หลงในรส ๑
เป็นเรื่องแม่ของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจําได้แม่นเพราะคุ้นเคยกับท่านมาชั่วชีวิต ไม่ได้เต็มใจจะนําข้อบกพร่องของท่านมาเล่า แต่เมื่อนึกถึงว่าจะได้เป็นธรรมทานให้ท่านผู้อ่านทราบ และอาจทําให้ท่านเกิดข้อคิดที่เป็นกุศลอันใดขึ้นมา ข้าพเจ้าและแม่คงได้รับผลบุญนั้นๆ ด้วย
พ่อกับแม่ของข้าพเจ้านับถือศาสนาพุทธตามทะเบียนบ้านมาตั้งแต่เกิด แต่ท่านไม่รู้หลักธรรมที่แท้จริงของ ศาสนา เอาเพียงแค่หลักว่าให้ละความชั่วทั้งปวง ทําความดีให้เต็มเปี่ยม ทําใจให้บริสุทธิ์ตามหลัก โอวาทปาฏิโมกข์ แค่นี้ท่านก็ไม่เข้าใจดีนัก ท่านจึงมีความเชื่อถือผิดๆ มาตลอดชีวิต เช่น คิดว่าฆ่าสัตว์ไปทําบุญไม่บาป งานบุญต้องทําให้ใหญ่โต มีผู้คนมาร่วมงานมากๆ ได้สนุกสนานกันเต็มที่เท่าใดยิ่งได้บุญมากเท่านั้น ไม่ว่างานนั้นจะต้องฆ่าสัตว์ เลี้ยงสุรา เล่นการพนัน หรือมีมหรสพยั่วยุกามคุณมากเพียงไร ก็ไม่ถือเป็นบาปกรรม
ท่านทั้งสองเกิดปีเดียวกัน กว่าข้าพเจ้าจะสนใจในธรรมปฏิบัติและชวนพ่อแม่ให้มีสัมมาทิฏฐิ ทราบหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ อายุของท่านก็มากถึง ๕๘ ปีแล้ว
ก่อนเวลาดังกล่าว สิ่งที่ข้าพเจ้ามักพบเห็นอยู่เสมอคือ พ่อแม่มักไม่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายเอง ท่านชอบเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา ไก่ วัว หมู ปู ปลา กุ้ง หอย ท่านว่า เนื้อสัตว์ที่ตายเองไม่อร่อย เนื้อของมันจืดชืด ถ้าฆ่าแล้วปรุงอาหารสดๆ จะหวาน ทั้งสองท่านจึงมักจะร่วมมือกันทําปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ทําเป็นอาหารกันอยู่เสมอ พ่อไปหาปลา ปู กุ้ง หอย กบ ฯลฯ อะไรมาได้ นํามาให้แม่ แม่ก็จะฆ่าสัตว์เหล่านั้นหน้าตาเฉย ราวกับว่าสัตว์เหล่านั้นมันมีหน้าที่ต้องตายให้คนกินอย่างนั้นเอง
โชคดีจริงๆ ที่ข้าพเจ้าออกจากบ้านไปเรียนต่อที่อื่นตั้งแต่ ๙ ขวบ เรียนอยู่ ๑๕ ปี แล้วทํางานต่อในกรุงเทพฯเลย จึงมีโอกาสร่วมทำบาปในเรื่องนี้น้อยที่สุด ยิ่งเมื่อรู้บาปบุญคุณโทษแน่ชัดก็หยุดกระทำอย่างสิ้นเชิงเมื่ออายุ ๒๒ ปี
จําได้ว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ อยากรับประทานอาหารส้มตํามะละกอและหอยแครงลวก จิ้มน้ำจิ้มแซบๆ ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ไปซื้อหอยแครงจากตลาดมาหลายกิโล เพื่อนคนอื่นๆ ก็ไปเก็บมะละกอ มีอีกหลายคนทําหน้าที่ไปเด็ดยอดผักบุ้งมากินกับส้มตํา คนอื่นไม่เต็มใจไปตลาด เพราะล้วนแต่มีปัญหาเรื่องความสวยกันทุกคน
“เธอก็รู้นี่นะว่าฉันจะออกไปไหนทีก็เสียเวลาแต่งตัวแค่ไหน แล้วตลาดก็อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยจะตายไป เดี๋ยวเกิดไปเจอใครต่อใครจะให้เขาเห็นเราไม่สวยได้อย่างไร” เพื่อนคนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งก็เสริมว่า
“เธอไปน่ะดีแล้ว เธอไม่ใคร่สนใจเรื่องแต่งตัว เอาแป้งแตะหน้าเข้าหน่อยก็เสร็จแล้ว ไม่ต้องลงครีมเหมือนฉัน เธอรวดเร็วกว่าใครที่สุดเลย”
ถูกเหตุผลจากหลายคนเข้า ข้าพเจ้าก็จําต้องเป็นคนไปซื้อจนได้ ขณะที่หิ้วห่อหอยแครงขึ้นรถเมล์กลับมานั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นหอยบางตัวอ้าเปลือกเล็กน้อย มีเนื้อสีแดงแลบออกมา เมื่อเอามือแตะถูกตัวมัน มันก็หุบเปลือก ข้าพเจ้ามองเห็นมันรู้สึกบอกไม่ถูก คิดในใจว่า
“ความจริงเราไม่เคยฆ่าสัตว์ (ยกเว้นมดกับยุง) มานานแล้วนับตั้งแต่ทุบหัวปลาช่อนและเสียบตัวปลากดเมื่อยังเป็นเด็กๆ วันนี้ถูกใช้ให้ไปซื้อหอยแครง ถ้าพวกเพื่อนสวยๆ พวกนั้นบอกให้เราเป็นคนเอาไปลวกล่ะ จะทำอย่างไรดี” คิดไปด้วย ถามตนเองไปด้วย แล้วก็ตอบตนเองได้ว่า
“แค่ไปซื้อนี่ก็นับว่าให้ความร่วมมือสมรู้ร่วมคิดด้วยเต็มที่แล้ว ขืนเชื่อฟังเพื่อนพวกนี้ตลอดเราก็บาปเต็มประตูเลย ต้องหาวิธีเลี่ยงเราจะแอบหลบในห้องน้ำไปเสีย ขืนตามใจเพื่อน เราขาดทุน เพราะเขาได้กินอย่างเอร็ดอร่อย แต่เราบาปอยู่คนเดียว”
ข้าพเจ้าทําตามอุบายที่คิด เพื่อนคนอื่นจึงเป็นคนนําไปลวก อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้นจําได้ว่าข้าพเจ้ารับประทานหอยไปได้เพียงตัวเดียวจริงๆ เพราะนึกสลดใจว่า
“เราหิ้วมาเมื่อกี้ยังเป็นๆ อยู่เลย นี่ถูกลวกตายหมดแล้ว เราคงบาปด้วยแน่ๆ ไปหิ้วมาทําให้เขาต้องตาย” จึงหยิบตัวที่สองรับประทานต่อไม่ลง นั่นเป็นการทําบาปเกี่ยวกับเรื่องกินอาหารครั้งสุดท้ายที่จำได้
ความจริงเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยการถูกฆ่า มันมีรสชาติหวานอร่อยกว่าสัตว์ที่ตายเอง เพราะสัตว์ที่ตายเองมักจะเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอันใดอันหนึ่ง หัวใจของมันค่อยๆ หยุดทํางานตามความอ่อนแอของร่างกาย การสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวใจก็ทํางานลดกําลังลง ทำให้ไม่มีเลือดเข้าไปเลี้ยงในกล้ามเนื้อทุกแห่ง ปกติแล้วเลือดเป็นของที่มีรสหวาน ถ้าไม่มีเลือดหล่อเลี้ยงอยู่หรือมีบ้างเล็กน้อย เนื้อบริเวณนั้นจึงจืดชืด ไม่หวาน
ส่วนสัตว์ที่ตายกะทันหันเพราะถูกฆ่าหัวใจหยุดทํางานโดยเฉียบพลัน เลือดที่กําลังหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ทั่วไปยังไม่ถูกหัวใจเรียก กลับค้างอยู่ในกล้ามเนื้อเหล่านั้น หัวใจก็ดับเลิกทํางานไปแล้ว เนื้อจึงมีเลือดคั่งอยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อ ทําให้เนื้อมีรสหวาน
พ่อกับแม่ข้าพเจ้าติดรสเนื้อสัตว์ชนิดที่ต้องตายเพราะถูกฆ่านี้มาก ยังสอนให้คนอื่นชอบเหมือนท่านด้วย ยังจําได้ พ่อแม่และพวกเพื่อนบ้านชอบนําปลาเป็นๆ มาขังไว้ในกระป๋องบ้าง โอ่งบ้าง ไหบ้าง
ปลาบางชนิดมีกําลังมาก เช่น ปลาช่อน ปลาดุก มักจะกระโดดแรงๆ จนดันฝาที่ปิดหลุด ตัวที่แข็งแรงมากก็จะกระโดดหนีออกไปแถกอยู่ตามพื้นดิน บางที่คลุกฝุ่นคลุกดินติดเกล็ดแห้งจนมองไม่ออกว่าเป็นปลา มองแล้วคิดว่าเป็นขี้ดินก้อนหนึ่งไป พอเห็นกระดุกกระดิกได้จึงรู้ว่าเป็นปลา
เมื่อข้าพเจ้าพบปลาที่หนีออกมาได้เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นของบ้านตัวเองหรือของบ้านอื่น ข้าพเจ้าจะรีบแอบหยิบใส่กระป๋องไปปล่อยในแม่น้ำทุกครั้ง หรือมิฉะนั้นถ้าเป็นของบ้านตนเองไม่กล้าขอพ่อแม่เอาไป ปล่อย ก็จะใช้วิธีแอบเปิดฝาที่ปิดโอ่งไหพวกนั้น ให้ปลากระโดดหนีกันออกมาให้ไกลตา แล้วจึงแอบเก็บไปปล่อยในแม่น้ำ
ทําอย่างนี้เสมอๆ จนกระทั่งท้ายสุดถูกจับได้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าต่อว่า เพราะทํามาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ท้ายที่สุดพ่อแม่และเพื่อนบ้าน จึงใช้วิธีว่า ครั้งใดที่ข้าพเจ้ากลับไปบ้านจะพักอยู่เร็วหรือนานกี่วันก็ตาม ไม่มีใครกล้าซื้อสัตว์มาขังไว้เพื่อเตรียมฆ่าอีกเลย
การติดรส ถ้าผู้ใดฝึกไว้จนจิตใจคุ้นเคยมากเข้า จะรู้สึกเป็นทุกข์มากถ้าได้กินของที่ไม่ถูกปาก แม่ของข้าพเจ้านั้น แม้ต่อมาเมื่อหันมาสนใจธรรมปฏิบัติรู้บาปบุญคุณโทษถ่องแท้ดีแล้ว ก็ยังบ่นว่าแกงไม่อร่อยเมื่อแม่ครัวใช้เนื้อปลาตายที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ซื้อมาให้ปรุงอาหาร ท่านบ่นอยู่เรื่อย กระทั่งวันสุดท้ายที่จะสิ้นใจตาย ยังอยากได้เนื้อปลาที่แม่ค้าทุบหัวฆ่าตายแล้วมาปรุงอาหาร
นี่แหละความ “ติดในรส” แก้ไขได้ยากเย็นนักหนา
ชื่อเรื่องเดิม หอยเเครงลวก
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม3