หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๕)
ทำให้ดีที่สุด
ในโลกนี้มีนักพูดอยู่มากมาย หลายคนสามารถพูดโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังได้ดี จนทำให้เกิดความคล้อยตามสิ่งที่เขาพูดได้ แต่จะหาคนที่พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้นยากยิ่งนัก จึงทำให้เกิดปัญหาในสังคมอย่างต่อเนื่อง
นับเป็นบุญของพวกเราที่ได้มาพบหลวงพ่อทั้งสองที่คำพูดและการกระทำของท่าน ล้วนเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างให้กับเราได้ ทำให้เราเกิดกำลังใจที่จะสร้างบารมี เพราะเห็นว่าในยุคปัจจุบัน ผู้ที่ตั้งใจทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันยังมีอยู่
ในช่วงที่อาตมาไปฝึกงานที่อาศรมบัญฑิต หลวงพ่อทัตตชีโวได้สอนงานใน ๒ ลักษณะ คือ
๑. สอนโดยการทำตัวอย่างให้ดู
๒. สอนโดยผ่านการเทศน์ การสอน การอบรม
ในการสอนโดยการทำตัวอย่างให้ดูนั้น สิ่งที่อาตมาเห็นเป็นประจำ เป็นกิจวัตรของท่านคือ การแบ่งเวลาให้กับเรื่องที่สำคัญ ๒ เรื่อง คือ
ก. นั่งธรรมะ เพื่อกลั่นตนเอง เป็นการทำประโยชน์ตน หากไม่มีกิจนิมนต์หรือเรื่องเร่งด่วน หลังฉันเช้า หลวงพ่อจะนั่งธรรมะไปจนถึงเพล
ข. ค้นคว้าธรรมะ เพื่อเอามาสอนผู้อื่น เป็นการทำประโยชน์ท่าน ในช่วงบ่าย หลวงพ่อจะอยู่กับตำรา กับเอกสารต่าง ๆ บางครั้งจะเห็นท่านอยู่กับกระดาษแผ่นเดียวทั้งวัน แก้ไปแก้มา เมื่ออดสงสัยไม่ได้ อาตมาก็จะเข้าไปถามว่า
“ หลวงพ่อครับ ผมเห็นหลวงพ่อพิจารณาเอกสารแผ่นนี้นานแล้ว มีอะไรหรือปล่าวครับ ”
“ มันก็ไม่มีอะไรมาก ก็เป็นเรื่องที่หลวงพ่อเคยเทศน์แล้ว แต่อยากจะหาคำจำกัดความให้มันดีที่สุด ก็เลยต้องแก้ไปแก้มา วัน ๆ หลวงพ่อก็อยู่กับกระดาษไม่กี่แผ่นนี่แหละ ”
“ ทำไมหลวงพ่อต้องให้เวลากับการแก้เอกสารนี้มากครับ ที่หลวงพ่อเทศน์ไป ก็ดีแล้วนี่ครับ ”
“ มันก็แค่ใช้ได้ แต่หลวงพ่ออยากให้มันดีที่สุด อยากได้คำที่คนฟังแล้ว เข้าใจชัดเจน โดยไม่ต้องมีความลังเลสงสัยหรือเข้าใจไปเป็นอย่างอื่นได้ ”
ทำให้อาตมาได้ข้อคิดว่า นี่คือการที่ท่านนำหลักอิทธิบาท ๔ มาใช้ในทุกเรื่องแม้แต่การเทศน์สอน ท่านจึงต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง อยู่ตลอดเวลา
อาตมาเคยกราบเรียนถามท่านว่า
“ หลวงพ่อครับ หลวงพ่อก็เทศน์ไว้เยอะ ทั้งเทศน์ในวัด นอกวัด ทำไมหลวงพ่อไม่พิมพ์หนังสือออกมามาก ๆ ผมเห็นครูบาอาจารย์ท่านอื่น พอเทศน์เสร็จ ก็มีพิมพ์เป็นเอกสารออกมาเลย ”
“ ลูกเอ้ย มันมีเรื่องที่สำคัญอยู่สองประเด็น ที่หลวงพ่อเทศน์ ๆ ไป บางเรื่องมันยังไม่ตกผลึก เลยทำเป็นหนังสือยังไม่ได้ อีกประการหนึ่งคือ หากพิมพ์ออกมาแล้ว มันเป็นตัวอักษร แก้ไขยาก เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่ม มันต้องแก้แล้วแก้อีก ปรับคำ ดูคำให้มันเหมาะสม ให้เหมาะกับทุกคนด้วย ”
เพราะการที่หลวงพ่อท่านพิถีพิถันอย่างนี้ เมื่อคำสอนใดที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มจึงล้วนแล้วแต่เป็นหนังสืออันทรงคุณค่า เหมาะกับการอ่านทบทวนหลาย ๆ รอบ และทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วน เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ดีที่สุด
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๑ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae