.....นับเป็นอริยประเพณีอันดีงามของชาวไทยมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อชายไทยซึ่งมีอายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์แล้ว มักถือโอกาสมงคลเช่นนี้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ปู่ย่าตายายของลูกหลานไทยเรียกคนที่ผ่านการบวชแล้วว่า คนสุก หรือ คนสุข เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต ไม่ได้เป็นคนดิบ หรือ คนทุกข์ ที่ยังเคว้งคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่มีต้นแบบในการสร้างความดี ดังนั้น การบวช จึงถือเป็นบทฝึกลูกผู้ชาย ให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรมอย่างแท้จริง
ช่วงเวลาของการบวช เป็นการสร้างบุญบารมีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เหมือนการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม ที่จะดำรงชีวิตต่อไปในโลกภายนอกได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ
สำหรับในปีนี้ วัดพระธรรมกาย ได้จัดโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ รุ่น ๖๑ ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เพื่อบูชาธรรมพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ในวาระอายุครบรอบ ๖๑ ปี ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๘ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑ ม . ค- ๖ มี. ค ๔๘ ที่สภาธรรมกายสากล เสา N10
หลักฐานการสมัคร - รูปถ่ายหน้าตรงขนาด ๑ - ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป
ไม่สวมหมวก ไม่ใส่แว่น ถ่ายไม่เกิน ๖ เดือน
- สำเนาบัตรประชาชน ๑ ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้าน ๑ ฉบับ
- สำเนาการศึกษา ๑ ฉบับ
- ใบรับรองจากผู้ปกครอง ๑ ฉบับ
วันตรวจร่างกาย และสอบขานนาค วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
ณ อาคารแจ่มจันทร์ ธุดงค์พระ
เข้าอบรม วันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๘ ณ หมู่บ้านสามัคคีธรรม
วันบรรพชาอุปสมบท วันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๘ ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒- ๘๓๑- ๑๘๒๐- ๑
ก่อนบวชผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านจะได้ฝึกฝนอบรมตนเป็นอย่างดี ตั้งใจรักษาศีล ๘ เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมชาวพุทธ การบริหารปัจจัย ๔ สมาทานธุดงควัตร และปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมทั้ง กาย วาจา และใจ เหมาะสมเป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม ในพิธีบรรพชาอุปสมบทที่จัดขึ้น ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๘
บวชทำไม ? บวชแล้วดีอย่างไร?
คนส่วนใหญ่จะบวชกันตามประเพณี บวชหน้าไฟ บวชเพื่อพ่อแม่ บวชเพื่อศาสนา แล้วแต่บุคคล แต่ที่สำคัญที่สุด คือ บวชเพื่อตัวเอง เพื่อว่าจะได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ และฝึกฝนอบรมตนเองให้สมบูรณ์แบบ ช่วงเวลาในการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าในชีวิต สมดังพุทธภาษิตที่ว่า “ หนึ่งนาทีที่เป็นบัณฑิต ดีกว่าตลอดชีวิตที่เป็นพาล” ถ้าเราเป็นคนดีจริง นอกจากจะพึ่งพาตนเองได้แล้ว พระศาสนาก็จะได้พึ่งเรา พ่อแม่ก็จะได้บุญมากจากการบวชของพระลูกชาย
ซึ่งในการบวช พ่อแม่จะได้บุญเต็มที่หรือไม่ หรือไม่ได้เลยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า
๑. พ่อแม่อนุโมทนา คือ ยินดีในการบวชของเราด้วยหรือเปล่า
๒. พ่อแม่ยินดีในการบวชของเรา แล้วตัวเราได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดแล้วหรือยัง ถ้าการปฏิบัติของเราย่อหย่อน หรือศีลของเรากระพร่องกระแพร่ง บุญที่พ่อแม่ควรจะได้มากจะตกหล่นลงไป
การบวชเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
บุคคลใดจะสามารถบวชได้ต้องถึงพร้อมด้วย มหาสมบัติ ๖ ประการ ติดตัวมา ได้แก่
๑. กาลสมบัติ คือ มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้นในโลก หรือช่วงเวลาที่พระธรรมคำสอนของพระองค์ยังได้รับการสืบทอดอยู่
๒. คติสมบัติ คือ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีร่างกายเหมาะสมในการสร้างความดี
๓. อุปธิสมบัติ คือ ได้เกิดเป็นคนแข็งแรง รูปร่างไม่พิกลพิการ
๔. ประเทศสมบัติ คือ ได้เกิดในประเทศ หรือดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง
๕. ตระกูลสมบัติ คือ เกิดในตระกูลที่บิดามารดานับถือพระพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิ
๖. ทิฏฐิสมบัติ คือ ไม่เป็นคนมิจฉาทิฏฐิเสียเอง มีใจฝักใฝ่ในธรรม มุ่งมั่นที่จะเป็นคนดี
และขอให้เราตระหนักในความโชคดีที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครูเอกของโลก ตรัสสอนความจริงของโลกและชีวิตที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และทำให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง
การบวช ถือเป็นแบบอย่างของบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ใช้เป็นโอกาสในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป … เพราะเป็นชีวิตของ “ ผู้ได้โอกาส” ที่สามารถทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองได้อย่างดีที่สุด
ชีวิตสมณะ …. เป็นชีวิตที่ปลอดกังวล มีเวลาสำหรับแสวงหาความรู้ภายใน
นำมาซึ่งเป้าหมายแห่งการหลุดพ้น
ชีวิตสมณะ … มีไว้สำหรับรองรับความบริสุทธิ์ มีสุขมากกว่าภาพลวงตาที่ฉาบทา จาก ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่น้อยคนจะเข้าใจ
ชีวิตสมณะ… มีไว้สำหรับผู้มีบุญ ผู้มองเห็นภัยในวัฏสงสาร ผู้หวังทำพระนิพพานให้แจ้ง
จึงขอกราบอนุโมทนาบุญกับผู้ตั้งใจบวช และผู้สนับสนุนการบวชทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันสืบสานมรดกธรรมอันล้ำค่า ประกาศให้โลกรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของสัจธรรมคำสอน และพร้อมที่จะนำพาความสว่างเหล่านั้น ส่องหนทางพ้นทุกข์แก่มหาชนทั้งหลาย เป็นนิมิตหมายแห่งสิริมงคลให้เกิดขึ้นอย่างจะนับประมาณมิได้
แม้เพียงความตั้งใจในการทำพระนิพพานให้แจ้งถวายเป็นพุทธบูชา อันเกิดจากการบรรพชาอุปสมบทในครั้งนี้ ย่อมเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันไม่มีประมาณ
… และเป็นสัญญาณแห่งสันติภาพภายนอก อันเกิดจากสันติสุขภายใน… อย่างแท้จริง
อุบลเขียว