บ้านข้านี่แหละ กินกันไป คุยกันไป จะได้คล่องคอ ” “ ได้เลยเพื่อนรัก ”
อยู่มาวันหนึ่ง ชายคนหนึ่งก็ตัดสินใจเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาธรรม ส่วนเพื่อนอีกคนถึงแม้จะไม่ได้บวชด้วยก็ยังแสดงความปลาบปลื้มไปด้วย “ เพื่อนเอ๋ย ข้าตัดสินใจแล้วว่าจะบวชเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระบรมศาสดา ” “ อือ น่ายินดียิ่ง เสียดายที่ข้าบวชด้วยไม่ได้ด้วยมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูแม่ที่แก่เฒ่า แต่ข้าก็ยินดีกับท่านด้วยนะ ”
“ ออกบวชไปคนหนึ่งเหรอ อุ๊ยดีจังเลย ” “ ยินดีที่เขาได้บวชหรือว่าดีใจที่อีกคนยังว่างนี่ นึกว่านึกไม่ทันเหรอ ” “ ชิ เบื่อจริง ๆ พวกรู้ทันเนี่ย ” การที่อีกคนหนึ่งออกบวชก็ไม่ได้ทำให้ความสนิทสนมของทั้งสองลดน้อยลงไปแต่อย่างใด
เพื่อนที่ไม่ได้ออกบวชนั้นก็บำเพ็ญตนเป็นอุบาสก ทำบุญให้ทานอยู่สม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน โดยเพื่อนที่บวชเป็นพระก็ยังมาฉันอาหาร ยังเรือนของเพื่อนรักอยู่เป็นประจำ “ นิมนต์หลวงพี่ฉันภัตตาหารได้เลยขอรับ วันนี้กระผมเตรียมไว้เยอะเลยครับ ” “ ขอบใจโยมเพื่อนมากนะ ”
เมื่อฉันอาหารเสร็จทุกครั้งเพื่อนผู้เป็นอุบาสกก็จะเดินมาส่งเพื่อนผู้บวชเป็นพระจนถึงพระเชตวันมหาวิหารทุกครั้งไป และก็จะนั่งสนทนากันอยู่นานจนถึงเวลากลับ
เพื่อนผู้บวชเป็นพระก็จะเป็นฝ่ายเดินมาส่งเพื่อนผู้เป็นอุบาสกจนถึงเรือนปฏิบัติเช่นนี้อยู่เป็นประจำ “ กราบนมัสการหลวงพี่ เดินทางกลับพระเชตวันมหาวิหารดี ๆ นะขอรับ ” “ ขอบใจโยมเพื่อนมากนะ ”
เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของภิกษุทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายจึงจับกลุ่มกันสนทนาในโรงธรรมสภาถึงเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยความสงสัย “ หือ ทำไมเขาทั้งคู่ถึงได้สนิทกันเพียงนั้นเนี่ย ” “ นั้นนะสิ ทำอย่างนี้ได้ทุกวันไม่เคยขาดเลย น่าแปลกจริง ๆ ”
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจึงทรงตรัสถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อทราบความทั้งหมดแล้วพระศาสดาจึงตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สหายทั้งสองนี้เป็นผู้ที่คุ้นเคยกันมิใช่แต่เพียงในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นผู้ที่คุ้นเคยกันเหมือนกัน ” จากนั้นจึงทรงระลึกชาติครั้งนั้นด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณตรัสอภิณหชาดก ดังนี้
ในอดีตกาลในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ณ โรงช้างของพระเจ้าพรหมทัตนั่นเองยังมีช้างต้นอยู่ตัวหนึ่งอาศัยออยู่ด้วยความผาสุขในโรงช้างแห่งนั้น เฉกเช่นเดียวกับช้างตัวอื่น ๆ
อยู่มาวันหนึ่งได้มีลูกสุนัขตัวหนึ่งพลัดหลงกับแม่ของมันแล้วเดินโซเซด้วยความหิวโซเข้ามาในโรงช้างแห่งนี้ “ เจ้าตูบน้อยตัวนี้มาจากไหนกันเนี่ย ดูท่าจะหิวน่าดูเลยนะเนี่ย ” “ โอ้ย หิวเหลือเกินจะเป็นลมแล้ว โอ้ย หิว ”
“ ว่าไงล่ะเจ้าตูบน้อยเอ๋ย เจ้าไปไงมายังไงละเนี่ยถึงได้มาเดินอยู่ในโรงช้างอย่างนี้ได้ยังไงกัน ” “ พี่ช้างอภัยให้ข้าด้วยเถอะข้าพลัดหลงกับแม่หิวจนตาลายแล้วครับ ” “ งั้นหรอกหรือ งั้นเจ้าก็พักอยู่ที่นี่ซะก็แล้วกันนะ อาหารที่นี่ก็มีเยอะ เดี๋ยวข้าจะแบ่งให้เจ้ากินเองไม่ต้องกลัว ”
“ จริงหรือครับพี่ช้าง ขอบคุณครับ ไม่อดตายแล้วเรา ” พญาช้างต้นนั้นรักและเอ็นดูลูกสุนัขยิ่ง ยอมให้ร่วมกินอาหารและขนมนมเนยได้อย่างเต็มที่ “ อร่อยจริง ๆ พี่ช้างไม่กินเดี๋ยวข้ากินหมดก่อนนะ ” “ เอาเลยเจ้าตูบน้อยกินเข้าไปเยอะๆ จะได้ตัวโตเหมือนข้า ฮะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ”
เมื่อกินอิ่มแล้วทั้งคู่ก็มักจะเล่นกันอย่างสนุกสนาน ลูกสุนัขมักจะหลอกล่อช้างต้นไปมาเป็นที่สุนกสนาน “ แน่จริงก็จับข้าให้ทันสิพี่ช้าง ถ้าจับได้ให้ขี่หลังนะ ” “ เฮอะ ๆ เจ้าตัวแค่นี้นะ จะให้ข้าขี่หลัง เดี๋ยวเถอะจับได้ข้าจะเขกหัวเจ้าตูบน้อยซะให้เข็ดเลย ฮะฮ่า ฮ่า ” “ มาเลย มาเลย ฮะ ฮะ ฮะ ”
ฝ่ายช้างต้นก็มักจะใช้งวงจับลูกสุนัขไสไปไสมาตามพื้นบ้าง ยกไว้บนตะพองบ้างเป็นที่สนุกสนาน สัตว์ทั้งสองร่วมกันกินร่วมกันเล่นอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา “ เอาอีก ๆ พี่ช้างสนุกดีเหมือนนั่งชิงช้าเลย ” “ เอา อึ๊บ เกาะดี ๆ นะเจ้าตูบน้อย เอา อึ๊บ โอ้ย ชักเมื่อยเหมือนกันแฮะ ”
อยู่มาวันหนึ่งได้มีชาวบ้านคนหนึ่งเดินเข้ามาพบลูกสุนัขในโรงช้างเข้าแล้วรู้สึกประทับใจในลูกสุนัข ซึ่งมีลักษณะดีขนเป็นเงางามท่าทางเฉลียวฉลาด จึงบังเกิดความเอ็นดูลูกสุนัขตัวนั้น
“ เอะ ลูกสุนัขตัวนี้น่ารักดีแฮะ ของใครกันนะเห็นแล้วถูกชะตาจริง ๆ ลองขอซื้อกับเจ้าของดูดีกว่า ” เมื่อตัดสินใจได้ดังนั้นชายคนดังกล่าวจึงเข้าไปสอบถามกับควานช้างเพื่อขอซื้อลูกสุนัขน้อยตัวนั้น
“ พ่อควานช้างลูกสุนัขน้อยตัวนั้นเป็นของท่านรึ ” “ อ่อ เปล่าหรอก มันไม่ใช่ของเราหรอก มันพลัดหลงเข้ามาอยู่ในโรงช้างนี่นะท่าน ” “ งั้นรึ คือย่างนี้ท่านควานช้าง ข้ารู้สึกถูกชะตากับเจ้าสุนัขตัวนี้เสียจริง ๆ ท่านช่วยขายให้ข้าเถอะนะรับรองเลยว่าข้าจะเลี้ยงดูมันเป็นอย่างดี ขายให้ข้าเถอะนะ นะพ่อควานช้าง ” “ เอาสิ ถ้าท่านรักมันมากข้าก็ยินดีจะขายให้ ”
“ ขอบคุณมากท่านควานช้าง เอาล่ะเจ้าหมาน้อย ไปอยู่กับข้าเถอะนะ ข้าจะเลี้ยงดูเจ้าเอง ” นับแต่ลูกสุนัขถูกพรากไปพญาช้างต้นก็ไม่เป็นอันกินอันนอน
แม้กระทั่งควานช้างมาพาไปอาบน้ำก็ยังเอาแต่นิ่งเฉยไม่ขัดสีร่างกายเหมือนอย่างเคย ซ้ำบางคราวยังเหม่อลอยอย่างไรจุดหมายน้ำตาไหลพรากอาบแก้ม ใครจะเรียกอย่างไรก็ไม่รับรู้ทั้งสิ้น “ ช้างต้นเอ๋ยอาบน้ำเสร็จจะให้กินอ้อยของโปรดนะ ชอบไหม เอ้..ทำไมหมู่นี้ดูแปลก ๆ ไปนะ ปกติพอได้ยินว่าจะกินอ้อยจะต้องดีใจทุกครั้งนี่น่า ”
“....เฮ้อ เจ้าตูบน้อยเอ้ย ตอนนี้เจ้าจะเป็นยังไงบ้างนะ จะมีข้าวกินอิ่มหรือเปล่าละเนี่ย ” “ เอ้ ทำไมหมู่นี้ช้างต้นเป็นอย่างนี้นะ หากช้างต้นเป็นอะไรไปเรามีหวังถูกลงโทษแน่ ๆไม่ได้การล่ะต้องไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบดีกว่า ”
ควานช้างจึงตัดสินใจทูลเรื่องนี้ให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทราบแล้วก็มีรับสั่งให้อำมาตย์บัณฑิตเข้าเฝ้าเพื่อทำการช่วยเหลือพญาช้างต้นโดยทันที “ ท่านอำมาตย์ท่านลองไปตรวจดูสิว่าพญาช้างต้นมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ” “ พระเจ้าค่ะ โปรดวางพระทัยได้เลย ข้าน้อยจะหาสาเหตุที่ช้างต้นเป็นอย่างนี้ให้ได้พระเจ้าค่ะ ”
“ เอ้ พญาช้างต้นก็แข็งแรงดีนี่น่า ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย บาดแผลก็ไม่มีมันเกิดจากอะไรนะ อืม..ธรรมดาแล้วหากเป็นคนทั่วไปหากจะเสียใจได้ถึงเพียงนี้มักจะเป็นเพราะว่าถูกพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เอ้ หรือว่าเหตุที่พญาช้างต้นเป็นอย่างนี้เพราะว่าถูกพรากจากผู้เป็นที่รักด้วย ใครกันน๊าที่เป็นผู้เป็นที่รักของพญาช้างต้น จะว่าเป็นควานช้างก็ไม่ใช่ เพราะควานช้างก็ยังอยู่ แต่มันต้องมีแน่ ๆ ใครที่สนิทสนมกับพญาช้างต้นยิ่งกว่าควานช้างนะ เอ้ ใครกันหนอ ”
เมื่อคิดได้เช่นนั้นอำมาตย์จึงรีบสอบถามควานช้างโดยทันที “ นี่พ่อควานช้างข้าขอถามหน่อยสิท่านพอจะทราบไหมว่าธรรมดาแล้วพญาช้างต้นจะสนิทสนมกับใครมากเป็นพิเศษหรือเปล่า ” “ เอ้ ก็ไม่เห็นมีใครเลยนี่ครับ ท่านอำมาตย์ เอ๊ะ หรือว่า ” “ อะไรหรือพ่อควานช้าง ” “ อ๋อ พอดีข้าพเจ้าเพิ่งนึกขึ้นได้ขอรับ ว่าเมื่อก่อนจะมีลูกสุนัขตัวหนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพญาช้างต้นมากเลยขอรับ ” “ ลูกสุนัขรึ พ่อควานช้างเลี้ยงไว้หรืออย่างไร ” “ อ๋อ ข้าพเจ้ามิได้เลี้ยงไว้หรอกขอรับ ไม่รู้ว่าเจ้าลูกสุนัขนั้นหลงมาจากไหน เห็นมันเข้ามากินข้าวกินขนมของพญาช้างต้นทุกวัน แล้วก็ชอบเล่นกันอยู่ที่โรงช้างนี่แหละขอรับท่านอำมาตย์ ” “ แล้วตอนนี้มันไปไหนแล้วล่ะ ไปพามาให้เราดูหน่อยสิพ่อความช้าง ”
“ คือว่าข้าพได้ขายไปให้ชายคนหนึ่งไปแล้วขอรับ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าบ้านของชายคนนั้นอยู่ที่นะสิขอรับ ” “ อืม เรื่องมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ” จากนั้นอำมาตย์บัณฑิตจึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ “ ขอเดชะใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท ที่พญาช้างต้นมีอาการซึมเศร้า เหมือนหมดอาลัยในชีวิตนั้นเป็นเพราะคิดถึงลูกสุนัขที่เป็นเพื่อนรัก แต่ขณะนี้ลูกสุนัขตัวนั้นได้ถูกชาวบ้านคนหนึ่งนำไปเลี้ยงไว้แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใดพระเจ้าค่ะ ” “ เป็นอย่างนั้นเองรึ เอาล่ะท่านราชบุรุษท่านจงป่าวประกาศไปทั่วเมืองว่าผู้ใดที่เลี้ยงสุนัขตัวนี้ไว้ให้ปล่อยออกมาเสีย มิฉะนั้นถ้าตรวจพบในเรือนของผู้ใดผู้นั้นจะถือว่ามีโทษ ” “ พระเจ้าค่ะ ”
ฝ่ายลูกสุนัขนั้นเล่าเมื่อถูกนำมาเลี้ยงก็ไม่เป็นอันกินอันนอนเช่นกัน แม้ว่าจะได้รับการเอาอกเอาใจเป็นอย่างดีแต่มันก็ได้แต่นอนน้ำตาซึม “ ฮือ ฮือ ฮือ พี่ช้าง ข้าอยากเล่นชิงช้ากับพี่ช้าง ฮือ ๆ ๆ ” “ เอ้ เจ้าหมาน้อยเป็นอะไรไปหนอ ตั้งแต่เราเอามันมาเลี้ยงก็เอาแต่เซื่องซึม เฮ้อ รู้อย่างนี้ซื้อช้างมาเลี้ยงแทนซะก็ดี ” จนกระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านที่นำลูกสุนัขมาเลี้ยงไว้ ได้ยินทหารป่าวประกาศเรื่องการตามหาลูกสุนัขตัวดังกล่าวจึงตัดสินใจนำลูกสุนัขนั้นไปปล่อย “
เฮ้อ ขืนเลี้ยงเจ้าไว้ต่อไปนะ ข้าต้องโดนลงโทษแน่ ๆ เอาล่ะเจ้าหมาน้อยเจ้ากลับไปที่ที่เจ้าอยากไปเถอะ โชคดีนะเจ้าหมาน้อย ” “ เย้ เย้ จะได้กลับไปหาพี่ช้างแล้ว จะได้เล่นชิงช้ากับพี่ช้าง ได้ไปเล่นกับพี่ช้าง ได้แกล้งพี่ช้างอีกแล้ว ดีใจจังเลย เย้ เย้ เย้ ”
พญาช้างต้นเมื่อเห็นลูกสุนัขวิ่งมาแต่ไกลก็เปล่งเสียงร้องด้วยความดีใจแล้วใช้งวงกอดรัดไว้ทันที น้ำตาแห่งความปลื้มปีติไหลพรากด้วยกันทั้งคู่ “ ตูบน้อย ตูบน้อยจริง ๆ ฮะ ฮา ฮ่า ตูบน้อยกลับมาหาข้าแล้ว ดีใจจังเลยเจ้าตูบน้อย ” “ ฮะ ฮ่า ฮ่า พี่ช้าง ดีใจจังเลย ได้เจอพี่ช้างอีกแล้ว ” “ ข้าก็ดีใจเหมือนกันเจ้าตูบน้อยเอ้ย คิดถึงเจ้าเหลือเกิน ” “ ว่าแต่ว่าข้าหิวจัง มีอะไรให้หม่ำบ้างครับพี่ช้าง ” “ มาถึงเจ้าก็ถามหาของกินเลยนะ เจ้าเป็นลูกหมาหรือลูกหมูกันแน่ละเนี่ย ฮะฮ่าฮ่า ”
เมื่อเห็นว่าอาการของช้างต้นเป็นปกติสุขดีแล้วอำมาตย์บัณฑิตจึงไปกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ “ บัดนี้อาการของพญาช้างต้นเป็นปกติดีแล้วพระเจ้าค่ะ ” “ งั้นรึ ดีมาก ” จากนั้นพระองค์ได้ตรัสชมเชยที่ท่านบัณฑิตรู้อัธยาศัยของสัตว์และทำให้พญาช้างต้นเป็นปกติเช่นเดิม จึงพระราชทานรางวัลให้กับอำมาตย์บัณฑิตเป็นอันมาก
สุนัขในการนั้น ได้มาเกิดเป็น อุบาสกในบัดนี้
ช้างในกาลนั้น ได้มาเป็น พระเถระในบัดนี้
พระราชา ได้มาเป็น พระอานนท์ในบัดนี้
บัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า