หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๖)
มีคนหลายคนที่เป็น “นักพูด” ชั้นยอด สามารถโน้มน้าวจิตใจให้คนคล้อยตามได้
มีคนหลายคนที่เป็น “นักเขียน” ชั้นครู ที่เขียนแล้วทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการว่าตนเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้นได้
แต่หายากแสนยากที่จะมี “นักทำ” สักคนที่ไม่ต้องเอ่ยปาก แต่คนที่อยู่รอบข้าง กลับเอาคน ๆ นั้น เป็นต้นแบบในการกระทำ
ความสำเร็จของวัดพระธรรมกายอีกประการหนึ่งคือ บุคลากรทุกคนมีความรู้สึกและความภาคภูมิใจตรงกันว่า เขาได้อยู่กับครูบาอาจารย์ที่เพียบพร้อมทั้งการเป็น “นักพูด” “นักเขียน” และ “นักทำ” ทำให้เขาได้รับการปลูกฝังให้มีคุณธรรมและรักการสร้างบารมี แบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาสู่วัดพระธรรมกาย อาตมาและเพื่อนธรรมทายาทจะถูกปลูกฝังในเรื่องความเคารพในพระรัตนตรัยเป็นอันดับแรก หลวงพ่อทั้งสองและพระอาจารย์ จะสอนให้ตระหนักในคุณของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ท่านเหล่านั้นจะตอกย้ำอยู่ เสมอว่า กว่าจะมีพระรัตนตรัยได้ ไม่ใช่เรื่องพอดีพอร้าย พระบรมศาสดาต้องสร้างบารมีนานถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป
ยังจำได้ดีว่าหากธรรมทายาทคนใดก็ตาม เผลอตัวขาดสติ ก้าวข้ามหนังสือสวดมนต์ หรือเอาหนังสือทิ้งไว้ไม่เก็บติดตัวไปด้วย จะต้องถูกฝึกสติ โดยหลังจากเลิกกิจกรรมในช่วงค่ำจะต้องนั่งสมาธิเพิ่มอีก ๓๐ นาที
นอกจากการตอกย้ำในเรื่องความเคารพผ่านการอบรมหรืองานเขียนของหลวงพ่อทั้งสองแล้ว สิ่งที่ลูก ๆ ในวัดได้พบได้เห็นคือ สิ่งที่หลวงพ่อได้ทำตัวให้เป็นตัวอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คุณธรรมเรื่องความเคารพ”
มีสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อทั้งสองเอาใจใส่มากเป็นพิเศษคือ การปั้นพระพุทธรูปหรือพระประธาน กว่าจะได้แบบออกมาแต่ละองค์นั้น ยากแสนยาก ท่านจะไม่ปล่อยผ่านแม้จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาตมาเคยกราบเรียนถามหลวงพ่อธัมมชโยว่า
“ หลวงพ่อครับ ทำไมการปั้นพระจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ”
หลวงพ่อได้เมตตาเฉลยให้ฟังว่า “ การจำลองเอาลักษณะมหาบุรุษออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจถึงพุทธลักษณะอย่างแท้จริง เราอาจเคยเห็นพระพุทธรูปบางองค์ ดูแล้วสวยงามในท่านั่ง แต่หากลุกขึ้นยืนเมื่อไร จะผิดส่วนทันที และองค์พระจะต้องไม่ใช่ ลักษณะตามจินตนาการของช่างแต่ละชาติ แต่จะต้องเป็นลักษณะขององค์พระภายในที่มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ”
ไม่เพียงแต่องค์พระประธานเท่านั้น ด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ แม้เมื่อต้องปั้นรูปหลวงปู่หรือคุณยายอาจารย์ หลวงพ่อก็ลงมือทำเองและดูแลอย่างใกล้ชิด ท่านจะดูรายละเอียดทุกขั้นตอน ท่านจะพูดเสมอว่า
“ หลวงพ่อต้องการหลวงพ่อเหมือนไม่ใช่หลวงพ่อคล้าย ”
สิ่งหนึ่งที่อาตมาได้สัมผัส รับรู้ คือ เรื่องความเคารพที่หลวงพ่อทั้งสองมีต่อคุณยาย หลวงพ่อธัมมชโยจะบอกพวกเราเสมอว่า
“ คุณยายคือ ทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงพ่อ หากไม่มีคุณยายก็ไม่มีหลวงพ่อ ”
ตั้งแต่อาตมาก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระธรรมกาย จะเห็นอยู่เสมอว่า เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับวัด คุณยายจะเป็นผู้คลี่คลายหรือให้คำแนะนำ ดังนั้นหลวงพ่อทั้งสองจึงให้ความสำคัญกับคุณยายอาจารย์เป็นอันดับหนึ่ง
ในช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่อาศรมบัณฑิต อาตมาได้เห็นความเคารพของหลวงพ่อทัตตชีโวที่มีต่อคุณยาย คือ ทุกครั้งที่คุณยายมาที่อาศรมฯ ไม่ว่าหลวงพ่อจะทำอะไรอยู่ ท่านจะวางมือทันที แล้วรีบเข้าไปหาคุณยาย ยืนด้วยความสำรวมเหมือนเด็กที่อยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ คอยฟังว่าคุณยายจะว่าอย่างไร ท่านจะบอกกับลูก ๆ เสมอว่า
“ หากไม่ได้ยายมาคว้าตัวเอาไว้ ป่านนี้หลวงพ่อไม่รู้ไปตกนรกขุมไหนแล้ว ”
หลายครั้งที่มีโอกาสติดตามหลวงพ่อทัตตชีโวเข้าไปกราบถวายรายงานหลวงพ่อธัมมชโย สิ่งที่อาตมาเห็นเป็นประจำคือ เวลาที่หลวงพ่อท่านคุยกันจะเหมือนกับลูกศิษย์คุยกับอาจารย์ กล่าวคือ หลวงพ่อทัตตชีโวจะประนมมือคุยกับหลวงพ่อธัมมชโย เรื่องนี้อาตมาเคยกล่าวกับท่านว่า อาตมาประทับใจทุกครั้งที่เห็นภาพนี้ หลวงพ่อทัตตชีโวท่านจะยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า
“ หลวงพ่อทำของหลวงพ่อจนเป็นปกติ เพราะไม่ใช่เคารพท่านตอนที่ท่านบวช แม้ก่อนบวช เมื่อหลวงพ่อนับถือหลวงพ่อธัมมะเป็นครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็ให้ท่านนอนบนเตียง หลวงพ่อนอนที่พื้น ก่อนหลวงพ่อจะนอนหลวงพ่อก็กราบท่านทุกคืน ”
อ่านมาถึงตรงนี้คงจะพออนุมานกันได้ว่า ความสำเร็จของวัดพระธรรมกายแท้จริงแล้ว เกิดจากความเคารพในครูบาอาจารย์นั่นเอง
ดังนั้นใครก็ตามที่ชอบแอบอ้างว่า ตนเองเป็นอดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย แต่ขาดความเคารพ กล่าวโจมตีใส่ร้ายครูบาอาจารย์
ขอร้องเถอะ หยุดใช้คำนี้ได้แล้ว เพราะศิษย์วัดทำใจไม่ได้จริง ๆ
ขอขอบคุณภาพจาก google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๑ ก.ค. ๕๙
http://anacaricamuni.blogspot.ae