มีแค้นไม่ชำระ บุญคุณต้องทดแทน

วันที่ 22 มค. พ.ศ.2559

มีแค้นไม่ชำระ บุญคุณต้องทดแทน

    สาเหตุที่ตรัสชาดก
    ณ พระวิหารเชตวัน พระทศพลทรงปรารภพระอานันทเถระที่มีอุปการะคุณ ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

                  ในอดีต มีนครใหญ่แห่งหนึ่งเกิดกบฏชายแดนขึ้น พระราชาแห่งแคว้นได้เสด็จออกปราบปรามอย่างห้าวหาญแต่ทรงพ่ายแพ้ พระองค์รีบขึ้นม้าเสด็จหนีหายสาบสูญไป เหล่ากองทัพก็ตั้งทัพถอยร่นไปรอคอยพระราชาอย่างสิ้นหวัง...

                  ความวังเวงสับสน เสียขวัญ และสิ้นหวังของชาวเมืองที่ไร้องค์ราชันได้ผันผ่านไปแล้ว 3 วันในที่สุด พระราชาก็กลับมาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง! ทรงควบม้าคู่พระทัยกลับมาอย่างปลอดภัยเข้าสู่ฐานทัพ ยกทัพกลับพระนครยังให้ชาวเมืองโล่งใจไปตามๆ กัน...

 

               การกลับมาของพระราชาคราวนี้ถึงกับเปลี่ยนท่าทีไปเป็นคนละคน พระองค์ไม่ทรงคิดยกทัพไปชำระแค้น แต่ละวัน เหมือนทรงเฝ้ารออะไรสักอย่าง วันแล้ววันเล่าพระองค์มิได้ตรัสอะไรมากเหมือนแต่ก่อน พระองค์ดูเหมือนยังคงเฝ้ารอข่าวคราวอันใดสักอย่างอยู่เสมอมา หรือเกิดอันใดขึ้นกับพระราชา

                ผ่านไปหลายวันสิ่งที่พระองค์รอคอยก็ไร้วี่แววที่จะมาถึงพระองค์ พระราชารับสั่งให้เพิ่มภาษีในชนบทแห่งหนึ่งถึง 3 ครั้ง ชาวบ้านถิ่นนั้นเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ต่างปรึกษาหารือกัน แล้วหันไปหาชายหนุ่มคนหนึ่ง กล่าวว่า..

    "พ่อหนุ่มเอ๋ย! เจ้าเคยมีเพื่อนเป็นนายทหารหนุ่มของพระราชามิใช่รึ เจ้าโปรดช่วยพวกเราด้วยเถิด โปรดไปขอให้เพื่อนของท่านที่ชื่อมหาอัสสโรหะนั้นหน่ะ ช่วยให้เขาไปขอร้องพระราชาให้ลดภาษีให้ทีเถิด ตั้งแต่เพื่อนของท่านจากไปแล้ว ภาษีก็ขึ้นเอาๆ ไม่ได้หยุดหย่อนเลย"

 

    ชายหนุ่มสงสารและเห็นใจชาวบ้าน กล่าวว่า..
    "ตกลงฉันจะไป แต่ฉันไม่อาจไปมือเปล่าได้ เพื่อนของฉันมีลูกสอง ท่านทั้งหลายโปรดช่วยจัดแจงเสื้อผ้าและของเล่นให้เด็กสองคนนั้นด้วยเถิด รวมทั้งของฝากถึงสหายและภรรยาของเขาด้วยเถิด" ชาวบ้านดีใจที่ชายหนุ่มรับเป็นธุระให้ รีบกุลีกุจอช่วยกันจัดแจงของฝากไปให้สหายของชายหนุ่มจนเต็มพะรุงพะรังไปหมด

 

             บุรุษหนุ่มหิ้วของฝากและขนมทอดกรอบที่ภรรยาทำมาออกเดินทางมาจนถึงประตูเมืองครั้นพบคนเฝ้าประตูจึงถามหาบ้านของนายมหาอัสสาโรหะ นายประตูจึงพาไปพบพระราชาตามคำสั่งพระราชาทรงสดับข่าวก็ดีพระทัยอย่างสุดแสน รีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์ทันที พอทรงเห็นชายหนุ่มนี้มาเท่านั้น ทรงทักทายแล้วตรัสถามว่า..

    "โอ.. ภรรยาและลูกๆ ของท่านสบายดีหรือเปล่า"


             พระราชาทรงจับมือชายหนุ่มพาขึ้นท้องพระโรง ให้นั่งบนราชอาสน์ภายใต้เศวตฉัตรคู่กับตนรับสั่งให้เรียกพระอัครมเหสีมาตรัสว่า..
    "พระน้องนางผู้เจริญ! เธอช่วยล้างเท้าให้สหายของเราทีเถิด"


               พระอัครมเหสีทรงก้มล้างเท้าชายหนุ่มบ้านนอกผู้ยังงงๆ อยู่ เพราะไม่นึกว่าสหายของตน
จะเป็นพระราชา พระราชาทรงรดน้ำด้วยพระสุวรรณภิงคาร พระเทวีทาน้ำมันหอมที่เท้าบุรุษหนุ่ม
พระราชาตรัสถามว่า..

"เพื่อนเอ๋ย! มีของกินมาฝากให้พวกเราบ้างไหม"
"มีสิ!" ชายหนุ่มกล่าวพร้อมก้มหยิบขนมออกมาจากกระทออย่างกระตือรือร้นพระราชาทรงรับขนมมาใส่จานทอง ทรงสงเคราะห์น้ำใจสหาย แล้วตรัสแก่ข้าราชบริพารทั้งหมดในท้องพระโรงว่า..
"นี่ พวกท่านทั้งหลายเชิญกินขนมที่สหายเรานำมาเถิด"

 

                 ทรงประทานแก่พระเทวีและอำมาตย์ทั้งหลาย แม้พระองค์เองก็ทรงเสวยอย่างอิ่มเอมเปรมฤทัย ชายหนุ่มนำของฝากอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของเล่นต่างๆ มาถวายอีก พระราชาทรงรีบเปลื้องผ้ากาสิกพัสตร์แล้วทรงนุ่งผ้าที่เพื่อนนำมาถวาย ฝ่ายพระเทวีก็ทรงเปลื้องผ้ากาสิกสาฎกและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายแล้วทรงนุ่งผ้าสาฎก ทรงประดับเครื่องอาภรณ์ต่างๆ ที่ชายหนุ่มนำมาให้พระราชาให้สหายทานอาหารค่ำดุจดั่งเป็นพระราชา แล้วทรงสั่งอำมาตย์ว่า..

    "ท่านจงไปให้ช่างมาโกนหนวดให้สหายเราเหมือนที่ทำกับเรา ให้อาบน้ำหอม ให้นุ่งผ้ากาสิกพัสตร์ มีค่านับแสน พร้อมประดับเครื่องอลังการสำหรับพระราชาแล้วนำมาหาเรา"

 

                พระราชาให้ตีกลองป่าวประกาศให้อำมาตย์ทั้งหลายประชุมกัน แล้วพาดด้ายแดงกลางเศวตฉัตร ทรงพระราชทานราชสมบัติครึ่งหนึ่งแก่สหายรัก แต่นั้นมาพระราชาทั้งสองก็ทรงร่วมเสวยร่วมดื่ม ร่วมบรรทมด้วยกันความวิสาสะคุ้นเคยได้แน่นแฟ้นจนใครผู้ใดก็ให้แตกกันไม่ได้อีกแล้วพระราชารับสั่งเรียกบุตรและภรรยาของสหายให้เข้ามาอยู่ในเมือง ทรงสร้างนิเวศน์ให้ในพระนครพระราชาทั้งสองสมัครสมานรื่นเริงบันเทิงพระทัยครองราชย์ร่วมกันเรื่อยมา..

 

               ต่อมา พวกอำมาตย์ทั้งหลายพากันโกรธแค้นพระราชาของตนที่ให้ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งมาเป็นพระราชาโดยมองข้ามพวกตนไป จึงมิอาจยอมรับได้ หากพระองค์ทรงไร้เหตุผลก็เห็นทีราชบัลลังก์ถึงกาลต้องสั่นคลอนแล้ว อำมาตย์ยังมิอยากใช้วิธีรุนแรง เบื้องต้นจึงเข้าไปหาพระราชโอรสทูลขอร้องว่า..

    "ข้าแต่พระราชกุมาร! พระราชาได้ประทานราชสมบัติครึ่งหนึ่งแก่หนุ่มบ้านนอก ทั้งร่วมเสวยร่วมดื่ม ซ้ำให้พวกเด็กๆ มากราบไหว้ ข้าพระบาททั้งหลายทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ไม่ทราบว่าชาวบ้านคนนี้มีดีอะไร ข้าพระบาททั้งหลายรู้สึกละอายใจมากเหลือเกิน ขอพระองค์โปรดทูลเรื่องนี้ให้พระราชาทรงทราบด้วยเถิด"

 

                ราชโอรสเห็นว่าเรื่องชักจะบานปลายเสียแล้ว ได้เข้าไปทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่พระราชา แล้ว อ้อนวอนให้พระองค์อย่าได้ทรงกระทำอย่างนี้ต่อไปอีกเลยพระราชาจึงตรัสเล่าเหตุการณ์ให้โอรสและเหล่าอำมาตย์ให้มาฟังพร้อมๆ กันว่า..

"ลูกเอ๋ย พ่อแพ้การรบครั้งก่อนได้หายไปไหน เจ้าทราบไหม" พระราชาทรงนึกย้อนเหตุการณ์ความหลังที่ไม่เคยลืมเลือนไปจากพระทัย พลางตรัสเล่าให้ทุกคนฟังดังนี้..

 

               ครั้งนั้นเอง.. พระองค์ขึ้นมาเสด็จหนีไป จนถึงบ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านแถบนั้นพากันหนีเข้าบ้านเรือนหมด ไม่มีใครกล้าออกมาต้อนรับทหารที่ไม่รู้จักซึ่งกำลังควบม้าเข้ามา เพราะกลัวถูกฆ่าตาย แต่กลับมีผู้กล้าเปียมน้ำใจผู้หนึ่งเห็นทหารอิดโรยอ่อนล้ามา เข้าไปถามว่า..
"ท่านเป็นใคร เป็นทหารฝ่ายโจรหรือฝ่ายพระราชา"เราตอบไปว่า "เป็นฝ่ายของพระราชา!"
ชายผู้นั้นจึงพาเราไปรักษาตัวที่บ้านแล้วร้องเรียกภรรยามาว่า..
"เธอช่วยล้างเท้าให้แก่สหายเราทีเถิด"

 

                  ชายหนุ่มหาอาหารมาให้ ปูที่นอนให้ เมื่อเราอิ่มแล้วก็นอนพักผ่อนหลับสบายไปด้วยความอ่อนเพลียอย่างยิ่ง บุรุษหนุ่มคนนั้นยังนึกถึงม้าที่อ่อนล้า ออกไปเปลื้องม้าออกให้เดินได้ถนัดให้ดื่มน้ำ เอาน้ำมันทาหลังม้าแล้วให้หญ้าม้ากิน เราพักฟื้นอยู่สามวันก็กลับมาแข็งแรงดุจเดิมจึงขออำลา ก่อนจากกันชายหนุ่มยังได้เตรียมเสบียงให้แก่เราและม้าของเรา ตามมาส่งเรา เราได้บอกฝากนายประตูเอาไว้ว่าถ้ามีชายหนุ่มมาทำธุระแล้วถามหาคนชื่อมหาอัสสาโรหะ ก็ให้พามาหาเราทันที"

                  พระราชาตรัสเล่าเหตุการณ์ความหลังจบ จึงตรัสกับพระโอรสว่า..
"ลูกเอ๋ย พ่อไปพักอยู่บ้านของชายหนุ่มคนนี้ จึงได้รอดชีวิตกลับมาครองราชย์อย่างปลอดภัย เช่นนี้แล้วพ่อจะไม่ให้สมบัติแก่ผู้มีอุปการะแก่เราได้อย่างไร ใครที่ให้แก่ผู้ไม่สมควรให้ แต่กลับไม่ให้แก่ผู้ควรให้คนนั้นเมื่อถึงคราวมีภัยก็จะไม่ได้อุปการะเกื้อหนุนอะไรเลย คนที่ให้สิ่งต่างๆ แก่คนพาลผู้ไม่รู้อุปการคุณแต่กลับไม่ยอมให้แก่เหล่าบัณฑิต เมื่อถึงคราวมีภัยก็จะไม่ได้ใครมาช่วยเพราะคนพาลย่อมเอาตัวรอดเพียงลำพัง ความเกี่ยวพัน และสนิทสนมกันฉันท์มิตรในหมู่พาลที่มักโอ้อวดย่อมไร้ประโยชน์ เหมือนพืชที่หว่านลงในกองเพลิงย่อมฉิบหายไปไม่เหลืออะไร แต่ความสนิทสนมกันฉันท์มิตรในหมู่อารยชนผู้จริงใจซื่อตรงคงที่ แม้เพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์มาก ผู้ใดยอมสละตนทำความดีงามให้เราก่อน ผู้นั้นถือว่าทำสิ่งที่ทำได้แสนยากในโลก แม้ต่อมาภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำดีตอบก็ตาม ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชายิ่งแล้ว"

..นับแต่นั้นมาเหล่าอำมาตย์และพระราชโอรสก็มิได้กล่าวคัดค้านอะไรอีกเลย

 

ประชุมชาดก
          พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า บุรุษชนบทครั้งนั้นมาเป็นพระอานนท์ส่วนพระเจ้าพาราณสีมาเป็นตถาคตแล

          จากชาดกเรื่องนี้ พระราชาทรงเห็นคุณค่าของความกตัญูมากกว่าทรัพย์อันไร้แก่นสาร และสิ่งใดจะมีค่าต่อพระราชามากไปกว่ามิตรสหายเช่นนี้ย่อมไม่มีอีกแล้ว แม้ราชสมบัติก็มิอาจเทียบค่าได้มิตรแท้ทำให้พระองค์ทรงอุ่นพระทัยมากกว่าราชสมบัติ เหตุนี้พระองค์จึงเฝ้าแต่รอคอยสหายนี้ ไม่ทรงสนพระทัยในราชสมบัติเลย เพราะราชสมบัติมิใช่มิตรสหาย ซ้ำทำให้พระองค์ทรงหวาดผวาอยู่เสมอบางคราวก็คล้ายศัตรูที่ล่อให้คนอื่นมาแย่งชิงแล้วสังหารผู้เป็นเจ้าของ จนพระองค์ทรงวางพระทัยผู้คนรอบข้างมิได้เลย มิแน่ว่าทรงครอบครองสมบัติได้นานเพียงไหน เพราะมิตรที่คบหาพระองค์ล้วนเห็นพระองค์เป็นพระราชา จะมุ่งปรารถนาสมบัติหรือคบด้วยใจจริงยังไม่ชัด ต่างกับบุรุษผู้เห็นพระองค์เป็นเพียงทหารจรจัดคนหนึ่งที่พลัดมา แล้วมอบมิตรภาพให้อย่างใจจริง..ผู้คิดตอบแทนพระคุณคน ไม่เพิกเฉยทำเป็นไม่รู้เสีย แสดงถึงภูมิปัญญาผู้นั้นว่าสูงส่งหรือต่ำทราม เพราะค่าของคนอยู่ที่การรู้จักคุณคน ผู้ไม่รู้คุณคือคนไร้ค่าคนเนรคุณคือคนทำลายค่าของตน


"นิสัยรู้คุณคน, ไม่วางเฉยต่อพระคุณผู้อื่น และคิดหาทางแทนคุณด้วยใจจริง" ทั้งหมด
นี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในสัจจบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022267083326976 Mins