ทรงเปลื้องคำปฏิญญา

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2547

 

 

.....เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเหล่าอรหันตสาวกจำนวนมากพอ สำหรับการเผยแผ่แล้ว ทรงระลึกถึงคำปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธจึงเสด็จจาริกพร้อมหมู่สาวกเข้าสู่นครราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) พระองค์และภิกษุทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เป็นที่น่าพบเห็นยิ่งนัก ประชาชนต่างตื่นเต้นแห่แหนพากันเดินทางไปเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมข้าราชบริพารออกไปเฝ้ายังที่นั้นด้วย

.....พระบรมศาสดาตระหนักในพระทัยว่าถ้าหมู่ชนยังไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์แน่วแน่แล้ว ย่อมไม่ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา พระองค์จึงตรัสถามอุรุเวลกัสสปะ ว่าเหตุใดจึงละทิ้งลัทธิบูชาไฟของตนเสีย

.....ภิกษุอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า เพราะลัทธิเดิมไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การบูชาไฟมุ่งหวังผลให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส หรือแม้สตรี อันเป็นอารมณ์ที่สัตว์ปรารถนา ผลเหล่านั้นคือกาม เป็นมลทินเครื่องเศร้าหมอง ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส การบูชาที่มีความปรารถนาดังที่กล่าวนี้ เป็นมลทินอย่างเดียว

.....เวลานี้ได้พบทางอันสงบที่พระบรมศาสดาประทานให้แล้ว ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่มีความห่วงกังวลใดๆ เหลืออยู่ ไม่ติดอยู่ในกามภพ เป็นธรรมที่ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น และไม่ใช่ธรรมดาที่ใครจะมาพูดให้เชื่อได้ เป็นสิ่งที่ปรากฏรู้ในใจของตนเองเท่านั้น

.....ครั้นแล้วภิกษุอุรุเวลากัสสปะลุกจากที่นั่ง ซบศีรษะลงที่พระบาทพระบรมศาสดาประกาศให้มหาชนทราบทั่วกันว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระศาสดาของเหล่าชฎิลในที่นั้นทั้งหมด

.....ในขณะนั้นเองความคลางแคลงกระด้างกระเดื่องของหมู่ชนตลอดจนข้าราชการบริพาร ก็พลันสิ้นสุดลงพากันน้อมจิตคอยฟังพระธรรมเทศนา

.....พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เหล่าชนในครั้งนั้นแบ่งเป็น ๑๒ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดบัน ๑๑ นหุต รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารด้วย ก็เหลือ ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์

.....พระเจ้าพิมพิสารเองเสด็จไปอภิวาทแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระองค์เป็นอุบาสก กราบทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศในวันรุ่งขึ้นพร้อมเหล่าพระสาวก ทั้งทรงเล่าความประสงค์ของพระองค์เมื่อก่อนครองราชย์ว่าทรงมีความปรารถนา ๕ ประการ อันได้แก่

๑. ขอให้ได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธ

๒. ขอให้ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ผู้รู้ผู้เห็นเองโดยชอบมาที่แว่นแคว้นของพระองค์

๓. ขอให้พระองค์ได้ทรงนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น

๔. ขอพระอรหันต์นั้นแสดงธรรมสั่งสอนพระองค์

๕. ขอให้พระองค์ทรงรู้ทั่วในธรรมของพระอรหันต์นั้น

......บัดนี้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์สำเร็จแล้ว

.....ความจริงในยุคนั้นมีผู้ตั้งตัวเป็นพระอรหันต์มากมายหลายสำนัก และก็อยู่ในแว่นแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระองค์ไม่แน่พระทัยว่าคนเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์จริง เมื่อทรงฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงคลางแคลงพระทัยในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระบรมศาสดา จึงทรงถือว่าพระองค์ทรงบรรลุความปรารถนาทั้ง ๕ ประการ

.....วันรุ่งขึ้นพระบรมศาสดาเสด็จนำพระสาวกทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ไปยังพระราชนิเวศน์ หลังทรงกระทำภัตตกิจเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารเห็นว่าสวนตาลหนุ่มอยู่ห่างไกลเกินไป ขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่) เป็นพระอาราม นับว่าเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกในโลก

.....ในการถวายมหาทานทั้งสองอย่างของพระเจ้าพิมพิสารครั้งนี้ พระองค์ทรงมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนพระราชกุศลนั้นให้แก่หมู่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้วแต่ประการใด

......คืนนั้นเอง เหล่าพระญาติที่เคยทำบาปอกุศล ขโมยกินของสงฆ์ไว้ในกัปที่ ๙๒ ตั้งแต่ในพุทธกัปของพระผุสสะสัมมสัมพุทธเจ้า พากันเกิดเป็นเปรตมีอายุยืนยาวนายถึงหนึ่งพุทธันดร ไม่ได้รับการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ก็เสียใจเพราะได้รับความอดอยากและทุกขเวทนามานานแสนนาน จึงพากันส่งเสียงร้องโหยหวนคร่ำครวญ ขอส่วนบุญเอื้ออึงเป็นที่น่าสะพรึงกลัว

.....รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปทูลถามพระบรมศาสดา พระองค์ทรงชี้แจงให้ทรงทราบ พระราชาจึงทรงถวายอาหารและผ้าจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระบรมศาสดาเป็นประธานอีกวาระหนึ่ง แล้วทรงกรวดน้ำว่า “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ” ขอกุศลผลบุญครั้งนี้ จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ ข้อความนี้ใช้กันมาจนทุกวันนี้
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.046840266386668 Mins