ชีวิตหลังเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตอนจบ)

วันที่ 23 มค. พ.ศ.2547

 

 

.....ความเดิมตอนที่แล้ว ในวันแรม ๕ ค่ำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสและแสดงเรื่อง อนัตตลักขณสูตร แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

…เสร็จแล้วพระบรมศาสดาทรงตรัสขึ้นว่า “ขันธ์ ๕ นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

.....ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

.....ตรัสถาม “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

.....ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

.....ตรัสถาม “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะยึดถือในสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวของเรา?”

.....ภิกษุปัญวัคคีย์ทูลว่า “ไม่ควร พระเจ้าข้า”

.....ตรัสอธิบายต่อไป ให้ละความถือมั่นในขันธ์ ๕ เพราะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ทั้งที่ผ่านไปแล้ว ยังมาไม่ถึง หรือเกิดอยู่เฉพาะหน้า หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี งามก็ดี เกิดที่ไกลก็ดี ที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดเป็นสักแต่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ควรเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้องว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั้นไม่เป็นเรา นั้นไม่ใช่ตนของเรา

.....เมื่อเข้าใจถูกต้องดังนี้แล้ว ควรเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านั้น

.....เมื่อเบื่อหน่าย ก็จะคลายกำหนัด คือไม่พอใจรักใคร่

.....เมื่อไม่พอใจรักใคร่ จิตก็พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น

.....เมื่อจิตพ้นจากความยึดถือ ก็มีวิญญาณเกิดให้ทราบว่าพ้นแล้ว

.....เมื่อมีญาณเกิดขึ้นในทราบว่าพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ต่อจากนี้ไม่เกิดอีกแล้ว พรหมจรรย์ประพฤติจบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่น่าทำกว่านี้ไม่มี

.....ครั้งนั้น ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตรนี้อยู่ พระภิกษุปัญจวัคคีย์ส่งใจไปในท่ามกลางตัวเป็นมัชฌิมา พิจารณาความจริงต่างๆ ด้วยอำนาจญาณตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุเป็นพระอรหันต์

.....นับว่าขณะนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วในโลก ๖ องค์

 

              เริ่มประกาศพระศาสนา

.....ณ สถานที่ไม่ไกลจากที่ประทับของพระบรมศาสดา มีกุลบุตรผู้หนึ่ง ชื่อ ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีคฤหาสน์ใหญ่ประจำฤดูกาลอยู่ ๓ หลัง มีวงดนตรีสตรีล้วนคอยบรรเลงขับกล่อม ค่ำวันนั้น ยสกุลบุตรนอนหลับตอนหัวค่ำ เหล่าวงดนตรีเห็นดังนั้นก็เลิกบรรเลง พากันนอนหลับเกลื่อนกลาด

.....ยสะตื่นขึ้นกลางดึก ทั่วบริเวณยังจุดไฟสว่างอยู่ เห็นเหล่าสตรีที่นอนหลับมีอาการพิกลพิการต่างๆ เครื่องดนตรีวางเกะกะ บางคนนอนสยายผมรุงรัง น้ำลายไหล บางคนบ่นละเมอไม่เหมือนเสียงคน บ้างอ้าปากกรนเสียงดัง ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย พาดแขนขาเกะกะมองเหมือนซากศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า

.....ยสะเกิดความสังเวชสลดใจ ออกอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” รู้สึกไม่อยากอยู่ในบ้าน จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูบ้าน ผ่านไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ฟ้าสาง พระบรมศาสดากำลังเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสะเปล่งอุทานเรื่อยๆ ว่า “วุ่นวายจริง ขัดข้องจริง” ขณะเดินทางมา จึงตรัสเรียกว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญเข้ามาที่นี่เถอะ นั่งลงเราจะแสดงธรรมให้ฟัง”

.....ยสะได้ยินพระดำรัสเรียกดังนั้น รู้สึกชอบใจจึงรีบเข้าไปกราบแทบพระบาท นั่งลงฟังธรรม พระบรมศาสดาตรัสสอนยสกุลบุตรด้วย อนุปุพพิกถา คือข้อความที่สอนไปตามลำดับขั้น โดยขึ้นต้นเรื่อง่ายก่อนแล้วยากขึ้นตามลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของผู้ฟังให้สะอาดหมดจดก่อนรับฟังและปฏิบัติธรรมขั้นสูง คือ อริยสัจ ๔

.....อนุปุพพิกถา ได้แก่

.....๑. เรื่องทาน พรรณาเรื่องการบริจาค กำจัดความโลภ เพื่อกำจัดความตระหนี่กิเลสอย่างหยาบ

.....๒. เรื่องศีล การสำรวมกาย วาจา ให้พ้นจากบาปอกุศล

.....๓. เรื่องสวรรค์ คือ กามคุณที่คนทั้งหลายพอใจใคร่ได้ ใคร่มี เป็นความสุขพรั่งพร้อม ซึ่งจะได้มาด้วยการทำทาน รักษาศีล

.....๔. เรื่องโทษของกาม ให้เห็นว่าความสุขเกี่ยวกับเรื่องกามเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนได้ เป็นความสุขที่มีความคับแค้นแอบแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา แม้เป็นความสุขในสวรรค์ ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกาม ซึ่งเป็นความสุขที่เสื่อมสลายไม่แน่นอน เป็นเพียงชั่วคราว มิใช่ความสุขอยู่ได้ตลอดไป

.....๕. เรื่องอานิสงส์ของการออกจากกาม การออกบวชทั้งกายและใจให้ประโยชน์ต่อชีวิตมาก สามารถสร้างความดีได้มากกว่าชีวิตของผู้ครองเรือน ไม่ต้องห่วงกังวลกับชีวิตของผู้อื่น มีอิสระ

.....ยสกุลบุตรเป็นคนฉลาด ฟังอนุปุพพิกถาแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง เหมือนผ้าที่ได้รับการซักฟอกสะอาดดีแล้ว ครั้นพระบรมศาสดาทรงประกาศอริยสัจ ๔ ต่อ ยสะก็พลันได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน เหมือนย้อมผ้าสะอาด สีย่อมติดเนื้อผ้าดี
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038155615329742 Mins