สำหรับภารกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อนำพาความสุขที่แท้จริงไปสู่ชาวสิงคโปร์นั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยพระครูภาวนากิจวิเทศ (สมเกียรติ วรวํโส) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายสิงคโปร์ (ขณะนั้นยังเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม) ดำริให้เปิดคอร์สสอนสมาธิเบื้องต้นด้วยภาษาจีนกลาง สัปดาห์ละ ๒ วัน คือ ช่วงค่ำวันอังคารและเย็นวันเสาร์ แต่ละคอร์สใช้เวลา ๑๔-๑๕ สัปดาห์ และมีคอร์สต่อเนื่องอีก ๘ สัปดาห์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม รวมระยะเวลาการเรียนการสอน ๕ เดือน
การเปิดคอร์สสอนสมาธิดังกล่าวจัดขึ้นปีละ ๒ คอร์ส และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน ๓๒ รุ่นแล้ว เนื้อหาการสอนเน้นเรื่องการผ่อนคลาย การปรับร่างกายและจิตใจ และที่ตั้งของศูนย์กลางกาย ซึ่งสาธุชนที่มาเรียนต่างได้รับความสบาย รู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ หลายท่านเข้าถึงองค์พระหรือดวงธรรมภายใน
หลังจากจบหลักสูตรเบื้องต้นแล้ว ผู้เรียนสามารถสมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ วัน ณ สวนพนาวัฒน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น และเกิดความปรารถนาที่จะขยายความสุขอย่างที่ตนได้รับไปสู่บุคคลอื่น จึงพากันไปชักชวนเพื่อน ๆ และคนในครอบครัวให้มาเข้าคอร์สเรียนสมาธิ ทำให้แต่ละคอร์สมีผู้มาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก
นอกจากคอร์สฝึกสมาธิแล้ว วัดพระธรรมกายสิงคโปร์ยังจัดกิจกรรม “ค่ายคุณธรรม ๓ วันสำหรับเด็ก” เพื่อส่งเสริมศีลธรรมแก่เยาวชน และปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน คือ วินัย เคารพ อดทน ความกตัญญูกตเวที และมารยาทชาวพุทธ เช่น การกราบ การไหว้ การทักทาย การช่วยเหลืองานบ้าน รวมทั้งความดีสากล ๕ ประการ (สะอาด,ระเบียบ, สุภาพ, ตรงต่อเวลา, สมาธิ) ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นคนเก่งและดี สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข
ผลการอบรมในโครงการนี้สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าลูกหลานของเขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างคนในครอบครัว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยหากจะเห็นครอบครัวเหล่านี้พากันมาเติมความสุขที่วัดอย่างสม่ำเสมอ
ตลอดเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมา การเผยแผ่ของวัดพระธรรมกายสิงคโปร์มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นวัดสาขาแห่งหนึ่งของวัดพระธรรมกายที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังชาวท้องถิ่น คือมีสมาชิกผู้เข้าอบรมสมาธิเป็นชาวท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผ่านการอบรมสมาธิมาก่อนก็เป็นชาวท้องถิ่น
ปัจจัย (ภายนอก) ที่มีผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปสู่ชาวท้องถิ่นได้สำเร็จนั้น ที่เด่น ๆ ก็คือ
ประการแรก ประชาชนในประเทศสิงคโปร์กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นคนจีนที่มีพื้นฐานด้านศาสนาพุทธอยู่แล้ว การเผยแผ่ไปสู่ชาวสิงคโปร์จึงเหมือนเป็นการต่อยอดให้เขา
ประการที่สอง ชาวสิงคโปร์มีระดับความเครียดสูงมาก เมื่อมาพบกับวิธีพักผ่อนทางใจแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ที่ทำให้เกิด “ความสุขที่แท้จริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังแสวงหาอยู่พอดี พวกเขาจึงเห็นคุณค่าและให้ความสนใจที่จะมาปฏิบัติธรรมกันอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัย ๒ ประการนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยให้การเผยแผ่สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม “ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงเพราะโชคช่วย” นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว คณะพระภิกษุและทีมงานต่างทุ่มเททำงานหนักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย อาทิ การต้อนรับปฏิสันถารเจ้าภาพที่มาถวายภัตตาหารในแต่ละวัน การดูแลอาคารสถานที่ให้สัปปายะอยู่เสมอ การประชาสัมพันธ์ และการทำภารกิจที่จำเป็นอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลักในแต่ละวันดังนี้
วันอาทิตย์--ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย, วันจันทร์--เตรียมการเทศน์สอน, วันอังคาร--เปิดคอร์สสอนสมาธิภาษาจีน (คอร์สปัจจุบันมีนักเรียน ๑๘๐ คน), วันพุธ--สอนภาษาบาลีแก่ผู้นำบุญชาวสิงคโปร์, วันพฤหัสบดี--แสดงธรรมและนำนั่งสมาธิแก่นักเรียนที่จบคอร์สสมาธิไปแล้ว, วันศุกร์--สอนภาษาไทย, วันเสาร์--เปิดคอร์สสอนสมาธิภาษาจีนอีกคอร์สหนึ่ง (คอร์สปัจจุบันมีนักเรียน ๑๙๐ คน)
อีกประเด็นสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของงานก็คือ การนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาปรับให้เข้ากับอุปนิสัยและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และเรียนรู้กฎระเบียบข้อห้ามต่าง ๆ ที่เข้มงวดมากในประเทศนี้ ซึ่งมีผลให้การเผยแผ่เป็นไปด้วยความราบรื่น
นอกจากนี้ คุณสมบัติเฉพาะตัวของคณะพระภิกษุและทีมงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จในการเผยแผ่ อาทิ ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวม, ความอดทน, ความมีไหวพริบปฏิภาณ, ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้, การเป็นต้นบุญและต้นแบบในการทำความดี ฯลฯ รวมทั้งการมีทักษะในการใช้ภาษาจีนได้ดีราวกับเป็นชาวท้องถิ่น ซึ่งนอกจากได้ใจพวกเขาไปเต็ม ๆ แล้ว ปัญหาในการสื่อสารก็ไม่มี สร้างความเข้าใจอันดีต่อกันก็ไม่ยาก
จากการทุ่มเทเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปสู่ใจชาวสิงคโปร์ ด้วยการสอนทำสมาธิเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการทำทานและรักษาศีล เกิดเป็นผลงานที่น่าปลาบปลื้มใจนานัปการ เช่น ทำให้พวกเขาคลายความเครียด มีความสุขมากขึ้น และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น คือ มีความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม รู้จักการสร้างบุญสร้างบารมี ยินดีในการทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใสอยู่เป็นนิจ และรู้จักทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนคนมาทำความดี อีกทั้งยังมีจิตสำนึกรักพระพุทธศาสนา มีความรู้สึกรักวัดเสมือนกับเป็นเจ้าของวัด ทำให้ร่วมแรงร่วมใจกันมาดูแลพัฒนาวัดให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น
นอกจากนี้ หลายคนยังได้ไปบวชในโครงการ IDOP ที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ลาสิกขาแล้วก็กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำความสุขสงบไปสู่ใจเพื่อนร่วมชาติต่อไป
ในพื้นที่ไม่กี่บรรทัดสุดท้ายนี้ ขอสรุปว่า สิงคโปร์มีหลายสิ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ขาดเพียงสิ่งสำคัญก็คือ “ความสุขที่แท้จริง” ที่เกิดจากการทำสมาธิ ถ้าชาวสิงคโปร์พากันเติมความสุขที่แท้จริงลงในหัวใจแล้ว สิงคโปร์ก็จะเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าของโลกทั้งทางด้านวัตถุควบคู่กับจิตใจ และจะเป็นประเทศหนึ่งที่น่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างแท้จริง
การไปเผยแผ่คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาในสิงคโปร์ของวัดพระธรรมกาย จึงถือเป็นความโชคดีมีบุญของชาวสิงคโปร์ ที่จะได้เรียนรู้วิธีพลิกชีวิตเครียด ๆ ไปพบกับความสุขที่แท้จริง และยังเป็นบุญของทีมงานอีกด้วย ที่ได้มอบความสุขแก่ผู้คนในดินแดนที่หาความสุขได้ยากแห่งนี้ เปรียบเสมือนการมอบน้ำดื่มแก่คนหลงทางกลางทะเลทราย ย่อมมีค่ามากมายกว่ามอบให้ใคร ๆ ที่เขายังไม่ต้องการ
--กราบอนุโมทนาบุญ--
Cr. มาตา วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ