ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ( ตอนที่ ๓)

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2547

 

 

ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ( ตอนที่ ๓)


..... ประทานพระโอวาทเฉพาะพระอานนท์

พระอานนท์นั้น เป็นเจ้าชายในวงศ์ศากยะ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ พระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวชพร้อมเจ้าชายอื่นๆ ในพระราชวงศ์ เช่น เจ้าชายอนุรุทธะและช่างตัดผมชื่อ อุบาลี เป็นต้น แต่ครั้งพระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ(เลิศ) หลายด้าน คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ(ปัญญา)

เมื่อบวชแล้วได้ติดตามพระบรมศาสดาไปทั่วทุกหนทุกแห่ง คอยปรนนิบัติ ทำหน้าที่เป็นอย่างดียิ่งมิได้บกพร่อง จึงไม่ค่อยมีเวลาบำเพ็ญธรรมเป็นส่วนตัว ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องต้นเป็นพระโสดาบันเท่านั้น

ครั้นเวลานั้นฟังพระตถาคตเจ้าตรัสสั่งลาด้วยเรื่องต่างๆ เพื่อปรินิพพาน พระอานนท์ปลงใจยังไม่ได้ มีความเศร้าเสียใจ พอมีโอกาสว่างจึงหลบไปยังวิหารหลังหนึ่ง ปิดประตูเอามือเหนี่ยวเกาะสลักกลอนประตู (ทำเป็นรูปหัวลิงเรียกว่า กปิสีสะ) ซบหน้าลงกับบานประตู ร้องให้คร่ำครวญด้วยเสียงอันดัง รำพันว่าตนเองยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระเชษฐาและเป็นพระศาสดาด้วย เคยอนุเคราะห์อยู่เสมอนั้น บัดนี้จะปรินิพพานจากไปแล้ว จะไม่ได้เห็นพระพักตร์อีก

พระพุทธเจ้าเห็นพระอานนท์หายไป ตรัสถามถึง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระอานนท์แอบไปยืนร้องให้อยู่ พระองค์รับสั่งให้มาเฝ้า ตรัสปลอบเตือนสติว่า

“ ดูก่อนอานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร้องให้คร่ำครวญ เราบอกเธอมาตั้งแต่เดิมแล้วว่าความเป็นอยู่ประจำของเราทุกคนนั้น ไม่มีว่างเว้นจากความแปรปรวนของสัตว์ของสังขารที่รักที่เจริญใจทั้งปวงนั่นแหละ (ในชีวิตของเราต้องพบความพลัดพรากจากสิ่งที่รักอยู่เสมอ)

ดูก่อนอานนท์ สิ่งคงที่เที่ยงแท้ถาวรที่สัตว์ทั่งหลายอยากได้นั้น จะหาจากสังขารที่ไหนได้ ของสิ่งใด มีปัจจัย(ส่วนประกอบ) ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเอง ของสิ่งนั้นก็จะต้องฉิบหายสิ้นสูญไปเป็นธรรมดา ใครๆ จะปรารถนาว่า ขออย่าเสื่อมสูญไปเลย เป็นไปไม่ได้

ดูก่อนอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากเราตถาคต ด้วยกายกรรม ด้วยวจีกรรม ด้วยมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ไม่เป็นที่สองรองใคร ไม่มีประมาณ มาสิ้นเวลาช้านาน เธอทำบุญไว้มาก จงเพียรพยายามปฏิบัติ เธอจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ จะเป็นอรหันต์ในเร็วๆ นี้ พระบรมศาสดาตรัสพยากรณ์

ต่อจากนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมเชยพระอานนท์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากที่หาได้ยากยิ่ง

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตมีมาแล้วจะกี่พระองค์ก็ตาม ภิกษุผู้มีหน้าที่อุปัฏฐากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ท่าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมก็ทำได้เท่าอานนท์นี้เท่านั้น และแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ต่อไปในอนาคตภายภาคหน้าจะอีกกี่พระองค์ก็ตาม ภิกษุผู้มีหน้าที่อุปัฏฐากซึ่งทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ก็ไม่มีผู้ใดเกินอานนท์ ในเวลานี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ทำอะไรด้วยปัญญา รู้ว่านี่เป็นเวลาที่ควรให้พุทธบริษัทเข้าเฝ้าตถาคต เวลาใดภิกษุควรเฝ้า เวลาใดภิกษุณีควรเฝ้า เวลาใดอุบาสกอุบาสิกา พระราชมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร หรือแม้เดียรถีย์ หรือสาวกของเดียรถีย์เข้าเฝ้า อานนท์รู้เวลาเหล่านี้ดี โดยถี่ถ้วนทุกประการ

เมื่อใดที่เหล่าพุทธบริษัท ๔ ขอพบอานนท์ เมื่อพบแล้วจะดีใจ ยิ่งถ้าได้ฟังธรรม ก็ยิ่งมีจิตชื่นชมยินดี ไม่อิ่ม ไม่เบื่อฟังธรรมนั้นเลย พออานนท์หยุดแสดงธรรม ผู้ฟังก็ยังมีใจยินดี ไม่อิ่มไม่เบื่อมีอุปมาเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิราช จะตรัสสิ่งใดแก่กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณบริษัท ผู้ฟังเหล่านั้น ย่อมชื่นชมไม่รู้อิ่มเช่นเดียวกัน ”

ทรงแสดงเรื่องเมืองกุสินารา

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญพระอานนท์จบลงแล้ว พระอานนท์กราบทูลขออาราธนา จะเชิญพระองค์ไปปรินิพพานที่มหานครอื่นที่ใหญ่กว่า เช่น เมืองจำปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต จะได้ประกอบสักการบูชาได้สมพระเกีรยติผู้เป็นอัจฉริยรัตนบุรุษอันเลิศของโลก กุสินาราเป็นเมืองเล็กมาก ด้อยเกินไป

แต่พระบรมศาสดาตรัสปฏิเสธ ทรงกล่าวว่า อย่าเห็นว่ากุสินาราเป็นเมืองเล็กเมืองดอน เป็นแค่กิ่งนคร ในปางก่อนที่นี่มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัศน์ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นที่สุดเขตแดน พระองค์ชนะข้าศึกทั้งปวงด้วยอำนาจธรรมะ ไม่ต้องใช้ศาสตรวุธและการลงโทษ อาณาเขตของพระองค์ไม่มีข้าศึกศัตรู ไม่มีใครคิดขบถกำเริบ พระองค์ทรงมีรัตนะ ๗ โยชน์ โดยประมาณ มีเมืองกุสาวดีเป็นราชธานีอันสมบูรณ์มั่งคั่ง ผู้คนพลเมืองมีมากเกลื่อนกล่นคับคั่ง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รื่นรมย์เหมือนทิพย์นครของเทพเจ้า

ในกุสาวดีราชธานีนั้น มีเสียงกึกก้องนฤนาททั้งวันทั้งคืนด้วยเสียง ๑๐ อย่าง คือ เสียงช้าง ม้า รถ กลองเภรี ตะโพน พิณ ขับร้อง กังสดาล(ระฆัง) และสังข์ รวมทั้งเสียงผู้คนร้องเรียกกันบริโภคอาหาร เมืองนี้ไม่เคยมีเวลาเงียบเสียงเลยทั้งกลางวันกลางคืน

พระบรมศาสดาตรัสยืนยันการปรินิพพาน ณ สถานที่นี้ แล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์เข้าไปแจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ว่า พระองค์จะปรินิพพานในยามสุดท้ายคืนวันนี้ อย่าให้มัลลกษัตริย์เสียใจภายหลังว่า พระตถาคตเจ้าปรินิพพานในแว่นแคว้นของตน แต่พวกตนไม่ได้พบพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

พระอานนท์รับพระบัญชาแล้ว เดินทางไปยังสัณฐาคารศาลา ซึ่งเหล่ามัลลกษัตริย์กำลังประชุมด้วยธุระกันอยู่แจ้งข่าวให้ทราบและบอกว่าใครปรารถนาเข้าเฝ้าก่อนปรินิพพานก็จงรีบพากกันไป อย่าต้องเสียใจภายหลังว่าไม่ได้เห็นพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์ ชายา โอรส และสุกิณสา(สะใภ้) ทราบข่าวจากพระอานนท์ก็พากันเศร้าโศกเสียใจ ทรงพระกำสรดเสวยทุกขโทมนัส หนักหนาสาหัส สยายผม ยกแขนทั้งสองคร่ำครวญ ประหนึ่งมีเท้าขาดล้มกลิ้งเกลือกไปมา ร่ำไรรำพันว่า สมเด็จพระผู้พระภาคเจ้าจะปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาของโลกจะอันตรายธานเสียแล้ว ต่างพากันร้องให้เดินทางไปเข้าเฝ้า

เหล่ามัลลกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์มีจำนวนมากด้วยกัน ถ้าเข้าเฝ้าทีละองค์จะเสียเวลามาก พระอานนท์จึงให้เข้าเฝ้าเป็นหมู่คณะตามวงศ์สกุล ถึงถวายอภิวาทเสร็จในปฐมยาม

 

ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024654666582743 Mins