เทคนิคการทำให้ใจรวมและหยุดนิ่งได้เร็ว
อุปสรรคในการเข้าถึงธรรมอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติธรรมก็คือ เมื่อนั่งสมาธิแล้วใจจะรวมหรือหยุดนิ่งได้ช้า แม้หยุดแล้วก็นิ่งได้ไม่สนิท กว่าใจจะรวมก็เสียเวลาไปกับความฟุ้งซ่าน มีเรื่องราวต่าง ๆ วนเวียนอยู่ให้ขบคิดอย่างมากมาย หากเป็นเช่นนี้ สมาธิเราก็จะก้าวหน้าได้ช้า ดังนั้นให้เราลองมาสำรวจอุปนิสัยภายนอกของตัวเรา แล้วพยายามปรับดูเพื่อให้สมาธิก้าวหน้า แล้วใจจะรวมหยุดนิ่งสู่สภาวธรรมภายในได้เร็ว โดยเริ่มจาก...
การมองโลกไปตามความจริง ตามหลักโลกธรรม ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ หากธรรม ๘ ประการนี้มากระทบ เราต้องไม่หวั่นไหว ทำใจเป็นกลาง ๆ ให้นึกเสียว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่ใคร ๆ ก็ต้องเจอ หากคิดได้อย่างนี้จะไม่มีอะไรมาเหนี่ยวรั้งใจเราได้ เวลานั่งสมาธิใจจะปล่อยวาง รวมได้เร็ว...
ทำใจให้เป็นกุศล ให้เบิกบาน แช่มชื่นเยือกเย็นอยู่เสมอ ให้หันกลับมาสำรวจตัวเองว่าเราเป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ใจร้อน แง่งอน น้อยใจอะไรง่าย ๆ หรือเปล่า หากเป็น ต้องแก้นิสัยนี้ให้ได้ เพราะนิสัยอย่างนี้จะทำให้ใจเรากระเพื่อมได้ง่าย เป็นเหตุให้คุณภาพใจเสียบ่อย ๆ ให้แก้โดยการนึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล นึกถึงบุญต่าง ๆ ที่เคยทำมาแล้ว จนปีติอิ่มเอิบใจ เพื่อให้ใจสบายมีสภาพพร้อมต่อการหยุดนิ่ง...
มองทุกคนเหมือนเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และมีความปรารถนาดีต่อทุกคน หากมองอย่างนี้ได้ใจเราจะสบาย ไม่หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ไม่เจ้าอารมณ์ง่าย จะไปไหนมาไหนก็จะมีความรู้สึกว่า มิตรสหายอยู่รอบตัว ไม่ต้องหวาดระแวง เพราะรู้สึกว่า ไม่มีศัตรู รู้สึกปรารถนาดี ไม่คิดพยาบาทอยากทำร้ายใคร...
มองโลกให้ว่างเปล่า ไม่มีแก่นสาร จะทำงานทำภารกิจใดก็ตาม ให้ทำให้เต็มที่เต็มกำลัง สุดความสามารถ แต่ไม่ยึดติด ไม่ต้องไปติดคน สัตว์ สิ่งของ ให้รู้สึกเฉย ๆ เพราะถ้าราไปยึดติดกับคน สัตว์ สิ่งของ ให้รู้สึกเฉย ๆ เพราะถ้าเราไปยึดติด เวลานั่งสมาธิเราก็จะปล่อยวางได้ยาก ดังนั้นต้องฝึกให้เป็นคนไม่คิดอะไรตั้งแต่ต้นจนเป็นนิสัย
หากเราทำได้อย่างนี้ ในแต่ละวันเวลาที่ผ่านไป เวลาเรานั่งสมาธิ ใจเราก็จะรวมง่าย รวมได้เร็วและหยุดนิ่งได้สนิทมากขึ้น ทั้งที่ใช้เวลาในการนั่งสมาธิเท่ากัน เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาไปกับการฟุ้งซ่านเสียเป็นส่วนใหญ่ สมาธิก็จะก้าวรุดหน้าไป และสามารถบรรลุธรรมได้ง่าย ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึง...
Cr. วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ