สร้างบุญ...แต่เพิ่มบาป
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวจะแต่งงานนั้น ข้าพเจ้าบอกกับแม่ว่า
“แม่คะ งานของหนูไม่ใช่งานบวชพระ หนูว่าไม่เป็นงานบุญงานกุศลอะไร แม่ไม่ต้องเชิญแขกมาในงานมากหรอกนะคะ เอาไว้ตอนงานบวชน้องชายดีกว่า บวชลูกชายคนเดียวของแม่ ค่อยทํางานกันให้ยิ่งใหญ่เอิกเกริก งานของหนูทําให้ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีก็พอค่ะ”
แม่ตอบว่า “เรื่องตามประเพณีมีทําบุญเลี้ยงพระ แม่ต้องทําแน่นอนอยู่แล้ว เรื่องเชิญแขกที่มีญาติผู้ใหญ่มารดน้ำให้ศีลให้พรก็ต้องทํา ส่วนเรื่องเชิญผู้คนมากินเลี้ยง ลูกต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของแม่กับพ่อ ลูก ไม่ต้องยุ่งอะไร ลูกก็ทํางานราชการไปตามปกติ มาเอาวันสุกดิบ (ก่อนงาน ๑ วัน) เลยก็ได้ ลูกเตรียมมาแต่ของชําร่วยแจกคนในงานก็พอ”
ข้าพเจ้าฟังคําตอบแล้วให้รู้สึกอึดอัดใจไม่น้อย เพราะรู้ใจมารดาดีว่า ถ้าตอบแบบนี้แปลว่าต้องจัดเป็นงานใหญ่แน่ ข้าพเจ้าเคยเห็นพ่อกับแม่จัดงานมานับเป็นสิบครั้ง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บวชลูกของชาวบ้านที่ยากจน เอามาให้ท่านจัดการบวชให้ ท่านทั้งสองก็จะจัดเป็นงานใหญ่ เชิญผู้คนมาเต็มไปหมดถึง ๖ ตําบล เป็นตําบลบ้านเกิดของท่านบ้าง ตําบลที่ท่านเคยไปเป็นครูสอนอยู่บ้าง แล้วนี่เป็นงานลูกสาวคนโตของท่านเองแท้ๆ คงไม่คิดทำเป็นงานเล็กๆ ตามที่ข้าพเจ้าต้องการแน่นอน
ความคิดข้าพเจ้าสวนทางกับท่าน เพราะไม่ต้องการเห็นความสิ้นเปลือง เราจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ควรช่วยกันเก็บหอมรอบริบสร้างฐานะ ถ้ามาฟุ่มเฟือยเป็นหนี้เป็นสิ้นเสียตั้งแต่วันงานแต่งงาน เข้าทำนองใช้หนี้ยังไม่ทันหมด ลูกก็ตามมาเกิดเสียอีก คงจะหาความสุขในชีวิตคู่ได้ยาก จึงคิดประหยัด แต่เมื่อฟังน้ำเสียงของพ่อแม่แล้วก็ต้องจนใจ คิดอยู่ตามลำพังว่า
“ถ้าเราขืนดื้อดึง ให้ทำงานแบบประหยัด คงจะต้องขัดใจพ่อกับแม่ ทำให้ท่านไม่สบายใจ แค่เท่าที่ท่านอนุญาตให้แต่งงานกับผู้ชายที่เราเลือกเองก็เป็นพระคุณล้นเหลือแล้ว เราไม่ควรต่อรองให้ขัดใจท่านด้วย เรื่องอื่นๆ อีก”
ตัดใจตามใจพ่อแม่แล้ว ข้าพเจ้าก็ทำงานข้าราชการต่อไปเป็นปกติ และลางานเอาวันก่อนวันแต่งงานเพียงวันเดียว เดินทางกลับไปบ้านพ่อแม่ ซึ่งทำพิธีที่นั่น ส่วนว่าที่เจ้าบ่าวจะเดินทางไปในวันพิธีเลยทีเดียว
ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงบ้านแต่เช้า ช่วยทางบ้านจัดสถานที่ทำพิธีและงานอื่นตามที่ทำได้ ตอนบ่ายข้าพเจ้าลงไปเก็บกวาดบริเวณใต้ถุนบ้าน เริ่มรู้สึกใจเสียเมื่อพบลังสุราจำนวนมาก มีทั้งสุราอย่างดีและสุรา ๒๘ ดีกรีธรรมดา แข็งใจถามแม่ว่า
“แม่คะ งานแต่งงานของหนูต้องเลี้ยงเหล้าด้วยหรือคะ เลี้ยงแต่อาหารน่าจะพอนะคะ”
“ไม่ได้หรอกลูก งานทางบ้านนอกเขาถือกันนักเรื่องนี้ ใครไม่เลี้ยงเหล้า งานบ้านนั้นจะถูกนินทาไม่รู้จบ แม่จะต้องจัดงานของลูก ให้คนลือทีเดียวว่าทั้งกินอิ่มกินอร่อย เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งบริบูรณ์เต็มที่ ให้เหนืองานของใครๆ ใน ๔-๕ ตําบลนี้” แม่พูดด้วยความตั้งใจและมั่นใจเต็มที่
เวลานั้นแม้ข้าพเจ้ายังไม่ได้เข้าวัดสนใจปฏิบัติธรรมก็จริง แต่ในส่วนลึกๆ ของใจก็รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องไม่สมควร ผู้คนที่มาในงานแต่งงาน ถ้าหวังดีต่อคู่บ่าวสาวจริง ควรจะตั้งใจมาอวยชัยให้พร มีอะไรพอช่วยให้อยู่ดีมีสุขได้ ควรช่วยกันแต่ต้น ไม่ใช่ถือโอกาสมาทําให้สิ้นเปลืองหนักยิ่งขึ้นไปอีก เหมือนไม่สนับสนุนแล้วยังกลับซ้ำเติม ถ้าครอบครัวของบ่าวสาวห่วงใยเรื่องหน้าตาเหมือนพ่อแม่ข้าพเจ้าและมีฐานะไม่ดีนัก อาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาจัดงาน ทําความเดือดร้อนระยะยาวให้ต่อไปในอนาคต
ข้าพเจ้าใจคอเหี่ยวแห้งเรื่องมีการเลี้ยงสุราในงานมาตั้งแต่บ่าย พอตกค่ำก็มีอีกเรื่องหนึ่งตามมา คือมีผู้ชายขี้เมา ๒ คนอดีตลูกศิษย์ของพ่อมาพูดกับพ่อว่า
“หมู ๒ ตัว วัวตัวเดียว ผมว่าไม่พอนะครู เอาวัวอีกตัวเถอะครับ”
“เออ เอ็งซื้อไว้ ๒ ตัวก็ได้ วัวน่ะ ทําไปตัวเดียวก่อน อีกตัวเอาไว้เผื่อขาดแล้วค่อยทํา”
เสียงพ่อตอบ ข้าพเจ้าใจหายวาบ ตกใจแค่ไหนก็ไม่กล้าพูดกับพ่อ รีบเข้าไปพูดกับแม่ ทักท้วงห้ามปรามท่าน ใจคอเหมือนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เสียงดุของแม่ทําให้ระย่อท้อใจหนักขึ้นไปอีก
“แม่บอกแล้วไง เรื่องอะไรๆ ไม่ต้องมายุ่ง พ่อกับแม่คิดเองจะฆ่าวัวฆ่าหมูเลี้ยงแขกคนที่มาในงานซักกี่ตัว เราก็ไม่ต้องมาเกี่ยวเรื่องอาหารการกินเนี่ย จะไปซื้อที่ตลาดในเมืองได้ยังไง เดินทางกันเป็นวันพอดีของเน่าหมด บ้านใครๆ จัดงานเค้าก็ต้องฆ่ากันเองแบบสดๆ เนื้อมันจึงจะอร่อย ราคาก็ถูกกว่าตั้งแยะ”
ในลําคอข้าพเจ้าตีบตัน เหมือนมีอะไรเป็นก้อนจุกขึ้นมาต้องรีบเดินหนีแม่ เพราะน้ำตาเตรียมไหล นี่งานของเราหรืองานของใครกัน ทำไมเราไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นเลย
เรื่องวัว เรื่องหมูยังไม่ทันจางจากความรู้สึก เสียงผู้คนเอะอะกันอยู่ทางหน้าบ้าน ข้าพเจ้าเดินออกไปดู มีสุ่มครอบไก่ประมาณ ๕๐ กว่าตัวถูกขังไว้ ยังมีลังปลาช่อนตัวโตๆ อีกหลายลังเรียงเป็นแถว ข้าพเจ้าเบือนหน้าหนี เดินขึ้นบ้านกลับไปนั่งเงียบๆ อยู่ในห้อง รําพึงนึกแต่ว่า
“นี่ถ้าเราหนีตามเจ้าบ่าวไปเหมือนลูกสาวชาวบ้านที่เขาทํากัน ๆ สัตว์พวกนี้ก็คงไม่ต้องถูกฆ่าตายมากมายยังงี้ อุตส่าห์เป็นคนดีทําตามประเพณี แต่ประเพณีนี้ก็ทําให้เราต้องร่วมรับรู้ในการทําบาปเหล่านี้ไปด้วย แย่จริงๆ เลย”
หมดที่พึ่งจากพ่อแม่ ข้าพเจ้ามองลอดประตูห้องออกไปภายนอก แลเห็นญาติผู้ใหญ่มากันหลายคน มองแล้วก็ไม่เห็นทางให้ท่าน เหล่านั้นช่วยคัดค้านต้านทานอะไรขืน บอกไปก็คงไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของข้าพเจ้า เพราะล้วนแต่อยู่ในอาการสนุกสนานดีอกดีใจ พูดกันแต่เรื่องรายการทําอาหาร อย่างโน้นเตรียมไว้ถวายพระ อย่างนี้เตรียมไว้เลี้ยงคน
เหลือคนสําคัญอีกคนหนึ่งคือน้องชาย เขาเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อกับแม่ เรียกว่าเป็นลูกหัวแก้วหัวแหวน ข้าพเจ้าคิดถึงเขาเต็มแก่
เออ น้องเอ๋ย เดินทางมาเร็วๆ หน่อยซี มาช่วยพี่ห้ามปรามพ่อกับแม่บ้างเถอะ มีแต่เรื่องทําบาปทั้งนั้น พี่กลุ้มจะแย่อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่งานแต่งงานของพี่หรอก เป็นงานถือโอกาสฆ่าสัตว์เลี้ยงชาวบ้านน่ะ รีบมาเร็วๆนะ เอาเพื่อนที่ชื่อคุณเผด็จมาด้วย เพื่อนคนนี้ของน้องพ่อแม่เรารักเขามาก น้องกับเพื่อนอาจจะพูดให้พ่อแม่เลิกเรื่องฆ่าสัตว์เหล่านี้ลงได้ ลดการเลี้ยงสุราลง มาช่วยพี่หน่อยเถอะจ๊ะ
พอคิดถึงก็ได้ยินเสียงพ่อกับแม่ส่งเสียงทักทายน้องชายของข้าพเจ้ากับเพื่อน ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึง ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจขึ้นทันทีว่า เราคงมีพรรคพวกแล้ว เสียงหัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ของเพื่อนน้องชาย ข้าพเจ้าจําได้แม่นว่าเป็นเสียงของคุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ (ปัจจุบันคือพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) เสียงนั้นทำให้ข้าพเจ้าใจชื้น ใจคอชุ่มชื่นมีกําลังใจขึ้นมาก ข้าพเจ้าดีใจลุกขึ้นจะออกจากห้องไปทักทาย พลันได้ยินถ้อยคําที่ทําให้เหี่ยวแห้งเหมือนใบไม้อ่อนถูกราดด้วยน้ำร้อนเดือดๆ เพราะเพื่อนของน้องชายซึ่งข้าพเจ้าคิดจะอาศัยเอาเป็นที่พึ่งกลับเป็นผู้อาสาต่อพ่อแม่ข้าพเจ้าเชือดคอไก่เสียเอง ไม่ต้องไปตามคนอื่นมาทํา!
ข้าพเจ้าใจฝ่อแป้ว นั่งหมดแรงอยู่ตรงมุมห้อง ได้ยินเสียงไก่ร้อง ป๊อก...ป๊อก...ป๊อก... ตอนถูกเชือดคอตัวแล้วตัวเล่า หัวใจข้าพเจ้าแทบจะขาดตาม กลั้นทํานบน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันไหลพรากลงอาบหน้า แต่ไม่กล้า สะอื้นฮักๆ เกรงจะมีใครได้ยินเสียงเอาไปเล่าลือว่าเจ้าสาวร้องไห้ ก็จะเป็นเรื่องวุ่นวายจึงได้แต่ใช้ผ้าอุดปากไม่ให้เสียงสะอื้นดังออกไป
แรกๆ ก็นึกต่อว่าคุณเผด็จว่าทําไมจึงทํางานอย่างนี้ลง “คิดว่าจะให้ช่วยห้ามปรามพ่อกับแม่ กลายเป็นมาช่วยสนับสนุนกันเป็นอย่างดีไปเสีย ทําไมจึงทําอย่างนี้ได้” นึกไปนึกมาก็นึกออกว่าเพื่อนของน้องชายคนนี้กําลังเป็นนิสิตอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนวิชาสัตวบาล เวลานั้นยังไม่ได้เข้าวัดถือศีลปฏิบัติธรรม เรื่องฆ่าสัตว์จึงถือเป็นเรื่องปกติของผู้เรียนทางด้านนี้
ยิ่งนึกถึงสัตว์ทั้งหมดที่ต้องมาล้มตายลงเพราะมีตนเองเป็นต้นเหตุ ก็ให้ทุกข์ร้อนเหมือนมีอะไรอัดแน่นอยู่ในหน้าอก ข้าพเจ้าไม่เห็นหน้าวัวสองตัวที่ถูกฆ่าก็จริง (ต่อมาได้ทราบภายหลังว่าตัวหนึ่งเป็นตัวเมียมีลูกอ่อนด้วย แม่ถูกฆ่า ลูกร้องหาเสียง มอ มอ ทั้งคืน) แต่ก็เคยเห็นวัวตัวอื่นๆ ที่เป็นของชาวบ้านบ้าง ของบ้านญาติๆ บ้าง เวลาใดไปพักอยู่กับย่าเป็นเดือนๆ ในเวลาปิดภาคเรียน เคยช่วยท่านเลี้ยงวัว ๔-๕ ตัว เจ้าดาว เจ้าด่าง เจ้าเขียว เจ้าแป้ง เวลาเรียกชื่อ มันก็มองหน้าทําตาปริบๆ รู้ภาษา แต่พูดไม่ได้ จูงไปทางไหนก็เดินตามต้อยๆ ไม่ดี้อดึง ย่าใช้ไถนามันก็ช่วยทุกวัน มันเป็นสัตว์ใหญ่ที่น่าสงสารเสียจริง “โธ่เอ๋ย เวลาคนจูงไปทุบหัว มันก็คงยอมให้เขาไปฆ่าแต่โดยดี”
พอนึกถึงหมูก็คิดถึง “เจ้าเตี้ย” (เขียนไว้ในจากความทรงจําฉบับรวมเล่ม เล่ม ๒) ที่เคยเลี้ยง มันรู้ภาษา มีหัวใจอย่างเราเหมือนกัน เลี้ยงด้วยตนเองตั้งแต่มันเกิดได้ไม่กี่วันจนเป็นปีตัวโตใหญ่ พูดอะไรด้วยก็รู้เรื่อง วิ่งตามรับตามส่งได้เหมือนสุนัขที่เลี้ยงคู่กันมาไม่มีผิด
นึกถึงไก่ในสุ่มที่เห็นอยู่เมื่อครู่ ก็หวนคิดถึงไก่ที่เคยเลี้ยงไว้เป็นฝูงในสมัยเด็ก เคยทําแต่เรื่องช่วยชีวิต ไม่เคยทําเรื่องฆ่าแกงพวกเขา ยังจํา “เจ้าโกร๋น” ได้ มันไม่มีขนเลย แต่เดิมมันเป็นไก่ของบ้านใครก็ไม่รู้ ถูกเหยี่ยวโฉบบินมาเตี้ยๆ เพราะมันเป็นลูกไก่ตัวโตมีน้ำหนักมาก เหยี่ยวบินสูงไม่ไหว เสียงมันร้องลั่นอยู่ในกรงเล็บเหยี่ยว เจี๊ยบ เจี๊ยบ เจี๊ยบ ข้าพเจ้าอายุราว ๗-๘ ขวบ วิ่งตบมือส่งเสียงร้องเอะอะดังลั่นไปหมด ไล่ตามเหยี่ยว มันตกใจปล่อยลูกไก่หลุดลงมาบนกอหญ้า มีแผลจากรอยเล็บอยู่หลายแผล ใส่ยารักษาจนหาย เลี้ยงไว้ให้ชื่อว่าเจ้าโกร๋น เพราะยิ่งโตขนก็ยิ่งร่วงจนเกลี้ยงตัวไม่เหลือสักเส้นเดียว ถ้าไม่ใช่เป็นพันธุ์ของมันอย่างนั้น ก็คงเป็นเพราะมันกลัวตายมาก จนมีความเปลี่ยนแปลงในเซลล์สร้างขน เลี้ยงจนมันจมน้ำตายจากกัน เคยแต่ช่วยชีวิตสัตว์เรื่อยมาไม่เว้นแม้แต่กบในปากงูเห็นเข้าก็เคยช่วย ทําไมคนอื่นจึงฆ่าสัตว์ได้ลง
นั่งเอามือป้ายน้ำตาไป ใจก็คิดสับสนวนเวียนแต่เรื่องเกลียดชังประเพณีที่มารดาเอามาอ้าง ประเพณีอะไรก็ตาม คนเป็นคนตั้งขึ้นมาเองทั้งนั้น ทําไมนะจะตั้งให้มันดีๆ ไม่ต้องเป็นบาปกรรม ไม่ทําให้เดือดร้อนแก่ใครๆ ไม่ได้หรือ อย่างเรื่องประเพณีกินเลี้ยงกันนี่ ตั้งขึ้นตามความอยาก จะกินของคนแท้ๆ ไม่ใช่ตั้งตามเหตุผล
ข้าพเจ้าจดจําความทุกข์ใจเรื่องนี้ไว้แม่นยําไม่เคยลืม พอตนเองได้เป็นข้าราชการในตําแหน่งผู้บังคับบัญชาชั้นผู้ใหญ่ เวลาผู้ใต้บังคับบัญชารายใดจัดงานแต่งงานโดยให้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าภาพ ข้าพเจ้าจะขอให้คู่สมรส รวมทั้งญาติผู้ใหญ่จัดงานอย่างประหยัดเท่าที่จําเป็น รายใดฐานะไม่ดีก็ให้จัดเลี้ยงน้ำชา ที่มีฐานะดีหน่อยให้เลี้ยงแบบบุ๊ฟเฟ่ ส่วนพิธีสงฆ์ให้จัดที่โรงพยาบาลสงฆ์ ทําให้ครอบครัวทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเดือดร้อนและไม่มีหนี้สิน เพราะค่าจัดงานทั้งหมด เพื่อนๆ ก็จะช่วยเฉลี่ยกันออก ไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการเลี้ยงของมึนเมา ไม่มีการละเล่นแม้แต่ดนตรี
งานของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าต้องนั่งน้ำตาไหลอยู่ในห้องตามลําพัง พอดีน้องชายก็เปิดประตูเข้ามาพูดว่า
“พี่ๆ เตรียมเรื่องกล้องถ่ายรูปไว้แล้วรึเปล่า”
ข้าพเจ้ารีบปาดน้ำตาทิ้งไม่ให้น้องเห็น ตอบอึกอักออกไปว่า
“ยังเลยจ้ะ”
อีกฝ่ายไม่รู้ถึงความทุกข์ในใจข้าพเจ้าขณะนั้น ก็บ่นไปตามประสา
“ว้า ทําไมไม่เตรียมให้เรียบร้อย เนี่ยยังโชคดีนะที่ผมนึกเฉลียวใจยืมของเพื่อนติดมา แต่ยังไม่ได้ซื้อฟิล์มเลย แล้วทําไมพี่ไม่ออกมาดูแลอะไรๆ ข้างนอกซะบ้าง แอบเงียบอยู่ในห้องทําไม งานของตัวเองแท้ๆ”
ความจริงเสียงบ่นของน้องแค่นี้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรสักนิดเดียว แต่อารมณ์ค้างของข้าพเจ้ามีเป็นทุนอยู่แล้ว เลยพาลเอามือปิดหน้าร้องไห้โฮออกมาดังๆ พร้อมกับพูดว่า
“ไม่ต้องบ่น ไม่ถ่ายก็อย่าถ่าย ไม่ต้องเก็บรูปไว้เป็นที่ระลึกแล้ว”
ไม่ใช่ตอบด้วยความน้อยใจ แต่ตอบด้วยใจจริง เวลานั้นไม่อยากได้ภาพเหตุการณ์ไว้เลย เพราะรู้ตัวดีว่า ถ้าเห็นภาพเข้าในภายหลังจะต้องนึกถึงเรื่องทําบาปในงานนั้นได้หลายเรื่อง
แต่น้องชายไม่เข้าใจข้าพเจ้า เขามีอาการตกใจรีบเดินกลับออกไปจากห้อง ส่งเสียงบ่นให้แม่ฟัง
“ผมต่อว่านิดเดียวที่ไม่เตรียมกล้องถ่ายรูปมา ไม่รู้มีอะไรในใจร้องไห้ใหญ่เลยครับแม่” แม่กับญาติผู้ใหญ่อีก ๒-๓ คนรีบเข้ามาหาข้าพเจ้า
“อะไรกัน ร้องไห้ไม่ได้นะ เจ้าสาวน่ะ โบราณเขาถือ เดี๋ยวชีวิตครอบครัวไม่เป็นสุข” ญาติผู้หนึ่งพูด ฝ่ายแม่ก็ปลอบว่า
“มีอะไรก็ค่อยพูดค่อยจากันซีลูก น้องมันหวังดีนะ ไม่ได้ว่าหนูหรอก”
ข้าพเจ้าเห็นเรื่องจะไปกันใหญ่ จึงหยุดร้องไห้เช็ดน้ำตาฝืนยิ้มพูด
“ไม่มีอะไรหรอกค่ะมันรู้สึกแปลกๆ ยังไงไม่รู้ เหงาด้วยเลยร้องให้หายอึดอัด ตอนนี้หายดีแล้ว หนูเลิกร้องแล้ว ไม่ได้โกรธน้องหรือใครๆ หรอกค่ะ” ตอบเลี่ยงความจริงเพราะไม่ทราบจะบอกได้อย่างไรว่าข้าพเจ้าไม่ต้องการให้มีการฆ่าสัตว์ ไม่ต้องการให้เลี้ยงเหล้า ไม่อยากให้ใครทําบาปในงานของตน
ถ้าเป็นท่าน ท่านจะบอกเหตุผลได้ลงหรือ ในเมื่อทั้งพ่อและแม่จัดงานให้เราด้วยความหวังดี ผู้คนที่ทยอยกันมาช่วยงานก็ล้วนแต่หวังดีทั้งนั้น เมื่อได้มากินอาหารอร่อยๆ มีสุรากับแกล้มชนิด “เลี้ยงไม่อั้น” ก็สนุกสนานเฮฮาครึกครื้น หลายรายเมาได้ที่ก็ร้องลิเกเสียงลั่นยังไม่พอใจ ขออนุญาตไปเอาเครื่องขยายเสียงที่วัดมาใช้ส่งเสียงเข้าลําโพงดังลั่นคุ้งน้ำ
ข้าพเจ้าน่ะหรือจะกล้าบอกใครว่าไม่ชอบการกระทําทั้งหมด การที่เราจะแต่งงานคือการที่จะไปมีชีวิตคู่กับใครสักคนหนึ่ง เรียกอย่างไม่สุภาพว่า “เพื่อเสพกาม” อันเป็นเรื่องน่าปกปิดมากกว่ามาประกาศร้องแรกแหกกะเฌออย่างที่พวกญาติขี้เมากําลังกระทําอยู่นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าอายมากกว่า
การติดในรสอาหารรสสุราทําให้คนเราโดยเฉพาะผู้มีความคิดสติปัญญาน้อย คิดสร้างธรรมเนียมประเพณีเข้าข้างตนเองให้มีของอร่อยถูกใจไว้กินไว้เสพ ลืมความมุ่งหมายเดิมที่จะมาแสดงความยินดีหรือช่วยเหลือเจ้าภาพ กลับถือโอกาสเรียกร้องขอกินโน่นกินนี่ตามใจชอบ ยิ่งเห็นเจ้าภาพเกรงใจก็ยิ่งได้ใจหนักเข้า งานบางงานในชนบทถึงกับต้องขายไร่ขายนาจัดเลี้ยงผู้คน สําหรับพิธีสงฆ์ก็ใช้เพียงบังหน้าเป็นข้ออ้างเท่านั้น ของดีจริงๆ บางทีก็ไม่เก็บไว้เลี้ยงพระสักหน่อย ที่พูดอย่างนี้เพราะมีเหตุการณ์จริงเป็นตัวอย่าง
คืนนั้นมีผู้ชาย ๓-๔ คน ซึ่งอดีตเคยเป็นลูกศิษย์ของพ่อหาบวัว เนื้อหมูที่เพิ่งชําแหละมาส่งหลายหาบ เลือดติดแดงเต็มไปทุกชิ้น เสียงพ่อพูดว่า
“อ้าวเฮ้ย พวกตับหายไปไหนหมดเนี่ย ทั้งตับวัว ตับหมูไม่มีเหลือเลย”
“แหะๆ พวกพ้มต้มแกล้มเหล้าหมดแล้วคร้าบ....” ตอบด้วยเสียงอ้อแอ้เพราะฤทธิ์สุรา
ฟังคําตอบแล้วข้าพเจ้าคิดทันที... อ้อ! อ้างฆ่าหมูฆ่าวัวจะทําอาหารถวายพระก่อน แล้วจึงเลี้ยงคนทีหลัง แต่ของดีที่สุด ทําไมไม่เก็บไว้ให้พระฉัน พวกขี้เมากินเสียจนหมด นี่งานของเรา พ่อแม่ลงทุนทําบาป เพียงเพื่อเลี้ยงคนขี้เมาเหล่านี้ให้อิ่มหมีพีมันเท่านั้นเองหรือ
ความสังเวชสลดใจเกิดขึ้นจนพูดไม่ถูก มีความรู้สึกราวกับว่า ตัวข้าพเจ้าเองไม่ใช่คนที่นั่น คนเหล่านั้นมิใช่พ่อแม่ญาติพี่น้องหรืออะไรๆ ของข้าพเจ้าเลยแม้แต่คนเดียว จิตใจของเราไม่เหมือนกันสักนิด มองหาเพื่อนปรับทุกข์ไปรอบข้างก็ไม่เห็นใครเลย เจ้าบ่าวก็ยังไม่มาหรือถ้ามาข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่าใจของเราจะตรงกันไหม เขาอาจจะตําหนิว่า
“คุณนี่ช่างคิดมากไปได้ งานในชนบทก็เป็นยังงี้แหละ ประเพณีนิยมเขาทำกันมานานหลายชั่วคนเต็มที คัดค้านต่อต้านยังไงก็ไม่สําเร็จ” คิดแล้วเวลานั้นก็ให้รู้สึกว้าเหว่เต็มหัวใจ
ตอนดึกคืนวันสุกดิบ กลิ่นอาหารโอชารสหลายชนิดก็คลุ้งไปทั้งบ้าน เนื้อวัว เนื้อหมูถูกหั่น รวนให้สุกเพื่อเตรียมไว้ใช้แกงใช้ผัดตอนเช้า ไก่นึ่งให้สุกเป็นตัวๆ และตัดเป็นชิ้นใหญ่ๆ ต้มมะนาวดอง ปลาช่อนตัวโตๆ นึ่งทั้งตัวบ้าง ต้มเป็นท่อนๆ บ้าง วางเรียงใส่ถาดบ้าง หม้อใหญ่ๆ บ้าง เต็มห้องครัว ที่ชานระเบียงครัวเป็นที่ทําขนมหวานใช้ไข่เป็ดร่วมพันฟอง มีทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา วุ้น สาลี่ ขนมชั้น ข้าวเหนียวตัด ฯลฯ เต็มไปหมดสมกับงานเลี้ยงคนหลายตําบล
จําได้ว่าค่ำนั้นข้าพเจ้ากินอาหารเย็นนั้นไม่ได้เลยนึกเห็นหน้าสัตว์เหล่านั้น ตอนเย็นยังเห็นหน้ากันเป็นๆ อยู่ คงกินขนมไปเพียงไม่กี่คำ
ในเวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้สนใจหลักธรรมทางศาสนา กลับไปนึกถึงคำสอนบทหนึ่งในหนังสือหิโตปเทศ อันเป็นหลักปรัชญาของชาวฮินดูว่า
“ผู้กินอร่อยที่ปลายลิ้นเพียงครู่เดียว แต่ผู้ถูกกินนั้นถึงชีวิต (ตาย) ทีเดียว”
พบคำสอนนี้ในสมัยเรียนอักษรศาสตร์ ให้รู้สึกเข้าใจและยอมรับด้วยใจจริง สัตว์ใดๆ มักถูกมนุษย์ฆ่ากินมันสิ้นทุกตัว การอุตส่าห์ทำบาปกรรมปาณาติบาตอันเป็นความชั่วขนาดนั้น ถ้าจะให้คุ้มค่าก็ควรกินได้รสอร่อยให้นานๆ แต่เรื่องกลับตรงข้าม ได้ความเอร็ดอร่อยชั่วเวลาที่กำลังเคี้ยวอาหารตรงที่ลิ้นกระทบอยู่เท่านั้น พอกลืนล่วงลำคอลงไปก็ไม่รู้รสชาติแล้ว คำหนึ่งๆ ก็มักไม่เกินนาที ท้ายที่สุดลงไปหมักกันอยู่ในกระเพาะอาหาร ผ่านลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ แล้วถ่ายออกทางทวารหนักเป็นอุจจาระ มีกลิ่นเหม็นสุดจะทนทานเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะหอมและอร่อยลิ้นแค่ไหนตอนกินก็กลายเป็นของน่าเกลียดไปได้ในที่สุด เมื่อชั่งน้ำหนักดูระหว่างบาปที่ต้องฆ่าเขากับความเอร็ดอร่อยที่ลิ้นจึงไม่คุ้มกัน
ในวันงาน เรื่องที่ยุ่งที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน มีอาหารพิเศษหลายรายการเตรียมไว้สําหรับแขกเหรื่อที่มาพร้อมเจ้าบ่าว มีทั้งอาหารเผ็ด อาหารจืด ทั้งต้ม ทอด คั่ว ผัด ลูกศิษย์เก่าของพ่อแม่ที่มีฝีมือหุงข้าว ต้มแกงพากันมาช่วยในงานนับเป็นสิบๆ คน ฝ่ายหุงข้าว หุงด้วยกระทะเหล็กใบใหญ่ๆ พอข้าวสุกก็ตักออก เหลือข้าวตังติดก้นกระทะเป็นแผ่นใหญ่ คนหุงข้าวชอบเอาหัวกะทิปนกับน้ำตาลและเกลือเล็กน้อยมาทาให้ทั่ว ปิดฝา ใส่ไฟเล็กน้อยอบให้กรอบ เด็กๆ ก็จะพากันมานั่งคอยกินข้าวตังรอบกระทะ เป็นที่สนุกสนาน ฝ่ายทํากับข้าวติดเตาไฟใหญ่ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา มีเนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ ปลา ผักนานาชนิดเตรียมพร้อมดัดแปลงเป็นกับข้าวชนิดต่างๆ ให้พอเหมาะพอสมกับคนกิน พวกกินเหล้าแม่ครัวก็ทํากับแกล้มให้ เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เป็นสตรีก็ทําอาหารรสอ่อนๆ กลมกล่อมน่ากินให้
ได้ยินแต่เสียงผู้คนชมเชยอาหารการกินไม่ขาดปาก
“กับข้าวอร่อยจังเลย กินซะอิ่มแปล้เชียว ขนมก็อร่อย แม่ครัวทำของหวานอร่อยกว่าแม่ค้าที่ตลาดซะอีก ฯลฯ”
“ครูคะ...ร้...า...บ พ้มม...า...วเต็มคราบเลยคร้าบ... ไม่มีงานไหน บริบูรณ์เท่างานบ้านครู...เล้ย”
ใครต้องการกินกับข้าว ขนม เครื่องดื่มชนิดใดๆ สั่งได้ตามความพอใจ แขกที่มาจากกรุงเทพฯ รับประทานอาหารกันพอสมควรเพราะคุ้นเคยกับอาหารอร่อยๆ ที่มีในกรุงอยู่แล้ว มีแต่แขกในหมู่บ้านโดยเฉพาะคนขี้เมาทั้งหลายขนกินกันเสียจนเต็มที่ คนหนึ่งอิ่มมากถึงกับตาเหลือก ต้องล้วงคอให้อาเจียนออกมา บางคนชอบกินโอเลี้ยงกินเข้าไปมากจนถึงเป็นลมหมดสติไปหลายชั่วโมง
ส่วนหญิงชาวบ้านบางคน ทําทีเหมือนมาช่วยงาน ขณะเดียวกันก็แอบขนของกินต่างๆ ในงานใส่ภาชนะแล้วให้ลูกๆ ของตนวิ่งเอากลับบ้าน เอาไปทั้งของและภาชนะใส่ของ ดูวุ่นวายกันตลอดวัน เล่าเหตุการณ์งานตัวข้าพเจ้าเองไว้เพราะเท่ากับเป็นตัวแทนงานของบ้านอื่นๆ ที่บ้านนอกได้ทุกงาน ที่ไหนๆ จังหวัดใดๆ ก็เหมือนกันอย่างนี้
งานบางงานเจ้าภาพหมดเงินไปหลายหมื่น ล้วนแต่เสียประโยชน์มากกว่าได้ เช่น ทําบุญเลี้ยงพระ ถวายพระหมดเงินไปเพียง ๓-๔ พัน เสียค่าลิเก ภาพยนตร์ ดนตรี การละเล่นอื่นๆ ค่าสุราอาหารเลี้ยงดูกัน บาง งานเหยียบแสนบาท ซึ่งดูเหมือนจะไม่เป็นบุญกุศลอย่างใดเลย เรื่องอย่างนี้ดูจะเป็นแฟชั่นทําตามๆ กันในหมู่ผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธตามทะเบียนบ้าน คือไม่รู้เหตุผลตามหลักธรรมที่แท้จริง กลายเป็นค่านิยม คนไปร่วมในงานหลงรสอาหารและรสสุรา เจ้าภาพหลงเสียง ต้องการคําชมเชยยกย่อง ถ้าแขกที่มาร่วมในงานได้กินอิ่มกินอร่อยเต็มที่ ก็พากันชมเชยทั้งต่อหน้าเจ้าภาพและพูดต่อๆ เล่าลือกันไป เจ้าภาพก็มีหน้าตาได้ชื่อได้เสียง
นี่คือค่านิยมผิดๆ แล้วอ้างว่าเป็นประเพณี เรื่องประเพณีเป็นสิ่งที่คนสมมุติสร้างขึ้นเอาไว้เองแท้ๆ อาจจะเหมาะสมในสมัยหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะในอีกยุคหนึ่ง ที่ถูกต้องแล้วเมื่อเห็นสิ่งใดไม่เหมาะก็ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข ควรยึดถือเหตุผลเป็นเรื่องสําคัญ เช่น ในสมัยโบราณหมู่บ้านที่ห่างไกล ไม่มีตลาดสดจําหน่ายอาหารเนื้อสัตว์ เมื่อชาวบ้านจัดงานต่างๆ จึงต้องใช้วิธีฆ่าสัตว์เพื่อปรุงอาหาร ในปัจจุบันการคมนาคมสะดวก มีถนนหนทาง มีรถเรือยานพาหนะใช้ สามารถไปซื้อหาอาหารเหล่านี้จากตลาดใหญ่ในตัวเมืองได้ง่าย ไม่จําต้องใช้วิธีฆ่าเอาเอง เพราะบางงานเป็นงานบุญ เช่น งานบวช ควรหากิจกรรมที่ทําแล้วได้บุญเพิ่ม ไม่ใช่ทําบาปปนบุญ ดีไม่ดีกลับขาดทุน ทําแล้วได้บาปมากกว่าบุญเหมือนพ่อกับแม่ของข้าพเจ้าจัดงานครั้งนี้
เรื่องบาปมากกว่าบุญของพ่อแม่ข้าพเจ้า นี่เป็นเรื่องจริงคือต่อมาในปี ๒๕๑๑ หลังจากที่คุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เข้าศึกษาธรรมปฏิบัติกับคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงที่วัดปากน้ำภาษีเจริญแล้ว ได้ตามข้าพเจ้าให้มาเล่าเรียนด้วย เมื่อข้าพเจ้ามีศรัทธาเห็นประโยชน์ก็ใคร่จะให้พ่อกับแม่ได้หันมาสนใจให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามอย่างข้าพเจ้าบ้าง จึงได้ปรึกษาเรื่องนี้กับคุณเผด็จ ได้รับคําแนะนําว่า
“พี่ก็เอาวิธีนี้ซีครับ เอาเด็กสอนผู้ใหญ่ เราเป็นลูกสอนพ่อแม่ไม่มีทางเชื่อเราแน่นอน พ่อของผมก็เหมือนกัน สําหรับของพี่เอาเด็กที่เห็นธรรมกายแล้วนั่นแหละ จัดการสอนคนแก่”
ข้าพเจ้าฟังแล้ว ทําตามคําแนะนําทันที แม่มาเยี่ยมข้าพเจ้าบ่อย ถ้าน้อมนําใจให้แม่เข้าวัดได้ เรื่องชักชวนพ่อเป็นเรื่องเล็ก เพราะพ่อเชื่อแม่อยู่แล้วทุกเรื่อง เวลานั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยยังเป็นนักศึกษาอยู่ท่านยังไม่ได้เป็นพระภิกษุ เวลาท่านสอนเด็กๆ ข้าพเจ้าก็แอบจําเอาไว้ ท่านยังไม่ได้ห้ามเรื่องการนําไปสอนต่อ และข้าพเจ้าเองก็ยังไม่ทราบว่าการใช้ผู้ที่เห็นธรรมกายไปดูโน่นดูนี่ หรือทําอย่างโน้นอย่างนี้ โดยที่ตัวเราปฏิบัติยังไม่เห็นอะไรเลยเป็นบาปเพราะเป็นการใช้ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า
ข้าพเจ้าได้วานเด็กที่ได้ธรรมกายแล้วผู้หนึ่ง ทําสมาธิเอากายธรรมลงไปที่ยมโลก ขอให้พญายมราชเปิดบัญชีของแม่ เด็กได้ทําตามคำขอร้องของข้าพเจ้า บอกข้าพเจ้าจากสิ่งที่เห็นในสมาธิว่า
“พญายมราชให้เจ้าหน้าที่เปิดแล้วครับ แต่ผมอ่านไม่ออกเลยลักตัวเดียว”
ฟังเด็กตอบแล้วข้าพเจ้าก็งง เด็กคนนี้เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่สาม สอบได้ที่หนึ่งเสมอ อ่านหนังสือเก่ง ทําไมจึงบอกว่าอ่านไม่ออกสักตัวเดียว
“ถ้ายังงั้น ต้องเป็นภาษาอื่นแน่” ข้าพเจ้าคิด จึงบอกกับเด็กว่า
“หนูลองถามพญายมหน่อยซีว่า บัญชีนั่นเป็นภาษาอะไร ทำไมหนูจึงอ่านไม่ออก”
“พญายมท่านตอบว่า เป็นภาษานรกครับ ผมเลยอ่านไม่ออก”
“หนูลองขอร้องให้ท่านเปลี่ยนเป็นภาษาไทยหน่อย ท่านยอมมั้ย”
“ท่านเปลี่ยนให้แล้วครับ มีชื่อคุณยาย (หมายถึงแม่ข้าพเจ้า)
“อ่านเลย อ่านเลยจ้ะ เสียงดังๆ ก็ได้ คุณยายจะได้ยินถนัดๆ” ข้าพเจ้ารีบบอก
เด็กเริ่มอ่านเรื่อยไปเรื่อยไปเป็นชีวิตของแม่ข้าพเจ้าตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องเหล่านั้นล้วนแต่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เพราะยังไม่เกิด และแม่ก็ไม่เคยเล่าให้ฟังมาก่อน ใบหน้าของแม่แดงแล้วซีดสลับกันไปมา น้ำตาเริ่มเอ่อ แล้วก็ล้นหลากลงมาตามแก้มทั้งสองข้าง
ข้าพเจ้าไม่ต้องถามว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง เพราะอาการของท่านเป็นคําตอบอยู่แล้ว ยิ่งพอถึงตอนมีครอบครัวและข้าพเจ้าเกิดแล้วจําความได้ ข้าพเจ้าฟังเด็กอ่านแล้วยอมรับแทนแม่หมดทุกเรื่อง เมื่อเด็ก อ่านจบลง แม่ข้าพเจ้าก็ถึงกับสะอื้นบอกข้าพเจ้าว่า
“หนู แม่ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แล้วก็เอาลูกชาวบ้านที่ยากจนมาจัดงานบวชให้ รวมแล้วก็ถึง ๑๑ คน ในบัญชีบุญไม่มีเลยหรือลูก”
ข้าพเจ้าจึงถามเด็กอีกทอดหนึ่ง เสียงเด็กตอบว่า
“พญายมราชท่านชี้แจงให้ผมฟังว่าทําบุญไว้ก็จริง แต่ได้บุญน้อยมาก ถ้าจะเปรียบไปแล้วเหมือนใช้จ่ายในงานไป ๑๐๐ บาท ได้บุญไปสลึงหนึ่ง นอกจากนั้นเป็นบาปหมดเลย เพราะว่าการจัดงานทุกครั้ง มีการเลี้ยงสุรา ของมึนเมาอื่นๆ ฆ่าสัตว์ใหญ่น้อยทําอาหาร มีการละเล่นที่ไม่เป็นกุศล บางทียังมีการเล่นการพนันด้วย”
สิ้นเสียงตอบของเด็กวัยเพียง ๗ ขวบเศษ แม่ของข้าพเจ้าก็ร้องไห้ดังโฮๆ ทีเดียว ข้าพเจ้าถามเด็กว่า
“หนูดูบัญชีหน่อย คุณยายหมดอายุเมื่อใด ตายแล้วไปไหน"
เด็กตอบว่า “พญายมท่านบอกว่าตายแล้วต้องตกนรกขุมที่สอง เพราะตอนนี้บัญชีบาปมากกว่าบุญครับ แล้วผมอ่านดูที่บัญชีเห็นเขียนว่าหมดอายุ ๖๓ ปีครับ”
ความตกใจทําให้ข้าพเจ้าลืมตัวร้องท้วงเด็กเสียงดังลั่น
“หนูดูดีๆ อีกทีเถอะ เลข ๖ หรือเลข ๘”
ท้วงอย่างนั้นเพราะแม่มีอายุตอนที่กําลังเล่าถึงอยู่นี้ ๖๑ ปีเศษ ๆ แล้ว ร่างกายของท่านแม้จะเป็นคนผอมแต่ก็แข็งแรง ไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าเจ็บป่วย
ปกติการทําสมาธิจนกระทั่งสามารถเห็นสิ่งต่างๆ หรือเรียกว่า เกิดตาทิพย์ขึ้นได้นั้น การปฏิบัติจะต้องถึงขั้นได้ฌานจิตเสียก่อน โดยเฉพาะต้องผ่านปัญจมฌาน (ฌานที่ ๕) แล้วจึงทําอภิญญาให้เกิด
องค์ประกอบที่สําคัญอย่างยิ่งของฌานจิตระดับนั้น คือใจต้องเป็นอุเบกขา วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง ไม่ยินดียินร้าย สิ่งที่เห็นในทิพยจักขุญาณจึงจะชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
เมื่อข้าพเจ้าส่งเสียงท้วงเด็กออกไปทําให้จิตใจของเด็กเกิดความหวั่นไหว เพราะเกิดลังเลสงสัยตามคําท้วงติง เสียงเด็กตอบว่า
“ผมเห็นไม่ชัดเสียแล้วละครับ ไม่รู้ว่าเลข ๖ หรือเลข ๘”
“ไม่ชัดก็ไม่เป็นไรจ้ะ ไม่ต้องดูของคุณยายแล้ว ช่วยอ่านอายุคุณตาในบัญชีให้หน่อย ชื่อนายเทียน เห็นมั้ยจ๊ะ”ข้าพเจ้าเปลี่ยนเรื่อง เพื่อให้เด็กกําหนดใจใหม่
“เห็นครับ ในบัญชีเขียนไว้ว่า ๗๕ ปีตายครับ”
ข้าพเจ้าเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง เพื่อให้ช่วยกันเผยแพร่ให้รู้กันไปทั่วๆ ว่า การจัดงานบุญต่างๆ ถ้ามีการเลี้ยงของมึนเมา ฆ่าสัตว์เป็นอาหาร มีมหรสพที่ทําให้คนดูหลงใหลในกามคุณแล้ว จะไม่ได้บุญอะไรเลย กลับ ได้บาปมากด้วยซ้ำไป ดังตัวอย่างแม่ของข้าพเจ้า
การทําตามคําแนะนําของคุณเผด็จในครั้งนั้นได้ผลดีเกินคาด ทั้งพ่อและแม่ของข้าพเจ้าชวนกันเข้าวัดแจ พอปี ๒๕๑๓ เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย ข้าพเจ้าขอบริจาคสิ่งใด ท่านทั้งสองก็เต็มใจบริจาคแต่โดยดีไม่ว่าจะเป็นเรือนไทยสองหลังแฝดที่ท่านอาศัยอยู่ ของใช้ในครัว เรือนน้อยๆ ฯลฯ สําหรับแม่เมื่อล้มเจ็บหลังจากถวายบ้านให้วัดแล้ว ท่านยังยินดีให้ข้าพเจ้าขายเครื่องประดับของท่านร่วมสร้างวัดด้วย
แม่ข้าพเจ้าถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๖๓ ปี ตรงตามบัญชีในยมโลก พ่อก็เช่นกัน คือ ๗๕ ปี เพียงแต่ท่านทั้งสองไม่ต้องตกนรก เพราะหลังจากฟังบัญชีบุญบาปจากยมโลกในครั้งนั้นแล้ว ท่านรีบทําความดีต่างๆ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตลอดมา ตายแล้วจึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่หนึ่งและที่สอง
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว (คุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์) มีบุญคุณต่อข้าพเจ้ามาก ทําอย่างไรก็ไม่สามารถตอบแทนได้หมดในชาตินี้ ช่วยตัวข้าพเจ้าให้พ้นอบายภูมิยังไม่พอ ยังช่วยต่อไปถึงพ่อแม่ ถ้าไม่ได้กัลยาณมิตรอย่างท่าน เราสามคนคงไม่มีทางพ้นนรกแน่นอน
พูดเรื่องประเพณีในชนบทว่าชอบเรื่องติดรสสุราอาหารกระทั่งต้องมีการฆ่าแกงสัตว์ใหญ่น้อยให้เป็นบาป แล้วมาลงท้ายเรื่องบัญชียมโลก ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องต่อเนื่องติดพันกันอยู่ สัตว์ต่างๆ ที่ผู้คนนิยมกินส่วนใหญ่แล้วเป็นสัตว์ไม่มีพิษ ไม่ทําอันตราย บางอย่างเป็นสัตว์มีคุณต่อคนด้วยซ้ำไป เช่น วัว ควาย การฆ่าสัตว์เหล่านี้เป็นบาปแน่นอน
ขนาดงูซึ่งเป็นสัตว์มีพิษ ไม่ให้คุณอะไรต่อคนเราเลย สมัยเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ครั้งนั้นพระองค์ทรงห้ามเด็กๆ ที่รุมกันจะฆ่างูตัวหนึ่ง พระองค์ตรัสสอนว่า
“ใครก็ตาม ต้องการแสวงหาความสุขใส่ตัวด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น ซึ่งสัตว์เหล่านั้นมันก็ต้องการความสุขเหมือนกัน คนๆ นั้น จะไม่ได้พบความสุขในโลกหน้าเมื่อตายไปแล้ว ส่วนคนที่แสวงหาความสุข โดยไม่เบียดเบียนใคร ย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า”
เด็กๆ เหล่านั้นเมื่อฟังพระธรรมเทศนานั้น ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันหมดทุกคนในขณะนั้นเอง
ยังมีพระพุทธดํารัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“สัพพา ทิสา อะนุปะริคัมมะ เจตะสา
เนวัชฌะคา ปิยะตะระมัตตะนา กวะจิ
เอวัง ปิโย ปุถุ อัตตา ปะเรสัง
ตัสมา นะ หิงเส ปะรัง อัตตะกาโม
เราคิดดูจนทั่วทุกทิศแล้วที่ไหนๆ ก็ตาม ไม่มีใครอื่นที่จะเป็นที่รักมากไปกว่าตนเอง แม้ผู้อื่นก็รักตัวเขามากในทํานองเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นผู้ใดรักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น”
การรู้รสด้วยลิ้น รสที่ดีทําให้รู้สึกอร่อย ถือเป็นกามได้ชนิดหนึ่ง ให้เกิดความชอบใจยินดี เมื่อชอบใจแล้วก็เกิดตัณหาคือความอยากเสพอยู่บ่อยๆ มีความพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงของที่เสพให้เป็นไปตามความอยากไม่มีที่สิ้นสุด เมื่ออยากมากก็ต้องแสวงหามาก การแสวงหามากทําให้ประกอบกรรมที่เป็นอกุศลเพิ่มขึ้น หมุนเวียนไปไม่รู้จบ
“กินเพราะหิว ไม่มีอะไรมาก ถ้ากินเพราะอยาก เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ”
ถ้อยคํานี้เป็นความจริงแท้ที่ไม่มีใครเถียงได้จริงๆ
ชื่อเรื่องเดิม เเต่งงานที่บ้านนอก
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม3