หลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ตอนที่ ๑)

วันที่ 27 สค. พ.ศ.2547

 

 

หลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ตอนที่ ๑)


.....ครั้นเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เป็นเวลายังไม่สว่างดี พระอนุรุทธะกับพระอานนท์ผลัดกันแสดงธรรมปลอบใจพุทธบริษัทตามควรแก่เวลา

พอสว่าง พระอานนท์เป็นผู้เข้าไปแจ้งแก่เหล่ามัลลกษัตริย์ เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิง คราวนั้นกษัตริย์โปรดให้ป่าวประกาศไปทั่วเมือง เพื่อรวบรวมน้ำหอม ของหอม และปวงดอกไม้ รวมทั้งดนตรีมีเท่าไรให้นำมาร่วมในงาน กระทำพิธีสักการบูชาพระศพตลอด ๖ วัน

พอวันที่ ๗ เหล่ามัลลกษัตริย์ปรึกษากันว่าจะอัญเชิญพระสรีระแห่เข้าพระนครทางทิศใต้ แล้วถวายพระเพลิงนอกพระนคร แต่เมื่อพากกันยกพระศพอย่างไรก็ไม่เคลื่อนที่

พระอนุรุทธะตรวจดูด้วยทิพยจักษุพบว่าขัดต่อความต้องการของพระเหล่าเทพยดา เทวดาใคร่ให้เคลื่อนพระสรีระเข้าทางทิศเหนือ แล้วออกทางทิศตะวันออก ไปประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ ที่ประชุมจึงตกลงทำตามความต้องการของเทพยดา ก็สามารถเคลื่อนพระศพได้โดยง่าย

ขณะนั้นพวกดอกไม้สวรรค์ชื่อมณฑารพ ที่เทวดาบันดาลให้ตกลงมาทำพุทธบูชาก็ตกลงมาดารดาษทุกหนทุกแห่งในนครกุสินารา สูงท่วมหัวเข่า เสียงดนตรีมนุษย์และดนตรีทิพย์กึกก้องเอิกเกริกเป็นโกลาหล เหล่ามัลลกษัตริย์พากันกระทำพิธีครบถ้วนทุกประการตามที่มีพุทธาธิบายไว้

แต่เมื่อนำไฟเข้าไปจุดเพื่อถวายพระเพลิง จุดเท่าใดก็ไม่ติด พระอนุรุทธเถรเจ้าแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เทพยดาทั้งหลายปรารถนาให้รอพระมหากัสสปเถระมาถวายบังคมเบื้องพระบาทพระบรมศาสดาก่อน จึงจะถวายพระเพลิงได้

เวลานั้นพระมหากัสสปเถรเจ้ายังกำลังเร่งรีบเดินทางมากับภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป จากปาวานคร ระหว่างทางพบอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา จึงถามข่าวของพระผู้มีพระภาคเจ้า อาชีวกนั้นแจ้งให้ทราบว่าพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งให้ดูดอกมณฑารพที่เก็บมาจากสถานที่ปรินิพพานซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไม่มีในเมืองมนุษย์

เมื่อทราบข่าว ภิกษุผู้สิ้นราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นด้วยธรรมสังเวช ส่วนภิกษุปุถุชนยังมีราคะอยู่ก็เศร้าโศกปริเวทนา เกลือกกลิ้งรำพันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในหมู่คณะนั้นมีภิกษุซึ่งมาบวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อสุภัททะ(ชื่อเหมือนภิกษุที่บวชเป็นรูปสุดท้าย) กล่าววาจาไม่สมควรขึ้นว่า “ หยุดเสียใจกันได้แล้ว ไม่ต้องเศร้าโศกถึงพระสมณโคดมองค์นั้นหรอก เมื่อท่านมีชีวิตอยู่คอยสั่งพวกเรา ไม่ให้ทำโน่น ไม่ให้ทำนี่ ตอนนี้ท่านพ้นจากเราไปเสียได้ เราไม่ต้องมีใครมาบังคับ ใครชอบใจจะทำอะไรก็ได้ ดีเสียที”

พระมหากัสสปะฟังแล้ว คิดจะยกขึ้นมาเป็นข้อลงโทษที่กล่าววาจาจ้วงจาบ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาสมควร จึงเพียรกล่าวห้ามปราบโดยธรรม แล้วรีบพาหมู่คณะเร่งเดินทางจนถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ประนมมือนมัสการทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ แล้วถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า

ขณะนั้นเองจิตกาธาน(เชิงตะกอน)ก็มีไฟลุกโพลงขึ้นเองเป็นอัศจรรย์ด้วยเทวานุภาพเผาพระสรีระของพระบรมศาสดา ส่วนที่เป็นพระฉวีภายนอก และพระจัมมะ(หนังภายใน) พระนหารู(เส้นเอ็นน้อยใหญ่) พระลสิกา(ไขข้อ) ทั้งหมดนี้ไฟไหม้โดยไม่มีเถ้าหรือเขม่าไฟ เหมือนไฟไหม้เนยใสหรือน้ำมัน พระสรีระ ส่วนที่เป็นพระอัฐิ พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทันตา ทั้งหมดเหลืออยู่ รวมทั้งผ้าพันพระศพชั้นในอีก ๑ คู่ นอกจากนั้นไฟเผาจนหมดสิ้น

เสร็จแล้วมีท่อน้ำไหลมาเองจากนภากาศ มีน้ำพุขึ้นจากต้นสาละดับจิตกาธาน รวมทั้งเหล่ามัลลกษัตริย์ก็นำน้ำหอมทั้งหลายช่วยกันดับ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่สัณฐาคารศาลาภายในนครกุสินารา มีเครื่องป้องกันรอบอาคาร มีทหารถือธนูคอยพิทักษ์ มีงานฉลองสักการบูชาต่ออีก ๗ วัน

 

แจกพระสารีริกธาตุ

เมื่อข่าวการปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระสรีระของพระตถาคตเจ้าแพร่ไปตามนครและแว่นแคว้นต่างๆ บรรดาบุคคลผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระบรมศาสดา เช่น พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งนครราชคฤห์ กษัตริย์ลิจฉวีแห่งนครไพศาลี กษัตริย์ศากยะและพระประยูรญาติในรามคาม มหาพราหมณ์เมืองเวฏฐทีปกนคร และมัลลกษัตริย์นครปาวา รวม ๗ แห่ง ต่างส่งทูตเชิญราชสาสน์ขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ เพื่อนำไปสร้างสถูปทำการสักการบูชา แต่ละเมืองได้ส่งคณะทหารร่วมมากับราชทูต พากันตั้งล้อมนครกุสินาราไว้อย่างแน่นหนา

คณะมัลลกษัตริย์แต่แรกหวงแหนพระบรมสารีริกธาตุมาก เพราะเห็นว่าพระบรมศาสดาทรงอุตส่าห์เสด็จมาปรินิพพานในแว่นแคว้นของตน จึงจะไม่ยอมแบ่งให้ผู้ใด เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้นกับราชทูตฝ่ายที่มาขอ

พราหมณ์ชื่อโทณะเป็นที่เคารพนับถือของมัลลกษัตริย์ได้กล่าวเตือนให้สติว่า พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญขันติธรรมและสามัคคีธรรมให้ห่างไกลจากวิหิงสาและอาฆาต พระองค์เป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชนเป็นอันมาก ทั่วไปในแว่นแคว้นต่างๆ ควรแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุไปเป็นที่สักการบูชา โดยรอให้พร้อมหน้ากันทั้ง ๘ แว่นแคว้น แล้วแบ่งให้ไปเท่าๆ กัน

เหล่ามัลลกษัตริย์และราชทูตทั้งปวงฟังข้อเสนอแนะของโทณพราหมณ์แล้ว ก็เห็นดีด้วย มัลลกษัตริย์เองก็รู้ตนเองดีกว่าเป็นแคว้นเล็ก ถ้าต้องทำสงครามประหัตประหารกัน ก็เห็นทีจะพ่ายแพ้ถ่ายเดียว เรื่องนี้คิดไปแล้วก็จะเห็นซึ้งถึงพระปรีชาญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า หากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครใหญ่ ซึ่งมีกำลังกองทัพเข้มแข็ง โอกาสแจกพระบรมสารีริกธาตุคงไม่มี

ทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ดำเนินการแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ พราหมณ์ใช้ทะนานทองตวงเป็น ๘ ส่วน แจกจ่ายกันไปเท่าๆ กัน พราหมณ์ขอไว้แต่ทะนานทองนั้น ราชทูตของแต่ละนครจึงแยกย้ายกลับ

ต่อมาโมริยกษัตริย์เมืองปิบผลิวันส่งราชทูตมาบ้าง มัลลกษัตริย์ให้เชิญพระอังคาร(เถ้า) ไปทำสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนสักการบูชา คงเป็นเถ้าถ่านจากสิ่งของที่ใช้ถวายพระเพลิง ถูกไฟเผาแล้วเหลือเป็นเถ้าอยู่ เพราะสิ่งที่เป็นส่วนของพระสรีระไฟไหม้แล้วไม่มีเถ้าเหลือ

รวมแล้วครั้งนี้มีสถูปสำหรับบูชาระลึกถึงพระพุทธคุณ รวมทั้งของโทณพราหมณ์ด้วยเป็น ๑๐ แห่ง

ประชุมใหญ่พระสงฆ์ เพื่อกระทำปฐมสังคายนา

วันเดียวกันที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุเหล่าภิกษุสงฆ์ได้ร่วมประชุมใหญ่ พระมหากัสสปเถรเจ้าได้กล่าวเล่าเรื่องที่ภิกษุสุภัททะผู้บวชตอนแก่กล่าวติเตียนจ้วงจาบพระบรมศาสดา และพระวินัย ให้เกิดความสังเวชสลดใจในหมู่สงฆ์ว่า เพียงพระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน ยังมีผู้มีความคิดเห็นวิปริตไปได้ถึงเพียงนี้ ถ้าปล่อยปละละเลยให้นานไปจะฟั่นเฝือ เผื่อมีอลัชชีปลอมบวชมุ่งทำลายพระศาสนา ย่อมจะบิดเบือนพระธรรมวินัยได้ง่าย สิ่งที่มิใช่ธรรม มิใช่วินัยจะรุ่งเรือง ส่วนธรรมวินัยที่แท้จะลบเลือนถูกทำลายสูญหายไป พวกคนบาปจะพากันลบล้างพระธรรมวินัย เมื่อคนเลวมากขึ้น ก็จะพากันมีกำลังกล้าแข็ง คนดีอยู่ในพระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยน้อยกำลัง

นอกจากนั้นยังได้นำพระพุทธดำรัสสั่งพระอานนท์มากล่าวยืนยันให้สงฆ์ทราบทั่วกันว่า พระตถาคตเจ้าประทานพุทธโอวาทไว้ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ให้นับถือธรรมและวินัยเป็นศาสดาปกครองสงฆ์แทนพระองค์
 
 
ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021801467736562 Mins