ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ( ตอนที่ ๒)
.....ทรงทอดพระวรกายครั้งสุดท้าย
ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงเมืองกุสินารา ประทับที่อุทยานใหญ่นอกเมือง ชื่อ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าต้นสาละ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีใบใหญ่ ดอกเป็นช่อยาวสีขาวห้อยลง
พระบรมศาสดาตรัสให้พระอานนท์เตรียมพระที่บรรทมระหว่างต้นสาละ ๒ ต้น วางพระเศียรทางทิศเหนือ ทรงนอนตะแคงในท่านอนของราชสีห์(สีหไสยา) คือตะแคงข้างขวา พระบาททั้งคู่ซ้อนเหลื่อมกัน ดำรงพระสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยบรรทมเป็นครั้งสุดท้ายไม่ทรงลุกขึ้นอีกแล้ว เรียกว่า อนุฏฐานไสยา
ในเวลานั้นเองแม้มิใช่ฤดูกาล ต้นสาละทั้งคู่ก็พลันผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง สีขาวงามอร่ามเต็มต้น ดอกที่บานเต็มที่ก็ร่วงพรูลงพื้นดินเป็นพุทธบูชา ดอกไม้ทิพย์บนสวรรค์ชื่อ มณฑารพ ตลอดจนจุณจันทร์สุคนธชาติ(น้ำหอมอันเป็นของทิพย์) ก็โปรยปรายลงมาจากอากาศ ตกยังพระสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า ทั้งสังคีตดนตรีทิพย์จากสวรรค์บันลือประโคมไปในอากาศเป็นมหานฤนาทโกลาหล เพื่อบูชาพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย
ทรงแสดงถึงการสักการบูชาที่มีอานิสงส์ยิ่ง
พระบรมศาสดาตรัสเล่าถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นทิพย์บูชาสักการะ ที่เหล่าเทพยดากระทำถวายเป็นพุทธบูชา แต่สำหรับการสักการบูชาที่พุทธบริษัท ๔ ควรทำต่อพระองค์นั้น ทรงกล่าวว่า แม้เหล่าพุทธบริษัท ๔ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะนำเอาอามิสสิ่งของมากมายเท่าใดมาทำการบูชา ก็ไม่ได้ผลมากเท่าบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (คือธรรมข้อใดควรปฏิบัติอย่างใดก็ปฏิบัติตามนั้น) ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติธรรมโดยสมควร
ตรัสเรื่องเทวดาที่มาเฝ้าในขณะนั้น
พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อุปวาณเถระยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระพักตร์ พระบรมศาสดาตรัสสั่งให้หลีกไปอยู่ที่อื่น ไม่ให้บังพระองค์ พระอานนท์สงสัยสาเหตุที่ทรงไล่อุปวาณะ พระตถาคตเจ้าทรงชี้แจงว่า เทพยดาทั้งหลายทั่วหมื่นโลกธาตุมาเฝ้าพระองค์เต็มพื้นที่ ในสวนสาละที่มีบริเวณถึง ๑๒ โยชน์นั้น ที่ว่างแม้เท่าปลายขนของเนื้อทรายก็ไม่มี มีเทพยดาอยู่เต็มไปหมดทั้ง ๑๒ โยชน์ โดยรอบ
เหล่าเทวดาพากันโทษพระอุปวาณะว่า พวกเขาพากันมาจากแดนไกล หวังจะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงอุบัติขึ้นบ่อยๆ นานๆ จึงจะบังเกิดขึ้นสักพระองค์หนึ่ง แต่มาแล้วก็ไม่ได้เห็น เพราะภิกษุรูปนี้ยืนบังเสีย พระองค์จึงทรงให้พระอุปวาณะหลีกออกไป พระอานนท์ทูลถามถึงสภาพของเทพยดาที่มาประชุมกัน
พระบรมศาสดาตรัสเล่าว่า เทวดาอยู่กันเต็มทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ต่างพากันสยายผมยกแขนทั้งสองกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนมีเท้าขาด(ทรงกายยืนไม่ได้) คร่ำครวญถึงพระตถาคตว่า ทำไมจึงปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาของโลกมาหายเสียเร็วนัก
เหล่าเทพยดาเหล่าใดที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ ย่อมมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นความเสียใจได้เพราะปราศจากราคะแล้ว มีแต่ธรรมสังเวชว่า สังขารธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน สัตว์ทั้งหลายจะหวังเอาความเที่ยงแท้จากสังขารได้อย่างไรกัน
ทรงแสดงสถานที่ที่ให้เกิดความสลดใจ (สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง)
พระอานนท์กราบทูลว่า แต่เดิมในเวลาเข้าพรรษา ภิกษุทั้งหลายจำพรรษากันตามที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้วจะพากันมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้มาอยู่พร้อมหน้ากัน ได้เข้าใกล้กัน ก็มีความชื่นชมยินดี ต่อจากนี้เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว พวกเราก็จะไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันอีก เหมือนอย่างเวลาที่พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่
พระโลกนาถตรัสแสดงสถานที่ ๔ แห่งที่ควรได้ดูได้เห็น ได้พบกัน อันเป็นที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาเห็นแล้วจะเกิดความสลดใจ คือ
๑. สถานที่ที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์
๒. สถานที่ที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓. สถานที่ที่แสดงปฐมเทศนา เผยแผ่พระศาสนา
๔. สถานที่ที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
พุทธบริษัททั้ง ๔ ควรได้เห็น ได้ดู ได้เกิดความสลดใจ ในสถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้เมื่อเห็นแล้วย่อมได้ความเชื่อความเลื่อมใสว่า พระตถาคตเจ้าทรงบังเกิดตรงสถานที่นี้ พระองค์ตรัสรู้ตรงนี้ เริ่มเผยแผ่พระธรรมตรงนี้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานตรงนี้ ผู้ที่ไปยังสถานที่ทั้ง ๔ จะเป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ตายแล้วไปสุคติโลกสวรรค์
ข้อปฏิบัติของภิกษุต่อสตรี
ต่อจากนั้นพระอานนท์ทูลถามข้อปฏิบัติที่ควรทำต่อบรรดาเหล่าสตรี
พระบรมศาสดาตรัสว่า ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องดูเลยเป็นดีที่สุด
พระอานนท์ทูลว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องเห็นต้องดู จะทำประการใด
พระองค์ตรัสว่า ถ้าจำเป็นต้องเห็นต้องดู ก็ไม่ควรพูดด้วย
พระอานนท์ทูลว่า ถ้าจำเป็นต้องพูด จะทำอย่างไร
พระองค์ตรัสว่า ต้องพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นการแสดงธรรม โดยตั้งสติไว้ให้มั่น ไม่ให้แปรปรวนด้วยราคะตัณหา ไม่มีอาการละเมิดทางกาย ทางวาจา วางตนให้เหมาะสมกับการเป็นสมณะ
วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
ครั้นแล้วพระอานนท์ทูลถามถึงการปฏิบัติต่อพระสรีระของพระบรมศาสดาหลังจากที่ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระองค์ตรัสตอบว่า สาวกของพระองค์ที่เป็นบรรพชิต ไม่ต้องจัดการเรื่องพระบรมศพ ให้พยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนเพื่อสำเร็จประโยชน์ของตนเองให้ได้ จงอย่าประมาทในประโยชน์ของตน ให้เพียรเผากิเลสและบาปกรรมให้สิ้นเป็นผู้มุ่งในการประพฤติพรหมจรรย์ให้ถึงที่สุดทุกอิริยาบถ
เรื่องการบูชาพระสรีระนั้นเป็นเรื่องของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ที่เป็นบัณฑิตเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะกระทำกัน
แต่พระอานนท์ก็ทูลถามวิธีปฏิบัติไว้ เผื่อบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้
พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า ปฏิบัติเหมือนกระทำต่อพระสรีระของพระเจ้าจักพรรดิราชคือ ใช้ผ้าขาวใหม่พันพระสรีระจนรอบ แล้วใช้สำลีพันซับอีกครั้งหนึ่ง ทำดังนี้เรื่อยไป ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระตั้งไว้ในรางเหล็กที่มีน้ำมันเต็ม ปิดครอบด้วยฝารางเหล็กวางบนเชิงตะกอน ที่ทำด้วยไม้หอมเผาด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิงเสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูป สร้างไว้ที่ถนนใหญ่ ๔ สายมาพบกัน (ทางสี่แยก)
เมื่อผู้คนมาจากทิศทั้ง ๔ เห็นเข้า มีจิตใจเลื่อมใส สั่งสมบุญกุศลด้วยการนำดอกไม้ที่จัดอย่างมีระเบียบหรือของหอมอื่นๆ เช่น น้ำหอม(สุคนธชาติ) จุณ(ผงหอม) มาทำการบูชากราบไหว้พระสถูป ทำจิตใจให้เลื่อมใสในพระพุทธคุณ จะเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน นอกจากนั้นพระบรมศาสดาตรัสถึงถูปารหบุคคล ๔ คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกมาใส่สถูปไว้ให้มหาชนบูชา มี ๔ คือ
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิราช
บุคคล ๔ ประเภทนี้ เป็นบุคคลที่ควรทำสถูปบรรจุอัฐธาตุไว้ให้ผู้คนทั้งหลายสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส กุศลจิตเกิดขึ้นจะสามารถพาผู้คนเหล่านั้น เมื่อตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล