สรุปโอวาทที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่ ๓๖๑
ใจนิ่ง ๆ ใจเฉย ๆ คือ ใจเป็นกลาง : ลูกต้องนิ่งอย่างเดียว อย่าไปตั้งใจจนเกินไป ทำอย่างสบาย ๆ แบบสนุก ๆ
ไม่ต้องกังวลกลัวจะทำไม่ได้ ถ้ามีความเพียรและทำอย่างถูกหลักวิชชา เดี๋ยวก็เห็นธรรมะกันได้ทุกคน อย่าชะล่าใจประมาทปล่อยใจไปติดกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ต้องหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้ได้อย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวจะหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ลูกมีความสุขที่เกิดจากสมาธิเป็นเครื่องตอบแทน
ถ้าเวลานั่งมีอารมณ์เฉย ๆ หรือไม่มีความสุข แปลว่า นิ่งไม่สนิท ต้องสังเกตดู ใจต้องเกลี้ยงทุกรอบ เพราะความสุขจะจูงใจให้ลูกนั่งได้นาน ๆ โดยไม่จำกัดกาลเวลา ถ้ามีความสุขจากสมาธิใจลูกจึงจะเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตาและอุเบกขา ตามประสบการณ์ภายใน คือ ใจจะเป็นกลางจริง ๆ ใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เป็นกลาง ๆ มีความสุข ความบริสุทธิ์รวมเป็นหนึ่ง ถ้านิ่งจริง ๆ จะเห็นภาพภายในได้ชัด ใส แจ่ม ต้องมีสุขเป็นพื้นฐาน ใจเกลี้ยง ๆ สบาย ให้ทำใจใส ๆ สบาย ๆ อย่างมีความสุข
คุณครูไม่ใหญ่