หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๖๙)
ครูผู้ให้โอกาส
มีผู้สอบถามมาว่า อาตมาเคยดื้อกับหลวงพ่อไหม ก็ต้องขอตอบตามความสัตย์ว่า เคย และเป็นบทเรียนสำคัญที่อาตมานำมาสอนตนเองจนถึงทุกวันนี้ว่า มีอะไรต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ อย่าคิดไปเอง อย่าหัดเป็นคนขี้น้อยอกน้อยใจ
อย่างที่เคยเล่าให้พวกเราฟังว่า อาตมาเป็นลูกชายคนเดียว ทำให้มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง แม้เมื่อมาอยู่วัด นิสัยเหล่านั้นใช่ว่าจะหายไปได้ง่าย ๆ วันร้ายคืนร้ายมันก็อดจะโผล่ออกมาไม่ได้
โดยเฉพาะกับหลวงพ่อทัตตชีโว ในความรู้สึกนอกจากท่านจะเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ลึก ๆ รู้สึกเหมือนกับว่าท่านคือ "พ่อ" เพราะท่านได้สั่งสอน อบรม ให้ทุกสิ่งมากกว่าพ่อที่ให้กำเนิด ดังนั้น พอโดนท่านดุ แล้วเรารู้สึกไม่ผิด ตอนนั้นในความรู้สึกคือ "งอน" พ่อของตัวเอง เลยไม่โทรหาท่าน หลวงพ่อท่านก็คงต้องการให้บทเรียน พอไม่โทรหาท่าน ท่านก็ไม่โทรหาเลย
ผ่านไปหลายเดือน นึกทบไปทวนมา อ่านประวัติหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า บางครั้งก็มี ที่ถูกเข้าใจผิด แต่ท่านก็ไม่แก้ตัว ไม่พูดอะไร จนภายหลังความจริงค่อยปรากฎ ทำให้นึกถึงว่า ตั้งแต่บวชมา มีใครจะจ้ำจี้จ้ำไช คอยสอนเราแบบท่านบ้าง พอนึกได้ รีบโทรกลับมาหาท่าน
จำได้ว่า คำแรกที่ท่านทักคือ
“ สุขกายสบายใจดีอยู่ไหมลูกเอ้ย ”
แค่หลวงพ่อทักแค่นี้ อาตมาน้ำตาร่วงเลย มันรู้สึกผิดว่า ทำไมเราต้องดื้อกับท่าน พูดขอขมาท่านไป ก็สะอื้นไป หลวงพ่อก็ค่อยสอนไปเรื่อย
“ ดีนะที่เอ็งยังโทรมา ยังนึกถึงหลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่ตรงนี้ คอยให้ทุกคนเข้ามาหา ใครมาหลวงพ่อก็สอนไป ใครทนไม่ไหว หลบหน้าไป ก็แล้วแต่ หลวงพ่อคงไม่ไปตาม ทีหลังจะทำอะไร คิดให้เยอะ...”
ฟังท่านสอนไป ตอนนั้นก็รู้สึกผิดมาก ๆ เพราะท่านอุตส่าห์ไว้วางใจ ให้มาดูแล มาเป็นหูเป็นตา แต่เรากลับไม่ได้เรื่องซะนี่ เลยตั้งใจว่า ต่อไปไม่ว่าจะเจอะเจออะไร จะต้องหนักแน่นมากกว่านี้
อาตมาจึงได้หลักตรงนี้เอาไว้แนะนำหมู่คณะว่า มีอะไรให้เข้าหาหลวงพ่อ อย่าหลบ อย่าหายหน้าไปไหน ที่สำคัญคือ ได้เห็นว่า ท่านให้โอกาสกับลูก ๆ เสมอ หลายครั้งที่เห็นท่านบ่นให้ฟังเรื่องเจ้าหน้าที่ในองค์กรบางท่าน ก็เรียนถามท่านว่า เห็นท่านพูดถึงคนนี้บ่อย ๆ แต่ทำไมท่านยังอดทนสอนและให้โอกาส
“ เอ็งดูพวกฉัพพัคคีย์สมัยพุทธกาล เป็นไง แสบไหม แสบนะ แต่พุทธองค์ทำไมเอาไว้ อ๋อ ทำผิดเรื่องนี้ พอพระองค์ห้าม ไม่เคยทำอีกเลยนะ แต่ไปทำผิดเรื่องใหม่ เลยเป็นต้นบัญญัติซะหลายเรื่อง แต่นั่นคือ ผิด แต่ไม่ใช่ ชั่ว
คนนี้ก็ประเภทเดียวกัน ห้ามเรื่องหนึ่ง มันก็ไม่ทำ แต่ก็ไปทำอีกเรื่อง ก็เลยต้องทนฝึกมันไป มันผิด ไม่ใช่ชั่ว แต่ถ้าพวกทำผิดทั้งที่รู้ว่าผิด อันนี้หล่ะ ชั่วแล้ว ท่าจะฝึกยากนะ ”
ก็ขอฝากข้อคิดให้พวกเราไว้ หากเราเป็นผู้ใหญ่ ก็จะต้องให้โอกาสผู้น้อย ให้เขาได้มีโอกาสแก้ไขตัวเองในการกระทำที่ผิดพลาด แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นเรื่องของ ผิด ไม่ใช่ ชั่ว
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๕ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae