ธรรมะวันนี้ สัจกิริยา ตอนที่ ๙ มหาโมรชาดก (ล.๖๐, น.๔๖๖, มมร.)
๖. พระปัจเจกพุทธเจ้า ทําสัจกิริยาด้วยตนเองเพื่อช่วยสรรพสัตว์
๖.๑มหาโมรชาดก ว่าด้วย พญานกยูงพ้นจากบ่วง (ล.๖๐, น.๔๖๖, มมร.) ความตอนหนึ่งว่า
ก็แลครั้นพญายูงกล่าวอย่างนี้แล้ว ขู่ให้กลัวภัยในนรก. ก็เขาเป็นพระปัจเจกโพธิสัตว์ผู้มีบารมีบําเพ็ญเต็มแล้ว มีญาณอันแก่กล้าแล้วเป็นเหมือนดอกปทุมที่แก่แล้ว ชูก้านรอการถูกต้องของแสงอาทิตย์ฉะนั้นเมื่อฟังธรรมกถาของพญายูง ยืนอยู่ด้วยท่าเดิมนั้นแหละกําหนดสังขารทั้งหลาย พิจารณาไตรลักษณ์บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว.
การบรรลุของท่านและการพ้นจากบ่วงของพระมหาสัตว์ได้มีในขณะเดียวกันและ. พระปัจเจกพุทธเจ้าทำลายกิเลสทั้งหลายแล้ว ดํารงอยู่ ณ สุดแดนของภพทีเดียว เมื่อจะเปล่งอุทานจึงกล่าวคาถาว่า
“ความเป็นพรานนี้เราละได้แล้วเหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้อันเขียวชอุ่ม ผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นพรานได้.”
ครั้นท่านเปล่งอุทานนี้แล้ว ดําริว่า ‘เราพ้นจากเครื่องพัวพันคือกิเลสทั้งปวงได้แน่นอน แต่ในที่อยู่ของเรายังมีนกถูกกักขังอยู่มาก เราจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไร’
จึงถามพระมหาสัตว์ว่า “พญายูงเอ๋ยในที่อยู่ของข้าพเจ้า มีนกถูกกักขังอยู่เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไรละ.” อันที่จริง ญาณในการกําหนดอุบาย ของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมใหญ่โตกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า.
เหตุนั้น พญายูงจึงกล่าวกะท่านว่า“ปัจเจกโพธิญาณที่ท่านทําลายกิเลสทั้งปวงเสีย แล้วบรรลุด้วยโพธิมรรคใดโปรดปรารภโพธิมรรคนั้น กระทําสัจกิริยาเถิด ธรรมดาสัตว์อันต้องจองจําในชมพูทวีปทั้งสิ้นก็จักไม่มี.”ท่านดํารงในฐานะที่พระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว เมื่อจะทําสัจกิริยา จึงกล่าวคาถาว่า
“อนึ่ง มีนกเหล่าใดที่เรากักขังไว้ในนิเวศน์ประมาณหลายร้อย วันนี้เราให้ชีวิตแก่นกเหล่านั้น ขอนกเหล่านั้นจงพ้นจากการกักขัง ไปสู่สถานที่อยู่เดิมของตนเถิด”
ลําดับนั้น นกทั้งปวงก็พ้นจากที่กักขัง พอดีกันกับเวลาที่พระปัจเจกโพธินั้นกระทําสัจกิริยานั่นเอง ต่างร้องร่าเริงบินไปที่อยู่ของตนทั่วกัน.ก็แลในขณะนั้น บรรดาสัตว์ในเหย้าเรือนทุกหนแห่งตั้งต้นแต่แมวเป็นต้น ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่จักได้ชื่อว่าสัตว์ต้องกักขังมิได้มีเลย.พระปัจเจกพุทธเจ้ายกมือลูบศีรษะ. ทันใดนั่นเองเพศคฤหัสถ์ก็หายไป เพศบรรพชิตปรากฏแทน. ท่านเป็นเหมือนพระเถระมีพรรษา ๖๐ สมบูรณ์ด้วยมรรยาททรงอัฐบริขาร กล่าวว่า “ท่านนั้นเทียวได้เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า” ประคองอัญชลีแก่พญายูงกระทําประทักษิณเหาะขึ้นอากาศไปสู่เงื้อมผาชื่อนันทมูล
ฝ่ายพญายูงก็โดดจากปลายคันแร้ว หาอาหาร ไปสู่ที่อยู่ของตนดังเดิม
ทรงประชุมชาดกว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้าในครั้งนั้นปรินิพพาน
ส่วนพญายูงได้มาเป็น พระตถาคตเจ้า