พระนาลกะ – พระยสะ ๒

วันที่ 03 กค. พ.ศ.2548

 

 

..... พระพุทธเจ้าทรงทราบอุปนิสัยของท่านดี จึงตรัสโมเนยยปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติของมุนี) ให้ท่านฟังความว่า

 

 

เธอจงทำใจให้มั่นคงวางตนให้เหมือนกัน

 

 

ทั้งแก่คนที่ด่าและยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง

 

 

( จงระลึกไว้เสมอว่า) รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย

 

 

มุนีทั้งหลายย่อมถูกนารีเล้าโลมให้หลงใหลด้วยอิตถีลีลาต่าง ๆ

 

 

อาทิ การหัวเราะ การพูด และการร้องไห้

 

 

เธออย่าถูกเล้าโลมเหมือนอย่างนั้นเลย

 

 

มุนีต้องละกามงดเว้นจากเมถุนธรรม

 

 

มุนีต้องรักสัตว์อื่นให้เหมือนรักตัวเองโดยยกตนเป็นที่เปรียบว่า

 

 

เราเป็นฉันใด สัตว์อื่น ๆ ก็เป็นฉันนั้น

 

 

ความปรารถนาและความอยากได้จนเกินไป

 

 

ทำให้ปุถุชนข้องอยู่ มุนีจงละความปรารถนา

 

 

และความอยากได้เกินไปนั้นเสีย

 

 

จงละความอยากไม่หยุดในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย

 

 

ซึ่งเป็นเหตุให้ประกอบมิจฉาชีพ

 

 

มุนีต้องไม่เห็นแก่กิน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ

 

 

มักน้อย ต้องทำตนให้หายหิว หมดความอยาก

 

 

ดับความเร่าร้อนให้ได้ทุกเมื่อ

 

 

มุนีเที่ยวภิกขาจารได้อาหารแล้วจงไปยังชายป่า

 

 

นั่งบริโภคตามโคนต้นไม้ จากนั้นจงบำเพ็ญฌาน

 

 

ใช้ชีวิตอยู่ในป่า รุ่งเช้าจึงค่อยเข้าหมู่บ้านเที่ยวภิกขาจาร

 

 

ได้อาหารอย่างใดก็บริโภคอย่างนั้น ไม่หวังอาหารที่ยังไม่ได้

 

 

ขณะฉันอาหารไม่ควรพูด มุนีจงทำใจให้ได้ว่า

 

 

จะได้หรือไม่ได้ก็ดีทั้งนั้น เพราะทั้งการได้และไม่ได้

 

 

ย่อมทำให้พ้นทุกข์ ขณะภิกขาจารมุนีแม้ไม่เป็นใบ้

 

 

ก็ควรทำตนให้เหมือนคนใบ้ ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าเล็กน้อย

 

 

ไม่ควรดูถูกบุคคลผู้ให้

 

 

ในการบำเพ็ญเพียร ตามหลักที่มุนีปฏิบัติกันมา

 

 

คือ ใช้ลิ้นกดเพดาน ( กลั้นลมหายใจ)

 

 

เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ผู้เดียวในที่สงัด

 

 

นาลกะ เธอจงรู้ไว้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย

 

 

ในหนอง ในห้วยย่อมไหลดัง

 

 

แต่น้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ

 

 

สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง

 

 

สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมไม่มีเสียงดัง

 

 

คนโง่ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว

 

 

ส่วนคนฉลาด ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม

 

 

เพราะเป็นผู้สงบ สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน

 

 

รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความทุกข์แล้วไม่พูดมาก

 

 

สมณะนั้นแลได้ชื่อว่าเป็นมุนี

 

 

ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามปฏิปทาของมุนีได้อย่างเหมาะสม

 

 

และได้ชื่อว่าได้บรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว

 

 

การบรรลุธรรม

 

 

ฤาษีได้ฟังข้อปฏิบัติของมุนีจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสจึงได้ทูลขอบวชทันที ครั้นบวชแล้วก็ยึดถือปฏิบัติตามหลักมักน้อย ๓ ประการ คือ มักน้อยในการเห็น ในการฟัง และในการถาม

 

 

มักน้อยในการเห็น พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า เมื่อไปอยู่ป่าแล้วขอให้ได้พบพระพุทธเจ้าอีก

 

 

มักน้อยในการฟัง ไม่ได้ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอีก

 

 

มักน้อยในการถาม ไม่ได้ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ทูลถามถึงข้อปฏิบัติของมุนีอีก

 

 

พระนาลกะครั้นตั้งจิตยึดถือตามหลักมักน้อย ๓ ประการ นี้แล้วก็ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่เชิงเขาตามลำพัง ท่านปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของมุนีอย่างเคร่งครัด คือไม่อยู่ในป่าแห่งเดียวถึง ๒ วัน ไม่นั่งที่โคนต้นไม้เดียวถึง ๒ วัน ไม่บิณฑบาตที่บ้านเดียวถึง ๒ วัน ดังนั้นท่านจึงออกจากป่าโน้นไปยังป่านี้ออกจากต้นไม้นี้ไปยังต้นไม้โน้นท่านปฏิบัติโดยเคร่งครัด อย่างนี้ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหันตผล

 

 

งานสำคัญ

 

 

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า พระนาลกะบวชหลังกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๗ วัน ดังนั้นหากนับลำดับกันแล้ว ท่านก็เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้ารูปที่ ๖ และเป็นพระอรหันต์รูปที่ ๗ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์รูปแรก แต่ถึงคราวที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้นกลับไม่มีท่านรวมอยู่ใน จำนวนนั้นด้วยทั้งนี้คงเป็นด้วยเพราะท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในข้อปฏิบัติของมุนีนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ท่านเป็นอยู่อย่างอิสระ และไม่ทรงเรียกประชุมในคราวทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา

 

 

โดยเหตุที่ท่านไม่มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้นและนิพพานเร็วกว่พระสาวกรูปอื่น ในยุคเดียวกันจึงไม่มีงานอันสำคัญอันใดอันเป็นเหตุให้ชื่อท่านเลือนหายไปจาก ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจนกลายเป็นชื่อที่แปลกตาสำหรับนักศึกษายุคปัจจุบัน

 

 

บั้นปลายชีวิต

 

 

ตามปกติ โมเนยยปฏิปทา หรือ ข้อปฏิบัติของมุนี เพื่อความเป็นมุนีนั้น ถือได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก แต่เพราะเหตุที่ผู้ปฏิบัติไม่ยึดติดในสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ ตรงกันข้ามกลับมีความเข้าใจถูกต้องที่ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ปฏิบัติ

 

 

เพราะเหตุที่โมเนยยปฏิปทาเป็นวิธีปฏิบัติแบบอัตตกิลมถานุโยคดังกล่าวจึงมีผลอย่างสำคัญต่อสุขภาพ กล่าวคือ ผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นต้น หลังจากบรรลุอรหันตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี ผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นกลาง หลังจากบรรลุอรหันตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นสูงสุด หลังจากบรรลุอรหันตผผลแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน

 

 

พระนาลกะปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างเคร่งครัดขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้น หลังจากบรรลุอรหันตผลแล้ว ท่านจึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น เนื่องจากร่างกายบอบช้ำหนักนั่นเอง

 

 

มีกล่าวไว้ว่าวันที่จะพระนิพพานนั้น ท่านรู้ตัวดีจึงสรงน้ำชำระกายแล้วครองผ้าอย่างเรียบร้อย ท่านยืนหันหน้าไปทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ซึ่งคาดว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าคงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จากนั้น ท่านก็ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นยืนพิงภูเขาหิงคุละประนมมือนิพพานด้วยอาการอันสงบ เมื่อทรงทราบว่าพระนาลกะนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังภูเขาหิงคุละพร้อมด้วยพระสาวกหลายรู) ครั้นรับสั่งให้ฌาปนกิจศพท่านแล้วทรงรับสั่งต่อไปให้นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะ

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015055179595947 Mins