หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๖)
ต้นแบบแห่งความเสียสละ
“ เสียสละ ” คำนี้เป็นคำที่มีคุณค่ายิ่งนัก
เพราะการเสียสละของพระโพธิสัตว์ จึงทำให้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราได้กราบไหว้
เพราะการเสียสละของหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงทำให้เราได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย
เพราะการเสียสละของคุณยาย จึงทำให้เกิดวัดพระธรรมกาย
เพราะการเสียสละของหลวงพ่อทั้งสอง จึงทำให้มีพวกเราในทุกวันนี้
คุณสมบัติเด่นของครูบาอาจารย์ของเราทั้งหลวงปู่ หลวงพ่อ และคุณยายอาจารย์ คือ การรักการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะมีภารกิจมากมายเพียงไหน การปฏิบัติธรรมจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ
หลวงพ่อทัตตชีโว เคยเล่าให้ลูก ๆ ฟังว่า
“ หลังจากที่บวชแล้ว หลวงพ่อก็อยากเดินธุดงค์ อยากหาเวลาหยุดนิ่ง หาความสงบให้ตนเอง ก็เลยไปเรียนคุณยายอาจารย์ คุณยายท่านก็บอก เอาสิ แต่ถึงไปเดินธุดงค์ยังไง สุดท้ายก็ต้องอยู่วัด แล้วมาอยู่วัดตอนบั้นปลายชีวิต ก็จะมีอยู่ ๒ แบบนะ
๑. ไปอาศัยอยู่วัดที่เขาสร้างไว้แล้ว
๒. สร้างวัดของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยไปเดินธุดงค์
ก็ให้เลือกเอาก็แล้วกันว่า จะไปอาศัยเขาอยู่หรือจะเอาที่เราสร้างไว้เอง ”
เมื่อคุณยายให้ข้อคิดเช่นนี้ หลวงพ่อทัตตชีโว เลยตัดสินใจว่า จะสร้างวัดของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แต่กระนั้นสิ่งที่อยู่ในใจของท่านตลอดมาก็คือ จะวางมือให้คนรุ่นหลังได้ทำต่อบ้าง
ในช่วงที่อาตมาบวชได้ไม่กี่พรรษานั้นจะได้ยินหลวงพ่อปรารภบ่อย ๆ ว่า หลวงพ่อจะวางมือ ขอนั่งหลับตาแล้ว แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๓๒ งานที่วัดกลับดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด หลวงพ่อท่านก็ถอนหายใจ ปรารภว่า
“ ชีวิตหลวงพ่อมันคงเหมือนไอ้จูล่ง ต้องรบบนหลังม้า จนแก่เฒ่าโน่นแหละ ”
แล้วก็เป็นดังที่ท่านคาดการณ์ไว้ ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจว่า
จากวันนั้นถึงวันนี้ ภาระงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น หลวงพ่อทัตตชีโวก็ยังคงทำงานอย่างหนัก กว่าจะพักได้ก็หลังเที่ยงคืน
หลวงพ่อได้เคยกล่าวถึงหลวงพ่อธัมมชโยว่า
“ หลวงพ่อเป็นรองเจ้าอาวาส งานยังขนาดนี้ แล้วเจ้าอาวาสจะขนาดไหน องค์นั้นยิ่งพักน้อยกว่าหลวงพ่อ และตั้งแต่รู้จักกันมา ไม่เคยเห็นท่านคิดทำอะไรเพื่อตัวเองเลย ”
เพราะความตระหนักในความทุ่มเทและเสียสละของหลวงพ่อทั้งสองเช่นนี้ จึงทำให้ลูก ๆ ทุกคน รัก เคารพ และพร้อมจะสร้างบารมีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ติดตามหลวงพ่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๒ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae