ชีวิตหลังเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตอนที่ ๖)

วันที่ 09 มค. พ.ศ.2547

 

 

.....เช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ คือ เดือน ๘ เสด็จออกจากต้นไทร จะทรงไปทรงเมืองพาราณสี ที่ริมแม่น้ำคยาสุดเขตตำบลที่ตรัสรู้ ทรงพบนักบวชผู้หนึ่งคือ อุปกะ เดินสวนมา อุปกะเห็นความผุดผ่องของพระฉวีวรรณ มีพระรัศมีเปล่งจากพระวรกายเป็น ๖ สี คือ สีน้ำเงินเหมือนสีดอกอัญชัญ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน สีขาวเหมือนแผ่นเงิน สีแสดเหมือนสีดอกหงอนไก่ และสีเลื่อมพรายเหมือนสีแก้วผลึก ก็นึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ทูลถามว่าใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสรู้เอง ไม่มีใครสอน แต่อุปกะไม่เข้าใจคำว่า รู้เองโดยไม่มีคนสอน แสดงอาการสั่นศีรษะ แลบลิ้น แล้วหลีกไป อาการแลบลิ้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ไม่ใช่อาการดูถูกเหมือนในสมัยนี้

.....พระองค์เสด็จผ่านที่ต่างๆ ไปตามลำดับ จนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นสถานที่ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่

.....ฝ่ายปัญจวัคคีย์แลเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ด้วยเห็นพระฉัพพรรณรังสีสว่างรุ่งเรือง ไม่มีใครเฉลียวใจ คงคิดว่าพระองค์คลายความเพียร ไม่น่านับถือ เมื่อมาหาดังนี้จึงนัดกันไม่ทำการต้อนรับ คือไม่ต้องลุกขึ้นยืน ไม่รับบาตรและจีวร ปูแต่ที่รองนั่ง คืออาสนะไว้ให้เผื่อทรงต้องการนั่ง

.....ครั้นพระองค์เสด็จมาถึง นักบวชทั้งห้าพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้หมด ต่างลุกขึ้นยืน รับบาตรจีวรเหมือนที่เคยทำ แต่ยังทักทายด้วยถ้อยคำไม่สมควรคือใช้คำว่า อาวุโส ซึ่งแปลว่า ผู้อ่อนกว่า

.....พระพุทธเจ้าตรัสห้าม และทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบด้วยพระองค์เองแล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กล่าวคำคัดค้านว่า “อาวุโสโคดม(โคดมผู้เยาว์) ท่านได้เคยบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ท่านยังไม่บรรลุธรรมวิเศษอันใด นี่ท่านมาคลายความเพียร ปฏิบัติเป็นคนมักมากเสียแล้ว จะบรรลุธรรมวิเศษอะไรได้เล่า”

.....พระองค์ตรัสเตือนให้คิดว่า ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาในครั้งกระโน้น พระองค์เคยตรัสคำพูดอย่างนี้บ้างหรือไม่ ปัญจวัคคีย์นึกได้ว่า ไม่เคยตรัส จึงเริ่มลังเลใจ ใคร่จะฟังธรรม พระองค์ทรงให้รอฟังในวันรุ่งขึ้น

.....ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก โดยเริ่มว่า สิ่งที่เป็นที่สุด ๒ อย่าง ผู้ออกบวชไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค ได้แก่ประพฤติตนพัวพันด้วยความสุขในกาม ซึ่งเป็นของเลว ทำให้ต้องตั้งบ้านเรือนเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ผู้ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์ และอัตตกิลมถานุโยค ได้แก่ การทรมานกายให้ลำบากด้วยประการต่างๆ ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์

.....การปฏิบัติสายกลาง ไม่ปล่อยตนไปตามความใคร่ และไม่ทรมานกายให้ลำบาก ปฏิบัติพอดีๆ กลางๆ จึงทำให้บำเพ็ญเพียรสำเร็จ ดังที่พระองค์ทรงกระทำได้ ตรัสรู้แล้วมีปรีชาญาณเกิดขึ้น เป็นการกระทำที่ให้เกิดความสงบระงับ เกิดความรู้ยิ่งเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง บรรลุนิพพาน ทางปฏิบัติสายกลางเรียกชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา

.....มัชฌิมาปฏิปทา คือทางมีองค์ ๘ กล่าวโดยย่อ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา คือมีความเข้าใจถูกศีลธรรม มีความคิดถูกต้อง ความประพฤติทางวาจาดี ความประพฤติทางกายดี เลี้ยงชีพสุจริต มีความพยายามในความดี ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นถูก

.....เมื่อปฏิบัติทางสายกลางดังนี้แล้ว ย่อมรู้แจ้งถึงความจริงของอริยบุคคล ๔ ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ได้แก่

.....๑. ทุกข์ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แห้งใจ เศร้าโศกเสียใจ รำพันคร่ำครวญ คับใจ พบสิ่งที่เกลียดชัง พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้ ฯลฯ สภาพเหล่านี้ทนได้ยาก จึงเรียกว่า
ทุกข์

.....๒.เหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา คือ ความทะยานอยาก อยากเพราะความพอใจ ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เช่น
มีตัณหาในกามเรียกว่า กามตัณหา ทะยานอยากในอารมณ์ที่ชอบใจ
ทะยานอยากในความมีสิ่งนั้น เป็นสิ่งนั้น เรียกว่า ภวตัณหา
ทะยานอยากในความอยากไม่มี อยากไม่เป็น เรียกว่า วิภวตัณหา
ตัณหาทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

.....๓. สภาพที่ไม่มีทุกข์ คือ สภาพที่ทุกข์ดับแล้ว เป็นภาวะที่ไม่มีตัณหาติดย้อมอยู่ เป็นสภาพสละว่าง ปล่อยตัณหาได้หมด

.....๔. หนทางหรือวิธีดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ดังกล่าวแล้ว เมื่อรู้ถึงอริยสัจ ๔ ดังนี้แล้ว ควรปฏิบัติดังนี้คือ

๑. ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญา

๒. ตัณหา เหตุทำให้ทุกข์เกิด ต้องละ

๓. สภาพที่ทุกข์ดับ ควรทำให้แจ้งชัด คือเห็นสภาพนั้นจริงๆ (เห็นนิพพาน หรือทำนิพพานให้แจ้ง)

.....พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครเทียบสู้ได้ในโลก ความหลุดพ้นของพระองค์เป็นความหลุดพ้นเด็ดขาดแท้จริง ไม่กลับกำเริบอีก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้พระองค์จะไม่เกิดเป็นอะไรๆ อีก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017226485411326 Mins