ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา
โดยอาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ
เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่ได้นำมาเสนอในหนังสืออานุภาพเล่มที่ ๑๔ นี้ ได้รับความกรุณาจาก อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รวบรวมค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา และท่านให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "ปาฏิหาริย์ : สื่อการสอนธรรมของพระพุทธเจ้าและสาวก" ซึ่งท่านผู้เขียนได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า
"ผู้เขียนได้รวบรวมไว้นานแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอให้เห็นว่าปาฏิหาริย์ มีส่วนสำคัญในการสอนธรรมของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าและพระสาวกใช้ปาฏิหาริย์เป็นสื่อสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา"
อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ ยังได้อ้างอิงที่มาของเรื่องไว้ชัดเจน ผู้อ่านสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎกดังที่ได้อ้างอิงไว้ ซึ่งจะพบว่าเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกมาโดยตลอด ซึ่งจะได้คัดเลือกเรื่องเหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นตัวอย่างไว้ดังนี้
พระพุทธเจ้าหายตัวข้ามแม่น้ำ
คราวหนึ่ง อำมาตย์ผู้หนึ่งของแคว้นมคธ ๒ ท่านคือ สุนิธะ และวัสสการะ กำลังจัดการสร้างเมืองใหม่ในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันการบุกโจมตีของแคว้นวัชชี ในปาฏลิคามนั้น มีเทวดาจำนวนมากนับด้วยจำนวนเป็นพันองค์สถิตคุ้มครองอยู่
คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ในประเทศใด เทวดาชั้นสูงคุ้มครองอยู่ พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้สูงศักดิ์ย่อมมีพระทัยหรือมีใจน้อมไปเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองในประเทศนั้น ในประเทศใดเทวดาชั้นกลาง (หมายถึงคุณธรรม) คุ้มครองอยู่ พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาชั้นกลางย่อมมีพระทัยหรือมีใจน้อมไปเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองในประเทศนั้น ในประเทศใดเทวดาชั้นต่ำคุ้มครองอยู่ พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาชั้นต่ำย่อมมีพระทัยหรือมีใจน้อมไปเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองในประเทศนั้น
พระพุทธเจ้าทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นจำนวนพันองค์คุ้มครองสถานที่ที่จะสร้างเมืองในปาฏลิคามนั้นด้วยทิพยจักษุ เวลาใกล้รุ่ง พระองค์ได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาถามว่า ดูก่อนอานนท์ ใครกันหนอกำลังสร้างเมืองอยู่ในปาฏลิคาม พระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อำมาตย์ผู้ใหญ่ของแคว้นมคธ ๒ ท่านคือ สุนิธะ และวัสสการะกำลังสร้างเมืองกันอยู่ในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันการรุกรานของแคว้นวัชชี
พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกพระอานนท์ไปว่า ดูก่อนอานนท์ ตถาคตอยู่ในที่นี้ได้มองเห็นเหล่าเทวดาจำนวนมากหลายพันองค์ คุ้มครองสถานที่สร้างเมืองในปาฏลิคามอยู่ด้วยทิพยจักษุ ครั้นแล้วพระองค์ได้ทำนายอนาคตของเมืองที่สร้างใหม่ไว้ว่า เมืองนี้จักมีชื่อว่า เมืองปาฏลีบุตร เป็นเมืองที่เลิศ กล่าวคือจักเป็นดินแดนแห่งพระอริยะ เป็นดินแดนแห่งพาณิชยกรรม ดูก่อนอานนท์ แต่ว่าเมืองปาฏลีบุตรจักประสบภัยพิบัติ ๓ อย่างคือ ภัยพิบัติจากไฟ ภัยพิบัติจากน้ำท่วม และภัยพิบัติเพราะความแตกสามัคคีกันเอง
ต่อมา มหาอำมาตย์ทั้งสองท่านได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกไปเสวยและฉันที่เมืองที่กำลังสร้างใหม่นี้ ครั้นเสวยพระกระยาหารเช้าที่มหาอำมาตย์ทั้งสองจัดถวายแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
"บุคคลผู้เป็นบัณฑิตอยู่ในประเทศใด ย่อมนิมนต์ท่านผู้มีศีล สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ให้ฉันในประเทศนั้น แล้วพึงอุทิศส่วนกุศลให้แก่เหล่าเทวดาที่สถิตอยู่ในประเทศนั้นด้วย (เพราะว่า) เทวดาเหล่านั้นได้รับการบูชา (จากบุคคลผู้เป็นบัณฑิต) แล้วย่อมบูชาเขาตอบ ได้รับการนับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ จากนั้นก็จะอนุเคราะห์ (ช่วยเหลือ, คุ้มครอง) เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรที่เกิดจากตนฉะนั้น บุคคลที่เทวดาอนุเคราะห์แล้วย่อมเห็นความเจริญในกาลทุกเมื่อ"
พระพุทธเจ้าครั้นทรงอนุโมทนาต่อท่านมหาอำมาตย์ทั้งสองแล้ว ก็ได้เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้งนั้น ท่านมหาอำมาตย์ทั้งสองก็เดินตามหลังพระพุทธเจ้าไปพร้อมทั้งคิดอยู่ในใจว่า วันนี้พระสมณโคดมจักออกไปทางประตูด้านใด ประตูด้านนั้นจักมีชื่อว่า ประตูโคตมะ จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาทางท่าใด ท่านั้นจักมีชื่อว่า ท่าโคตมะ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกประตูใด ประตูนั้นก็ตั้งชื่อว่า ประตูโคตมะจริงๆ และท่าน้ำที่เสด็จข้ามก็ชื่ออย่างนั้นด้วย
ขณะนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาขึ้นเต็มเสมอฝั่งขนาดกาก้มลงดื่มได้ มีคนกำลังเตรียมตัวจะข้ามจำนวนมาก บางพวกก็ใช้เรือ บางพวกก็ใช้แพ แต่ว่าพระพุทธเจ้าหาได้ใช้เรือหรือแพเหมือนชนกลุ่มนั้นไม่ พระองค์พร้อมด้่วยพระสาวกทรงหายจากฝั่งนี้แล้ว ไปปรากฏอยู่ที่ฝั่งข้างโน้นอย่างรวดเร็ว
ที่มา : ที.มหา.๑๐/๑๐๓ (มหาปรินิพพานสูตร)
พระควัมปติไปพักกลางวันในเทวโลก
พระควัมปติ มักเดินทางไปพักกลางวันที่วิมานไม้ซีก (เสรีสกวิมาน) ซึ่งว่างเปล่า อยู่เป็นประจำ ครั้งหนึ่งปายาสิเทพบุตรได้เข้าไปหาท่าน ทำความเคารพแล้วได้ยืนอยู่ ณ ทีี่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระควัมปติได้ถามปายาสิเทพบุตรนั้นว่า ท่านเป็นใคร ปายาสิเทพบุตรได้ตอบว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ตนคือพระเจ้าปายาสิ (พระราชาเมืองเสตัพยะ)
พระควัมปติได้ถามต่อไปว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ท่านมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะไม่มี ผลวิบากของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีใช่หรือไม่ ปายาสิเทพบุตรได้ตอบว่า ใช่ เมื่อก่อนตนมีความเห็นอย่างนั้นจริง แต่ว่าต่อมาได้พระกุมารกัสสปะช่วยปลดเปลื้องออกจากความเห็นผิดอย่างนั้นได้
พระควัมปติได้ถามต่อไปว่า มาณพชื่ออุตตระ ซึ่งเป็นคนจัดการให้ทานแทนท่านไปเกิดอยู่ที่ไหน ปายาสิเทพบุตรเรียนว่า อุตตรมาณพให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน นอบน้อมให้ทาน ให้ทานแบบสละขาด (ไม่มีความตระหนี่) ตายไปได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นแล้วได้เรียนถวายพระเถระต่อไปว่า สำหรับตัวข้าพเจ้าไม่ได้ให้ทานโดยเคารพ ไม่ได้ให้ทานด้วยมือของตนเอง ไม่ได้นอบน้อมให้ทาน ตายแล้วได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งต่ำกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในวิมานชื่อเสรีสกะ (วิมานไม้ซีก) อันว่างเปล่า
ปายาสิเทพบุตรได้ขอร้องพระควัมปติว่า เมื่อท่านกลับไปสู่โลกมนุษย์ แล้ว ขอท่านจงบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายให้ถวายทานโดยเคารพ ถวายทานด้วยมือของตน ถวายทานด้วยความนอบน้อม ถวายทานที่เลิศ และขอให้ยกเรื่องของตนเองกับมาณพชื่ออุตตระเป็นตัวอย่าง
พระเถระรับคำแล้วได้กลับมายังโลกมนุษย์ และเทศนาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายตามที่ปายาสิเทพบุตรขอร้องมา
ที่มา. ที.มหา. ๑๐/๑๙๔,๑๙๖ (ปายาสิราชัญญสูตร)