จาก "ไอที" สู่ "ไอธรรม"
จาก “ไอที” สู่ “ไอธรรม”
พระภิกษุรูปนี้
โปรไฟล์ไม่ธรรมดา ...
ท่านมีดีกรีดอกเตอร์จาก NTNU ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศนอร์เวย์ ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า ท่านคิดอย่างไรถึงมาบวช เราจึงไปเสาะหาความจริงมาเล่าสู่กันฟัง
ปัจจุบัน พระอาจารย์ปรมัย ธนิสฺสโร หรือ “หลวงพี่จอห์น” มีอายุ ๓๗ ปี พรรษา ๙ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น ๕๖ สมัยเรียนอยู่เตรียมอุดม ท่านเคยได้รับโล่รางวัลเรียนดีสูงสุดวิชาชีววิทยาของโรงเรียนด้วย
พระอาจารย์ปรมัยเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), ปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขา Telematics จาก Norwegian University of Science and Technology (NTNU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลและบริษัทชั้นนำในประเทศนอร์เวย์ให้การสนับสนุนการทำวิจัยทางด้านนวัตกรรม เช่น บริษัท Telenor ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของ dtac เป็นต้น
ก่อนไปศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศนอร์เวย์ พระอาจารย์ปรมัยเพิ่งเข้าวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรก ตอนนั้นท่านยังไม่ได้คิดเรื่องบวชเลย แต่ในฐานะชาวพุทธที่มี “ชิป” (Chip) ของความเป็นพุทธฝังอยู่ในตัว ด้วยการหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมประเพณีแบบไทย ๆ ทำให้ท่านสนใจที่จะศึกษาทางธรรมอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก
ส่วนเรื่องการบวชนั้น ท่านคิดว่า “เอาไว้ตอนอายุมากดีกว่า ขอไปมีครอบครัวก่อน ลูกโตแล้วค่อยบวชก็ยังไม่สาย”
แต่ยังไม่ทันได้อายุมากและยังไม่ได้มีครอบครัวอย่างที่คิดเอาไว้ ท่านก็ออกบวชเสียก่อน ทั้งที่อนาคตทางโลกแจ่มใสมาก ตอนที่เรียนปริญญาเอก (พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๑) ท่านได้ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย คิดเป็นเงินไทยเดือนละแสนกว่าบาท ปัจจุบันเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกับท่านที่ทำงานอยู่ต่างประเทศได้เงินเดือนคนละหลายแสน ตัวท่านเองก็เคยคิดจะทำงานในต่างประเทศเหมือนกัน หรือถ้ากลับมาอยู่เมืองไทยก็จะเปิดบริษัทของตัวเอง
Hard reset >> รีเซ็ตเครื่องครั้งใหญ่
แต่เมื่อสำรวจตัวเองดีแล้ว ท่านพบว่า เงินทอง ชื่อเสียง หน้าตา และความสุขทางโลก ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของท่าน การบวชต่างหากที่ใช่
“ตอนที่เรียนปริญญาเอก หลวงพี่เริ่มศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมผ่าน Case Study ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง DMC พบว่าตัวเองยังประมาทอยู่มาก ตอนนั้นกำลังจะเรียนจบปริญญาเอก เมื่อใกล้จบกลับพบว่า ตัวเองไม่ได้มีความรู้อะไรมากขึ้นเลย โดยเฉพาะเรื่องความจริงของชีวิต แต่กลับมีนิสัยเสีย ๆ เกิดขึ้นอีกเพียบ เช่น ขี้หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ฯลฯ หลังจากศึกษาธรรมะและได้ปฏิบัติธรรมมาระดับหนึ่ง ก็เริ่มเข้าใจความแตกต่างของชีวิตทางโลกกับทางธรรมมากขึ้น และรู้ว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร หลวงพี่จึงมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนว่า "ต้องออกบวช" เพราะการอยู่ในเพศสมณะจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าที่สุดและคุ้มที่สุดสำหรับการเกิดมาในชาตินี้ หลวงพี่จึงคิดว่า น่าจะถึงเวลาเท คือ ตัดใจเสียดีกว่า เพราะถ้าไม่เริ่มบวชตอนนี้ จะไปรอบวชวันหน้าก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าโอกาสนั้นจะมาถึง”
การบวชของพระอาจารย์ปรมัยมีความเป็นมาเป็นไปแบบนี้ ซึ่งดูแล้วห่างไกลจากคำว่า “บวชหนีโลก” ในนิยามของผู้พ่ายแพ้ต่อชีวิตมากมายนัก
Deleting program >> ลบโปรแกรม “ ฆราวาส ” ทิ้งไป
หลังจากบรรพชาอุปสมบทแล้ว ชีวิตที่สงบเย็นใต้ร่มกาสาวพัสตร์ซึ่งเหมาะแก่การบ่มเพาะศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้พระอาจารย์ปรมัยบวชต่อมาเรื่อย ๆ ด้วยความสุขใจ
“ตอนนี้บวชไปวันต่อวัน อีกทั้งเมื่อมองกลับไปยังชีวิตในอดีต ก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากกลับไปมีชีวิตแบบนั้นอีกแล้ว มองเห็นถึงความคับแคบในความคิด และโอกาสในการสร้างบุญบารมีก็ดูจะติดขัดไปหมด และชีวิตสมณะทำให้รู้สึกถึงอิสระ ซึ่งก็แปลกเพราะตอนแรกนึกว่า การต้องปฏิบัติตามสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ จะทำให้อึดอัด เพราะปกติหลวงพี่ไม่ชอบทำอะไรตามกรอบ แต่เมื่อได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของศีลและปฏิบัติตาม กลับทำให้รู้สึกถึงความปลอดโปร่งของใจที่ไร้ขีดจำกัด”
Choosing Operating System >> เลือกระบบ
อย่างไรก็ตาม การที่ท่านเลือกไปบวชที่วัดพระธรรมกายยังเป็นปริศนาอยู่ในใจของหลาย ๆ คนว่า “ทำไมถึงบวชวัดนี้ ?”
แน่นอนว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญของคนเราย่อมมีเหตุผลรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ถึงระดับปริญญาเอก คงไม่ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตใหม่โดยไม่คิดให้ดีเสียก่อน
“เมื่อตัดใจสละทางโลกมาสู่ทางธรรมแล้ว ก็อยากจะเลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาตนเอง โดยพิจารณาตามหลัก วุฒิธรรม ๔ ประการ คือ หาครูดีให้พบ ฟังคำครูให้ชัด ตรองคำครูให้ลึก แล้วก็ปฏิบัติตามคำครูให้ได้ หลวงพี่จึงเลือกที่จะบวชอยู่กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ”
พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) “ครูดี” ที่พระอาจารย์ปรมัยเคารพรักและศรัทธาอย่างยิ่งนั้น คือ แรงบันดาลใจและต้นแบบในการทำความดีอีกมากมายของท่าน
“หลวงพี่เดินทางไปทั่วโลก เคยพบเจอผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย แต่ยังไม่เคยเจอบุคคลที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมเช่นหลวงพ่อมาก่อน นอกจากนี้ท่านยังมีความอดทนและความเมตตาเป็นเลิศ เป็นผู้ที่มีศิลปะในการสอน ทำให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมะได้ง่าย แจ่มแจ้งในธรรมะที่ฟัง ร่าเริง ไม่เบื่อหน่ายในการฟัง และอาจหาญที่จะนำธรรมะนั้นไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน ตัวหลวงพี่เองก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่คอยติดตามการเทศน์สอนของท่านทุกวันทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง DMC และตั้งแต่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ก็สามารถมองโลกในแง่บวกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการมองบวกนี้ หลวงพี่คิดว่าเป็นต้นทางของมรรคมีองค์ ๘ เลยทีเดียว ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ หรือข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้พ้นทุกข์ได้”
สภาพแวดล้อมข้างต้นที่ท่านกล่าวมา คือสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตนเองให้เป็นพระแท้ สิ่งนี้ถือเป็นประโยชน์ส่วนตนที่พระอาจารย์ปรมัยได้รับไปเต็ม ๆ
ส่วนการพัฒนาตนเองเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น ท่านก็เห็นว่าวัดพระธรรมกายเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาศักยภาพในการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระภิกษุ
“หลวงพี่ยังเห็นว่า วัดพระธรรมกายมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก่อนบวชหลวงพี่เคยคิดว่า เราก็หนึ่งในใต้หล้าเหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ในวัดแล้วกลับรู้สึกว่าทุกคนรอบ ๆ ตัวเก่งกว่าเราเสียอีก เหมือนเรียนหนังสืออยู่ห้องคิงที่ทุก ๆ คนสอบได้เกรด ๔.๐๐ กันทั้งหมด หรือถ้าเปรียบกับนักกีฬาอาชีพ ถ้ามีโอกาสนักกีฬาทุกคนย่อมอยากจะเล่นกับทีมเก่ง ๆ และอยากอยู่กับผู้จัดการทีมที่มีความสามารถกันทั้งนั้น เพราะว่าจะได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองถึงขีดสุด จนกระทั่งเป็นนักกีฬาที่เก่งระดับโลกได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ แม้ในวัดพระธรรมกายจะมีแต่คนเก่ง ๆ แต่ทุกคนกลับทำงานเป็นทีมได้ ไม่มีใครอยากเด่นกว่าใคร เรียกว่าอยู่แล้วสบายใจก็เลยอยู่มาเรื่อยๆ”
Password >> รหัสผ่านประตูใจ
ในความเป็นจริง แม้พระอาจารย์ปรมัยสละทางโลกมาแล้ว ก็ใช่ว่าท่านจะทิ้งโลกโดยสิ้นเชิง ยิ่งมารับหน้าที่เผยแผ่ไปทั่วโลกย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติอยู่ไม่ใช่น้อย ในประเด็นนี้ พระอาจารย์ปรมัยพบว่า การเป็นพระภิกษุก็เสมือนมี “รหัสผ่าน” ที่ใช้เปิดประตูใจชาวต่างชาติต่างภาษา ทำให้เข้าไปชวนพวกเขามาฝึกสมาธิได้สะดวกขึ้น ชี้ทางสว่างให้เขาได้ง่ายขึ้น
“ภาพของพระในสายตาชาวต่างประเทศเป็นภาพแห่งสันติ ส่วนใหญ่ชาวต่างประเทศไม่เคยสนทนากับพระ ทำให้สนใจที่จะซักถามเกี่ยวกับชีวิตพระ แรงบันดาลใจที่ทำให้ทิ้งชีวิตทางโลกเพื่อบวชเป็นพระ และมักจะจบลงด้วยการฝึกสมาธิด้วยกัน”
ปัจจุบัน พระอาจารย์ปรมัยเป็นหัวหน้ากองสมาธิเพื่อสันติภาพ ดูแลการพัฒนาระบบเว็บไซต์ สื่อการเรียนการสอนสมาธิภาษาต่างประเทศ ฝึกอบรมสมาธิและความดีสากลให้แก่ชาวต่างประเทศที่เดินทางมานั่งสมาธิในประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านยังเดินทางไปสอนสมาธิในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาท่านไปสอนมาแล้วกว่า ๔๐ ประเทศ และในอนาคตยังมีเป้าหมายที่ไกลกว่านี้
“ก่อนหน้านี้หลวงพี่คาดหวังไว้ต่ำมาก คือไม่ได้หวังอะไรเลย แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราเค้นศักยภาพตัวเองออกมาแบบสุด ๆ ท่านสอนไม่ให้เราดูถูกตัวเอง แต่ต้องดูตัวเองให้ถูก เช่น ตอนนี้มีความสามารถอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะทุ่มเทต่ำกว่า ๑๐๐ ไม่ได้เด็ดขาด ต้องมองไป ๑๕๐ หรือ ๒๐๐ บางทีเป็น ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็มี ใจเราก็เริ่มขยายตามท่านไปด้วย ท่านบอกว่าจำนวนประเทศในโลกนี้มีแค่ ๒๐๐ กว่าประเทศเท่านั้น เราอย่าไปคาดหวังให้มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น จะคาดก็คาดแค่พอดี ๆ คือ แค่เอาให้ครบก็พอ”
Check-in >> เช็กอินทั่วโลก
ด้วยภารกิจที่มีอยู่มากมาย แน่นอนว่าหลายครั้งย่อมต้องเจอปัญหาและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่บ้าง แต่ผลงานที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ท่านลืมคำว่า “เหนื่อย” ไปเลย
“๙ พรรษาที่ผ่านมา หลวงพี่เดินทางไปสอนสมาธิมาแล้วหลายสิบประเทศ รู้สึกมีความสุขเมื่อได้เจอประกายระยิบระยับจากแววตาของผู้ปฏิบัติธรรมหลังจากเรานำปฏิบัติธรรมเสร็จแล้วทุกครั้ง เมื่อเราบอกว่า ‘ You may now open your eyes.’ พวกเขาต่างแทบไม่เชื่อในความรู้สึกที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมในรอบนั้น เช่น ประสบการณ์ตัวหาย, เห็นดวงสว่าง, บางคนมีความสุขจนน้ำตาซึม, บางคนบอกว่าเวลาในขณะนั่งสมาธิผ่านไปรวดเร็วมาก ฯลฯ หลายคนไม่คิดว่าสมาธิจะดีแบบนี้”
และที่พระอาจารย์ปรมัยรู้สึกดียิ่งกว่านี้ก็คือ
“บางครั้งเขาก็ส่งข้อความมาว่า เขายังนั่งสมาธิกันอยู่แม้หลายปีผ่านไป และขอบคุณที่เราไปแนะนำการนั่งสมาธิ ซึ่งแม้เราจะเจอกันช่วงสั้น ๆ แต่การเจอกันก็สร้างประโยชน์ให้เขาได้ตลอดชีวิต นี้เป็นความประทับใจและภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่นำธรรมะและสมาธิไปแบ่งปันให้แก่ชาวโลก”
แต่ในบรรดากำลังใจทั้งหมดไม่มีอะไรมากไปกว่าถ้อยคำเหล่านี้
“ ที่ปลื้มที่สุดก็คือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า ลูกเป็นส่วนหนึ่งในการทำความปรารถนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ( พระมงคลเทพมุนี) ที่จะนำสมาธิ วิชชาธรรมกาย ไปเผยแผ่ทั่วโลกให้เป็นจริง”
เช่นนี้แล้วจึงไม่แปลกที่พระอาจารย์ปรมัยจะทุ่มกายเทใจทำหน้าที่ของท่านตลอด ๗ วัน โดยไม่คิดจะมีวันหยุดเลย จนกระทั่งฝรั่งที่มาฝึกสมาธิด้วยยังเคยถามว่า “พระไม่เคยมีวันหยุดเลยหรือ ?”
Logging off >> หยุดใจเสียบ้าง
ถึงแม้งานมากจนไม่มีวันหยุด แต่พระอาจารย์ปรมัยไม่ปล่อยให้เครื่องร้อน การทำสมาธิเป็นสิ่งที่ช่วยให้ใจของท่านสงบเย็น พร้อมจะทำหน้าที่ด้วยความเบิกบานและเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ผู้อื่นด้วย ดังนั้นท่านจึงจัดเวลาทำสมาธิไว้อย่างลงตัวเพื่อเข้าสู่โหมดหยุดใจ “ปิดโลกภายนอก เปิดโลกภายใน” นอกจากนี้ขณะที่กายเคลื่อนไหว ท่านก็ทำใจให้หยุดนิ่งไปด้วย
“หลวงพ่อบอกว่าให้เน้นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์ กล่าวคือ ประโยชน์ตนก็ให้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสมาธิ ส่วนประโยชน์ท่านก็คือ ให้นำประสบการณ์ที่เราฝึกฝนอบรมตนเองได้ไปแบ่งปันแก่ชาวโลก ถ้าเราพูดในสิ่งที่เราเป็นและพูดด้วยความปรารถนาดี คำพูดเราจะมีพลังเพียงพอที่จะไปเปลี่ยนใจของผู้ฟังได้”
Let's connect >> ถึงเวลาเชื่อมใจกัน
จากประสบการณ์ที่ไปสอนสมาธิแก่ชาวโลกในประเทศต่าง ๆ พระอาจารย์ปรมัยเห็นว่า ยังมีผู้คนจำนวนมากที่กระหายจะเรียนรู้วิธีสร้างความสุขภายในด้วยการทำสมาธิ แต่ว่าภารกิจปันความสุขแก่ชาวโลกจำนวนมหาศาลให้ทั่วถึงกันมิใช่เรื่องเล็ก ๆ ดังนั้นจึงต้องการ “คนมีใจ” จำนวนมากมายมาช่วยกัน
“พระเดชพระคุณหลวงพ่อย้ำเสมอว่า เรายังมีภารกิจที่จะต้องทำกันอีกเยอะมาก ๆ สำหรับภารกิจส่วนตัวของหลวงพี่เอง เมื่อคำนวณระยะทางที่เราเดินมาได้ในปัจจุบัน ก็ยังรู้สึกเหมือนกับเป็นจุดสว่างจุดเล็ก ๆ ในท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ กว่าจะพัฒนาให้กลายเป็นทะเลแห่งดวงดาว ที่สว่างพอจะจรรโลงใจมนุษย์ทั้ง ๗,๐๐๐ กว่าล้านคนได้นั้น เรายังมีงานที่จะต้องทำอีกเยอะ จึงอยากเชิญชวนทุก ๆ ท่านที่มีความรู้ความสามารถทางภาษาต่างประเทศและระบบคอมพิวเตอร์มาร่วมมือกัน เพื่อใช้เวลาที่เราเหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่เช่นนั้นเราก็คงจะเปรียบเสมือนจุดสว่างที่รอวันมอดดับลงเท่านั้น ไม่สามารถส่องสว่างค้างฟ้าอยู่นิจนิรันดร์ได้”
Shutting down >> สักวันต้องปิดเครื่อง
เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว อีกไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไป ในฐานะมนุษย์ผู้มีปัญญาจึงควรใช้มโนทัศน์ (Concept) ในเรื่องความตายมาพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของชีวิต เพื่อประโยชน์ต่อการมีชีวิตอยู่ของเราให้มากที่สุด
“ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก บางทีเราควรจะเปลี่ยนวิธีนับอายุเสียใหม่ คือแทนที่จะนับขึ้นแล้วก็มาเฉลิมฉลองว่าเราแก่ขึ้นทุกปี ควรจะนับจำนวนปีที่เหลืออยู่แทน เช่น อายุขัยเฉลี่ย ๗๕ ปี ถ้าเราเกิดมา ๓๐ ปีแล้ว วันเกิดปีนี้เราก็เตือนตัวเองว่ายังมีอายุเหลืออยู่ ๔๕ ปีเท่านั้น และไม่มีหลักประกันเลยด้วยซ้ำว่าจะอยู่ไปถึงวันนั้นจริง ๆ ดังนั้นเราควรจะหันมาศึกษาว่าในช่วงอายุที่เหลืออยู่นี้ เราควรจะทำอะไรให้คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง เมื่อใดที่เรามองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมาแล้วไม่รู้สึกว่าใช้เวลาอย่างสูญเปล่าในการสร้างบุญสร้างบารมีเลย นั้นแหละคือชีวิตที่มีค่ามากที่สุด”
เรื่องราวการออกบวชตั้งแต่ยังหนุ่มของพระอาจารย์ปรมัย มิเพียงแสดงถึงความทุ่มกาย เทใจสร้างบารมีของพระภิกษุรูปหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังจริงใจในการ สร้างบารมีของหมู่คณะวัดพระธรรมกาย ที่มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นต้นแบบได้ด้วย และที่สำคัญ เรื่องราวชีวิตท่านยังเป็นเสมือนการนำเลเซอร์พอยเตอร์ (Laser Pointer) มาชี้ให้เห็นพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งได้ชัดขึ้น คือ “อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺ า มรณํ สุเว” ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ว่า ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
Cr. วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ