พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ตั้งแต่ประกาศพระศาสนาเมื่อพระชนมายุ ๓๙ พรรษา จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา เป็นเวลาทั้งหมด ๔๙ ปีนั้น รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก แบ่งเป็นสาระสำคัญ คือ
ส่วนที่ ๑ พระวินัย หมายถึง กฎระเบียบของพระภิกษุ ๒๑,๐๐๐ ข้อ
ส่วนที่ ๒ พระสูตร หรือพระสุตดันตปิฎก กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล รวมคำเทศน์ คำสอนที่มีหลักธรรม ๒๑,๐๐๐ ข้อ
ส่วนที่ ๓ พระอภิธรรม เป็นธรรมะเบื้องสูง กล่าวถึงพัฒนาการระดับจิตใจว่า เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าดีขึ้นอย่างไร ใช้ตรวจสอบสภาวะจิต และยังกล่าวได้ด้วยว่า ถ้าไม่ปฏิบัติจะเลวลงอย่างไร รวม ๔๒,๐๐๐ ข้อ
พระโตรปิฎกในภาษาบาลีมี ๔๙ เล่ม แปลเป็นภาษาไทยก็มี ๔๙ เล่ม เท่าจำนวนพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระศาสนา
ในการประกาศศาสนา หรือการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระองค์ ตั้งแต่ตรัสรู้แล้วนั้น ทรงอุทิศเวลาตลอดพระชนม์ชีพเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกด้วยพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นแบบฉบับของศาสดาที่วิเศษสุดในโลก ทรงแบ่งงานของพระองค์เป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ
ส่วนที่หนึ่ง เกี่ยวกับพระญาติ
ส่วนที่สอง เป็นของชาวพุทธทั้งหลาย อันประกอบด้วยพุทธ บริษัท ๔ คือ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ส่วนที่สาม เป็นของชาวโลกทั่วไป ซึ่งบุญบารมียังไม่แก่กล้าพอที่จะติดตามพระองค์ไปได้ พระองค์ก็เพียงโปรดเพียงสอนไปตามกำลังที่เขาจะรับได้
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ ยังไม่เคยมีศาสดาองค์ใดที่แบ่งงานได้สมบูรณ์แบบดังพระองค์ท่าน จนได้รับฉายาอย่างที่เราสวดมนต์สรรเสริญพระพุทธคุณอยู่ทุกวันนี้ว่า
ปุริสะธัมมะสาระถิ คือ เป็น สารถีนักฝึกคนที่เยี่ยมที่สุดในโลก
สัตถาเทวะ มะนุสสานัง คือ เป็นครูสอนได้ทั้งเทวดาและมนุษย์ยังไม่มีศาสดาองค์ใดทำได้แต่พระองค์ทำได้
ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระภาวนาวิริยคุณ