ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ( ตอนจบ)

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2547

 

 

ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ( ตอนจบ)


..... สาวกผู้ได้บวชเป็นคนสุดท้ายชื่อสุภัททะ

ในคืนนั้นปริพาชากผู้หนึ่งคือ สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ทราบข่าวว่าพระบรมศาสดาจะปรินิพพานในคืนนี้ ก็นึกถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินมาว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ได้บังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในโลก นานเหลือเกินเป็นบางครั้งบางคราวจึงจะอุบัติเกิดขึ้น เวลานี้พระองค์ใกล้จะปรินิพพาน ตนเองมีความสงสัยบางอย่างค้างอยู่ ควรรีบไปเฝ้าเพื่อจะได้กราบทูลถาม

สุภัททะจึงรีบเดินทางไป ขออนุญาตพระอานนท์เข้าเฝ้า พระอานนท์กล่าวห้ามปรามว่า เวลานี้ไม่ควรรบกวนพระบรมศาสดา สุภัททะก็กล่าววิงวอนอยู่อย่างนั้น ๒-๓ ครั้ง

พระบรมศาสดาทรงได้ยิน จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า อย่าห้าม ให้สุภัททะเข้าเฝ้าได้

สุภัททะทูลถามว่า คณาจารย์เจ้าลัทธิทั้ง ๖ คน คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ สัญชยเวลัฏฐบุตร และ นิครนถนาฏบุตร ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเวลานั้น มีสาวกมาก ผู้คนยกย่องว่าเป็นคนดีประเสริฐ คนเหล่านั้นตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเหมือนที่พวกเขาอวดอ้างหมดทุกคน หรือเป็นเพียงบางคน

พระตถาคตเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนสุภัททะ เธออย่าสนใจเรื่องที่ถามนั่นเลย จงฟังธรรมที่เราจะแสดงให้ฟัง แล้วทำตามให้สำเร็จประโยชน์เถิด เธอจงฟังให้ดี มรรคคือข้อปฏิบัติมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง ปฏิบัติแล้วจะเป็นผู้ประเสริฐ พ้นจากข้าศึกคือกิเลส การปฏิบัติตามหนทางนี้เท่านั้นเป็นทางปฏิบัติประเสริฐ ถ้าในธรรมวินัยใด ในคำสั่งสอนของใครๆ ก็ตาม ไม่มีการสอนในเรื่องนี้ ในคำสอนหรือลัทธิเหล่านั้น ย่อมไม่มีสมณะที่๑,๒,๓,๔ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ดูก่อนสุภัททะ ถ้ามรรคมีองค์ ๘ อยู่ในธรรมวินัยคำสั่งสอนของใครแล้ว สมณะที่๑,๒,๓,๔ ย่อมเกิดในธรรมวินัยนั้น ในธรรมวินัยที่เราสั่งสอนไว้นี้เป็นธรรมวินัยเดียวที่มีมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้น สมณะที่ ๑,๒,๓ และ ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว

ดูก่อนสุภัททะถ้าหากภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะพึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่เสมอสืบกันไป โลกก็จะไม่ว่างจากอรหันต์

ดูก่อนสุภัททะ เรามีอายุ ๒๙ ปี ได้ออกบวชแสวงหาอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่บวชแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้ เป็นเวลานับได้ ๕๑ ปี สมณะที่เป็นผู้พ้นจากกิเลสได้ ไม่มีในลัทธิคำสอนอื่น สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีแต่ในธรรมวินัยนี้เพียงแห่งเดียว ลัทธิคำสอนอื่นๆ ว่างเปล่าจากสมณะผู้รู้แจ้ง

ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดไป โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์

สุภัททะฟังพระธรรมเทศนาแล้วมีความเลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยปกติแล้วตามพระวินัยนั้นพระพุทธองค์ทรงบัญญัติการบวชให้เดียรถีย์ไว้ว่าต้องให้ผู้ขอบวชอยู่ปริวาส คือ ทดลองประพฤติวัตรตามที่กำหนดให้ได้ก่อน เป็นเวลา ๔ เดือน หลังจากนั้นถ้ายังเลื่อมใสยินดีบวชอยู่อีก จึงให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ

แต่ในรายสุภัททะนี้พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัยอยู่ว่าบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว แม้สุภัททะจะขออยู่ปริวาสให้นานถึง ๔ เดือน พรระบรมศาสดาก็ประทานอนุญาตให้พระอานนท์จัดการบวชสุภัททะในเวลานั้น

เมื่อสุภัททาบวชแล้ว ไม่รอช้ารีบปลีกตนอกจากหมู่คณะ สงัดอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาทเร่งทำความเพียรเผากิเลส ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามที่พระผู้มีพระภาคประทานคำสอนให้นั่งบำเพ็ญเพียรและอธิษฐานจงกรม ที่ด้านหนึ่งของสวนต้นสาละนั้น ชำระวิปัสสนาปัญญาให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส พลันบรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เสร็จแล้วจึงเดินกลับมาถวายบังคมพระบรมศาสดานั่งอยู่ในหมู่ภิกษุสงฆ์

ตรัสสั่งลาด้วยเรื่องต่างๆ

เรื่อง สิ่งที่เป็นตัวแทนของพระองค์

พระบรมศาสดาตรัสสั่งไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงจากไปแล้ว อย่าคิดว่าต่อจากนี้ไม่มี ผู้ใดเป็นศาสดา ให้ถือว่า ธรรมและวินัยที่ได้แสดงและบัญญัติไว้ดีแล้วนั้น เป็นศาสดาแทนพระองค์

เรื่อง การเรียกกันในหมู่สงฆ์

ทรงให้เรียกกันโดยเคารพตามลำดับ ใครบวชก่อน บวชหลัง ผู้ที่แก่พรรษาว่า (บวชก่อน) เรียกภิกษุที่อ่อนพรรษกว่า เรียกตามชื่อ ตามสกุล หรือจะใช้คำว่า อาวุโสก็ได้

ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าเรียกภิกษุผู้แก่พรรษาว่า “ ภันเต ” (ท่านผู้เจริญ) หรืออายัสมา

เรื่อง การลงพรหมทัณฑ์

ตรัสบอกอนุญาตไว้ว่า “ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็จงถอนเถิด ”

สำหรับเรื่องภิกษุฉันนะ ซึ่งดื้อดึงว่านอนสอนยาก ไม่ฟังคำใครตักเตือน เพราะถือว่าเคยเป็นทหารมหาดเล็กคนสนิทรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน พระบรมศาสดาตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือพระฉันนะอยากพูดอะไรก็ปล่อยให้พูด ไม่ต้องให้ภิกษุรูปใดว่ากล่าว การไม่ว่า ไม่สอนอะไร เรียกว่าพรหมทัณฑ์

ต่อจากนั้นทรงมีพุทธานุญาตว่า ใครมีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรคหรือในปฏิปทาข้อใดให้ถามได้เดี๋ยวนี้ อย่าได้เดือนร้อนเสียใจภายหลังว่า เมื่อพระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าแล้ว ไม่ถามเอาไว้

พระตถาคตเจ้าตรัสอนุญาตให้ถามถึง ๓ ครั้ง ภิกษุทุกรูปต่างพากันนิ่งอยู่

พระอานนท์เห็นดังนั้น จึงกราบทูลว่า “ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ น่าเลื่อมใส แปลกประหลาดมาก ภิกษุแม้แต่รูปเดียวในสงฆ์หมู่นี้ ไม่มีผู้ใดสงสัย เคลือบแคลงอะไรในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในปฏิปทาเลย ”
พระบรมศาสดาตรัสว่า พระอานนท์กล่าวเพราะเลื่อมใส แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณอยู่แล้วว่า ไม่มีภิกษุรูปใดสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรค หรือในปฏิปทาเลยในบรรดาภิกษุทั้ง ๕๐๐ นี้ อย่างต่ำสุดก็ได้คุณพิเศษเป็นพระโสดาบัน ไม่ฉิบหาย (ไม่ตกอบายภูมิอีกแล้ว) เป็นธรรมดา มีแต่จะตรัสรู้ต่อไปในภายหน้า

 

คำตรัสสอนครั้งสุดท้าย (ปัจฉิมโอวาท)

ครั้นแล้วพระตถาคตเจ้า ประทานปัจฉิมโอวาทว่า

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราผู้เป็นพระตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงที่จะเป็นประโยชน์ของตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่น ให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ”

ข้อความนี้เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย ขณะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมอยู่บนพระแท่นที่ปรินิพพาน พระโอวาททั้งปวงที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้ง ๔๕ พรรษานั้น รวมแล้วอยู่ในเรื่อง “ ความไม่ประมาท ” นี้เท่านั้น

เป็นพระวาจาในอวสานกาล นับแต่นั้นไม่ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ (สมาบัติในธรรมที่ประณีตสูงต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับมี ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนาได้)

เวลานั้นพระอนุรุทธเถระผู้เป็นเลิศทางทิพยจักษุส่งจิตตามดูพระผู้มีพระภาค เห็นว่าเมื่อพระองค์ทรงเข้าสมาบัติดับสัญญา(ความจำอะไรๆ ได้) ดับเวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ต่างๆ) ระยะเวลาหนึ่ง แล้วถอยกลับมาตั้งตนใหม่ที่ปฐมฌาน แล้วเลื่อนสมาธิจิตสูงขึ้นไปเป็นขึ้นๆ ตามลำดับ พอถึงฌานที่ ๔ จตุตถฌาน ออกจากฌานที่ ๔ ก็ปรินิพพาน ในยามสุดท้ายของคืนวันเพ็ญ วิสาขบูรณมีเดือน ๖

ทันใดนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหวใหญ่สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น ขนลุก ขนพองสยองเกล้า กลองทิพย์บันลือลั่นไปในนภากาศ เป็นมหาโกลาหลในปัจฉิมกาล

ท้าวมหาพรหมกล่าวคาถาแสดงความสังเวชและเลื่อมใสที่มีต่อพระผู้มีพระภาคว่า “ บรรดาสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้ไม่เลือกหน้าล้วนต้องทอดทิ้งร่างไว้ถมพื้นปฐพี แม้แต่องค์พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระศาสดา ทรงพระคุณอันใหญ่หลวง ไม่มีผู้ใดเปรียบได้ ตรัสรู้พรสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองโดยลำพัง ไม่มีผู้ใดสอน มีทศพลญาณเป็นกำลัง พระองค์ก็ยังดำรงคงอยู่ให้ถาวรไม่ได้ ยังต้องดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว ควรสังเวชสลดใจนัก ”

พระอินทร์กล่าวคาถาว่า “ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นและดับไป ไม่ยั่งยืนถาวรมั่นคงอยู่ได้ การที่สังขารคือนามรูปหรือเบญขันธ์เหล่านั้นระงับเสียได้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข เพราะสังขารทุกข์ เช่น ชาติ ชรา มรณะ จะมาครอบงำอีกไม่ได้ ”
พระอนุรุทธเถรเจ้ากล่าวคาถาว่า

“ พระพุทธเจ้าทรงมีจิตคงที่ในโลกธรรมทั้ง ๘ ทรงไม่หวั่นไหว สิ้นแล้วทั้งลมหายใจเข้าและหายใจออก พระองค์ไม่หวั่นไหวสะทกสะท้านด้วยมรณธรรมแต่ประการใด ทรงปรารภแต่สันติ ความสงบระงับ คือ นิพพานเป็นอารมณ์ ทรงทำกาละชนิดพ้นวิสัยของสามัญญสัตว์ พระองค์ทรงไม่มีพระหฤทัยสะทกสะท้านหดหู่พรั่นพรึงต่อมรณธรรมเลย ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยพระสติสัมปชัญญะเป็นอย่างดีเยี่ยม พระองค์เสด็จปรินิพพานไม่เหลือทั้งกายและใจ เปรียบเหมือนประทีปที่ลุกโพลงดับวูบไปฉะนั้น ”

พระอานนท์กล่าวว่า “ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงดับขันธปรินิพพานแล้ว เกิดเหตุมหัศจรรย์อันน่าขนลุกขนพองในเวลานั้น ให้มนุษย์และเทวดาได้เห็น ”

คำกล่าวนี้เป็นการสอนเตือนใจว่าร่างกายที่มีใจครองอยู่นี้ ตกอยู่ในอำนาจของความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีผู้ใดหนีพ้น แม้แต่องค์พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาเอกในโลก เป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้ใดเปรียบ ยังหนไม่พ้น ต้องเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ดำรงถาวรอยู่ได้

สาธุชนทั้งหลายควรสลดใจ ไม่ประมาท ทำกุศลสัมมาปฏิบัติเป็นที่พึ่งแก่ตน เพื่อให้สำเร็จ เป็นหนทางไปสุคติโลกสวรรค์และนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งความไม่ประมาทเป็นหลักสำคัญ

 

ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025629949569702 Mins