หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๓๔)
การดูแลคน
ในองค์กรระดับโลก จะให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรบุคคลที่สุด เพราะหากคนในองค์กรมีความมั่นคงแล้ว ย่อมส่งผลมาถึงองค์กรด้วย ดังนั้นในองค์กรต่าง ๆ จึงมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพของคนมากกว่าปริมาณ เนื่องจากหากมีปริมาณมากแต่ไม่มีคุณภาพ กลับจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ด้วยความตระหนักในจุดนี้ เมื่ออาตมารับหน้าที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านสั่งไว้เลยว่า
“ เมื่อเอ็งไปถึงอเมริกา เอ็งอย่าเพิ่งลงมือทำงาน ให้ไปตระเวนดู พวกองค์กรใหญ่ ๆ เช่น มอร์มอนหรือฮินดู ว่าเขาทำงานอย่างไร ไปดู ไปรู้ ไปเห็นให้มากที่สุด แล้วเอามาคิด พิจารณาดูว่า อะไรที่จะเกิดประโยชน์กับเรา เรามีหลักธรรมที่ดี แต่เรามักขาดวิธีการ เพราะฉะนั้น ไปดูให้ทั่ว จากนั้นให้ศึกษาวัฒนธรรมของคนที่นั่น ให้เข้าใจระดับหนึ่งก่อน ค่อยลงมือทำงาน ไม่งั้นเอ็งจะพลาด ”
แล้วก็เป็นอย่างที่หลวงพ่อได้แนะนำไว้ จากการไปตระเวนดูที่ต่าง ๆ สรุปได้ว่า ทุกแห่งเขาจะให้ความสำคัญในการดูแลคน แม้ว่าเขาจะไม่รู้หลักธรรมในเรื่องความเคารพในการปฏิสันถาร แต่เขาลงมือทำจริง
ในพระพุทธศาสนามีหลักในการปฏิสันถาร ๒ ประการ คือ
๑.อามิสปฏิสันถาร เป็นการต้อนรับเชื้อเชิญด้วยสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ข้าวของ
๒.ธรรมปฏิสันถาร เป็นการต้อนรับด้วยการเล่าธรรมะ สนทนาธรรม ให้ความรู้
หลวงพ่อทัตตชีโว ได้เล่าให้ลูก ๆ ในองค์กรฟังเสมอว่า
“ ยายท่านได้ทำหน้าที่ในการต้อนรับได้ดีมาก พวกเราอาจจะเคยเห็น ยายท่านเดินทักคนโน้นคนนี้ ชวนเขาทานข้าวบ้าง ไม่ให้เขาเก้อเขินเมื่อมาวัด ”
เมื่อตอนที่อาตมามาวัดใหม่ ๆ จะชอบไปล้างห้องน้ำ ๒๐ ห้องในวัด และทุกครั้งที่กำลังล้างห้องน้ำอยู่ หากมีความรู้สึกว่า มีใครมองอยู่ข้างหลัง หันไปจะต้องเป็นคุณยาย และทุกครั้งอีกเช่นกันที่ท่านจะถามว่า
“ คุณอยากบวชไหม ”
“ อยากบวชครับคุณยาย ”
“ หากคุณอยากบวช ต้องล้างห้องน้ำให้เป็น ” คุณยายจะบอกแบบนี้ทุกครั้ง พร้อมกับรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความเมตตา
ในช่วงที่อาตมาได้มาฝึกงานที่อาศรมบัณฑิต จะมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ การคอยจดว่าวันนี้มีใครมากราบหลวงพ่อ เขาสอบถามอะไร และหลวงพ่อตอบไปว่าอย่างไร พอตกค่ำ ๆ ก็จะเอามาอ่านถวายหลวงพ่อว่า วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง หลายครั้งที่พออ่านเสร็จ หลวงพ่อจะให้ต่อโทรศัพท์ถึงโยมท่านนั้น แล้วท่านก็จะอธิบายต่อ อาตมาเคยถามท่านว่า
“ ทำไมหลวงพ่อต้องโทรไปอธิบายอะไรต่ออีกครับ ”
คำตอบของหลวงพ่อ ทำให้อาตมาปลื้มใจมากที่ได้มาเป็นพระลูกชายของท่าน
“ ลูกเอ้ย การที่ใครสักคนจะเรียกเราว่า พ่อ นี่ มันไม่ใช่ของง่ายนะ หลวงพ่อก็ไม่ใช่พ่อเขา แต่เขาเรียกหลวงพ่อ นี่แสดงว่า เขาต้องรัก เคารพเราจริง ๆ เขาเห็นว่าหลวงพ่อจะเป็นที่พึ่งเขาได้ ดังนั้น หากหลวงพ่อตอบคำถามไปแล้ว มันยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องอธิบายเขาเพิ่มเติม ไม่งั้นเขาเอาไปใช้ผิด ๆ จะเกิดความเสียหายได้ ”
อีกประการหนึ่งที่อาตมาสังเกตเห็นคือ ทุกครั้งที่มีใครมากราบท่าน หลังจากที่เขากราบเรียบร้อยแล้ว ประโยคแรกที่ท่านจะถามคือ
“ เป็นไงลูกเอ้ย นั่งธรรมะเป็นประจำกันไหม นั่งเป็นไงกันบ้าง เล่าให้หลวงพ่อฟังทีซิ ”
ผู้ที่มากราบก็จะตอบกันหลากหลาย อาตมาเคยถามท่านอีกเช่นกันว่า ทำไมหลวงพ่อ ต้องถามแต่คำถามนี้ หลวงพ่อจะอมยิ้ม แล้วถามกลับมา
“ แล้วเอ็งเห็นแต่ละคนมันตอบกันไหมหล่ะ ”
อาตมาก็ทำหน้างง ๆ เพราะตามไม่ทัน
“ แต่ละคนก็ตอบแตกต่างกันไปครับหลวงพ่อ”
หลวงพ่อท่านก็เมตตาอธิบายว่า “ ต่อไปให้เอ็งเอาไปใช้ นี่หล่ะหลักในการคัดคนหล่ะ คนไหนที่มันไม่นั่ง มันจะตอบอ้อมแอ้ม ส่วนพวกที่มันรักการนั่ง มันจะองอาจรีบแย่งกันตอบเชียว เล่าเป็นฉาก ๆ มันนั่งดียังโง้นยังงี้ ”
“ งั้นต่อไปพวกที่ไม่นั่งก็จะไม่กล้ามากราบหลวงพ่อสิครับ ” อาตมาให้ความเห็น
“ พวกนี้ก็จะมีสองแบบ พวกแรก ขี้เกียจ ไม่นั่ง ก็จะไม่กล้ามาหรือมาพอกราบเสร็จ ก็จะรีบ ๆ ไป ส่วนอีกพวกคิดได้ กลับไปมันจะแก้ไขตัวเอง ไปตั้งใจนั่ง วันหลังมันมาหาหลวงพ่อมันจะรีบรายงานว่า มันนั่งแล้ว นั่งดีด้วย ”
แล้วพวกเราหล่ะ วันนี้นั่งธรรมะกันแล้วหรือยัง?
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๑ ส.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae