.....ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญ ปัญหา และ พบกับ ภาวะ ที่ก่อให้เกิด ภัยอันตราย หลากหลาย รูปแบบ และ มีแนวโน้ม จะสลับซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดแนวความคิดที่จะรวมตัวกันเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจ และเห็น ความสำคัญ ของการ คุ้มครองโลกให้อยู่รอดปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้เอง วันคุ้มครองโลก ( Earth Day) จึงมี จุดเริ่มต้นครั้งแรก ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ. ศ. ๒๕๑๓ จาก ความคิดริเริ่ม ของวุฒิสมาชิกชาวอเมริกัน Gaylord Nelson ที่ได้รณรงค์ ให้ชาวอเมริกัน ร่วมมือกัน พิทักษ์คุ้มครองโลก โดยมีผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมากถึง ๒๐ ล้านคน
เพื่อเป็น การกระตุ้นเตือนชาวโลก เกิดจิตสำนึก หันมาดูแลโลกของเรา ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ อันเกิด จากน้ำมือ ของมนุษย์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ถูกทำลายล้าง อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมา จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ชาวโลกจะพยายามรณรงค์เรื่องนี้มากเพียงใด แต่ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก การทำลายล้างทรัพยากร ธรรมชาติ และ ทรัพยากรมนุษย์ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตราบเท่าที่ มนุษย์ยังคงไม่เข้าใจว่า ต้นตอของปัญหาทั้งหมด ล้วนเกิดจากใจของมนุษย์ ทั้งสิ้น
ดังนั้น การให้ ธรรมะ คุ้มครองโลก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งองค์กรศาสนามีบทบาทในการเสนอแนวคิดเรื่องนี้ให้ชาวโลกได้หันมาตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพใจกันมากขึ้น ตามแนวทางที่พระบรมศาสดาได้วางไว้ นำมาซึ่ง หิริ โอตตัปปะ ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป จึงคุ้มครองโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างจัดให้มีงานวันคุ้มครองโลกขึ้น เช่นเดียวกับที่วัดพระธรรมกาย ได้จัดงานวันธรรมะคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๘ ช่วงเช้าเป็นการปฏิบัติธรรมกลั่นใจให้ใส สะอาดบริสุทธิ์ ช่วงบ่ายเป็นพิธีมอบเหรียญเกียรติยศ มหาตมคานธี เพื่อสันติภาพ แด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย และช่วงเย็นเป็นการหล่อพระธรรมกายภายใน ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งในปีนี้มีสาธุชนมาร่วมงานจำนวนมาก
สำหรับความเป็นมาของรางวัล เหรียญเกียรติยศ มหาตมคานธี เพื่อสันติภาพ เป็นรางวัลซึ่งมอบให้กับผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อประชาชนในสาขาต่างๆ ทั่วโลก มีองค์กรที่รับผิดชอบด้านการคัดสรรผู้ได้รับรางวัลคือ Akhil Bharat Rachanatmak Samaj (All Indian Gandhian Worker Society) ซึ่งเป็นสมาพันธ์แห่งชาติ ขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาตมคานธี ทั้งหมดในประเทศอินเดีย มีขอบเขตการทำงานด้านมนุษยธรรม และการส่งเสริมสันติภาพ มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุง New Delhi โดยประธานคนปัจจุบันคือ Dr. Nirmala Deshpande หรือที่รู้จักกันดีในนาม Didi เธอได้ดำรงตำแหน่งประธานมาตั้งแต่ปี 1982 ในฐานะผู้ที่อุทิศตนเพื่อประชาชน ตามแบบอย่างมหาตมคานธี ปัจจุบันเธอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ราชสภา) จากการแต่งตั้งเป็นสมัยที่สอง โดยการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีอินเดียคนปัจจุบัน Dr. A P J Abdul Kalam
อนึ่ง ผู้ที่เคยได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศ มหาตมคานธี เพื่อสันติภาพนี้ ดังเช่น นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ Lucile W. Green , นายพลเบอร์นาด นอร์เลน ผู้นำทางทหารในสมัยอดีตประธานาธิบดีชาค ชีรักแห่งฝรั่งเศส และล่าสุดคือนางโซเนีย คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส ประเทศอินเดีย เป็นต้น
ในปีนี้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศ มหาตมคานธี เพื่อสันติภาพ ในฐานะที่เป็นผู้ที่อุทิศตน ให้กับการพัฒนาเยาวชนมาตลอด 40 ปี มีผลงานดีเด่นคือโครงการปลูกฝังศีลธรรม ทางก้าวหน้า ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า ๒๐ ล้านคน และการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนเลิกจากสุราและบุหรี่ จนได้รับการถวายรางวัล World No Tobbacco Day Award 2004 จากองค์การอนามัยโลก
สำหรับบรรยากาศในพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๓.๓๐ น. ริ้วขบวนอัญเชิญรางวัลเหรียญเกียรติยศ มหาตมคานธี เพื่อสันติภาพ โดยคณะผู้แทนสหพันธ์แห่งชาติของอินเดีย เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางพิธี เสียงปรบมือต้อนรับดังกึกก้องจากสาธุชนผู้ร่วมงานกว่าหนึ่งแสนคน จากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ ประกาศเกียรติคุณแด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย และถวายรางวัลเหรียญเกียรติยศ จากนั้นท่านประธานสงฆ์ให้โอวาท และถ่ายภาพประวัติศาสตร์ร่วมกัน
ในช่วงเย็น คณะผู้แทนชาวต่างประเทศจากทั่วโลก รวมทั้งผู้แทนจากสหพันธ์แห่งชาติประเทศอินเดียที่เดินทางมาถวายรางวัลเหรียญเกียรติยศ รู้สึกประทับใจไปกับภาพการหล่อพระธรรมกายประจำตัวภายใน ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์อย่างยิ่ง ด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และความพร้อมเพรียงของชาวพุทธ ที่ปรารถนาจะให้มหาธรรมกายเจดีย์แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก ศูนย์รวมแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนซึ่งจะหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย จุดประกายให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองไปอีกนานนับพันปี
ภาพความงดงามของชาวพุทธที่ปรากฎเบื้องหน้า ทำให้มิตรประเทศผู้มาเยือนตระหนักถึงคำว่า สันติภาพภายนอก ต้องเริ่มต้นจากสันติภาพภายใน เข้าใจคำว่า สันติ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการถกเถียง อภิปราย หาข้อขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งการทำสงคราม แต่เกิดขึ้นได้ด้วยการควบคุมกิเลสในใจมนุษย์ โดยเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน มองเห็นตนเองก่อนที่จะมองเห็นผู้อื่น มีชาวต่างชาติคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลวงพ่อถึงได้รางวัล สามารถปลูกฝังศีลธรรมในใจเยาวชนเป็นผลสำเร็จมากว่า ๔๐ ปี เพราะท่านเข้าใจและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ถูกต้องนั่นเอง.