มหาสาวกสันนิบาต(ตอนที่ ๒)

วันที่ 26 มีค. พ.ศ.2547

 

 

.....พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายที่อยู่แก่หมู่สงฆ์เป็นพระองค์แรก และยังทรงทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ตายแล้วเป็นพระองค์แรก ซึ่งพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาด้วยพระดำรัสว่า “อทาสิ เม อกาสิ เม...” แปลเป็นเนื้อความว่า เมื่อระลึกถึงอุปการะของญาติมิตรทั้งหลายที่มีต่อเรา เราควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เมื่อญาติมิตรเหล่านั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่ควรร้องให้เศร้าโศกรำพันถึง เพราะทำดังนั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ล่วงลับไปแล้วเลย ญาติที่ตายไป เขาเกิดเป็นอะไรเขาก็เป็นอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาช้านาน

.....ส่วนทานทั้งหลายที่เราถวายในหมู่สงฆ์ด้วยดี จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตายแล้วเหล่านั้นช้านานด้วยเหมือนกัน นับว่าเราได้แสดงญาติธรรมด้วย ได้บูชาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นด้วย ทั้งได้ให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายนับเป็นบุญไม่น้อยเลย

.....แม้แต่กับเทวดา พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้อุทิศส่วนกุศลทำนองเดียวกันนี้ ไม่ทรงแนะนำให้ทำการเซ่นหรือสังเวยอย่างประเพณีที่ทำกันมาแต่เดิม การอุทิศส่วนกุศล ทำให้สนับสนุนเรื่องกตัญญูกตเวทิตา เป็นหนทางให้สกุลวงศ์รุ่งเรือง พระบรมศาสดาจึงทรงอนุมัติให้ปฏิบัติ

.....แม้แต่เรื่องการบวชในเวลาต่อมา ก็ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ เช่น ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ราธะ มีอายุมาก ยากจน ต้องการบวชแต่ไม่มีใครบวชให้ พระองค์ตรัสถามเหล่าภิกษุว่า มีผู้ใดระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า นึกได้ว่าพราหมณ์ผู้นี้เคยใส่บาตรหนึ่งทัพพี ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชให้พราหมณ์ราธะ นับแต่นั้นทรงกำหนดให้ใช้วิธีอุปสมบทด้วยวิธีประชุมสงฆ์ ถ้าเป็นเขตที่มีความเจริญ ให้ใช้ภิกษุอย่างน้อย ๑๐ รูป ถ้าอยู่ในถิ่นห่างไกล ให้ใช้อย่างน้อย ๕ รูป ให้มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ประกาศต่อหมู่สงฆ์ให้รับทราบการอุปสมบท ๑ ครั้งก่อน แล้วจึงประกาศรับการอุปสมบท เพื่อเป็นการยืนยัน ๓ ครั้ง ต่อจากนั้น ถ้าไม่มีภิกษุรูปใดคัดค้านถือว่า ผู้อุปสมบทนั้นเป็นภิกษุแล้ว ถ้ามีใครคัดค้านแม้แต่ผู้เดียว ก็บวชไม่ได้ การบวชชนิดนี้เรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลว่าบวชด้วยการที่คณะสงฆ์มีวาจาประกาศทั้ง ๔ ครั้ง และผู้อุปสมบทจะต้องมีภิกษุผู้หนึ่งเป็นผู้รับรอง เรียกว่า อุปัชฌายะ

.....แต่เดิมภิกษุรูปเดียวเคยบวชให้กุลบุตรได้ เมื่อทรงบัญญัติวิธีบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ไม่มีการบวชอย่างเก่าอีก แม้แต่เอหิภิกขุอุปสัมปทาก็ไม่มี เท่ากับทรงมอบอำนาจให้สงฆ์เป็นใหญ่

.....การประกาศคำสั่งสอนของพระบรมศาสดามิได้ทรงเน้นเรื่องโลกุตตรธรรม คือ ธรรมพ้นโลก ได้แก่ปฏิบัติเพื่อออกจากวัฏฏสงสารเลิกเวียนว่ายตายเกิดอย่างเดียว สำหรับชีวิตของคนครองเรือนที่อยู่ในโลกียธรรม พระองค์ก็ตรัสสอนเป็นแนวทางที่ดีเยี่ยมไว้ เช่น

.....ครั้งหนึ่งขณะเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นบุตรเศรษฐีชื่อ สิงคาลกะ นุ่งห่มผ้าเปียกชุ่มน้ำ มีผมเปียก ยกมือนมัสการทิศทั้งหลายอยู่ (ทิศใหญ่ ๔ ทิศ และทิศเบื้องบน เบื้องล่าง รวมเป็น ๖ ทิศ) พระพุทธเจ้าตรัสถามถึงสาเหตุของการไหว้ทิศ ชายหนุ่มทูลชี้แจงว่า ทำตาคำสั่งของบิดาที่ให้ไว้ก่อนตาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การไหว้ทิศในศาสนาของพระองค์ไม่ไหว้อย่างนี้


พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงการไหว้ทิศทั้ง ๖ ให้ชายหนุ่มทราบดังนี้
ทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) อยู่ข้างหน้า ได้แก่มารดา บิดา
ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) อยู่ด้านหลัง ได้แก่บุตร ภรรยา
ทิศเบื้องล่าง ได้แก่บ่าวไพร่
ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) อยู่ขวามือ ได้แก่ ครูอาจารย์
ทิศเหนือ (ทิศอุดร) อยู่ซ้ายมือ ได้แก่ มิตร อำมาตย์
ทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์

.....คนที่จะทำการไหว้ทิศทั้ง ๖ ให้ได้รับผลดี ต้องเว้นจากการงานที่เศร้าหมอง ๔ อย่าง จากอคติ ๔ อย่าง เว้นจากทางที่ทำให้เกิดความเสื่อม ๖ อย่างเสียก่อนแล้วจึงควรทำการไหว้

.....การงานเศร้าหมอง ๔ อย่าง (หรือกรรมกิเลส ๔) ได้แก่ การล้างผลาญชีวิต การขโมย การประพฤติผิดทางกาม การพูดปด

.....อคติ ๔ อย่าง คือ ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะโง่เขลาหลงใหลงมงายเพราะกลัว

.....อบายมุข ๖ อย่าง คือ ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน เพลินดูการละเล่น การพนัน คบมิตรชั่ว เกียจคร้าน

.....เมื่อเว้นสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ย่อมได้รับความสวัสดี ต่อจากนั้นจึงไหว้ทิศ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010499318440755 Mins