ชีวิตหลังเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตอนที่ ๗)

วันที่ 16 มค. พ.ศ.2547

 

 

.....ขณะพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ นักบวชชื่อโกณฑัญญะ ส่งใจไปตามพระธรรมเทศนาหยุดใจไว้ในมัชฌิมา ทางสายกลางภายในใจ ดวงตาเห็นธรรม(เห็นด้วยญาณ) คือ ธรรมจักษุเกิดขึ้น จิตใจปราศจากธุลีมลทิน ได้ความรู้ขึ้นมาว่า

.....“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” อันเป็นระดับปัญญาของพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ” แปลว่า โกณฑัญญะรู้ตามที่เราสอนแล้ว

.....เพราะพระอุทานนี้ ท่านโกณฑัญญะ จึงได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นมา

.....ปฐมเทศนาครั้งนี้ ต่อมาเรียกชื่อว่า ธัมมจักกัปวัตตนสูตร ล้อของธรรมเริ่มหมุน พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะแผ่พระบรมเดชานุภาพ ทรงขับรถศึกเคลื่อนทัพ นำความเจริญมาสู่แว่นแคว้น

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงเผยแผ่พระธรรม ก็ทรงหมุนกงล้อธรรมให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อนำเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล

.....การแสดงปฐมเทศนาครั้งนี้ ทำความอัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้นแก่จักรวาล ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เช่น มีแผ่นดินไหว มีแสงสว่างพวยพุ่งอย่างใหญ่หลวงเกิดอำนาจเทวดาเหมือนครั้งประสูติ ตรัสรู้ ในอากาศมีเสียงกลองทิพย์บรรลือลั่น คนพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก หายเป็นปกติชั่วคราว คนต้องโทษจองจำก็ทำนองเดียวกัน แม้ในนรถไฟนรกก็ดับชั่วคราว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคิดในแง่บุคคลาธิษฐานก็ได้

.....ท่านอัญญาโกณฑัญญะเห็นธรรมแล้ว สิ้นความสงสัยทั้งปวง บังเกิดความแกล้วกล้าจะประพฤติตามคำสอนของพระศาสดาให้ยิ่งขึ้น จึงทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า

.....“ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมที่เรากล่าวนั้นเป็นสิ่งดียิ่งแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นสุดไปโดยชอบเถิด” ซึ่งการอุปสมบทวิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระภิกษุรูปแรก ต่อจากนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาต่อมา ที่เหลืออีก ๔ ท่าน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขออุปสมบทจนหมดทั้ง ๔ แต่ยังเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น

.....ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีอินทรีย์แก่กล้า คือมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เต็มที่ควรต่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระบรมศาสดาตรัสแสดงเรื่อง อนัตตลักขณสูตร คือ เรื่องให้พิจารณาเห็นว่ากายและใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะ

.....๑. เป็นของว่างเปล่า (สูญ) คือเป็นเพียงมีสิ่งที่เป็นส่วนย่อยๆ มาประชุมรวมกันเข้า ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา เรามาสมมติยึดถือกันขึ้นเองทั้งสิ้น เช่น บ้าน หรือ รถ เราเอาสิ่งต่างๆ มาผสมและประกอบกันพร้อมกับตั้งชื่อ เรียกสิ่งเหล่านี้จึงมีขึ้น แท้ที่จริงแล้วเมื่อแยกสิ่งต่างๆ ออกดู คำว่า บ้าน หรือ รถ ก็ไม่มี ร่างกายหรือจิตใจเกิดขึ้นเพราะมีส่วนต่างๆ มาประกอบ ทำนองเดียวกัน

.....๒.เป็นสภาวะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใครจริง

.....๓. ไม่อยู่ในอำนาจใคร ไม่เป็นไปอย่างที่ใครปรารถนา

.....๔. ไม่อยู่ตามลำพัง แต่อิงอาศัยอยู่กับสิ่งต่างๆ มีเหตุ มีปัจจัย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

.....๕. โดยสภาวะแล้ว ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา (คือเป็นตัวตน)

......พระบรมศาสดาทรงแยกกายกับใจออกเป็นขันธ์ ๕ (ขันธ์ แปลว่า กอง) คือ เป็นกองรูป ๑ กองนาม ๔ ได้แก่

.....๑. รูป ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด

.....๒. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์

.....๓. สัญญา ได้แก่ ความจำได้หมายรู้

.....๔. สังขาร ได้แก่ สภาวะที่ปรุงแต่งใจให้คิดดีบ้าง ชั่วบ้าง ไม่ดีไม่ชั่วบ้าง

.....๕. วิญญาณ ได้แก่ ควาสมรู้แจ้งในสิ่งที่มากระทบ เช่น ตากับรูปกระทบกัน เกิดการรับรู้เรียกว่า วิญญาณทางตาเกิด ในทำนองเดียวกัน หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส ประสาททางกายกับสภาพเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบใจกับเรื่องราวต่างๆ เมื่อของสองอย่างดังกล่าวแล้วกระทบกัน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความรับแล้วรู้นั่นเอง คือ สภาพของวิญญาณ เพราะฉะนั้น คนเราจึงมีวิญญาณในตัวเป็น ๖ อย่าง

.....ขันธ์ ๕ ดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นสิ่งที่มีตัวตน ขันธ์ ๕ ก็ไม่ควรเป็นอยู่อย่างลำบาก ผู้เป็นเจ้าของขันธ์ ๕ ต้องบังคับไว้ ว่าให้เป็นอย่างโน้นเถอะ เป็นอย่างนี้เถอะ แต่เพราะขันธ์ ๕ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตน จึงเป็นไปลำบากต่างๆ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030615699291229 Mins