.....หลังตรัสรู้แล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุติสุข คือ สุขจากการพ้นทุกข์ ในสถานที่ต่างๆ ในบริเวณปริมณฑลต้นศรีมหาโพธิ์นั้นรวม ๗ แห่ง แห่งละ ๗ วัน และเสด็จกลับมประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธ ทรงรำพึงว่า ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ใครดีหนอ ในที่สุดทรงระลึกถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร แต่ทรงทราบว่าอาจารย์ทั้งสองกระทำกาลกิริยาไปเกิดในพรหมโลกเสียแล้ว
ลำดับต่อไปจึงทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะมากแก่พระตถาคต ได้ปฏิบัติบำรุงเป็นอย่างดีอยู่ถึง ๖ พรรษา เป็นผู้มีบุญบารมีแก่รอบแล้ว สมควรจะรับฟังพระธรรมเทศนาก่อน จึงทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้นพระปัญจวัคคีย์แลเห็นพระบรมศาสดาเสด็จมาแต่ไกลก็จำได้ นัดหมายกันว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมากคลายความเพียร พวกเราไม่ควรไหว้ หรือลุกขึ้นต้อนรับ ไม่ควรรับบาตรและจีวร แต่จะตั้งอาสนะสำหรับนั่งไว้ให้ ถ้าประสงค์จะนั่งก็จงนั่งเถิด
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว ปัจจัยเหตุแห่งความเคารพทำให้ลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้ ต่างคนต่างช่วยกันทำ คนหนึ่งเข้าไปรับบาตรและจีวร คนหนึ่งช่วยจัดอาสนะถวาย คนหนึ่งนำน้ำมาล้างพระยุคลบาท คนหนึ่งคอยล้างพระบาท อีกคนหนึ่งคอยพัดใบตาลอยู่ใกล้ๆ ครั้นแสดงข้อวัตรแล้ว พากันนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แต่พระปัญจวัคคีย์แสดงความกระด้างกระเดื่องกว่าแต่ก่อน พูดด้วยความไม่เคารพ คือ พูดออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส ๆ ซึ่งเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อย พระบรมศาสดาตรัสห้ามเสีย และตรัสว่า บัดนี้พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด พระปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ คัดค้านว่าพระพุทธองค์คลายความเพียรเวียนเป็นคนมักมากเสียแล้ว จักบรรลุธรรมได้อย่างไร
แต่ในครั้งสุดท้ายนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ ท่านทั้งหลาย เคยได้ยินได้ฟังบ้างหรือ ว่าวาจาเช่นนี้ตถาคตเคยพูดบ้างหรือเปล่า” ปัญจวัคคีย์ทั้งหลายนึกขึ้นได้ว่า จริงสิ ตลอดระยะเวลา ๖ ปี พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสคำนี้เลย จึงตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ ในวันนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชา ในเวลาจบการแสดงธรรมนั้น พระโกณฑัญญะรูปเดียว ได้บรรลุธรรมพิเศษเบื้องต้น เป็นพระโสดาบัน พร้อมกับมหาพรหม ๑๘ โกฎิ พระพุทธองค์ทรงทราบว่า พระโกณฑัญญะเห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า
“ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า “ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ”
ได้อาศัยคำว่า “ อัญญาสิ” แปลว่า “ รู้แล้ว” นี้ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานแล้ว จึงมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่กาลนั้นว่า “ อัญญาโกณฑัญญะ” เป็นปฐมสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาว่า “ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”
พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับการอุปสมบทด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นองค์แรกในพระพุทธศาสนานี้ ณ วันอาสาฬหบูรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากท่านอุปสมบทแล้ว พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ ทั้งนี้ เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแสนกัป เฉพาะพระพักตร์ของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงบรรลุธรรมก่อนผู้อื่น
ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่วัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงประกาศแต่งตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ ไว้ใน เอตทัคคะ พระสาวกผู้เลิศด้าน รู้ราตรีนาน หมายความว่า ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสาวกรูปอื่นนอกจากพระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อว่าผู้มีอายุมากจำกิจการต่างๆ ได้มาก ย่อมรู้ราตรีกาลทั้งหลายเป็นเวลานาน นับแต่เริ่มบรรพชาก่อนใคร ท่านจึงได้ชื่อว่า รัตตัญญู คือ ผู้รู้กาลนาน
ตำแหน่ง เอตทัคคะ หมายถึง ผู้ยอดเยี่ยมที่สุดในทางใดทางหนึ่ง เป็นตำแหน่งที่มีเสถียรภาพมั่นคงเที่ยงแท้ ไม่มีการลดยศ ปลดตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว วางใจได้ว่า ละโลกเมื่อไหร่นั่นจึงหมายถึงสิ้นสุดตำแหน่ง ตำแหน่งนี้ไม่มีการลาออกหรือบอกคืนกันเลย
ชีวิตในบั้นปลายของพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ท่านมาอาศัยอยู่ที่สระฉัททันต์หรืออีกนามหนึ่งว่า มนทากินี นอกจากท่านจะมีช้างคอยปฏิบัติแล้ว ท่านได้ไปบิณฑบาตเป็นประจำที่เขาไกรลาส ซึ่งมีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า “ นาคทัต” สิงสถิตอยู่ในวิมานที่ตั้งอยู่ที่ภูเขาไกรลาสนั้น คอยใส่บาตรด้วยข้าวมธุปายาสอันมีน้ำน้อย และผสมกับน้ำผึ้ง แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้มายืนรอรับบาตรอยู่หน้าประตูวิมานทุกวัน
การณ์ที่พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับถวายโภชนาหารอันประณีตเช่นนี้ เพราะเคยได้ถวายขีรสสลากภัตทาน คือ โภชนาหารอันผสมด้วยนมสดมาสิ้นกาลนาน ประมาณแปดหมื่นปี ในพุทธกาลของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีนี้อำนวยผลอย่างยิ่งในชาติสุดท้าย
พระอัญญาโกณฑัญญะจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์ ริมฝั่งสระฉัททันต์ประมาณ ๑๒ ปี ในปีสุดท้ายก่อนจะนิพพาน ได้ไปทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มหาวิหารเวฬุวัน ท่ามกลางพุทธบริษัท ๔ เมื่อให้โอวาทแล้ว ท่านเหาะสู่ป่าหิมพาน ลงสรงน้ำในสระนั้น แล้วกลับขึ้นมานุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล แล้วนั่งเสนาสนะ เข้านิโรธสมาบัติจนกระทั่งปัจฉิมยาม ใกล้เวลารุ่งสว่าง ท่านดับขันธ์พระนิพพาน ณ ริมฝั่งสระฉัททันต์นั้นเอง