หยาดเหงื่อเพื่อลูก

วันที่ 04 กพ. พ.ศ.2560

 
หยาดเหงื่อเพื่อลูก
 
 
หยาดเหงื่อเพื่อลูก,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
 
                  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้าพเจ้าเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปีที่สอง ข้าพเจ้าย้ายออกจากที่พักเดิมไปอยู่หอพักนิสิตหญิงของมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์การค้ามาบุญครองในปัจจุบัน โดยอยู่กันห้องละคน

                วันหนึ่งเพื่อนชื่อยุวดีซึ่งเป็นบุตรสาวนายตํารวจยศนายพล พักห้องติดกับข้าพเจ้าเดินมาหา เธอพูดว่า

                “เมื่อวานนี้พ่อเรามาเยี่ยม ท่านเพิ่งกลับจากการประชุมที่ฝรั่งเศส ซื้อน้ำหอมมาฝาก ๒ ขวด นี่เธอดมดูซี่ หอมมั้ย ซื้อที่โน่นขวดนึงตั้ง ๔๐๐ บาท มาถึงเมืองเรามันจึงแพงเกือบถึงพันไงล่ะ เธอเอาไปขวดนึงซี ชอบใช้มั้ยน้ำหอมฝรั่ง เห็นเธอใช้แต่กลิ่นไทยๆ อยู่ เลยต้องถามดูก่อน”

              “เรื่องน้ำหอมน่ะ ชั้นเฉยๆ นะ มีก็ใช้ ไม่มีก็แล้วไป ที่ใช้กลิ่นไทยๆ เพราะขวดหนึ่งแค่สิบกว่าบาทเท่านั้น ใช้ไปได้ตั้งครึ่งปี”

             ตอบแล้วก็นึกถึงการใช้น้ำหอมของตนเอง ข้าพเจ้าจะใช้ก็ต่อเมื่อมีนัดไปไหนมาไหน หรือเวลาที่คนรักมาเยี่ยมเท่านั้น ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ ว่าที่จริงตลอดชีวิตความเป็นสาวดูเหมือนจะเสียเงินซื้อน้ำหอมไปไม่เกิน ๓ ขวด ขวดที่แพงที่สุด ๑๗ บาท ใช้ลิปสติกหมดไปครึ่งแท่ง แล้วก็เลิกใช้ทั้ง ๒ อย่าง รวมทั้งแป้งด้วย

            “เธอลองใช้น้ำหอมฝรั่งนี่สักขวดเถอะน่า”

         เพื่อนอยากให้ข้าพเจ้าจริงๆ ข้าพเจ้ารู้ใจของเขาดี เขาคงอยากตอบแทนบุญคุณข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง คือเธอคนนี้มีหนุ่มๆ มาชอบถึง ๓ คน เธอจะนัดให้มาพบไม่ซ้ำเวลากัน คนหนึ่งเป็นลูกชายของแม่บ้านผู้ปกครองหอพัก คุณแม่บ้านจึงต้องคอยแอบดูแลยุวดีแทนลูกชายของตนอยู่เสมอ เวลายุวดีจะออกไปข้างนอก ไปรับประทานอาหารหรือดูหนังรอบค่ำกับเพื่อนชายคนอื่น ข้าพเจ้าจะต้องมีหน้าที่ไปนั่งดูหนังสือในห้องของเธอ เปิดไฟ เปิดห้อง เปิดเพลงจากวิทยุเสียงเบาๆ ทําเหมือนยุวดีอยู่ในห้องพักไม่ได้ออกไปไหน คุณแม่บ้านก็จะไม่ผิดสังเกต ไม่นําเรื่องยุวดีหนีเที่ยวไปฟ้องลูกชาย

      ข้าพเจ้ามีความสามารถพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถดูหนังสือได้ไม่ว่าจะมีเสียงอะไรดังอยู่รอบข้าง ดังนั้นการต้องเปิดเพลงไปด้วยจึงไม่มีปัญหาอะไร ครั้นจะไม่เปิดเพลงจากวิทยุเลย แม่บ้านอาจผิดสังเกตเพราะนิสัยยุวดีชอบเปิดเพลงเสมอ

        เมื่อเพื่อนคะยั้นคะยอ ข้าพเจ้าก็รับมาถือไว้ แล้วเปิดจุกขวดออกดม แล้วก็ต้องอุทานว่า

      “เอ๊ะ กลิ่นนี้ ไม่ใช่กลิ่นที่เธอเคยใช้นี่ มันเป็นกลิ่นเดียวกับพี่ศรีสุดาทางหอใต้โน่นเค้าใช้ประจําติดตัวเลย แล้วเธอว่าในเมืองไทยนี่ขวดนึงเป็นพันบาทเชียวหรือ (สมัยนั้นข้าวแกงจานละ ๕๐ สตางค์) ลูกเศรษฐีอย่างเธอก็ใช้ได้ซี แต่คนอย่างชั้นใช้ได้ยังไง ถึงเธอจะให้ฟรีก็เถอะ ชั้นก็ใช้ไม่ลงหรอกนึกถึงว่าวันหนึ่งข้างหน้าใช้หมดแล้วไม่มีสตางค์ซื้อใหม่มาใช้จะไม่สบายใจ เพราะเคยตัว เอาของเธอคืนไปเถอะ แค่ออกปากให้ของแพงๆ นี่ก็ซึ้งในน้ำใจเต็มที่แล้ว”

       ยื่นน้ำหอมคืนให้เพื่อนแล้ว ใจก็อดหวนนึกถึงนิสิตรุ่นพี่คนที่ชื่อศรีสุดาไม่ได้ ต้องถามเพื่อนว่า

      “นี่ยุ เธอรู้มั้ย พี่ศรีสุดาทําไมเค้ารวยจังนะ ชั้นเห็นเค้าใช้ของดีๆ เสื้อผ้ามีแต่สวยๆ ทั้งนั้น กระเป๋า รองเท้า มีเข้าชุดกันแบบแปลกๆ ใหม่สุดตามแฟชั่นเลย ของห้างทั้งนั้น เวลาเค้าเดินผ่าน ชั้นได้กลิ่นน้ำหอมยี่ห้อนี้แหละ หอมชื่นใจทั้งตาปีเลย...

    “อ้าว! เธอไม่รู้จริงเหรอ รึว่าแกล้งถามกันแน่” อีกฝ่ายมองหน้าเหมือนจับพิรุธ

  “พ่อแม่เค้าต้องรวยมากแน่ๆ ชั้นเห็นเค้านั่งสามล้อมาเรียนทุกวัน” ข้าพเจ้าตอบ พร้อมทั้งนึกภาพพี่ศรีสุดานั่งสามล้อทุกเช้าเย็น เป็นสามล้อคันเดิม และมักไม่รับส่งที่หน้าหอพัก แต่จะคอยรับส่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร

    สมัยนั้นในกรุงเทพฯ ยังไม่มีแท็กซี่มากนัก นับเป็นชั่วโมงจึงจะมีแล่นผ่านมาสักคันหนึ่ง รถตุ๊กๆ ก็ยังไม่มี มีแต่รถสามล้อ เต็มไปในถนนทุกสาย อันที่จริงจากที่พักของพวกเราไปมหาวิทยาลัยไม่ไกลมากนักราวๆ ครึ่งกิโลเมตร พวกเราทุกคนถ้าไม่มีธุระอะไรรีบด่วน มักจะใช้วิธีเดินไปกลับ ถือเป็นการออกกําลังกายไปในตัว เพราะค่าสามล้อระยะทางจากหอพักไปที่เรียนก็ต้องเสียถึง ๓ บาท ไปกลับวันละ ๖ บาท (เท่ากับค่าของเงินประมาณ ๕๐ บาทสมัยนี้

   “พ่อเค้าก็คนถีบสามล้อคนนั้นแหละจ้ะ...” เสียงเพื่อนกระซิบบอก

       “เป็นไปได้ยังไงกันเนี่ย ตายจริง ไม่น่าเชื่อเลย...” ข้าพเจ้าอุทาน ทำตาเหลือกได้เองเพราะประหลาดใจจนพูดไม่ถูก เสียงเพื่อนขยายความให้ฟังต่อไปว่า

    “แม่บ้านมาเล่าให้ฟังว่า เวลาพี่ศรีสุดาไม่อยู่ ไปซื้อของพาหุรัดบ้าง ไปดูหนังบ้าง สามล้อคนนั้นซื้อของมาฝากแม่บ้านไว้ให้พี่ศรีสุดาน่ะของกินดีๆ ทั้งนั้น”

      ยุวดียังเล่ารายละเอียดให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปอีกว่า สามล้อถีบคนนั้นมีพี่ศรีสุดาเป็นลูกคนโต เป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เธอไม่อยากอยู่ในบ้านโกโรโกโสกับครอบครัวเกรงเพื่อนฝูงและครูอาจารย์ทราบเข้าจะดูถูกเธอ ไม่มีใครยอมคบค้าสมาคมด้วย จึงขอให้พ่อส่งเธอเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย และอย่าได้แสดงตัวเป็นพ่อของเธอเป็นอันขาด สามล้อคนนั้นเล่าให้แม่บ้านฟัง พร้อมทั้งขอร้องว่า

      “อาจารย์ครับ อาจารย์ทราบแล้ว ช่วยปิดเป็นความลับด้วยนะครับ ผมไม่อยากให้ลูกของผมอายเพื่อนฝูง ผมถีบสามล้อทั้งกลางวันกลางคืน อดทนส่งเสียเค้าเรียนให้เต็มที่สุดความสามารถของผม ไม่ให้ลูกอับอายขายหน้าใครๆ เป็นอันขาด ของเรียนของใช้อยากได้สิ่งไหน ผมตามใจหมดทุกอย่าง ผมยอมเหนื่อย บางทีไม่สบายถีบสามล้อไม่ไหว ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาให้ ผมยอมทั้งนั้น เมื่อลูกเรียนจบแล้วคงจะเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้บ้าง”

       ข้าพเจ้าฟังเพื่อนเล่า หัวใจนึกสลดหดหู่เป็นกําลัง ภาพที่เคยเห็นเวลาพี่ศรีสุดาลงจากรถสามล้อ เธอไม่ได้หยิบเงินค่ารถให้ แต่คนถีบสามล้อนั่นต่างหากเป็นคนหยิบเงินจากกระเป๋ากางเกงส่งให้เธอ ข้าพเจ้า เดินกลับจากมหาวิทยาลัยตามหลังสามล้อคนดังกล่าวมาจึงได้เห็น ครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นการทอนเงิน แต่เมื่อไม่เห็นฝ่ายผู้โดยสารหยิบเงินให้เลย จึงไม่ใช่ทอนเงิน ได้แต่เฝ้าสงสัยอยู่ตั้งแต่ครั้งนั้นว่า ทําไมสามล้อเป็นฝ่ายให้เงินคนโดยสาร เพิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งวันนี้เอง

     ข้าพเจ้าไม่สงสัยความรักของพ่ออย่างคนถีบสามล้อคนนั้น แม้พ่อของข้าพเจ้าหรือแม้พ่อของคนอื่นๆ ในโลก เพื่อลูกแล้ว พ่อที่เป็นพ่อแท้ๆ ย่อมเสียสละให้ได้เสมอ เช้าเย็นอุตส่าห์มารับส่งถีบรถให้ลูกนั่งน้ำตาข้าพเจ้าซึมออกเปียกขอบตา คิดในใจว่า ถ้าข้าพเจ้าเป็นลูก ข้าพเจ้าจะนั่งรถที่พ่อเหนื่อยแรงถีบได้หรือ ใจตอบออกมาทันทีว่า ไม่ได้ นั่งไม่ได้ เราไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ป่วยนี่ เราซีน่าจะถีบให้พ่อนั่งด้วยซ้ำ แต่น้ำใจของพ่ออย่างสามล้อคนนั้น เขาต้องมีความสุขมากนักหนาที่ได้ถีบรถให้คนที่เป็นที่รักของเขานั่ง แต่ลูกอย่างพี่ศรีสุดาคงจะนึกถึงน้ำใจพ่อไม่ออกแน่ๆ

    คิดดูเถิด ถ้าเธอรู้ซึ้งถึงความรักของพ่อที่มีต่อเธอ เธอจะกล้าซื้อของใช้ราคาแพงๆ อวดเพื่อนได้อย่างไรกัน รองเท้าของเธอคู่หนึ่งๆ ซื้อรองเท้าอย่างที่ข้าพเจ้าใช้ได้ถึง ๖-๗ คู่ ทําไมเธอจึงเห็นเรื่องความอาย เพื่อนมีค่าสูงกว่าความเหนื่อยยากของพ่อแม่ พ่อหารายได้มาเท่าใด ต้องมาให้เธอเสียเกือบทั้งหมด เหลือกลับไปเลี้ยงตนเอง แม่ และน้องๆ อีก ๔ คนของเธอเล็กน้อยเต็มที

    ทุกคนในครอบครัวของพี่ศรีสุดายอมลําบาก อดอยากขาดแคลน เต็มใจให้เธอสมบูรณ์พูนสุขอยู่เพียงคนเดียว ด้วยความหวังว่าเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว เธอคงให้ความอุปการะครอบครัวตอบแทน

      ในเวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุ ๒๐ ปี ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าที่พี่ศรีสุดาทำอย่างนั้นเป็นเรื่องผิดหรือถูก สมควรหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าค่านิยมของคนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยสมัยนั้น เห็นเรื่องความหรูหราสําคัญเพียงใด ข้าพเจ้ารู้แต่ว่าสําหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว ทําตนอย่างพี่ศรีสุดาไม่ได้ พ่อแม่ของข้าพเจ้าเป็นคนบ้านนอก ไม่ว่าท่านจะมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่หอพัก หรือบางครั้งท่านก็ไปเยี่ยมถึงตึกเรียนในมหาวิทยาลัย พ่อแต่งตัวเหมือนชาวบ้านตามปกติซึ่งก็ส่อถึงฐานะที่ไม่ดีนัก ส่วนแม่แม้จะมีเครื่องทองรูปพรรณประดับตัวหลายชิ้น แต่ท่านก็นุ่งผ้าโจงกระเบนไม่ใส่รองเท้า กินหมากจนฟันดําทั้งปาก ข้าพเจ้าไม่เคยอายเพื่อน กรากเข้าไปกราบที่ตักท่านทุกครั้งที่พบ แนะนําให้เพื่อนๆ รู้จักว่านี่คือพ่อแม่ของตนเอง

     มีอยู่บ้างเพื่อนบางคนที่ไม่สนิทนักมองอย่างดูหมิ่น ข้าพเจ้ามองสายตาเหล่านั้นออก และเพื่อนคนนั้นๆ ก็จะถูกข้าพเจ้า “หมายหัว” ไว้ที่จะไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วยเป็นอันขาด พูดด้วยเป็นมารยาทเท่านั้น ใครรักเรา จะต้องเคารพพ่อแม่ผู้เป็นที่เคารพของเราด้วย ข้าพเจ้าคิด เป็นเรื่องแปลกเพื่อนที่ชอบดูถูกดูหมิ่นความจนของเพื่อนด้วยกันที่ข้าพเจ้าพบนั้น พวกเขากลับมีพื้นเพเดิมจนยิ่งกว่าข้าพเจ้าเสียด้วยซ้ำ วางท่าเป็นเศรษฐีไปอย่างนั้นเอง ส่วนพวกที่ร่ำรวย มีเกียรติยศจริงๆ เช่น เป็นเชื้อพระวงศ์ มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมเจ้า ลูกนายพล ลูกพระยา ลูกคุณพระ ฯลฯ กลับไม่มีใครดูถูกดูหมิ่นข้าพเจ้าแม้แต่คนเดียว เราสนิทสนมกันด้วยไมตรีจิตแท้จริง ไม่มีเรื่องของครอบครัวมาเกี่ยวข้อง

     นับตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้าทราบประวัติของพี่ศรีสุดาแล้ว ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเห็นชายถีบสามล้อคนนั้นเอารถมาจอดยืนคอยรับลูกอยู่ข้างทาง ข้าพเจ้าจะรู้สึกเหมือนมีอะไรตีบตันขึ้นมาในลําคอ ถ้าไม่เกรงว่าเขาจะเสียใจ ว่ามีคนรู้ว่าเขาเป็นพ่อของพี่ศรีสุดาแล้ว ข้าพเจ้าอยากยกมือไหว้สวัสดีชายผู้นี้เสียจริงๆ ไหว้เพราะเคารพในความรักของพ่อคนหนึ่งในโลกนี้ที่รักลูกของเขาสุดหัวใจ

      และด้วยซาบซึ้งในความรักของชายถีบสามล้อที่มีต่อลูก ข้าพเจ้าก็พลอยซาบซึ้งในพระคุณของพ่อแม่ของข้าพเจ้าอีกเป็นทวีคูณ นับแต่นั้นทุกครั้งที่พ่อแม่มาเยี่ยม ข้าพเจ้าจะก้มทรุดตัวลงกราบที่ปลายเท้าท่านทุกครั้ง จะไม่กราบเพียงแค่บนตักเหมือนแต่ก่อน และไม่เคยอายถ้าจะมีใครเห็น

     ครั้งใดที่ข้าพเจ้าต้องเดินผ่านพี่ศรีสุดากลิ่นน้ำหอมจากร่างของเธอที่ข้าพเจ้าเคยชื่นชมว่าหอมระรวยชื่นใจนั้น ก็กลับกลายเป็นเหมือนข้าพเจ้าได้กลิ่นเหงื่อไคลของชายถีบสามล้อผู้นั้น...

    โธ่เอ๋ย กว่าจะได้ค่าโดยสารพอซื้อน้ำหอมแพงๆ อย่างนั้นให้ลูกสักขวด จะต้องถีบสามล้อคู่ยากกี่เดือนกันก็ไม่รู้

    เงินทองที่ได้มา ถ้ามองให้ลึกซึ้งไปถึงน้ำใจของผู้ให้ หรือถึงความเหนื่อยยากในการทํามาหากินของเราแต่ละคนแล้ว เงินทองเหล่านั้นเป็นของมีค่ายิ่ง ควรใช้ให้ได้ประโยชน์ให้มากที่สุด นอกจากใช้เลี้ยงดูร่างกายตามความจําเป็นแท้จริงแล้ว ก็ควรใช้ในสิ่งที่ทําให้เป็นบุญเป็นกุศลให้ยิ่งขึ้นจึงสมควร

       ในรายของศรีสุดาผู้นี้ ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องของเธอว่า เมื่อจบการศึกษาแล้ว เธอก็เป็นโรค จมไม่ลง ต่อไป ทํางานมีเงินเดือนก็ใช้บํารุงบำเรอตนเองไม่ให้น้อยหน้าเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวของเธอผิดหวังต่อไปตามเดิม พ่อแม่และน้องๆ ไม่ได้รับอุปการะสิ่งใด ศรีสุดาวางท่าเหมือนดังเธอเป็นคนในครอบครัวมั่งคั่ง ทําให้มีผู้ชายบางคนหลงเชื่อเข้าตีสนิทคุ้นเคยด้วย ภายหลังเมื่อเขาทราบความจริงว่าเธอเป็นอย่างไร พวกเขาก็ตีจาก เธอจึงผิดหวังบ่อยๆ ที่สุดผู้ชายรายสุดท้ายเธอตั้งความหวังไว้มาก เมื่อถูกทอดทิ้ง ความเสียใจจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงกลายเป็นคนวิกลจริตไป ข้าพเจ้าทราบข่าวเพียงแค่นั้น และไม่รู้เรื่องใดๆ ต่ออีกเลย

       เรื่องเบญจกามคุณทั้ง ๕ อย่าง ได้แก่ สี (รูป) เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ถ้าหลงใหลเกินพอดี ย่อมมีโทษให้เห็นเป็นตัวอย่างอยูเสมอ

       ถ้าใช้สิ่งเหล่านี้อย่างมีสติควบคุม ให้มีใช้พอประมาณตามความจําเป็นแล้ว ก็ไม่มีโทษอันใดมากนัก

   สําหรับเรื่องกลิ่นที่เล่าไว้แล้วนี้ ว่าที่จริงสําหรับการหลงใหลในความหอม ไม่ทําให้ผู้คนได้รับอันตรายมากเท่าใด เพราะถ้าเพียงแต่มีสติรู้ทันว่ารายได้ของตนมีเท่าใด ควรใช้เรื่องอะไร ก็พอยับยั้งตนเองได้
 
 
 
 
 
 
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม3 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012507033348083 Mins