วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เหตุที่ทำให้ได้การต้อนรับ ไม่ขี้น้อยใจ ไม่อิจฉาตาร้อน

 

CV_4604_04%20%282%29.jpg

เหตุที่ทำให้ได้การต้อนรับ
ไม่ขี้น้อยใจ ไม่อิจฉาตาร้อน

โดย พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

                สำหรับวันนี้ หลวงพ่อมีเรื่องกุลสูตร ว่าด้วยตระกูลที่ภิกษุควรเข้าหรือไม่ควรเข้า มาฝากพวกเราทุกคน แต่ก่อนที่จะเจาะลึกไปถึงตรงนั้น เพื่อปูพื้นความรู้ก่อนที่จะอธิบายกุลสูตร หลวงพ่ออยากให้ภาพรวมกับพวกเราสักเล็กน้อย

 


                เรื่องที่ ๑ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
                หลวงพ่อจำได้ว่า ตั้งแต่เล็กจนโตมา จะเข้าไปบ้านใคร ครอบครัวไหน อาจจะเป็นบ้านญาติ บ้านเพื่อน หรือไปด้วยธุรกิจการงานก็ตามมีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี


                เมื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ครูบาอาจารย์หรือพรรคพวกเพื่อนฝูงที่นั่น ก็จะพาไปบ้านเขาเป็นประจำ และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ส่วนเพื่อนชาวเอเชียประเทศอื่น ที่เขาไปเรียนด้วยกัน ก็ไม่มีใครได้รับการชวนไปกินข้าวที่บ้านเหมือนอย่างกับเรา

 


                เรื่องที่ ๒ น้อยใจไม่เป็น
                ตั้งแต่เล็กจนโต หลวงพ่อน้อยใจไม่เป็น เห็นบางคนน้อยใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ น้อยใจว่าพ่อแม่ไม่รัก มาทำงานก็บอกว่าผู้บังคับบัญชาไม่รัก ครั้นแต่งงานก็มาเจอสามีไม่รัก ภรรยาไม่รักหนักเข้ามีลูก ลูกก็ไม่รัก แล้วก็มานั่งน้อยใจแต่หลวงพ่อไม่เคยเป็น


                สมัยเรียนหนังสือ บางชั้นเรียนครูบาอาจารย์อาจจะไม่ชอบเรา อาจเป็นเพราะซนมากไป หรือไม่ค่อยสนใจวิชาที่ท่านสอนเท่าที่ควร แต่หลวงพ่อรู้สึกเฉยๆ ครูไม่ชอบก็ไม่เป็นไรเราก็กินอิ่มนอนหลับ เดี๋ยวก็เฮฮาไปได้ ไม่ค่อยเดือดร้อนอะไร


                ผลการเรียน ไม่ถึงกับได้ท็อปในห้อง แต่ก็ได้ประมาณที่ ๕ ที่ ๖ เพราะฉะนั้นจะให้น้อยใจว่า เรียนไม่เก่ง ก็ไม่น้อยใจ


                แม้ที่สุดเรื่องเล่นกีฬา หุ่นอ้วนๆ ล่ำๆ อย่างนี้ วิ่งเร็วสู้เขาไม่ได้แต่ก็ไม่รู้สึกน้อยใจ เราก็หันไปวิ่งทนไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย


                พอเป็นวัยรุ่นขึ้นมาก็ไม่น้อยอกน้อยใจว่าเราไม่หล่อ เพราะคิดว่าไม่หล่อก็ไม่เป็นไร มีเรื่องชดเชยความไม่หล่ออีกตั้งมากมาย

 


                เรื่องที่ ๓ อิจฉาใครไม่เป็น
                อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อภาคภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนไว้ว่า คนเราไม่จําเป็นต้องเป็นพระเอกทุกเรื่อง มี ๑๐-๒๐ เรื่อง เป็นพระเอกกับเขาสักเรื่อง อีก ๙ เรื่องเป็นคนใช้ เป็นผู้ช่วย ก็ไม่เป็นไร เราพอมีอวดไว้สักเรื่องเพียงพอแล้ว


                เพราะฉะนั้น นอกจากน้อยใจไม่เป็นแล้วยังอิจฉาใครไม่เป็นอีกด้วย


                ข้ามไปต่างประเทศอยู่ในหมู่คนผิวขาวก็ไม่ได้ไปอิจฉาว่า เขาผิวขาว เราผิวเหลือง


                การเรียนถึงแม้ไม่ได้ท็อป แต่ก็เรียนได้เลขตัวเดียวมาตลอด เลยอิจฉาใครไม่เป็น


                ที่บ้านก็ไม่รวย แต่ก็ไม่ถึงกับมีใครมาทวงหนี้พูดง่ายๆ ปมเรื่องก็ไม่มี ปมด้อยก็ไม่มี


                สิ่งเหล่านี้หลวงพ่อตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร จนกระทั่งมาพบคุณยายและหลวงพ่อธัมมชโยเลยรู้เรื่องต่างๆ ว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร อดีตเคยทําอะไรมา จึงได้อย่างนั้น ซึ่งก็หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรมในแง่มุมต่างๆ


                ตระกูลที่พระภิกษุไม่ควรเข้าไปหา
                หลวงพ่อปูพื้นฐานทั้ง ๓ เรื่องนี้ ก็เพื่อจะบอกพวกเราว่า การที่ใครก็ตามเวลาไปไหนก็ไม่มีใครต้อนรับ มีอาการน้อยใจ มีอาการอิจฉาตาร้อน ก็เพราะว่าในอดีตเคยไม่เต็มใจต้อนรับพระภิกษุที่ไปถึงบ้าน


                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เคยเข้าไปหา ก็ไม่ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้ องค์ ๙ ประการคือ
                ๑. ตระกูลนั้นต้อนรับด้วยความไม่เต็มใจ
                ๒. ตระกูลนั้นไหว้ด้วยความไม่เต็มใจ
                ๓. ตระกูลนั้นให้อาสนะด้วยความไม่เต็มใจ
                ๔. ตระกูลนั้นปกปิดของที่มีอยู่
                ๕. ตระกูลนั้นมีของมากแต่ถวายของน้อย
                ๖. ตระกูลนั้นมีของประณีต แต่ถวายของเศร้าหมอง
                ๗. ตระกูลนั้นถวายโดยไม่เคารพ
                ๘. ตระกูลนั้นไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
                ๙. ตระกูลนั้นไม่ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น

                พูดง่ายๆ ถ้าประพฤติตัวอย่างนี้ ถึงแม้คนๆ นั้นจะเป็นคนที่รักษาศีล ภาวนา พระภิกษุก็ไม่ควรเข้าไปใกล้ เพราะเขาบกพร่องในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ และด้วยอำนาจทาน ศีล ภาวนาที่ตัวเองทำได้ไม่สมบูรณ์นี้ แม้จะส่งให้ตัวเองไปเป็นเทวดาอยู่สวรรค์ชั้นต่างๆ ได้ แต่ก็เป็นเทวดาชั้นปลายแถว


               คนประเภทนี้ เมื่อถึงคราวผลบุญกรรมของตัวเองส่งมา จะมีปมด้อยติดตัว เดี๋ยวก็มีเรื่องน้อยใจ อิจฉาตาร้อนเขา จะหยิบจับอะไรจะหาความภูมิใจได้ยาก เพราะจะได้อันดับท้ายๆ เพราะขนาดพระภิกษุที่เป็นเนื้อนาบุญมาถึงที่ แล้วยังปล่อยหลุดไป อย่างนี้ก็ยากที่จะทําอะไรได้พอเหมาะพอควร

 


                 ตระกูลที่พระภิกษุควรเข้าไปหา
                ทําอย่างไร เราจะไม่เป็นคนน้อยใจ ไม่อิจฉาใคร และไปไหนๆ ใครๆ ก็ยินดีต้อนรับเราก็ควรทำให้ตระกูลของเราเป็นตระกูลที่ยินดีต่อการต้อนรับพระภิกษุ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า


             ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เคยเข้าไปหา ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้วควรนั่งใกล้ องค์ ๙ ประการคือ
                ๑. ตระกูลนั้นต้อนรับด้วยความเต็มใจ
                ๒. ตระกูลนั้นไหว้ด้วยความเต็มใจ
                ๓. ตระกูลนั้นให้อาสนะด้วยความเต็มใจ
                ๔. ตระกูลนั้นไม่ปกปิดด้วยของที่มีอยู่
                ๕. ตระกูลนั้นมีของมากก็ถวายมาก
                ๖. ตระกูลนั้นมีของประณีต ก็ถวายของประณีต
                ๗. ตระกูลนั้นถวายโดยความเคารพไม่ถวายโดยไม่เคารพ
                ๘. ตระกูลนั้นนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
                ๙. ตระกูลนั้นยินดีภาษิตของภิกษุนั้น

                ผู้ที่ทำอย่างนี้ ถึงคราวบุญส่งผลก็จะส่งผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นเทวดาก็ชั้นแนวหน้า ไปที่ไหนก็จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น เราทำกรรมอย่างไรมา จะดีหรือไม่ดีก็ตาม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลพอเหมาะพอสมกับกรรมนั้นๆ

 


                เรื่องนี้จึงทําให้เราย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราเป็นคนอย่างไร ทุกอย่างที่ทำมาดีหรือยังบกพร่องตรงไหน รู้แล้วให้รีบแก้ไขเสียถ้าไม่แก้ไข ต่อไปถึงคราวบุญส่งผลให้ได้เป็นเทวดาก็มีอานุภาพน้อย อาจจะต้องไปอาศัยวิมานเขาอยู่ หรือมีวิมานเป็นของตนเอง แต่ห่างจากศูนย์กลางออกไปเป็นพันโยชน์

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด อยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล