......ตลอดเวลาของการสร้างวัดพระธรรมกาย จนถึงปัจจุบัน คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ ได้อบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ทุกคน ตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางของการสร้างบุญบารมีอันดีงาม โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนรู้จักรักษาระเบียบวินัย รักษาความสะอาด และรักการปฏิบัติธรรมเหมือนคุณยาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของวัดพระธรรมกายมาจนปัจจุบัน
หากใครได้ไปเยี่ยมชมบุญสถานลานธรรม ณ วัดพระธรรมกายแห่งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสะอาด และความเป็นระเบียบวินัย ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารงานศาสนบุคคลที่นี่ ซึ่งคุณยายอาจารย์ต้องอาศัยระยะเวลากว่า ๓๐ ปี หรืออาจกล่าวได้ว่าตลอดทั้งชีวิตของท่าน ตั้งแต่วันแรกที่บุกเบิกขุดดินก้อนแรกเมื่อท่านอายุล่วงเข้า ๖๐ ปี แล้ว เพื่อสร้างวัดให้เป็นวัน สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดีที่โลกต้องการ เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยการหล่อหลอมคุณธรรมจากการอบรมพร่ำสอน และการทำให้ดูเป็นแบบอย่างอันดีเยี่ยมเสมอมา
แม้คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง จะละสังขารไปแล้ว แต่ทุกวันที่ ๑๙ มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณยาย เหล่าศิษยานุศิษย์จะร่วมใจแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณ ทั้งปฏิบัติบูชา และ อามิสบูชา เพื่อระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่าน และในโอกาสครบรอบอายุ ๙๖ ปี ของคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง จะขอน้อมนำประวัติบางตอน เกี่ยวกับคุณธรรมและคุณูปการที่มีต่อพระพุทธศาสนาของท่าน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังสืบไป
เป็นหนึ่งไม่มีสอง
แม้คุณยายจะถือกำเนิดจากครอบครัวชาวนา เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แต่ดวงใจที่ซ่อนอยู่ใต้ร่างผอมบางนั้นไม่ธรรมดาเลย ทว่าเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว หากตั้งใจจะทำอะไรแล้ว เป็นไม่ท้อถอยเด็ดขาด บุคคลเช่นคุณยาย จึงสามารถตัดใจทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง เพื่อมุ่งไปศึกษาธรรมะเพียงอย่างเดียว มิได้สนใจไยดีต่อสมบัติที่ทางบ้านมอบให้เพื่อหวังจะเหนี่ยวรั้งคุณยายไว้ และแม้แต่ภาพของแม่ที่ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ ก็มิได้ทำให้คุณยายท้อถอยเปลี่ยนความตั้งใจแต่อย่างใด
เส้นทางชีวิตการเรียนธรรมะของคุณยายมิใช่ง่ายเลย จำเป็นต้องยอมตนเป็นคนรับใช้เขา ทำงานบ้านทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็ง เพื่อให้เป็นที่รักและที่ไว้วางใจแก่เจ้าของบ้าน ด้วยหวังเพียงให้เจ้าของบ้านเมตตาอนุญาตให้เรียนธรรมะจากแม่ชีจากวัดปากน้ำ ที่มาสอนปฏิบัติธรรมที่บ้านนั้น จนกระทั่งคุณยายอาจารย์ฝ่าฟันอุปสรรค มาถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นต้นแหล่งวิชชได้ในที่สุด
ใจของคุณยาย มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียว โดยไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่อนุวินาทีให้กับปัญหาอุปสรรครอบด้าน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการปฏิบัติธรรมของคุณยายจะเจริญรุดหน้า แตกฉานเชี่ยวชาญกว่าเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่อยู่ในโรงงานทำวิชชาด้วยกัน ทำให้สามารถทำวิชชารับใช้หลวงพ่อวัดปากน้ำได้อย่างใจ จนหลวงพ่อวัดปากน้ำถึงกับเอ่ยปากชมท่ามกลางคนทั้งหลายว่า
“ ลูกจันทร์นี้ เป็นหนึ่ง ไม่มีสอง”
คำชมนี้เป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของคุณยาย และพลอยทำให้พวกเราที่เป็นลูกหลานบังเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาสร้างบุญบารมีร่วมกับท่าน ผู้เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และอาจกล่าวได้ว่า ตลอดชีวิตของคุณยาย ได้อุทิศเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาโดยตลอด
รวบรวมหมู่คณะ
นับแต่สมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ คุณยายอาจารย์ก็ได้ใช้ธรรมปฏิบัติที่ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว ช่วยผู้ป่วยให้หายจากโรคร้ายบ้าง เดินทางไปสอนธรรมะตามที่ต่างๆ บ้าง และโดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คุณยายได้ใช้อานุภาพของวิชชาธรรมกายช่วยปัดเป่าให้ประเทศชาติสามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของสงครามได้เป็นอย่างมาก
หลังจากหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพไปแล้ว คุณยายอาจารย์ยังยึดมั่นในคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ที่มิให้ทอดทิ้งการสอนธรรมะ ให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป ทั้งนี้ คุณยายเองแม้จะไม่รู้หนังสือเลย แต่ได้อาศัยสติปัญญาจากการเข้าถึงธรรมะอันละเอียดลึกซึ้ง มาใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนคุณยายมีลูกศิษย์ลูกหาที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก และในจำนวนศิษย์เหล่านั้น มีเด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ใฝ่ธรรมะผู้หนึ่งนามว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล มีผลการปฏิบัติธรรมที่โดดเด่นเหนือกว่าศิษย์อื่นๆ กอปรกับเป็นผู้รักเคารพเชื่อฟังคุณยายผู้เป็นครูบาอาจารย์อย่างที่สุด จนคุณยายต้องทุ่มเทถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่ได้รับจากหลวงพ่อวัดปากน้ำแก่ศิษย์ผู้นี้จนหมดสิ้น
ต่อมาคุณไชยบูลย์ สุทธิผล ศิษย์เอกของคุณยาย สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ. ศ. ๒๕๑๒ ได้ตัดสินใจบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุได้รับฉายาว่า ธมฺมชโย ซึ่งปัจจุบันคือ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ หลวงพ่อธัมมชโย ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์ ณ วัดพระธรรมกายแห่งนี้ เมื่อศิษย์เอกได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว คุณยายได้หวนรำลึกถึงมโนปณิธานของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่หวังจะเอาวิชชาธรรมกายไปเผยแผ่ทั่วโลกให้ได้ และก่อนจะมรณภาพได้สั่งคุณยายให้ประคองรักษาวิชชาธรรมกายเอาไว้ เพื่อรอหมู่คณะใหญ่ที่มีธาตุธรรมเดียวกับหลวงพ่อวัดปากน้ำและคุณยาย ซึ่งกำลังจะตามเป็นระลอกสอง เพื่อสานต่อเป้าหมายในการเผยแผ่ธรรมให้กลายเป็นความจริงให้ได้
ดังนั้น คุณยายจึงได้รวบรวมหมู่คณะ เหล่าศิษยานุศิษย์ที่อุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนาขึ้นมา
กลุ่มหนึ่ง เพื่อมาบุกเบิกสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ณ ทุ่งนาฟ้าโล่งแห่งตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในวันมาฆบูชาที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ . ศ. ๒๕๑๓ เพื่อให้เป็นบุญสถานสำหรับผู้รักการปฏิบัติธรรม จึงได้เกิดเป็น “ วัดพระธรรมกาย” ในปัจจุบัน
เครื่องเตือนใจ
คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ท่านเป็นประดุจพระเจดีย์ที่ประดิษฐานของพระรัตนตรัย มีความบริสุทธิ์ มีความสะอาด กายของท่านเป็นที่รองรับวิชชาธรรมกาย ผู้ที่จะทำวิชชาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ มีใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์
ในอดีต ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน คุณยายจะเดินมาเป็นประธานในการประกอบพิธีบูชาข้าวพระ ภาพที่ทุกคนจะพบเห็นเสมอๆ จะเห็นว่าคุณยายยกมือไหว้ทักทายทุกๆ คน ในที่ประกอบพิธี แต่เมื่อคุณยายนั่งเป็นประธาน ท่านคือผู้ทรงบารมีธรรมที่ยังความศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็น ความสง่างามในบุคลิกลักษณะ แม้เพียงแต่มองก็รู้สึกในใจว่า ท่าน คือ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเรา ท่านเป็นต้นแบบต้นบุญที่จะสอนให้เราเข้าถึงธรรมได้อย่างไม่มีข้อสงสัย รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจ
ช่างน่าอัศจรรย์! แม้ผู้คนจะได้พบและได้เข้าใกล้ท่านไม่นาน ก็สามารถบอกกับตัวเองว่า “ เราคือหลานของคุณยาย และเราคือศิษย์ของคุณยายคนหนึ่ง”
แต่บัดนี้ภาพที่เราเคยเห็นกลับเหลือเพียงอนุสติเตือนใจ เพราะไม่ว่าใครย่อมไม่อาจก้าวล่วงกฏแห่งไตรลักษณ์ไปได้ เฉกเช่นตัวเราเองย่อมประสบในวันหนึ่ง ทำให้ตระหนักถึงคุณความดีที่ท่านได้สร้างไว้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล และจะประทับอยู่ในดวงใจลูกหลานยายตราบนานเท่านาน
ขอประนมมือต่างดอกไม้ธูปเทียน กราบสักการะมหาปูชนียาจารย์ผู้สืบสายธรรม ด้วยเศียรเกล้า
…………………………………………